11 มิถุนายน 2567
เหรียญทองโอลิมปิก คือความสำเร็จสูงสุดเท่าที่นักกีฬาจะทำได้ ซึ่งมีแค่ไม่กี่คนที่ก้าวขึ้นไปถึงจุดนั้น และเมื่อทำได้สำเร็จก็เหมือนเป็นการปลดเปลื้องตัวเองจากสิ่งที่ทุ่มเทมาตลอดชีวิต
แน่นอนว่า การคว้าเหรียญทอง ทำให้เขาหรือเธอภาคภูมิใจและรู้สึกคุ้มค่ากับความพยายาม แต่ยังมีบางคนที่รู้สึกว่าสิ่งนี้คือกรงที่กักขังจนทำให้ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ เคทลิน เจนเนอร์ รู้สึกว่า การคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ทำให้เป็นทุกข์มากกว่าสุข ติดตามได้ที่นี่
เคทลิน เจนเนอร์ หรือชื่อเดิมคือ บรูซ เจนเนอร์ เป็นอดีตนักกรีฑาที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากคว้าเหรียญทองทศกรีฑาในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1976 พร้อมกับทำลายสถิติโลกได้สำเร็จ
ชีวิตของ บรูซ เจนเนอร์ อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์มาโดยตลอด แม้จะอำลาจากชีวิตนักกีฬา แต่ด้วยความสำเร็จและหน้าตาที่หล่อเหลาทำให้มีงานในวงการบันเทิงไม่ขาดสายทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ได้รับความสนใจมากที่สุดคือรายการ "Keeping up with the Kardashians" เรียลลิตี้โชว์ที่ตามติดชีวิตสาว ๆ ตระกูลคาร์ดาเชียนคือ คิม, คอร์ทนี่ย์, โคลอี้ ลูกติดของคริสผู้เป็นภรรยารวมทั้งลูก ๆ ของทั้งคู่คือ เคนดัลล์ และ ไคลี่ เจนเนอร์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 หลังจากหย่ากับ คริส ได้ 2 ปี บรูซ สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อประกาศว่า เขาเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แม้จะผ่านการแต่งงานมา 3 ครั้ง มีลูก 6 คน พร้อมกับเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เคทลิน เจนเนอร์
ปัจจุบัน เคทลิน ที่ผ่าตัดแปลงเพศสำเร็จในปี 2017 ยังคงอยู่ในวงการบันเทิง รวมทั้งประกอบธุรกิจ และเป็นนักเรียกร้องสิทธิเพื่อคนข้ามเพศอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเธอคือผู้หญิงข้ามเพศที่โด่งดังที่สุดในโลก
ความจริงแล้ว เคทลิน เปิดเผยว่า เธอรู้สึกตัวเองถึงความผิดปกติทางเพศตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก แต่ต้องเก็บกดเอาไว้เพราะสังคมยังไม่ยอมรับ และการเป็นนักกีฬาทำให้ต้องพุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จสูงสุดคือเหรียญทองโอลิมปิก
แต่แล้วเมื่อเธอไปถึงจุดนั้นได้ ก็เกิดความคิดกับตัวเองว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เธออยากจะเป็น
"ฉันจำได้ว่าตื่นขึ้นมาในเช้าวันถัดไป และเดินไปที่ห้องน้ำโดยไม่ได้สวมอะไรเลย ฉันหยิบเหรียญทองโอลิมปิกจากบนโต๊ะมาสวมที่คอ มองไปที่กระจกแล้วถามตัวเองว่า 'นี่เราต้องติดอยู่กับคนนี้ไปตลอดชีวิตเลยหรือ?'"
