stadium

“ขวัญ” ขวัญสุดา พวงกิจจา : เทควันโดทำให้เจอความสุขที่แท้จริง

22 พฤษภาคม 2567

หากวันนั้นยอมแพ้ต่อโชคชะตา เส้นทางชีวิตอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นวันนี้ และนี่คือเรื่องราวที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ “ขวัญ” ขวัญสุดา พวงกิจจา นักกีฬาเทควันโดสาวพาราทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว เรามาทำความรู้จักกับเธอแบบเจาะลึกไปด้วยกัน

 

 

ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

อุบัติเหตุคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าต้องเกิดกับคนในครอบครัว ขวัญ ย้อนเล่าเหตุการณ์ให้ฟังในวันนั้น แม้ตัวเองจะอายุเพียง 2 ขวบ แต่แม่ได้มาเล่าถึงช่วงเวลาเหล่านั้นย้อนหลังให้เธอฟัง

 

“คือตอนหนูเด็กๆ ฐานะทางบ้านของเรายากจนมาก แถมบ้านหนูห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 8-9 กิโล เรียกว่าบ้านหนูเนี่ย อยู่ในป่าปาล์มลึกๆเลยก็ว่าได้ พ่อต้องไปรับจ้างรายวันในสวนสับปะรด ส่วนแม่ก็ไปหาบน้ำมาใส่โอ่งเพื่อที่จะมีน้ำใช้กัน แล้ววันนั้นก่อนที่แม่จะออกไปข้างนอก แม่ก็เลยห่มผ้าไว้ให้หนูในเปลด้านเดียว และฝากหนูไว้กับพี่สาว ให้เป็นคนคอยดูแล”

 

“ด้วยความที่พี่สาวเป็นห่วงน้อง ก็เลยเดินไปส่องดูว่าหนูนอนดิ้นรึเปล่า กลัวจะโดนยุงกัด ก็เลยหยิบตะเกียงขึ้นไปส่องดูใกล้ๆตัวหนู แต่ดันเผลอทำตะเกียงหลุดจากมือ จึงได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นในตอนนั้น”

 

ขวัญยังเล่าต่อว่า พายุยังคงซัดเข้ามาในชีวิตเธออย่างต่อเนื่อง หลังจากที่คุณแม่ต้องมาประสบอุบัติเหตุรถล้ม และเป็นอัมพาตไม่สามารถเดินได้ตลอดชีวิต จากนั้นมาไม่ถึง 5 ปี เธอยังต้องเสียพี่สาวที่รักไปแบบไม่คาดฝัน กว่าพายุลูกใหญ่จะหมดไป วันเวลาก็ผ่านจนอยู่มาวันหนึ่ง ที่เธอได้รู้จักกับกีฬาเทควันโดมันเหมือน มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างริบหรี่ ให้ตัวเธอได้กลับมาลุกขึ้นยืนอีกครั้ง

 

 

จอมเตะจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ตลอดที่ผ่านมาขวัญเล่าให้ฟังว่าสมัยเรียน เธอไม่ได้เล่นกีฬาชนิดไหนเลย ส่วนใหญ่จะเป็นสายกิจกรรมในโรงเรียนซะมากกว่า เพราะชอบที่ได้ทำกิจกรรมในโรงเรียนกับเพื่อนๆ จนอยู่มาวันหนึ่ง ก็มีแมวมองเข้ามาชักชวนเปิดโลกใบใหม่ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

 

“ตอนนั้นอยู่ ม.5 ค่ะ หนูนำสวดมนต์อยู่ จู่ๆก็มีโค้ชเทควันโดคนพิการไทยเข้ามาที่โรงเรียน เขาก็เข้าชวนหนูแบบว่า ไปเล่นกีฬาเทควันโดกับโค้ชมั้ย ไปลองดู แต่ด้วยความที่เราไม่รู้จักเทควันโดมาก่อนเลย เราไม่ใช่สายกีฬาอยู่แล้ว ประกอบกับที่หนูไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ เขามีกีฬาสำหรับคนพิการด้วย”

 

“แต่มันมีคำนึง ที่หนูได้ยินแล้วมันสะกิดใจหนูอย่างมากก็คือคำว่า "จะได้ติดทีมชาตินะ" ตอนนั้นคำนี้ถือเป็นแรงจูงใจอย่างมากเลยค่ะ เราก็เริ่มลังเล ขวัญก็บอกโค้ชไปว่า ไปช่วยขอพ่อกับแม่ให้หน่อยได้มั้ย หนูอยากลองเหมือนกัน จนสุดท้ายเขาก็เข้าไปขอพ่อให้ และที่บ้านก็มองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตัวหนูเองเช่นกัน”

 

แต่เส้นทางของนักสู้ จะต้องมีสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยเสมอ ขวัญเล่าให้ฟังต่อว่าเธอยอมที่จะไม่ย้ายเข้าไปอยู่ที่โรงเรียนในตัวเมือง เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้กับครอบครัว แต่ต้องแลกมาด้วยการนั่งรถไปซ้อมในทุกสัปดาห์ ก็คือ ทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ต้องไปซ้อมในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ หลังจากซ้อมช่วงเช้าวันจันทร์เสร็จ ก็ต้องรีบนั่งรถตู้เพื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียนเก่า และกิจวัตรของเธอเป็นแบบนั้นอยู่นานพอสมควร

 

 

การเป็นทีมชาติมันไม่ง่าย แต่โคตรภูมิใจ

 

เพราะไม่เคยผ่านการเล่นกีฬามาก่อน จึงไม่แปลกที่ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยได้พบเจอ เธอเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทาง

 

“วันแรกที่ซ้อมเทควันโด หนูเหมือนคนจะตาย มันเหนื่อยมากๆ หนูร้องไห้ทุกสัปดาห์ เวลากลับไปที่บ้านหนูบอกพ่อประจำเลยว่า ขอเลิกได้มั้ย ไม่ไหวแล้ว บางทีหนูหายไปเลยก็มี แบบไม่ไปซ้อม จนสุดท้ายต้องขอบคุณหลายๆคนในตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครอบคัว โค้ชรวมถึงพี่ๆในทีมชาติ ที่ช่วยโทรตาม ส่งข้อความมาถามว่า วันนี้จะมามั้ย ทำให้หนูได้ไปต่อเพราะทุกคนคอยผลักดันเราไป”

 

หลังจากนั้นความฝันสำเร็จไปแล้วหนึ่งขั้น จากการขึ้นไปติดทีมชาติไทย จนมาถึงวันที่ต้องลงแข่งอย่างเต็มตัวครั้งแรก ก็มีเรื่องราวให้ได้พูดคุยกันมาจนถึงทุกวันนี้

 

“ตอนนั้นไปแข่งแมตซ์แรก ประเดิมตัวเองเลยค่ะที่เวียดนาม ซึ่งหนูแพ้ แต่ว่าแพ้แบบจำได้แม่นมาถึงตอนนี้ คือหนูเข้าทำ เตะฝั่งตรงข้ามไปแค่ 7 ครั้งเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 5 นาที ความรู้สึกวันนั้นมันตื่นเต้น รวมทั้งกดดันตัวเองมากๆ แต่พอมองย้อนกลับไปในตอนนี้ก็ตลกตัวเองดีค่ะ” (หัวเราะ)

 

สำหรับคนพิการ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการโดนคนบูลลี่ สิ่งนี้เกิดขึ้นจากกระทำของเพื่อนๆบางคนในโรงเรียน แต่ขวัญกลับนำสิ่งนี้ ขึนมาเป็นเกราะคอยปกป้องหัวใจตัวเอง ในตอนนั้น

 

“หนูเจอคำพูดมาเยอะมากๆในตอนเด็ก และตอนนั้นเวลาออกไปข้างนอกขวัญจะใส่เสื้อคลุมอยู่ตลอดเวลาเลย จะไม่มีใครเห็นแขนหนูได้เลย มันเคยมีช่วงเวลาที่หนูรู้สึกไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้วด้วยซ้ำ เพราะว่าหนูรู้สึกอาย แต่เราก็คงจะห้ามไม่ให้คนอื่นมองไม่ได้”

 

“แต่มาวันนี้ขวัญต้องขอบคุณเทควันโดจริงๆค่ะ ที่ทำให้ขวัญมั่นใจ และปลดล็อกกับตัวเอง เพราะว่าหลังจากติดทีมชาจิแล้ว หนูไม่ใส่เสื้อคลุมเพื่อปกปิดตัวเองอีกต่อไป เพราะขวัญบอกกับตัวเองว่า เราเป็นนักกีฬาทีมชาตินะ และคนพิการทุกคนไม่ควรต้องมาโดนใครบูลลี่อีกต่อไป”

 

 

มือปราบแชมป์โลก สู่เจ้าของเหรียญพาราลิมปิกเกมส์

 

กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับจอมเตะพาราหัวใจแกร่งคนนี้ เธอผ่านเวทีแห่งการแข่งขันมานับไม่ถ้วน รวมถึงเวทีแห่งการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ในการคว้าแชมป์แรกให้กับตัวเอง จากรายการชิงแชมป์โลกที่ประเทศเกาหลี

 

“วันนั้นรอบชิง หนูเจอมือ 1 ของโลก แต่ว่าโค้ชหลอกว่าเขาพึ่งหัดเล่น แต่ตอนแข่งจริงๆหนูว่าไม่ใช่ละ เพราะเขาเตะเราไม่พักเลย เราก็ไม่ยอมคนซะด้วย สุดท้ายคะแนนสูสีมาก แต่หนูชิงทำคะแนนช่วงปลายยกได้ก่อน หนูเลยได้เหรียญทองมาครอง และทำให้ตัดสินใจเล่นเทควันโดต่อเนื่องมา”

 

 

และในปี 2020 พาราลิมปิกเกมส์จัดแข่งเทควันโดครั้งแรก ที่ประเทศญี่ปุ่น ขวัญสามารถควอลิฟายเข้าร่วมศึกใหญ่ในครั้งนั้น จากอันดับแรงกิ้งที่อยู่ มือ 4 ของโลก และประวัติศาสตร์ก็ได้เริ่มขึ้น จากการคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ ทำให้ชื่อของ ขวัญสุดา กลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

และพาราลิมปิกครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่สองของเจ้าตัว เรามีโอกาสได้พูดคุยก่อนที่เธอจะบินสู่เมืองปารีส

 

“ตอนนี้ความพร้อม 80% แล้วค่ะ แต่ก็ยังมีเทคนิคที่ยังคงต้องฝึกซ้อมอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าก็พร้อมแข่งค่ะ"

 

"ขวัญยังยืนยันคำเดิม พาราลิมปิกที่ปารีสครั้งนี้ หนูจะทำให้ดีที่สุดอย่างแน่นอน ไม่กล้ารับปากว่าจะได้เหรียญอะไร แต่อย่างน้อย 1 ใน 3 หนูจะเอาเหรียญกลับมาฝากทุกคนให้ได้”


stadium

author

อดิศักดิ์ คูวัฒนากุล

StadiumTH Content Creator

stadium olympic