stadium

วิกเตอร์ อเซลเซ่น กับภารกิจป้องกันแชมป์โอลิมปิกใน "ปารีส 2024"

18 มิถุนายน 2567

นับตั้งแต่ที่คว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2017 วิกเตอร์ อเซลเซ่น ยกระดับฝีมือตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งก้าวไปถึงขั้นคว้าแชมป์โอลิมปิก "โตเกียว 2020" และครองบัลลังก์เบอร์หนึ่งของกีฬาที่ใคร ๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องของคนเอเชีย

 

กว่าจะยิ่งใหญ่ได้ อเซลเซ่น สอดแทรกบรรดา เสือ สิงห์ กระทิง แรด ในกีฬาชนิดนี้ได้อย่างไร และภารกิจป้องกันแชมป์โอลิมปิกจะเป็นจริงได้หรือไม่ ติดตามได้ที่นี่

 

 

แววดีตั้งแต่เด็ก

 

กีฬาชนิดแรกในชีวิตที่อเซลเซ่นรู้จักนั่นก็คือแบดมินตัน พ่อของเขาหัดให้เด็กน้อยวิกเตอร์วัย 6 ขวบ ได้ลองเล่นกีฬาชนิดนี้ และก็เหมือนรักแรกพบเพราะอเซลเซ่นหลงใหลในแบดมินตันอย่างจริงจัง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพเมื่ออายุได้ 8 ขวบ จากนั้นด้วยพรสวรรค์บวกด้วยความรักในกีฬาแบดมินตัน เมื่ออายุได้ 12 ปี อเซลเซ่น ก็คว้าแชมป์ระดับชาติในรุ่นอายุของตัวเองได้สำเร็จ  

 

ในปี 2010 จัดว่าเป็นปีแห่งการฉายแสงของอเซลเซ่นในวัย 16 ปี เมื่อเจ้าตัวหักปากกาเซียนคว้าแชมป์เยาวชนโลก หลังคว่ำทั้ง หวง ยู่เซียง มือ 1 ของรายการจากจีน, ไซ ปรานีธ จาก อินเดีย และ คัง จิน-อุก จากเกาหลีใต้ซึ่งอายุมากกว่าเขา 2 ปี ในรอบชิงชนะเลิศ กลายเป็นนักแบดที่ไม่ได้มาจากทวีปเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้

 

ให้หลังจากการสร้างประวัติศาสตร์ไม่ถึงปี อเซลเซ่น ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์รุ่นใหญ่ระดับนานาชาติได้สำเร็จ ในรายการ ไซปรัส อินเตอร์เนชันแนล ตามด้วยเข้าถึงรอบชิงฯ เพื่อป้องกันแชมป์เยาวชนโลก แต่พ่ายต่อ ซุลฟัดลี่ ซุลคิฟฟลี่ จาก มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เท่านี้ก็เพียงพอจะประกาศให้โลกรู้ว่า เขานี่แหละคือผู้สานต่อตำนานนักแบดของเดนมาร์ก    

 

 

กำแพงที่ยากจะก้าวข้าม

 

เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่แล้ว อเซลเซ่น ต้องเจอกับกำแพง 3 ชั้นที่ยากจะเอาชนะคือ หลิน ตัน, ลี ชอง เหว่ย และเฉิน หลง ทำให้ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้มากมายนักในช่วงแรก เพราะเมื่อเจอ 3 คนนี้เมื่อใด อเซลเซ่นก็จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทุกคร้ัง แต่มาคว้าแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์โกลด์จนได้ในรายการ สวิส โอเพ่น ปี 2014 เพราะ หลิน ตัน, ลี ชอง เหว่ย และเฉิน หลง ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน

 

ถึงไม่ได้เอาชนะ 3 สุดยอดของวงการ แต่แชมป์นี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้อเซลเซ่นจนผลงานดีขึ้นตามลำดับ เขาคว้าเหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์ยุโรป ก่อนจะได้อันดับเดียวกันในศึกชิงแชมป์โลก หลังจากพ่าย ลี ชอง เหว่ย ในรอบรองชนะเลิศ และในปีเดียวกันนี้เองที่ วิกเตอร์ อเซลเซ่น ค้นพบหนทางใหม่ในการพัฒนาฝีมือโดยไม่ต้องออกเหงื่อ และยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวอีกด้วย

 

 

ข้ามกำแพงแห่งภาษา เพื่อใฝ่หาหนทางพัฒนาฝีมือ

 

ในโลกของกีฬาแบดมินตันจะว่าไปแล้ว ภาษาจีน แทบจะกลายเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุด เพราะด้วยความที่นักแบดจากแดนมังกรครองวงการ รวมทั้งยังมีชาติอื่น ๆ ที่พูดจาภาษาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น จีนไทเป, ฮ่องกง, มาเลเซีย และสิงคโปร์

 

วิกเตอร์ อเซลเซ่น จึงคิดได้ว่า เมื่อต่อต้านไม่ได้ก็เข้าร่วมเสียเลย เผื่อจะทำให้เขาพัฒนาฝีมือมากขึ้น

 

"ผมไม่รู้หรอกว่าภาษาจีนช่วยในการแข่งมากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือการสามารถพูดคุยกับนักแบดคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬาจีน เพื่อเรียนรู้เทคนิคของพวกเขา"

 

ขณะเดียวกัน อเซลเซ่น รู้ดีว่า ภาษาจีนจะช่วยให้เขาได้สปอนเซอร์และงานอีเวนต์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และด้วยความเป็นคนที่ทำอะไรจะทุ่มเท 100 เปอร์เซ็นต์ อเซลเซ่น จ้างครูมือดีมาติวภาษาจีนให้ทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง จนได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ก่อนที่จะถีบตัวเองขึ้นไปคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกปี 2016 ซึ่งมาจากการเอาชนะ หลิน ตัน อีกด้วย  

 

ปัจจุบัน อเซลเซ่น มีผู้ติดตามใน weibo เว็บบล็อกยักษ์ใหญ่ของจีนมากกว่า 4 แสนคน ซึ่งแฟนคลับส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเขาในชื่อภาษาจีนว่า อัน ไซ หลง ที่แปลตามตัวว่า "ความสงบ การแข่งขัน มังกร" มากกว่าชื่อจริงแต่กำเนิด นอกจากนั้นด้วยความที่เดนมาร์กมีโค้ชทักษะเป็นชาวจีนคือ จาง เหลียน หยิง ทำให้ อเซลเซ่น ได้เรียนรู้ในมุมมองที่ต่างออกไปมากกว่าเดิม  

 

 

จากเหรียญทองแดงที่ ริโอ สู่คำว่าแชมป์โลก

 

การเอาชนะ หลิน ตัน ในรอบชิงเหรียญทองแดงโอลิมปิก รวมทั้งการคว้าแชมป์ยุโรป ทำให้ อเซลเซ่น รู้ว่าเขากำลังพัฒนาไปได้ถูกทาง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน นักแบดชาวเดนมาร์กเขี่ย ลี ชอง เหว่ย ตกรอบแบ่งกลุ่มรายการ ซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนัลส์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

 

ในปีต่อมา อเซลเซ่น เหมือนเสือติดปีก เมื่อคว้าแชมป์ อินเดีย โอเพ่น ในเดือนเมษายน ตามด้วยคว้าแชมป์โลกในเดือนสิงหาคมจากการเอาชนะทั้ง เฉิน หลง ในรอบรองฯ และหลิน ตัน ในรอบชิง กลายเป็นนักแบดจากเดนมาร์กคนแรกที่คว้าแชมป์โลกประเภทชายเดี่ยวนับตั้งแต่ ปีเตอร์ ราสมุสเซ่น ในปี 1997

 

นอกจากนั้นในปีเดียวกัน อเซลเซ่น ยังปราบ ลี ชอง เหว่ย ในนัดชิงได้ถึง 2 รายการ ทั้ง เจแปน โอเพ่น และซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนัลส์ นั่นหมายความว่าในปี 2017 เขาเอาชนะ 3 สุดยอดนักแบดของโลกได้ทั้งหมด รวมทั้งขยับขึ้นไปรั้งมือ 1 ของโลกอีกด้วย