"นี่เราสร้างตัวตนของบรูซมากเกินไปหรือเปล่า" เจนเนอร์ ย้อนความจำถึงสิ่งที่เธอถามตัวเองในวันนั้น "คุณจะต้องติดอยู่กับนายคนนี้ไปตลอดชีวิตเลยนะ? ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก"
เคทลินเก็บเรื่องนั้นเอาไว้ เพราะในยุคสมัยนั้นมันเกินกว่าความเข้าใจของเธอ ก่อนจะตัดสินใจเข้ารับการบำบัดในช่วงปี 1980 และวางแผนแปลงเพศก่อนอายุ 40 แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ทำตามสิ่งที่วางเอาไว้
ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็ได้พบรักกับ คริส คาร์ดาเชียน และกลายเป็นพ่อเลี้ยงของ คอร์ทนี่ย์, คิม, โคลอี้ และร็อบ พวกเขามีลูกสาวด้วยกันอีก 2 คนคือ ไคลี่ และ เคนดัลล์ ซึ่งเมื่อรวมกับลูกจากอดีตภรรยาแล้วเท่ากับเจนเนอร์มีลูกถึง 10 คนเลยทีเดียว
หลังจากใช้ชีวิตคู่ร่วมกันยาวนานถึง 23 ปี เคทลิน หรือ บรูซ เจนเนอร์ ในขณะนั้นก็ตัดสินใจแยกทางกับคริส แต่ยืนยันว่าเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของเธอไม่ใช่เหตุผลหลักในการเลิกรา เนื่องจากมีปัญหาอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าจนทำให้ไปด้วยกันไม่ได้
เมื่อปลดเปลื้องจากพันธนาการทางสังคม บรูซ จึงกลับมาคิดเรื่องการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเองอีกครั้ง
"ตอนนี้หลายอย่างมันต่างออกไป และยังเป็นโอกาสที่ดีในการมีส่วนร่วมกับการทำความเข้าใจสังคมอย่างแท้จริง เมื่อเข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิต"
ในปี 2015 เจนเนอร์ปรากฏตัวบนปกของนิตยสาร Vanity Fair ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ เธอเข้ารับกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศจนแล้วเสร็จในปี 2017 และได้รับรางวัลสดุดีความกล้าหาญ Arthur Ashe Courage Award ในงานมอบรางวัล ESPY ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลออสการ์ของวงการกีฬา
เรื่องที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เคทลิน ได้รับการช่วยเหลือจาก คริส อย่างเต็มที่ในช่วงกระบวนการเปลี่ยนแปลง และทั้งคู่ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อถูกถามว่าอะไรคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ เจนเนอร์ กล่าวว่า "การได้แสดงตัวตนที่แท้จริงของเธอคือความสำเร็จสูงสุด เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ อย่างการลงแข่งโอลิมปิก เกมส์ ฉันใช้เวลาฝึกซ้อมนาน 12 ปี แต่กว่าจะเริ่มการเปลี่ยนแปลงตัวเองฉันต้องใช้เวลาไปนานกว่า 65 ปี"
"ตอนนี้ ฉันไม่ต้องหลบสายตาคนอื่น ๆ อีกต่อไป ฉันไม่ต้องมีกระเป๋าเสื้อผ้า 2 ใบ สำหรับการใช้ชีวิตเป็นผู้ชายและผู้หญิงอีกแล้ว"
"ฉันยินดีที่ตัวเองได้เจอปัญหาเหล่านี้ เพราะมีคนบอกเอาไว้ว่า ความสำเร็จไม่ได้วัดจากจุดสูงสุดที่ไปถึง แต่วัดจากอุปสรรคที่ต้องเอาชนะ"
แม้ คริส อดีตภรรยาจะรับมือได้ดีถึงขั้นน่าชื่นชมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเคทลิน แต่กับลูก ๆ ของเธอนั้นเป็นเรื่องที่ต่างออกไป แม้ช่วงแรกทุกคน(รวมถึงลูกติดของคริสกับอดีตสามี) จะแสดงออกถึงการสนับสนุนต่อหน้าสาธารณชน แต่พอช่วงเวลาผ่านไป บางคนก็พยายามหลีกเลี่ยงและเว้นระยะห่างกับเธอ
อย่างไรก็ตาม บางคนก็ให้การยอมรับและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ คิม และ คอร์ทนีย์ เช่นเดียวกับ เคนดัลล์ และ ไคลี่ ลูกแท้ ๆ ของเธอกับคริส
ในงานฉลองการเปลี่ยนแปลงครบ 5 ปี ของเคทลินนั้น เคนดัลล์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร People ถึงความสัมพันธ์ของเธอกับผู้เป็นพ่อว่า "เมื่อพ่อของฉันเปิดตัวเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ความสัมพันธ์ของพวกเราก็ดีขึ้น เพราะในที่สุดเธอก็สามารถแสดงออกกับฉันได้อย่างจริงใจ และเพราะความกล้าหาญของพ่อ ทำให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่รักโดยไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่น"
"เธอคือบุคคลต้นแบบของฉันนับตั้งแต่จำความได้ จากมุมของกีฬาไปจนถึงเรื่องภูมิปัญญาของเธอในตอนนี้ เธอกล้าหาญมาก ๆ และทำให้ฉันปรารถนาจะมีความกล้าให้ได้เท่าเธอสักวันหนึ่ง"
ด้วยความที่เป็นคริสเตียน ทำให้เธอมีแนวคิดเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม และเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันตัวยง ซึ่งเคทลินเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่าเธอมีความเป็นรีพับลิกันอนุรักษ์นิยมมากกว่าความเป็นผู้หญิงข้ามเพศเสียอีก
อย่างไรก็ตาม เธอเคยแสดงความเห็นวิจารณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบ่อยครั้ง เนื่องจากเจ้าตัวไม่รักษาสัญญาที่จะให้สิทธิ์คน LGBT อย่างเท่าเทียม
ความคิดเรื่องเข้าสู่วงการเมือง อยู่ในหัวของ เคทลิน เรื่อยมา ด้วยความที่ว่าเธอต้องการใช้พื้นที่เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับคนทุกเพศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2017 เธอเคยประกาศสนใจลงชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกตัวแทนรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ไม่ได้สานต่ออย่างจริงจัง
จนมาถึงในเดือนเมษายนปี 2021 เธอก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในฐานะตัวแทนของพรรครีพับลิกัน แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นฐานเสียงของเดโมแครต โดยเคทลินให้เหตุผลว่า "แคลิฟอร์เนียสมควรได้ผู้นำที่ดีกว่าปัจจุบัน หลังจากถูกพรรคเดียวใช้เรื่องการเมืองมาอยู่เหนือความต้องการของประชาชนนานนับทศวรรษ ซึ่งเธอเป็นผู้นำและผู้ชนะที่พิสูจน์มาแล้วจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก"
ด้วยการที่ โอลิมปิก เกมส์ ฤดูร้อน ที่กรุงปารีส กำลังจะมาถึง นักกีฬาหญิงชั้นนำหลายคนเปิดเผยว่า นักกีฬาหญิงข้ามเพศไม่ควรได้รับอนุญาตให้แข่งร่วมกับพวกเธอ เพราะผู้หญิงที่เกิดมาด้วยลักษณะทางชีวภาพแบบผู้ชายนั้นได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับบางชนิดกีฬา รวมทั้งเรียกร้องให้มีการวิจัยปัญหานี้จากองค์กรที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ด้านนักกีฬาข้ามเพศแย้งว่าพวกเขาก็ไม่สมควรถูกกีดกันจากการแข่งขันเช่นกัน และบางคนระบุว่าผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ถึงความได้เปรียบทางกายภาพก็ยังไม่ชัดเจนอีกด้วย
ขณะที่แนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)ระบุว่า ผู้หญิงข้ามเพศต้องควบคุมฮอร์โมน เทสโทสเทอโรน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขัน แม้พวกเขากำลังหาทางออกกับแนวทางใหม่เพื่อจะสร้างความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างความยุติธรรมกับการแข่งขันที่เท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ในเรื่องนี้ เจนเนอร์ แสดงความเห็นว่า "พวกเขาควรทำในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ เพราะไอโอซีคือองค์กรเดียวที่ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกคนสมควรได้ลงแข่ง ดังนั้นการที่พวกเขาเริ่มจากการควบคุมระดับฮอร์โมนทำให้คนข้ามเพศลงแข่งได้ แต่ ณ ตอนนี้ ยังไม่มีใครคว้าสิทธิ์ได้สำเร็จ"
"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้คนล้วนแตกต่างกัน คนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการข้ามเพศหรืออะไรที่คล้ายกันสมควรได้เล่นกีฬา กีฬาคือสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับฉัน เราไม่ควรปฏิเสธโอกาสของพวกเขา แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิดพร้อมกับเลือกวิธีรับมือเป็นรายบุคคล แต่ตอนนี้ไอโอซีทำหน้าที่ได้ดีแล้ว"
ไม่สำคัญว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร ใครจะมองเราแบบไหน สิ่งสำคัญคือเราทำตามบทบาทหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่หรือไม่ เพราะการทุ่มเทอย่างสุดความสามารถย่อมทำให้เราได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง และคนอื่น ๆ ในสังคม เหมือนอย่างที่ เคทลินแสดงให้เห็น ทั้งในสมัยที่เป็น บรูซ เจนเนอร์ นักกีฬาโอลิมปิก หรือเมื่อเปลี่ยนมาเป็น เคทลิน เจนเนอร์ หญิงข้ามเพศที่โด่งดังที่สุดในโลก
TAG ที่เกี่ยวข้อง