stadium

ฮีโร่นักทอยลูกนิ่ม ฉบับ “ต่อ” วัชรพล วงษา

4 กรกฎาคม 2567

“ต่อ” วัชรพล วงษา นักกีฬาบอคเซียพาราทีมชาติไทย หนึ่งในสุดยอดนักกีฬาที่ไปลุยพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วทั้งหมด 3 หน พร้อมระเบิดฟอร์มด้วยการคว้า 4 เหรียญทอง จากการเข้าร่วมการแข่งขันตลอดที่ผ่านมา ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักต่อ วัชรพล และไขเคล็ดลับวิชา ของฮีโร่นักทอยลูกนิ่มคนนี้ไปพร้อมกัน

 

 

จุดเริ่มต้นของหนุ่มจังหวัดเลย

 

แม้จะเกิดมาไม่สมบูรณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยขาดเลยก็คือ ความรักที่ครอบครัวมอบให้ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตามาดูโลก 

 

“ตอนเกิดผมขาดออกซิเจนครับ แล้วก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ตู้อบแบบเด็กทั่วๆไป ในวัยเด็กมีตากับยายคอยดูแล เพราะพ่อกับแม่ต้องขึ้นไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าช่วงไหนที่มีโอกาสดีๆ ผมก็จะขึ้นไปอยู่กับครอบครัวที่กรุงเทพฯ ซึ่งเวลาไปแม่ก็จะคอยดูแลผมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน และก็คอยเล่นเป็นเพื่อนในตอนนั้นครับ”

 

หลังจากนั้นไม่นาน พอเริ่มโตขึ้นเจ้าตัวได้ขอให้คุณพ่อช่วยหาโรงเรียน เพราะต่ออยากที่จะมีโอกาสได้เข้าไปเรียนหนังสือ รวมถึงการได้เปิดโลกกีฬาที่ตัวเองไม่เคยได้รู้จัก หรือสัมผัสมันมาก่อนในชีวิต

 

“ทีแรกไปติดต่อที่โรงเรียนแถวนนทบุรีครับ เป็นโรงเรียนของคนพิการ แต่ว่ามันเต็มแล้ว เพราะทางโรงเรียนรับเพียงปีละ 60 คนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนก็ได้แนะนำมาว่า มีอีกหนึ่งที่นะ แต่อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ทางครอบครัวผมก็ได้ทำเรื่องมา จนสุดท้ายก็ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาล คนพิการ ที่จังหวัดขอนแก่นครับ”

 

“ความรู้สึกตอนนั้นก็แปลกๆครับ เพราะเป็นครั้งแรกของผมด้วยที่ออกจากบ้านโดยที่ไม่มีพ่อกับแม่คอยดูแลแบบที่ผ่านมา และอีกอย่างคือผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการไปโรงเรียนเลย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเรียนหนังสือ”

 

 

เปิดโลกใหม่ด้วยกีฬาบอคเซีย

 

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังจากเรียนที่ขอนแก่นประมาณหนึ่งปี จากการปรับตัวในสถานที่ใหม่ บรรยากาศและผู้คน เริ่มจะเป็นที่คุ้นตาทำให้ตัวของต่อเอง ได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “บอคเซีย”

 

“วันแรกที่รู้จักกับบอคเซีย ตอนนั้นเขาจัดกิจกรรมกีฬาสีภายในโรงเรียนครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ชีวิตของผมก็ไม่เคยเล่นกีฬาอะไรมาก่อนเลย มีลองเล่นปิงปอง เปตองดูบ้าง แต่เล่นไม่ทันคนอื่นๆ และเห็นว่าบอคเซียนี่แหละดูน่าสนใจ ก็เลยลองหัดเล่นดูกับเพื่อนๆ ตอนนั้นน่าจะช่วงอายุประมาณ 11 ขวบครับ”

คำว่าเปลี่ยนโลกทั้งใบ เพราะพบเจอกับความสุขใช้ได้จริงทันทีเพียงการได้สัมผัสและใช้เวลาร่วมกับบอคเซีย จนเป็นที่มาของการได้ออกจากเซฟโซนไปแข่งขันตามรายการต่างๆ 

 

“รายการแรกที่ลงแข่งจำได้ว่าเป็นกีฬานักเรียนของกรมพละครับ ที่จัดขึ้นทุกปี และผลปรากฏว่า ผมไม่ได้เหรียญอะไรติดมือมาเลยครับ ก็พลาดแบบคนพึ่งหัดแข่งขันทั่วไป มันตื่นเต้น แต่ทำให้ผมรู้สึกอยากจะทำมันดียิ่งขึ้นในรายการต่อๆไป”

 

“ต่อมาไม่นานก็มีการแข่งขันกีฬาแห่งชาติคนพิการ ได้ประลองเวทีใหญ่ขึ้นเพราะได้เจอกับคนที่อายุมากกว่า เท่านั้นยังไม่พอ ก่อนจะแข่งขันมีคนแอบมากระซิบบอกผมว่า เนี่ยเราอยู่สายเดียวกันกับทีมชาตินะ ไอ่เราก็ตื่นเต้นอยู่ในใจ แต่ก็โม้ไปก่อนเลยว่า เดี๋ยวจะปราบทีมชาติให้ดู สุดท้ายใครจะไปรู้ครับ ไอ่เด็กอายุ 13 คนนี้ ดันไปฟลุ๊คชนะทีมชาติมาได้ คนก็งงกันทั้งสนามว่าผมเป็นใคร แต่ท้ายสุดผมก็ตกรอบรายการนี้นะครับ แต่มันได้จุดประกายให้กับตัวผมเป็นอย่างมาก เพราะว่ามีแมวมอง มาบอกให้คุณครูที่โรงเรียน ลองพาผมไปคัดตัวทีมชาติดู”

 

 

ก้าวที่สำคัญของนักกีฬาทีมชาติไทย

 

แสงสว่างส่องลงมาเต็มที่สำหรับต่อในตอนนั้น เพราะมีโอกาสได้เข้าไปคัดทีมชาติแล้วก็มีชื่อติดตั้งแต่ครั้งแรกในวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่ใครจะไปรู้ ประตูบานนี้ยังเปิดไม่สนิท เนื่องจากเจ้าตัวในตอนนั้น ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางสมาคมตั้งไว้ อยู่ที่ 15 ปี จึงยังไม่สามารถเข้าร่วมทีมได้

 

“เสียดายอยู่ครับในตอนนั้น เพราะว่าคัดติดแล้ว เอกสาร รวมถึงพาสปอร์ตต่างๆทำเสร็จหมดเรียบร้อย แต่พอสุดท้ายเขามาเห็นใบเกิดของเรา แล้วอายุผมยังไม่ถึงเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ครับ”

 

และหลังจากนั้นมาเรื่องราวทุกอย่าง ก็ไม่ได้เป็นดั่งฝันที่วาดไว้ หรือเรียกง่ายๆว่าทางเดินเส้นนี้ไม่ได้รอยด้วยดอกกุหลาบ เพราะในปีถัดมาต่อก็ยังจะไม่สามารถเข้าสู่ทีมชาติไทยได้เป็นรอบที่สอง

 

“พอผมอายุ 15 ก็มาคัดอีกรอบหนึ่งครับ แต่ทีนี้มันไม่ใช่เรื่องของอายุแล้ว เพราะผมดันตกรอบ คัดไม่ติดในครั้งนี้ ความรู้สึกตอนนั้นเสียดายมากครับ แต่ก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เป็นประสบการณ์เพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง จนสุดท้ายปีถัดมา ผมก็สามารถเปิดประตูเข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยได้สำเร็จ ถึงแม้จะใช่ระยะเวลาถึง 3 ปีก็ตาม”

 

 

ความสำเร็จที่รอคอย

 

หลังจากสะสมประสบการณ์ให้กับตัวเอง ตามทัวร์นาเมนต์อื่นๆมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อได้บอกว่า หากเป็นใครหลายๆคนคงจะล้มเลิกความฝันไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จเดินทางมาถึงวันนี้ มันใช้เวลาเป็นอย่างมาก

 

“เหรียญทองแรกที่กว่าผมจะคว้ามันมาได้ ก็คือเหรียญทองเอเชียนพาราเกมส์ ที่กว่างโจวครับ ตอนนั้นดีใจมาก และก็รู้สึกว่าทำสำเร็จไปแล้วหนึ่งขั้น กับทางเดินที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ฝันต่อไปจึงเป็นที่มาของการได้ไปลุยพาราลิมปิกกมส์ สักครั้งในชีวิต”

 

ปี 2012 ต่อได้โควตาครั้งแรกในการไปแข่งขันมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “พาราลิมปิกเกมส์” ที่ลอนดอน แม้จะไม่สมหวังในประเภทเดี่ยวบุคคล แต่เจ้าตัวก็ไปแก้มือได้สำเร็จ ด้วยการพาบอคเซียไทยประเภททีมคว้า 1 เหรียญทอง กลับประเทศในครั้งนั้น และเป็นเหรียญทองครั้งแรกของเจ้าตัวในมหกรรมสุดยิ่งใหญ่

 

ก่อนที่ 4 ปีต่อมา 2016 ที่ริโอ ประเทศบราซิล ถือเป็นปีทองตลอดอาชีพการเล่นของเจ้าตัวเลยก็ว่าได้ หลังจากระเบิดฟอร์มขึ้นไปคว้า 2 เหรียญทอง ในประเภททีมผสม และประเภทบุคคล ประกาศศักดาความแม่นในเวทีระดับโลกได้อย่างสวยงาม

 

“ปี 2016 ผมถือว่าตลอดที่ผ่านมา ผมผ่านการต่อสู้มามากพอ ทั้งประสบการณ์ และระดับการเล่นของตัวเอง การได้ออกไปแข่งต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ได้ลองฝีมือของตัวเองและทีม ตอนแข่งจบผมคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง ความฝันของผมสำเร็จแบบ 100 เปอร์เซ็นแล้วครับ มันอยู่จุดสูงสุดในชีวติแล้ว สำหรับครั้งนี้”

 

เท่านั้นยังไม่พอที่โตเกียว พาราลิมปิกเกมส์เมื่อปี 2022 ต่อและเพื่อนๆในทีมยังคงรักษาฟอร์มได้อย่างดีเยี่ยม คว้าเหรียญทองมาได้อีกครั้งและเป็นเหรียญทอง 3 สมัยติดต่อกันของทัพบอคเซียพาราไทย 

 

อีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 วนมาอีกครั้งให้แฟนๆชาวไทยลุ้นและเชียร์ทัพนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ฝากแฟนๆ Stadium TH ทุกท่าน เป็นกำลังใจให้ “ต่อ” วัชรพล วงษา และทีมบอคเซียไทย เพื่อให้พวกเขาพิชิตฝันได้อีกครั้ง และมอบความสุขให้กับพวกเราแบบที่ผ่านมา

 


stadium

author

อดิศักดิ์ คูวัฒนากุล

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic