17 มิถุนายน 2567
โอลิมปิก เกมส์ ถูกเรียกว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เพราะมีนักกีฬาจำนวนมาก เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งนอกเหนือจากสถานที่แข่งแล้ว ในการจัดแต่ละครั้งย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรางวัล, สัญลักษณ์ และมาสค็อตประจำการแข่งขัน
นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมา "เพลง" ประจำการแข่งขันก็ได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะนี่คือสิ่งที่จะสื่อถึงความหมายของ โอลิมปิก เกมส์ รวมทั้งช่วยสร้างแรงกระตุ้น, แรงบันดาลใจ และปลุกเร้าอารมณ์ร่วมให้กับทั้งนักกีฬาและผู้ชมทั่วโลก
ดังนั้นเพลงประจำการแข่งขันในแต่ละครั้ง จึงเป็นบทเพลงที่ดีที่สุด ถ่ายทอดโดยนักร้องที่เป็นที่สุด แต่เพลงใดได้รับการยกย่องให้ขึ้นหิ้งอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกตลอดกาล ติดตามได้ที่นี่
10. ซาร่าห์ ไบรท์แมน และ โฆเซ่ การ์เรราส "Amigos Para Siempre" (1992, บาร์เซโลน่า)
เพลงสไตล์ละตินที่ให้กลิ่นอายของละครเวทีและภาพยนตร์นี้ขับกล่อมผู้ฟังด้วยเสียงสูงสุดไพเราะของการ์เรราสและไบร์ทแมนพร้อมกับวงออร์เคสตราอันยิ่งใหญ่ ขณะที่ทำนองและเนื้อร้องแต่งโดยศิลปินระดับตำนานอย่าง แอนดรูว์ เว็บเบอร์ และ ดอน แบล็ค โดยเพลงนี้ ฆวน อันโตนิโอ ซามารานช์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกในขณะนั้น ชื่นชอบอย่างมาก และได้นำไปเปิดในพิธีศพของเจ้าตัวในปี 2010 อีกด้วย (คลิกเพื่อฟังเพลง Amigos Para Siempre)
9. คริสโตเฟอร์ ครอสส์ "A Chance for Heaven" (1984, ลอส แองเจลิส)
ครอสส์สร้างเพลงสไตล์ Synthpop หรือเพลงที่สร้างจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์เพื่อการแข่งขันโอลิมปิกปี 1984 ที่แอลเอ แม้มีบางอย่างที่ชวนให้สับสนอยู่บ้างอย่างชื่อเพลงที่มีต่อท้ายว่า "Swimming Theme" แต่ท่อนร้องประสานกลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปีนเขา อย่างไรก็ตามเมื่อเอาเพลงนี้มาฟังกี่ครั้งก็จะชวนให้ระลึกถึงช่วงปี 80 พร้อมกับความรู้สึกอยากหยิบเสื้อกันลมสีสะท้อนแสงและปลอกหุ้มขามาใส่ไปร่วมงานเต้นรำขนาดใหญ่ทันที (คลิกเพื่อฟังเพลง A Chance for Heaven)
8. หลิว ฮวน และ ซาร่าห์ ไบรท์แมน "You and Me" (2008, ปักกิ่ง)
เพลงนี้แต่งตามคำขวัญคือ "One World, One Dream" โดยได้ เฉิน ฉีกัง นักประพันธ์เชื้อสายฝรั่งเศส-จีน เป็นผู้แต่ง ซึ่งได้รับความนิยมทันทีจากเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน ตรงข้ามกับพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ตระการตา และทำให้นี่เป็นหนึ่งในผลงานชั้นยอดของเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ (คลิกเพื่อฟังเพลง You and Me)
7. มิวส์ "Survival" (2012, ลอนดอน)
วงดนตรีสัญชาติอังกฤษที่มีเพลงฮิตมากมายซึ่งช่วยปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ฟังคือตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเป็นตัวแทนของเจ้าภาพ และพวกเขาก็แสดงออกมาให้เห็นในบทเพลงที่รวมความเป็นร็อกและกีฬาเข้าด้วยกัน ทั้งเสียงโอดครวญของกีตาร์, คณะประสานเสียงของวากเนอร์ และเสียงร้องของ แมตต์ เบลลามี่ ที่ขับขานเนื้อหาที่ว่าด้วยการเป็นผู้ชนะ, ไม่ยอมเป็นผู้แพ้, การจุดไฟในตัวเอง และการทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแสดงความแข็งแกร่งของตัวเองออกมาในการแข่งขันแห่งมวลมนุษยชาติ (คลิกเพื่อฟังเพลง Survival)
6. เซลีน ดิออน "Power of the Dream" (1996, แอตแลนตา)