 

 

บรรลุเป้าหมายสูงสุดใน โตเกียว เกมส์

 

หลังขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพ อเซลเซ่น ก็ต้องเจอกับคู่ปรับคนใหม่ชื่อ เคนโตะ โมโมตะ ที่หลังจากพ้นโทษแบนก็เข้าขั้นไร้เทียมทานกวาดแชมป์เป็นว่าเล่น และสร้างความชอกช้ำให้กับอเซลเซ่นครั้งแล้วครั้งเล่า เรียกได้ว่าถ้าโลกนี้ไม่มี โมโมตะ นักแบดชาวเดนมาร์กคงได้แชมป์ไปเต็มตู้โชว์แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคมปี 2020 โมโมตะ ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลังจากนั้นฟอร์มของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่ตัวอเซลเซ่นเอง พยายามทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายพร้อมไขว่คว้าเป้าหมายใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นคือเหรียญทองโอลิมปิก และในวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2021 น้ำตาของมังกรจากสแกนดิเนเวียก็ท่วมท้นออกมาด้วยความตื้นใจที่สุดในชีวิต เมื่อ อเซลเซ่น เอาชนะ เฉิน หลง แชมป์เก่า 2 เกมรวด กลายเป็นนักแบดมินตันคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของเดนมาร์ก ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกต่อจาก โพล-เอริก โฮเยอร์ ลาร์เซ่น เมื่อปี 1996

 

"นี่คือฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมที่กลายเป็นจริง ตอนที่ได้แต้มสุดท้าย ผมสติหลุดไปเลย มีแต่อะดรีนาลีนกับความสุขเท่านั้นที่ผมรู้สึกได้ ทุกอย่างคุ้มค่ากับความทุ่มเททั้งหมดของผม"

 

 

ปีที่ยากลำบากกับภารกิจใหญ่ "ป้องกันแชมป์โอลิมปิก"

 

แม้จะได้แชมป์ครบทุกรายการแล้ว แต่ไฟในการแข่งของอเซลเซ่นยังไม่มอดลง เขาคว้าแชมป์โลกได้อีกสมัยในปี 2022 และก้าวพ้นหลักไมล์ครองมือ 1 เกิน 100 สัปดาห์ไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ในปีนี้อุปสรรคที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเขาตลอดอาชีพกลับมาอีกครั้ง นั่นคืออาการบาดเจ็บ

 

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะรายการไหน ยอดนักตบลูกขนไก่ชาวเดนมาร์ก ได้ชื่อว่าเป็นเต็งหามทุกรายการ แต่ปีนี้ในวัยขึ้นเลข 3 อเซลเซ่นเจออาการบาดเจ็บหลอกหลอนจนกว่าจะได้แชมป์แรกของปีต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม และถอนแข่งอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงรายการล่าสุดอย่าง อินโดนีเซีย โอเพ่น

 

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะเป็นอาการบาดเจ็บที่น่าเป็นห่วง หรือเป็นการระวังไว้ก่อน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุดสำหรับ "ปารีส 2024" ก็ตาม ย่อมส่งผลต่อการเล่นของเขาไม่มากก็หน่อย เพราะนักกีฬาต้องการแมตช์แข่งเพื่อลับประสาทสัมผัส และที่ยิ่งไปกว่านั้น อเซลเซ่น ยังเสียตำแหน่งมือ 1 ของโลกให้กับ ฉื่อ ยู่ ฉี อีกด้วย ซึ่งผู้ชมอย่างเราคงได้แต่หวังว่า อเซลเซ่น จะกลับมาได้ทันเวลาเหมือนอย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ช่วงพักรักษาอาการบาดเจ็บเมื่อต้นปี

 

"ผมจะกลับมาหลอนคู่แข่งในปารีสให้ดู"


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic