stadium

อรวรรณ พาระนัง : นักสร้างประวัติศาสตร์ ลูกเด้งไทย

30 พฤษภาคม 2567

นอกจาก “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร นักกีฬาปิงปองที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ยังมีอีกหนึ่งคนที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตลอดที่ผ่านมา นั่นก็คือ “ทิพย์” อรวรรณ พาระนัง นักกีฬาเทเบิลเทนนิสหญิงทีมชาติไทย 

 

สาวอีสานจากอุบลราชธานี ที่สร้างประวัติศาสตร์มากมายให้กับตัวของเธอเอง วันนี้ Stadium TH จะพาไปเจาะลึกเรื่องที่น่าสนใจกับตัวเธอให้มากยิ่งขึ้น ติดตามได้ที่นี่

 

 

ความฝันของเด็กบ้านนอก

 

อย่างที่เราทราบกันดี ทิพย์ เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ต้องต่อสู้มาต่างๆนาๆ จริงๆเธออยากเริ่มตีปิงปองตั้งแต่อยู่อนุบาล 3 แต่เธอกว่าจะสามารถเริ่มหัดเล่นปิงปองได้ ก็ต้องรอในตัวสูงพ้นโต๊ะเสียก่อน

 

แต่ใครจะไปคิดว่าเด็กสาวในตอนนั้นที่อายุเพียง 7-8 ขวบ แค่เริ่มฝึกตีปิงปอง กลับฝันถึงการไปคว้าแชมป์ประเทศไทยเอาซะแล้ว

 

“ตอนเด็กหนูมีความฝันอย่างแรกเลย คือการเป็นแชมป์ประเทศไทยหญิงเดี่ยว เพราะว่าหนูเห็นจากการที่พวกรุ่นพี่ที่โรงเรียน ไปแข่งขันกีฬามาตามรายการต่างๆ เมื่อก่อนหนูเรียนบ้านนอก แล้วเวลาใครไปแข่งที่ไหนแล้วชนะ เขาก็จะมาประกาศตามหน้าเสาธง หนูเลยอยากได้แชมป์เหมือนพี่ๆเขาบ้าง”  

 

ทิพย์เล่าต่อว่า ความรักในการอยากออกไปเล่นปิงปองมันสูงกว่าสิ่งอื่นๆในตอนนั้น ในตอนเด็กยอมตื่นแต่เช้า รีบออกจากบ้านเพื่อไปฝึกตีปิงปองที่โรงเรียน ข้าวปลาก็ไม่กิน ถึงกับเป็นลมก็บ่อยครั้ง เพราะว่าตัวเองอยากจะพัฒนาให้เก่งๆ เพื่อไปแข่งแล้วให้ได้ตังค์มาเยอะๆ 

 

ทำให้เวลาจะไปแข่งแต่ละครั้ง ต้องรบกวนพ่อกับแม่พาขี่มอเตอร์ไซด์ไปแข่งที่ไกลๆก็มี แต่ความรู้สึกกลับไม่ใช่ความเหนื่อยล้า หรือน้อยใจโชคชะตา แต่กลับได้เป็นสิ่งนี้มาแทน 

 

“ตอนนั้นหนูมีความสุขมากกว่าความเหนื่อยค่ะ ตอนเด็กๆมันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากสำหรับหนู มันเป็นช่วงเวลาเดียวที่หนูได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะตอนที่โตมาต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพคนเดียว มาเรียนโรงเรียนกีฬาเพื่ออนาคตของตัวเอง”

 

สภาวะ “หน่วง” สุขและทุกข์ปนกันไป

 

หลังจากนั้นไม่นานทิพย์ได้เลือกเดินตามความฝันของตัวเอง ที่มีหมุดหมายไว้ตั้งแต่วัยเด็กคือการก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์ประเทศไทย รวมถึงความฝันของนักกีฬาทุกคน ที่ต้องการจะมีธงชาติติดหน้าอกสักครั้งในชีวิต แลกด้วยการเดิมพันครั้งใหญ่ ในการย้ายเข้ามาอยู่และเรียนในเมืองหลวง

 

“จะบอกว่ามีความสุข 100 เปอร์เซ็นเลย ก็คงจะไม่ใช่ค่ะ มันจริงที่เราแฮปปี้ที่ได้เล่นปิงปองอย่างเต็มที่มากกว่าเดิม แต่มันก็เหนื่อยมาก ขึ้นชื่อว่าโรงเรียนกีฬา มันต้องซ้อมหนักอยู่แล้ว”

 

“ตารางในช่วงเรียนมธัยมของหนูจะเป็น ตื่น 6 โมงเช้า วิ่ง 1 ชั่วโมง ก่อนจะอาบน้ำเข้าเรียนตอน 8 โมง หลังจากนั้นบ่าย 2 โมง หนูเลิกเรียน ต้องนั่งรถเมล์สาย 117 เพื่อไปซ้อมที่กรมทหารสื่อสาร ที่สะพานแดง ทุกวัน และเวลารถติดก็ใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง และก็ซ้อมช่วงเย็นต่อตั้งแต่ บ่าย 4 โมง ถึง 2 ทุ่ม และค่อยกลับมานอน ทำแบบนี้ทุกวันตั้งแต่ มอสอง ถึงมอหกค่ะ”

 

 

น้องพี่ที่รัก และนักสร้างประวัติศาสตร์

 

ด้วยความที่พัฒนาไว ไม่นานชื่อของ อรวรรณ พาระนัง ก็ขึ้นไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ในวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น หากเป็นเด็กใหม่ๆ ที่พึ่งเข้าสู่แคมป์ครั้งแรก ก็คงจะมีอาการประหม่า หรือเกร็งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทิพย์อาจจะไม่ใช่คนๆนั้น เพราะเธอมีรุ่นพี่ที่คอยชี้แนะ และดูแลกันเป็นอย่างดี

 

“ความโชคดีของหนูในตอนนั้นคือ มีรุ่นพี่ที่อยู่ในทีมชาติ อยู่ในสโมสรเดียวกันพอดีเลย หนูขอเอ่ยชื่อรุ่นพี่คนนี้ สักหน่อยได้มั้ยคะ (หัวเราะ) เขาคือ พี่แป๋ว "นันทนา คำวงศ์" หลายๆคนอาจจะจำได้อยู่แล้ว ซึ่งหนูมีความโชคดีตรงที่ หนูอยู่กับพี่แป๋วมา เขาจะสอนหนูทุกอย่างเลย ตั้งแต่การใช้ชีวิตข้างนอก และการเป็นนักกีฬาที่ดีควรจะเป็นแบบไหน เป็นความโชคดีของหนูมากๆ”

 

ต่อจากนั้นมาทิพย์ใช้เวลาไม่นานสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเทเบิลเทนนิสบ้านเรา ด้วยการจับคู่ “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร คว้าแชมป์ซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ ในประเภทหญิงคู่ หลังจากวงการปิงปองไทยห่างหายมานานถึง 34 ปี และเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของเจ้าตัวในศึกซีเกมส์อีกด้วย

ภารกิจเป้าหมายสุดท้ายใน “โอลิมปิกเกมส์”

 

เมื่อปี 2021 เธอเล่าให้ฟังว่า โค้ชได้ให้เทอวางแพลนกับตัวเองไว้ จนถึงปี 2027 ว่ามีสิ่งไหนในชีวิต ที่อยากจะคว้ามันมาให้ได้ ซึ่งทั้งสามอย่างที่ทิพย์ตั้งเป้าหมายไว้ มันเกินฝันจากที่วางไว้ในตอนวัยเด็กเยอะมากแล้วจริงๆ

 

“เป้าหมายของหนูอย่างแรกที่เขียนไว้เลยคือ การคว้า 3 เหรียญทองในซีเกมส์ และไม่อยากจะเชื่อ ว่าตัวเองจะทำมันได้จริงๆภายใน 1 ปี ซึ่งก่อนไปแข่งหนูคิดว่า ถ้าได้ 2 เหรียญทองก็ภูมิใจในตัวเองแล้ว แต่พอไปอยู่จุดนั้น หนูก็นึกในใจว่า ถ้าหนูมีบุญจริง มีวาสนา ก็ขอให้หนูได้ 3 เหรียญทองนะค่ะ เพราะหนูตั้งใจซ้อมมากๆ สุดท้ายได้มาจริงๆ ก็ดีใจมากๆเลย”

 

“ส่วนเป้าหมายที่ 2 ที่หนูเขียนไว้ก็คือ การได้เหรียญในรายการเอเชียนเกมส์ สักครั้งในชีวิต และปีที่ผ่านมาพวกหนูก็สามารถทำได้สำเร็จแล้วจาก 1 เหรียญทองแดงในประเภททีม เท่ากับว่าความฝันหนูทำสำเร็จไปแล้วสอง”

 

 

และภารกิจสุดท้ายของทิพย์ก็คือ การคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ให้ได้สักครั้งในชีวิต จากการได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์มาแล้วในครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีประสบการณ์และรู้วิธีจัดการกับตัวเอง

 

“โอลิมปิกครั้งนี้ ถ้าพูดกันตามตรง ประเภทเดี่ยวคงยากมากค่ะ แต่ถ้าได้ลุ้นก็คงจะเป็นประเภททีม เพราะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราสามารถสู้ได้หมด โอกาสที่เราจะชนะมันก็ยาก แต่ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ วันนั้นผีอาจจะจับมือเราตีก็ได้ (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายความฝันสูงสุดในการเป็นนักกีฬาของหนูและเพื่อนๆในทีม คือการได้เหรียญโอลิมปิกมาครอบครองค่ะ” 

 


stadium

author

อดิศักดิ์ คูวัฒนากุล

StadiumTH Content Creator

stadium olympic