ถ้าจะมีใครเกิดมาเพื่อร้องเพลงบัลลาดอันทรงพลังสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก และแต่งโดย เดวิด ฟอสเตอร์, ลินดา ธอมป์สัน และ เบบี้เฟซ คนนั้นต้องเป็น เซลีน ดิออน ดิว่าเสียงทรงพลังจากแคนาดา ขณะที่เนื้อเพลงก็เต็มไปด้วยคำสำคัญของการแข่งขันมากมายทั้ง หัวใจ, จุดประกายเวทมนตร์, ความแข็งแกร่ง, ไฟ, เปลวเพลิง, พลังแห่งความฝัน, แรงบันดาลใจ และ ความกล้าหาญ บวกด้วยเสียงแตรที่ดังกังวาน และคณะประสานเสียงขนาดใหญ่ ทำให้เพลงนี้ซาบซึ้งตรึงใจทุกคนโดยเฉพาะท่อนที่ว่า "It's the moment that you think you can't, you'll discover that you can." ซึ่งตรงกับความเป็นโอลิมปิกเอามาก ๆ (คลิกเพื่อฟังเพลง Power of the Dream)
5. โคเรียน่า "Hand in Hand" (1988, โซล)
เพลงที่โปรดิวซ์โดย โจวานนี่ จอร์โจ้ โมโรเดอร์ มีทั้งเนื้อร้องที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่งโดย ทอม วิทล็อก และเนื้อร้องภาษาเกาหลีที่แต่งโดย คิม มูน-ฮวาน ซึ่งเนื้อหาเต็มไปด้วยสิ่งที่เพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกควรจะมี ทั้งการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีขึ้น, การทำลายกำแพงที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และ การรู้สึกถึงเปลวไฟในตัวเอง ทำให้ได้รับความนิยมจนติดท็อปชาร์ตใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมถึง สวีเดน, สเปน, เยอรมันตะวันตก, ญี่ปุ่น และ ออสเตรีย เป็นต้น นอกจากนั้นยังทำยอดขายอัลบัมได้ถึง 12 ล้านชุดทั่วโลก (คลิกเพื่อฟังเพลง Hand in Hand)
4. เคที่ เพอร์รี่ "Rise" (2016, ริโอ เดอ จาเนโร)
เมื่อให้เจ้าของเพลง "Roar" ที่ปลุกใจคนทั่วโลก มารับหน้าที่ร้องเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิก แน่นอนว่าย่อมทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วม และอะดรีนาลีนสูบฉีด ช่วยลบภาพลักษณ์อันย่ำแย่ของ ริโอ เกมส์ ทั้งเรื่องน้ำที่ไม่สะอาดและไวรัสซิก้า ซึ่งเนื้อเพลงมีการแต่งร่วมกับ แม็กซ์ มาร์ติน เจ้าของเพลงฮิตมากมาย ทำให้ "Rise" ไต่อันดับขึ้นไปติดชาร์ตได้แบบสบาย ๆ (คลิกเพื่อฟังเพลง Rise)
3. บียอร์ก "Oceania" (2004, เอเธนส์)
การให้นักร้องอย่างบียอร์กรับหน้าที่แสดงในพิธีเปิด แน่นอนว่าสิ่งที่ได้ย่อมไม่ธรรมดา การร้องประสานเสียงแบบ อะแคปเปลาผสมผสานกับบีตบ็อกซ์ พร้อมด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของมนุษย์จากมุมมองของมหาสมุทร ประกอบด้วยการแสดงที่เหมือนกับอยู่ในโลกแห่งจินตนาการทำให้ทุกคนราวกับตกอยู่ในภวังค์เลยทีเดียว (คลิกเพื่อฟังเพลง Oceania)
2. เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ และ มอนเซร์ราต กาบัลเล่ "Barcelona" (1992, บาร์เซโลน่า)
การจับคู่ของนักร้องนำวงควีนผู้ล่วงลับกับนักร้องโอเปร่าชื่อดังจากบาร์เซโลน่าย่อมเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็น แต่น่าเสียดายที่เมอร์คิวรี่เสียชีวิตในปี 1991 ทำให้ไม่ได้ขึ้นแสดงสดในการแข่งขัน (วิดีโอการแสดงของทั้งคู่ได้รับการบันทึกในปี 1988 เมื่อบาร์เซโลน่าได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ) อย่างไรก็ตามนี่นับเป็นเพลงที่ฮิตที่สุดในการเป็นนักร้องเดี่ยวของเมอร์คิวรี่ โดยขึ้นถึงอันดับ 2 ของยูเคชาร์ต (คลิกเพื่อฟังเพลง Barcelona)
1. วิทนี่ย์ ฮุสตัน "One Moment in Time" (1988, โซล)
นี่คือที่สุดของที่สุดสำหรับเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิก ทั้งเสียงร้องที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของ วิทนี่ย์ ฮุสตัน, การขึ้นไปถึงอันดับ 5 ของ บิลบอร์ดชาร์ต, ได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่สาขาเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม และเนื้อเพลงสุดอมตะ ("I've lived to be the very best/ I want it all no time or less/ I've laid the plans now lay the chance/ Here in my hands/ Give me one moment in time.") ซึ่งไม่มีเพลงใดในโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่มากไปกว่านี้อีกแล้ว (คลิกเพื่อฟังเพลง One Moment in Time)
TAG ที่เกี่ยวข้อง