stadium

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม : ลงมือทำเสียก่อน ก่อนที่จะบอกว่าทำไม่ได้

13 มิถุนายน 2567

คำว่าต้นทุนไม่เท่ากัน อาจจะใช้ไม่ได้กับ “รุ่ง” รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เพราะนี่คือนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการกีฬาปิงปองที่เมืองไทย 

 

ด้วยฝีไม้ลายมือการเล่นที่ยอดเยี่ยมไม่ต่างจากคนปกติทั่วๆไป รวมถึงประสบการณ์ในเวทีระดับโลกก็อัดแน่น เตรียมลุยพาราลิมปิกเกมส์ หนที่ 5 ในปารีสเกมส์ครั้งนี้ รวมถึงผลงานตลอดที่ผ่านมาในโอลิมปิกเกมส์ เขาคว้าเหรียญไปทั้งหมด 1 เหรียญทอง ในปี 2012 ที่ลอนดอน และอีก 2 เหรียญทองแดง ในริโอและโตเกียวเกมส์ ติดตามเคล็ดลับความสำเร็จของเจ้าพ่อลูกเด้งคนนี้ พร้อมกันได้ที่นี่

 

 

ความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี

 

คนพิการจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ นั่นก็คือ พิการตั้งแต่กำเนิด และ พิการจากการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งรุ่งจัดอยู่ในหมวดแรก จากการคลอดก่อนกำหนดตั้งแต่ 6 เดือนแรก เนื่องจากคุณแม่เกิดอาการแท้ง ทำเขาต้องพักฟื้นและอยู่ในตู้อบโรงพยาบาลต่ออีก 3 เดือน เพื่อให้ครบ 9 เดือน

 

“ผมมองว่าตัวเอง ไม่ได้ทำใจลำบากมากในความพิการ เพราะเกิดมาผมก็เป็นแบบนี้เลย ต่างจากคนทั่วไปที่เกิดมามีครบ 32  พอวันนึงพวกเขาโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น แขนขาด, ขาขาด คนกลุ่มนี้จะทำใจได้ยากกว่า เนื่องจากตัวเองเคยมีร่างกายครบ 32 มาก่อน”

 

“แต่ในความโชคร้ายครั้งนั้น ผมกลับมองว่ามันก็ยังมีความโชคดี เพราะคุณของพ่อผมรับราชการตำรวจ เลยได้ใช้สวัสดิการในการรักษาตัว อีกทั้งยังทำให้ผมได้รู้จักกับกีฬาปิงปอง ตอน ป.5 ซึ่งในตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเป็นทีมชาติ แค่อยากออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง”

 

แรงสนับสนุนจากครอบครัว ที่ช่วยกันดูแลและประคับประคองจิตใจ ทำให้ไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดหาย หรือด้อยกว่าคนอื่น

 

“ผมมีพี่ชายหนึ่งคนเป็นคนปกติ ผมก็ไม่อยากจะนั่งวีลแชร์ เพราะว่าเราอยากจะไปไหนมาไหนด้วยกันได้ ผมเรียนโรงเรียนคนปกติ เมื่อก่อนผมใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ทำให้ขาเรามีแรงเดินมากขึ้น รวมถึงครอบครัวที่ไม่เคยเปรียบเทียบผมกับพี่ชาย และพวกเขาดูแลผมตลอดมา จนผมรู้สึกว่า ตัวผมเองก็เป็นคนปกติแบบคนทั่วไป”

 

 

จุดเปลี่ยนเส้นทางลูกเด้งพาราไทย

 

“ทุนช้างเผือก” โควตาของเด็กที่ชื่นชอบในการแข่งขันหรือเล่นกีฬา เมื่อสมัยก่อนหากอยากจะเข้าศึกษาสถาบันดีๆที่ไหนสักแห่ง หากมีความสามารถก็จะสามารถใช้สิทธิ์ตรงนี้เพื่อแข่งขันกัน ไม่ต่างจากรุ่งที่จุดเริ่มต้นก็เริ่มมาจากสิ่งนี้เช่นกัน

 

“ผมเริ่มตีปิงปองแบบจริงๆจังๆ ตอนช่วงอยู่ ป.6 คือผมก็ไม่รู้มาก่อนว่าคุณพ่อดูแลนักกีฬาปิงปองสโมสรตำรวจอยู่ในตอนนั้น มารู้ตอนที่จะเข้ามอหนึ่ง เพราะมีโควตาช้างเผือกนี่แหละ เพราะว่าตอนนั้นผมอยากที่จะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนหอวัง ก็เลยไปแข่งคัดเลือกกับคนปกติทั่วไปเลย จนสุดท้ายก็ได้โควตามา ซึ่งในตอนนั้นก็ดีใจนะครับ ที่สามารถทำได้สำเร็จ”

 

“หลังจากนั้นมาพอผมอยู่ มอสอง เริ่มรู้ว่ามีกีฬาของคนพิการ ก็เลยไปคัดตัวกับรุ่นพี่นักกีฬาคนพิการ อายุ 40 กว่า แล้วผมคือเด็กมากในตอนนั้น ก่อนจะแข่งวันนั้น ก็มีคนมาแซวว่า เราจะทำได้ป่าว อายุยังแค่นี้ สุดท้ายผมใช้แรงผลักดัน และสามารถเอาชนะรุ่นพี่มาได้ และคนในทีมต่างพากันแฮปปี้พอสมควร ด้วยความที่มีเด็กใหม่เข้ามา แถมอายุยังน้อยเลยเป็นที่แปลกตาในตอนนั้น”

 

แต่ใครจะรู้ ผลงานเปิดตัวทีมชาติครั้งแรกของ รุ่งโรจน์ ดันไม่ได้สวยงามแบบที่ทุกคนคิด เขาเริ่มต้นด้วยความพ่ายแพ้ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับทำให้เจ้าตัว อยากที่จะพัฒนาตัวเองให้ไปไกลกว่าเดิม และค้นพบความสุขจากกีฬาปิงปอง

 

 

ล้มลงแล้วให้กล้าลุกขึ้น

 

กราฟชีวิตของรุ่งหลังจากนั้น ถือว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จากผลงานที่สวยหรู เริ่มค่อยๆกวาดเหรียญทอง เริ่มจากรายการใน อาเซียนก่อน แล้วก็ขยับไปเอเชีย ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่เวทีโลกในเวลาต่อมา

 

“หลังจากที่คว้าแชมป์ในแถบเอเชีย ผมก็ได้ตั๋วควอลิฟายไปลุยพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งแรกในปี 2008 แต่ครั้งนั้นทุกอย่างได้พังทลายลงมา ผมตกรอบแรกเพราะเรามีแต่ผมความฟิต ไม่มีประสบการณ์ อีกทั้งยังมีความรู้สึกเสียใจที่ตัวเองตันสินใจดร็อปเรียนในตอนนั้น เพราะอยากเอาจริงเอาจังกับการซ้อม”

 

“พอกลับมา ผมเลิกตีปิงปองไปเลยสามเดือน ไปพึ่งเกมส์ออนไลน์ กักตัวเองอยู่ร้านแถวมอเกษตร เล่นเกมส์ทุกวัน เพราะเวลาอยู่ในเกมส์ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรก็ได้ อีกทั้งในตอนนั้นเริ่มมีเงินเดือนละ ใจมันก็เลยเกเร”

 

“แต่ว่าดันมีเหตุการณ์หนึ่ง คือผมเกิดวันที่ 16 ธันวาคม แล้ววันนั้นได้เปิดทีวีดูพอดี แล้วเห็นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบแล้วได้เหรียญทอง ผมก็เลยไปเปิดพระบรมราโชวาทของท่าน ที่เขียนไว้ว่า ล้มลงแล้วให้กล้าลุกขึ้น ตอนนั้นเหมือนดึงสติตัวเองกลับมาทันที ทำให้ผมลุกขึ้นมาตีปิงปองอีกครั้ง รวมถึงโค้ชของผมด้วย ที่ไปลากเราออกจากร้านเกมส์ และยังไปขู่ว่าเจ้าของร้านอีกว่า หากเห็นผมเข้าไปเล่นเกมส์อีก โค้ชจะเอาตำรวจไปปิดร้านของเขา” (หัวเราะ)

 

 

ความกระหายในชัยชนะ 

 

รุ่งโรจน์ จัดอยู่ในหมวดนักกีฬาที่คว้าแชมป์มาแล้วทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียนพาราเกมส์ อย่างครั้งล่าสุดที่ หางโจว 2022 ก็กวาดเรียบ 3 เหรียญทอง ในทุกประเภทที่ลงแข่งขัน รวมถึงในมหกรรมสุดยิ่งใหญ่อย่าง พาราลิมปิกเกมส์ เจ้าตัวก็คว้ามาแล้วถึง 3 เหรียญ ตลอด 25 ปีที่อยู่ในเส้นทางนี้มา

 

“เป้าหมายของผมชัดเจนมากๆในตอนนี้ เพราะว่าผมมีครอบครัว ผมมีลูก จึงรู้ว่าต่อจากเนี่ย เราทำอะไรและทำเพื่อใคร เราก็เลยต้องรักษามาตรฐานการเล่นของตัวเองไว้ เพราะผมไม่อยากให้ลูกๆรู้สึกว่า มีพ่อเป็นคนพิการแล้วดูแลพวกเขาไม่ดี”

 

“ผมอยากจะเป็นคนพิการ ที่ดูแลพวกเขาได้ดี อย่างที่ผู้ชายคนหนึ่งจะทำให้พวกเขาได้”

 

 

พาราลิมปิกครั้งที่ 5

 

น้อยคนที่จะสามารถคว้าตั๋วลุยพาราลิมปิก ได้ติดต่อกันถึง 5 สมัย เริ่มตั้งแต่ปี (2008-2024) ช่วงเวลาที่ผ่านมามีล้มลุกคลุกคลาน ทั้งความสุขที่เอ่อล้น และคราบน้ำตา โดยเจ้าตัวได้เปิดเผยถึงความรู้สึก ที่จะไปลุยครั้งนี้ไว้ว่า

 

“ตอนนี้ร่างกายยังไม่ฟิตเต็มร้อยเปอร์เซ็น บาดเจ็บจากอาการข้อเท้าเสื่อม เป็นตั้งแต่เอเชียนพาราเกมส์ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ต้องเอารักษาตามกระบวนการ เวลาที่ใช้ชีวิตปกติก็ยังไม่มีปัญหา แต่พอเริ่มลงคอร์ดมันก็กลับมา”

 

“แต่ทุกวันนี้ก็ยังฝึกซ้อมอยู่นะครับ ไม่ต่ำกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ เพราะชีวิตของผมตลอดทั้งปี มันมีปิงปองเป็นส่วนนึงของชีวิตไปแล้ว”

 

 

พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 จะเริ่มแข่งขันกันระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึงวันที่ 8 กันยายนนี้ มารอเชียร์ตำนานลูกเด้งไทยอย่างรุ่งโรจน์ ให้คว้าเหรียญครั้งที่ 4 มาครองได้สำเร็จ เพื่อนำมาฝากแฟนๆกีฬาไทยไปด้วยกัน


stadium

author

อดิศักดิ์ คูวัฒนากุล

StadiumTH Content Creator

stadium olympic