28 กุมภาพันธ์ 2563
เรือกรรเชียงจัดเป็นกีฬาที่มีประวัติอันยาวนานในการแข่งขันโอลิมปิก และเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้
นับตั้งแต่ได้รับการบรรจุแข่งในโอลิมปิกหนแรกเมื่อปี 1900 ที่กรุงปารีส กีฬาเรือกรรเชียงอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิกทุกสมัย ซึ่งความจริงแล้วกีฬาชนิดนี้น่าจะได้แข่งตั้งแต่โอลิมปิกครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ เมื่อปี 1896 ด้วยซ้ำ แต่ต้องยกเลิกเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
นักกีฬาชนิดนี้ต้องใช้พละกำลังในการพาเรือไปให้ถึงเส้นชัย ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยเทคนิคในการลงฝีพายเพื่อลดแรงต้านทานจากน้ำให้มากที่สุด และในประเภททีมยังต้องอาศัยความสามัคคีกันอีกด้วย
แล้วการแข่งกีฬาเรือกรรเชียงในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และในโตเกียว 2020 มีการแข่งขันเรือกรรเชียงกี่รายการ ติดตามได้ที่นี่
กีฬาเรือกรรเชียงกับโอลิมปิก
ขณะที่เรือกรรเชียงมีอดีตอันยาวนานหลายศตวรรษ แต่เพิ่งจะมาเป็นกีฬาที่ทำการแข่งขันจริงจังในช่วง 200 ปีหลังเท่านั้น โดยเรือกรรเชียงได้รับการบรรจุแข่งในโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แต่ต้องยกเลิกเนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ดังนั้นกีฬาชนิดนี้จึงไม่ได้ทำการแข่งขันจนกระทั่ง 4 ปีต่อมาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในช่วงแรกเริ่ม กีฬาชนิดนี้มีแข่งเฉพาะประเภทชาย ก่อนจะเพิ่มประเภทหญิงเข้ามาครั้งแรกในปี 1976 ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา
ถ้านับสถิติอย่างเป็นทางการแล้ว สหรัฐอเมริกาคือชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาชนิดนี้ หลังจากคว้าไปมากที่สุด 89 เหรียญเป็นเหรียญทอง 33 เหรียญ ตามด้วยเยอรมันตะวันออกที่ได้ 33 เหรียญทองเช่นกันแต่ได้เหรียญรวม 48 เหรียญ อย่างไรก็ตามหากรวม เยอรมันตะวันออก, เยอรมันตะวันตก, เยอรมนีในปัจจุบัน และทีมรวมเยอรมนีแล้ว พวกเขาจะคว้าเหรียญทองไปทั้งหมด 64 เหรียญ และคว้าเหรียญรวม 122 เหรียญเลยทีเดียว
สหราชอาณาจักรคืออีกชาติที่ประสบความสำเร็จในเรือกรรเชียง โดยคว้าเหรียญทองได้ทุกสมัยนับตั้งแต่ปี 1984 ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะกีฬาเรือกรรเชียงเป็นที่นิยมอย่างมากในสหราชอาณาจักร โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งเรือประเพณีอันโด่งดังระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ที่แม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1829 ถึงปัจจุบัน
รูปแบบการแข่งขันใน โตเกียว 2020
กีฬาเรือกรรเชียงคือการพายเรือเป็นเส้นตรงระยะทาง 2,000 เมตร โดยใช้ไม้พายคู่ ซึ่งแตกต่างจากเรือแคนูที่นักกีฬานั่งหันหน้า แต่เรือกรรเชียงนักกีฬาจะเคลื่อนที่ไปข้างหลังทำให้ไม่เห็นว่ากำลังพายไปในทิศทางใด ดังนั้นในการแข่งประเภททีมบางรายการจะคนถือท้ายเรือเพิ่มเติมซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่พายแต่ช่วยคุมทิศทางและประสานงานกับฝีพายทั้งหมด
สำหรับกีฬาเรือกรรเชียงนั้น แตกออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ สกัลลิง และ สวีป โดยข้อแตกต่างสำคัญคือเทคนิค ซึ่งประเภทสกัลลิงจะใช้ไม้พายคู่ ถือมือละ 1 ไม้ ต่างจาก สวีป ที่ใช้ไม้พายเดี่ยวถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง
ส่วนใน โตเกียว 2020 มีการแข่งประเภทชายและหญิงอย่างละ 7 รายการ ดังนี้ เรือกรรเชียงเดี่ยวพายคู่, เรือกรรเชียงคู่พายเดี่ยว, เรือกรรเชียงคู่พายคู่, เรือกรรเชียงสี่พายเดี่ยว, เรือกรรเชียงสี่พายคู่, เรือกรรเชียงแปดมีนายท้าย และ เรือกรรเชียงคู่พายคู่ น้ำหนักเบา
กระบวนการคัดเลือก
กีฬาเรือกรรเชียงจะมีนักกีฬาไปแข่งทั้งหมด 526 คน เพศละ 263 คน แต่นายท้ายไม่จำกัดเพศ ดังนั้นลูกเรือชายอาจมีนายท้ายเป็นผู้หญิง และลูกเรือหญิงอาจมีนายท้ายเป็นผู้ชายได้เช่นกัน
แต่ละชาติได้โควตาลงแข่งประเภทละ 1 ลำ และส่งนักกีฬาได้เพศละ 24 คน โดยโควตาที่ได้จากรายการชิงแชมป์โลกปี 2019 และรอบคัดเลือกทวีปแอฟริกาในปีเดียวกัน แต่ละชาติสามารถใช้นักกีฬาคนอื่นลงแข่งแทนคนที่คว้าโควตาได้ และนักกีฬาเหล่านี้สามารถแข่งในรายการอื่นแทนรายการที่ตัวเองแข่งเมื่อปี 2019 ได้เช่นกัน
ส่วนโควตาที่ได้จากรอบคัดเลือกโซน เอเชีย-โอเชียเนีย, อเมริกา และยุโรป รวมทั้งรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายในปี 2021 นักกีฬาที่ได้โควตาจากรายการเหล่านี้ต้องลงแข่งรายการเดียวกันในโตเกียว 2020
สำหรับโควตาทั้งหมดแบ่งออกเป็น ศึกชิงแชมป์โลก 59 ลำในแต่ละเพศ, รอบคัดเลือกโซนเอเชีย-โอเชียเนียเพศละ 8 ลำ, แอฟริกาเพศละ 6 ลำ, อเมริกาเพศละ 8 ลำ, ยุโรปเพศละ 5 ลำ และรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายเพศละ 14 ลำ โดยรอบคัดเลือกของแต่ละทวีปจะมีโควตาให้เฉพาะประเภท เรือกรรเชียงเดี่ยวพายคู่ และเรือกรรเชียงคู่พายคู่ น้ำหนักเบา เท่านั้น
ขณะที่เจ้าภาพได้โควตาเรือกรรเชียงเดี่ยวพายคู่เพศละ 1 ลำ ส่วนคณะกรรมาธิการไตรภาคีมอบสิทธิ์ให้นักกีฬาในรุ่นนี้ได้ 2 ลำต่อเพศ
นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020
หนึ่งในนักกีฬาที่น่าจับตามองในโอลิมปิกหนนี้คือ มาเฮ ดรายส์เดล จาก นิวซีแลนด์ ซึ่งหวังป้องกันแชมป์ เรือกรรเชียงเดี่ยวพายคู่ สมัยที่ 3 ติดต่อกันแม้กำลังย่างเข้าสู่วัย 43 ปี ซึ่งหากทำได้สำเร็จยังจะเป็นการคว้าเหรียญโอลิมปิกในประเภทนี้ 4 สมัยติดต่อกันอีกด้วย โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ ดามีร์ มาร์ติน เหรียญเงิน 2 สมัยจาก โครเอเชีย, เชติล บอร์ช เหรียญทองแดง ริโอ เกมส์ จาก นอร์เวย์ และ โอลิเวอร์ ซีดเลอร์ จาก เยอรมนี
ในประเภทเรือกรรเชียงคู่พายคู่ แม้สองพี่น้อง มาร์ติน และ วาเลนต์ ซินโควิช จะคว้าเหรียญทองได้สำเร็จในหนที่แล้ว แต่พวกเขาเปลี่ยนไปแข่งประเภท เรือกรรเชียงคู่พายเดี่ยว และคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ ทำให้ตั้งเป้าคว้าเหรียญทองจากประเภทนี้ที่กรุงโตเกียว แทนที่คู่จากนิวซีแลนด์คือ อีริค เมอร์เรย์ และ ฮามิช บอนด์ หลังจากรายแรกอำลาวงการ ขณะที่ บอนด์ ตั้งเป้ากับประเภทเรือกรรเชียงแปดมีนายท้าย
ส่วนประเภทหญิง ซานิตา ปุชพูเร่ จาก ไอร์แลนด์ แชมป์โลก เรือกรรเชียงเดี่ยวพายคู่ 2 สมัย คือตัวเต็งอย่างไม่ต้องสงสัย โดยมีคู่แข่งคือ เอ็มม่า ทวิกก์ จาก นิวซีแลนด์ และ คาร่า โคห์เลอร์ จากสหรัฐฯ เจ้าของเหรียญทองแดง ลอนดอน เกมส์
ด้านประเภทเรือกรรเชียงคู่พายเดี่ยว เฮเลน โกลเวอร์ ประกาศกลับมาลงแข่งอีกครั้ง แม้ ฮีทเธอร์ สแตนนิ่ง คู่หูที่คว้าเหรียญทอง 2 สมัยมาด้วยกัน จะไม่คล้อยตาม ส่งผลให้ เคอร์รี่ กาวเลอร์ และ เกรซ เพรดเดอร์กาสต์ คู่แชมป์โลกจากนิวซีแลนด์ยังคงเป็นตัวเต็งเหรียญทอง โดยมี เจสสิก้า มอร์ริสัน และ แอนนาเบล แม็คอินไทร์ จาก ออสเตรเลีย เป็นคู่แข่ง
TAG ที่เกี่ยวข้อง