stadium

10 ภาพยนตร์และสารคดีที่สร้างมาจากเรื่องจริงในการแข่งโอลิมปิก

1 กรกฎาคม 2567

ในโลกภาพยนตร์นั้น มีหลายเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาจากชีวิตจริง หรือเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง "โอลิมปิก" ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะในการแข่งขันกีฬาย่อมมีเหตุการณ์แห่งความทรงจำมากมาย ทั้งรอยยิ้มแห่งชัยชนะ น้ำตาแห่งความผิดหวัง หรือเส้นทางสู่ความสำเร็จ

 

แล้วมีเรื่องใดบ้างที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์รวมทั้งสารคดีแล้วสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม ติดตามได้ใน 10 ภาพยนตร์และสารคดีกีฬาที่สร้างมาจากเรื่องจริงในการแข่งขันโอลิมปิก

 

 

10. 9.79* (2012)

 

ในโลกของกรีฑา ศึกดวล 100 ม. ชายรอบชิงชนะเลิศ โอลิมปิก เกมส์ ปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จัดเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่เปลี่ยนโลกกีฬาไปตลอดกาล 9.79* โดยหนึ่งในซีรี่ส์ 30 สารคดีของ ESPN ขุดลึกลงไปในเรื่องราวเบื้องหลังของการแข่งที่เป็นที่จดจำครั้งหนึ่งของโอลิมปิก ซึ่ง เบน จอห์นสัน ลมกรดชาวแคนาดา ทำลายสถิติได้สำเร็จ แต่ถูกตัดสิทธิ์ในภายหลังจากการถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้น โดย แดเนียล กอร์ดอน ผู้กำกับ ตีแผ่เรื่องราวอันน่าทึ่งของการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาผ่านบทสัมภาษณ์จอห์นสันรวมทั้งผู้ร่วมแข่งขัน และได้รับคำชมในการสำรวจประวัติศาสตร์อันมืดมนของโอลิมปิกได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมด้วยการรักษาสมดุลระหว่างข้อเท็จจริงและความน่าสนใจ

 

 

9. The Boys in the Boat (2023)

 

ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือขายดีของ แดเนียล เจมส์ บราวน์ และกำกับโดย จอร์จ คลูนี่ย์ พาทุกคนย้อนไปติดตามเรื่องจริงที่สร้างแรงบันดาลใจของทีมเรือพายมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเอาชนะทุกความท้าทายและอุปสรรคก่อนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน บทภาพยนตร์ที่ได้ มาร์ค แอล. สมิธ ผู้สร้างสรรค์ The Revenant, The Midnight Sky รวมทั้ง Twisters ที่กำลังจะเข้าฉาย เล่าเรื่องเน้นย้ำการต่อสู้ทั้งตัวบุคคลและทีมภายใต้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ รวมถึงการเรืองอำนาจของนาซีเยอรมัน

 

 

8. Visions of Eight (1973)

 

ภาพยนตร์กีฬาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพาผู้ชมสำรวจการแข่งขันโอลิมปิกปี 1972 ที่มิวนิค ผ่าน 8 มุมมองของนักสร้างต่างสัญชาติคือ มิลอส ฟอร์มัน (เชโกสโลวาเกีย), เคลาด์ เลอลูช (ฝรั่งเศส), ยูริ โอเซรอฟ (รัสเซีย), ไม เซตเตอร์ลิง (สวีเดน), กอน อิชิคาวะ (ญี่ปุ่น), จอห์น สเคซิงเกอร์ (อังกฤษ), อาเธอร์ เพนน์ (สหรัฐฯ) และ ไมเคิล เฟลยาร์ (เยอรมนี) แต่ละเส้นเรื่องรวบรวมการแข่งขันอันดุเดือด, ช่วงเวลาที่นักกีฬาต้องเจอกับความยากลำบาก และการฉลองชัยชนะ โดยผู้กำกับแต่ละคนนำเสนอทั้งวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาได้อย่างน่าจดจำ

 

 

7. Jim Thorpe – All American (1951)

 

หนึ่งในผลงานที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบของ ไมเคิล เคอร์ติซ ผู้กำกับหนังฮอลลีวูดระดับตำนาน ภาพยนตร์ชีวประวัติของ จิม ธอร์ป ตำนานนักกีฬาโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 สวมบทบาทโดย เบิร์ต แลงคาสเตอร์ บอกเล่าเส้นทางจากจุดเริ่มต้นสู่ชัยชนะในโอลิมปิกปี 1912 และชีวิตหลังจากนั้น โดยเฉพาะการถูกเหยียดเชื้อชาติจากการเป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง แม้จะเป็นเรื่องตลกร้ายที่นักแสดงทั้งหมดเป็นคนขาว รวมถึงตัวแลงคาสเตอร์เอง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวพื้นเมืองคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้สหรัฐฯ ได้อย่างน่ายกย่อง

 

 

6. Foxcatcher (2014)

 

ไม่บ่อยนักที่จะมีภาพยนตร์เล่าถึงมุมมองในเชิงลบเกี่ยวกับโอลิมปิก ซึ่ง Foxcatcher ที่กำกับโดย เบนเนตต์ มิลเลอร์ ผู้เลือกนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความน่าสะพรึงกลัวของความทะเยอทะยานจะไขว่คว้าความสำเร็จที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม นี่คือเรื่องจริงของ มาร์ค ชูลต์ซ นักกีฬามวยปล้ำโอลิมปิก และเดฟน้องชาย ที่เข้าไปพัวพันกับ จอห์น ดูปองต์ เศรษฐีพันล้านสุดแปลก ที่ทุ่มเทกับการเป็นโค้ชมากเกินไปจนพานักกีฬาไปสู่หายนะถึงชีวิต  

 

 

5. Icarus (2017)

 

จากจุดเริ่มต้นที่มาจากการทดลองของ ไบรอัน โฟเกิล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ ที่อยากทำความเข้าใจผลของการใช้สารกระตุ้น กลายเป็นการเปิดโปงกระบวนการที่ฉาวโฉ่ที่สุดในวงการกีฬา เรื่องนี้พาผู้ชมตามติดการเดินทางของโฟเกิลที่เปิดเผยปฏิบัติการใช้สารกระตุ้นซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก ด็อกเตอร์ กริกอรี่ รอดเชนคอฟ นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ที่ต้องหลบซ่อนตัวหลังจากมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการใช้ยาเพิ่มศักยภาพนักกีฬาของรัฐบาลรัสเซีย ใน อิคารัส เราจะได้รับรู้ความล้ำลึกของกระบวนการ และการถูกปิดเป็นความลับขั้นสุดยอด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่การสอบสวนขยายผลโดยองค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลกและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดย อิคารัส ได้รับการยกย่องอย่างมากในแนวทางการสืบหาข้อมูล และกลายเป็นภาพยนตร์โอลิมปิกเรื่องเดียวที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

 

 

4. Without Limits (1998)

 

ภาพยนตร์ชีวประวัติของ สตีฟ พรีฟอนเตน นักกรีฑาระยะไกล ที่เขียนและกำกับโดย โรเบิร์ต โทวน์ โดยเนื้อเรื่องในภาพยนตร์นั้นเป็นทั้งบันทึกช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ และโศกนาฏกรรม เล่าเรื่องตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กในโอเรกอนไปถึงการฉลองชัยในโอลิมปิกปี 1972 และจบลงด้วยความตายที่ไม่ทันตั้งตัวระหว่างเตรียมแข่งปี 1976 เรื่องนี้ถ่ายทอดสิ่งที่นักกีฬาคนหนึ่งยอมทุ่มเทเพื่อทำความฝันให้สำเร็จ รวมทั้งแสดงถึงความเป็นแบบอย่างของพรีฟอนเตนได้อย่างยอดเยี่ยม

 

 

 

3. 16 Days of Glory (1986)

 

หนึ่งในงานชิ้นเอกของ บัด กรีนสแพน นี้คือการถ่ายทอดเรื่องราวความยิ่งใหญ่และจิตวิญญาณของการแข่งขันในปี 1984 ที่นครลอส แองเจลิส โดยนำเสนอช่วงเวลาสำคัญและนักกีฬาที่น่าจดจำที่สุดของการแข่งขันในปีนั้น รวมถึง คาร์ล ลูอิส และ แมรี่ ลู เรตตัน โดยกรีนสแพนยังคงใช้วิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานการเล่าเรื่องราวนักกีฬาเข้ากับบริบททางสังคม นำเสนอมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งไม่มีใครทำให้คุณซาบซึ้งไปกับเรื่องราวของโอลิมปิกได้ดีไปกว่ากรีนสแพนอีกแล้ว

 

 

2. Tokyo Olympiad (1965)

 

ถ้าตัดเฉพาะที่เป็นสารคดี Tokyo Olympiad ย่อมได้รับเลือกให้ครองอันดับ 1 อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ผลงานของ กอน อิชิคาวะ เรื่องนี้ นำเสนอภาพโอลิมปิกที่สวยและงดงามในแบบที่ไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องราวแบบเดิมๆ และใช้แนวทางเชิงศิลปะมากขึ้น โดยเน้นที่ความงามและความดราม่าของการแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่โตเกียว สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดแก่นแท้ของโอลิมปิกได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ และยังได้รับการยกย่องในความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นภาพยนตร์สารคดีกีฬาที่สำคัญ ซึ่งนำเสนอมุมมองเหนือกาลเวลาของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

 

1. Chariots of Fire (1981)

 

หนึ่งเดียวที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในลิสต์นี้ และติดอันดับหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล ภาพยนตร์อังกฤษที่ออกฉายเมื่อปี 1981 สร้างมาจากเรื่องจริงของ ฮาโรลด์ อับราฮัมส์ และ เอริค ลิดเดล นักกรีฑาชาวอังกฤษที่แข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1924 ณ กรุงปารีส แม้จะเจอกับความขัดแย้งทางความเชื่อ ฮิวจ์ ฮัดสัน ซึ่งนอกจากจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว ยังได้อีก 3 รางวัล หนึ่งในนั้นคือเพลงประกอบยอดเยี่ยม Vangelis ที่ยังคงถูกนำไปใช้มาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เนื้อหาของเรื่องนำเสนอการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาทางศีลธรรมที่พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญ โดยเฉพาะด้านแรงจูงใจที่แตกต่างกัน อับราฮัมส์ คือนักกีฬาชาวยิวที่ต่อต้านลัทธิ anti-Semitism ขณะที่ ลิดเดล คือคริสเตียนผู้เคร่งศาสนาที่มองว่าการวิ่งเป็นการแสดงออกถึงศรัทธาของเขา ซึ่งช่วงท้าย Chariots of Fire ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความสำคัญของโอลิมปิกผ่านเรื่องการเมืองและแรงจูงใจส่วนบุคคล


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic