21 พฤษภาคม 2567
ปัจจุบันหากเอ่ยถึงชื่อ ฟลายอิ้ง ฟินน์ เราอาจจะนึกไปถึงนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันชาวฟินแลนด์ไม่ว่าจะเป็น คิมี่ ไรค์โคเน่น ในปัจจุบัน หรือรุ่นเก่าอย่าง มิก้า ฮัคคิเน่น และ กีกี้ รอสเบิร์ก ที่ต่างเคยคว้าแชมป์โลกรถสูตรหนึ่งด้วยกันมาทั้งสิ้น
ความจริงแล้ว ฉายานี้จะมอบให้กับนักกีฬาชาวฟินแลนด์ทุกประเภทที่ประสบความสำเร็จและมีจุดเด่นเรื่องความรวดเร็ว โดยเริ่มต้นมาจาก ฮานเนส โกเลห์ไมเน่น ตำนานนักกรีฑาระยะไกลที่คว้า 4 เหรียญทองโอลิมปิกในช่วงปี 1912-1920
แต่คนที่รับช่วงต่อ และทำให้ฉายานี้ยิ่งใหญ่มากที่สุดคือ พาโว นูร์มี่ นักวิ่งระยะกลาง-ไกลผู้เคยทำสถิติโลกได้ถึง 22 ครั้ง
แล้ว พาโว นูร์มี่ เป็นใคร ประสบความสำเร็จมากแค่ไหนในโอลิมปิก ติดตามได้ที่นี่
พาโว นูร์มี่ เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนปี 1897 ใน ตูร์คู เมืองท่าทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของฟินแลนด์ พอโตขึ้นมาถึงอายุ 15 ปีเขาก็ได้แรงบันดาลในการวิ่งจากการคว้า 3 เหรียญทองโอลิมปิกของ โกเลห์ไมเน่น ที่กรุงสต็อกโฮลม์ ในปี 1912
ถัดจากนั้นไม่นานหนุ่มน้อยพาโวก็ได้รองเท้าวิ่งคู่แรก และเริ่มต้นฝึกซ้อมอย่างจริงจัง
ด้วยส่วนสูง 174 เซนติเมตร และน้ำหนัก 65 กิโลกรัม นูร์มี่จัดว่ามีรูปร่างที่เหมาะสมสำหรับการเป็นนักวิ่งระยะไกล และด้วยการที่มีความรู้พื้นฐานในการซ้อม นูร์มี่จึงฝึกฝนด้วยตัวเอง เขาเป็นหนึ่งในนักกีฬาชั้นนำคนแรก ๆ ที่มีการซ้อมอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน, การวิ่ง และการกายบริหารต่างเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการซ้อมที่หนักหน่วงของเขา นูร์มี่เรียนรู้ที่จะวัดระดับความเร็วของตัวเองโดยใช้นาฬิกาจับเวลาเป็นตัวช่วย ดังนั้นเขาจึงไม่เคยลงแข่งโดยไม่ถือมันเอาไว้ในมือ
ในปี 1914 นูร์มี่เข้าร่วมสังกัด Turun Urheiluliitto สโมสรกีฬาในท้องถิ่นที่เจ้าตัวอยู่ด้วยไปตลอดอาชีพ และ 6 ปีต่อมา เขาก็ทำลายสถิติของประเทศในระยะ 3,000 เมตรได้สำเร็จ
โอลิมปิก เกมส์ ที่อันท์เวิร์ปของเบลเยียมในปี 1920 ทำให้ นูร์มี่ กลายเป็นดาวเด่นของฟินแลนด์ และถูกยกให้เป็นทายาทสานต่อความยิ่งใหญ่ของ โกเลห์ไมเน่น
นูร์มี่ลงแข่ง 5,000 เมตรเป็นรายการแรก ก่อนจะจบด้วยความพ่ายแพ้ต่อ โจเซฟ กีเยโมต์ จาก ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่เจ้าตัวแพ้ต่อนักวิ่งต่างชาติในการลงแข่งรอบชิงฯ ของ โอลิมปิก อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่วันต่อมาเขาก็คว้าเหรียญทองจากประเภท 10,000 เมตร และ ครอสคันทรี ก่อนจะได้เพิ่มอีกหนึ่งเหรียญทองจากครอสคันทรีประเภททีมในภายหลัง
ในโอลิมปิกที่กรุงปารีส 4 ปีต่อมา นูร์มี่ ได้รับการคาดหมายว่าจะลงแข่ง 1,500 เมตร และ 5,000 เมตรด้วย แต่ปัญหาคือรอบชิงชนะเลิศของทั้ง 2 รายการ มีโปรแกรมแข่งวันเดียวกัน และมีช่วงให้พักไม่ถึง 2 ชั่วโมง
ที่แย่ไปกว่านั้น นูร์มี่มีอาการเจ็บบริเวณเข่าไม่กี่เดือนก่อนถึง โอลิมปิก เกมส์ อย่างไรตามไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวางความมุ่งมั่นของเขาได้ และในการลงแข่งที่กรุงเฮลซิงกิ 1 เดือนก่อนโอลิมปิก นูร์มี่โชว์ฟอร์มทำลายสถิติโลกทั้ง 1,500 เมตร และ 5,000 เมตร ในวันเดียวกัน โดยเว้นช่องว่าเพียงชั่วโมงเดียว เหมือนเป็นการประกาศกลาย ๆ ว่า การแข่งที่ปารีสไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ในปารีส 1924 นูร์มี่ลงแข่งทั้ง 2 รายการในรอบชิงตามคาด และคว้าเหรียญทองได้อย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในประเภท 5,000 เมตรที่ต้องดวลกับ วิลเล่ ริโตต้า เพื่อนร่วมชาติที่เพิ่งคว้าเหรียญทองจาก 10,000 เมตร และวิ่งวิบาก 3,000 เมตร
2 วันต่อมา นูร์มี่ ลงแข่งครอสคันทรีบุคคลระยะทางกว่า 10,650 เมตร ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดจากคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงถึง 45 องศา โดยมีนักแข่งเพียง 15 คนจากทั้งหมด 38 ราย ที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ รวมทั้ง นูร์มี่ ที่คว้าเหรียญทองไปครอง ตามด้วย ริโตต้า ซึ่งทำให้ฟินแลนด์คว้าเหรียญทองประเภททีมในเวลาเดียวกัน
วันถัดมา แม้จะกรำศึกหนักวิ่งมาหลายกิโลเมตรตลอดสัปดาห์ แต่นูร์มี่ก็ยังนำทีมฟินแลนด์คว้าเหรียญทองจาก 3,000 เมตรประเภททีมด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ซึ่งหลังจบการแข่งขัน Miroir des Sports นิตยสารในประเทศฝรั่งเศสถึงกับเขียนถึงเขาว่า “พาโว นูร์มี่ ก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษยชาติ" เลยทีเดียว
ปีต่อมานูร์มี่ใช้เวลา 5 เดือนตระเวนลงแข่งที่อเมริกา และคว้าแชมป์ได้ถึง 53 รายการ โดยยกเลิก 1 รายการ และแพ้เพียงรายการเดียว ทำให้เขาดึงดูดความสนใจชาวอเมริกันได้มากกว่าที่ชาวฟินแลนด์คนใดเคยทำได้สำเร็จ สื่อเรียกเขาว่า "ฟลายอิ้ง ฟินน์", "แฟนธอม ฟินน์" หรือ "เดอะ ฟินนิช รันนิ่ง มาร์เวล" เลยทีเดียว
ความต้องการในอเมริกาส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างมาก นูร์มี่กลับไปลงแข่งที่บ้านเกิดนับครั้งได้ และไม่สามารถทำลายสถิติได้อีกเลย และในปี 1926 ชัยชนะของเขาก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่โอลิมปิกปี 1928 ด้วยวัย 31 ปี และคว้ามาแล้ว 8 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ทำให้ไม่สนใจจะลงแข่งอีกสมัย แต่ด้วยการที่ความสำเร็จในโอลิมปิกจะเพิ่มคุณค่าทางการตลาดในการลงแข่งที่อเมริกา นูร์มี่จึงตัดสินใจไปที่กรุงอัมสเตอร์ดัม และคว้าเหรียญทองจากประเภท 10,000 เมตร และ 2 เหรียญเงินจาก 5,000 เมตร และวิ่งวิบาก 3,000 เมตร
ในปีเดียวกันนั้นเอง นูร์มี่ยอมรับว่าเขาจะลงแข่งเป็นฤดูกาลสุดท้าย หลังจากกรำศึกหนักมากว่า 15 ปี แต่แล้วเขาก็ลงแข่งต่อไป ส่วนใหญ่แล้วป็นการลงแข่งในต่างประเทศ และในปี 1930 นูร์มี่ก็กลับมาคืนฟอร์มเก่ง เขาทำลายสถิติโลกระยะ 6 ไมล์ที่กรุงลอนดอนตามด้วยระยะ 20 กิโลเมตรที่กรุงสต็อกโฮลม์ในปีเดียวกัน
ด้วยความที่กลับมาฟอร์มดีอีกครั้ง นูร์มี่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อลงแข่งโอลิมปิกหนที่ 4 ในชีวิต เขาต้องการป้องกันแชมป์ 10,000 เมตร พร้อมกับเป้าหมายสูงสุดคือคว้าเหรียญทองจากมาราธอนเพื่อเจริญรอยตามโกเลห์ไมเน่น อย่างไรก็ตามนูร์มี่ถูกสหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติสั่งแบนเนื่องจากมองว่าเขามีสถานะเป็นนักกีฬาอาชีพ ทำให้เขาไปที่ลอส แองเจลิส ในฐานะผู้ชมเท่านั้น
หลังจากถูกห้ามลงแข่งในระดับนานาชาติ นูร์มี่จึงลงแข่งแต่ในฟินแลนด์บ้านเกิดจนถึงปี 1934 ซึ่งรายการสุดท้ายของเขาคือการคว้าแชมป์ระยะ 10,000 เมตร ที่เมือง วีปูรี่ ในวันที่ 16 กันยายน หลังจากนั้นเจ้าตัวก็หันไปทำธุรกิจและเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และบางครั้งก็พักจากงานมาทุ่มเทฝึกซ้อมให้นักวิ่งรุ่นน้องเช่นกัน
แม้จะไม่ค่อยออกสู่สายตาสาธารณะบ่อยนัก แต่เมื่อชาติต้องการเขาก็ไม่เคยปฏิเสธ อย่างในช่วงสงครามเมื่อปี 1940 นูร์มี่ก็เดินทางไประดมทุนให้ฟินแลนด์ถึงอเมริกาเพื่อสู้รบกับสหภาพโซเวียต หรือในโอลิมปิกปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิเป็นเจ้าภาพ เขาก็รับบทบาทเป็นผู้วิ่งคบเพลิงคนสุดท้าย สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมกว่า 70,000 คนในสนาม
หลังจากต้องต่อสู้กับโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มาหลายครั้งหลายหนในช่วงบั้นปลายชีวิต นูร์มี่ก็สิ้นลมหายใจที่กรุงเฮลซิงกิในวันที่ 2 ตุลาคม เขาได้รับการจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติในอีก 9 วันถัดมา ขณะที่ร่างของเขาถูกนำไปฝังในสุสานของครอบครัว ณ เมืองตูร์คู บ้านเกิด
ความยิ่งใหญ่ของนูร์มี่ได้รับการบอกเล่าต่อกันมาไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือบทความที่เขียนถึงเขานับร้อยนับพันชิ้นในหลายประเทศ หลังจากโอลิมปิกที่กรุงปารีสเมื่อปี 1924 รัฐบาลสั่งให้ ไวโน่ อัลโตเน่น สุดยอดประติมากรของประเทศสร้างรูปปั้นของเขา จากนั้นในปี 1952 รูปปั้นดังกล่าวก็ถูกทำเพิ่มเติมจาก 1 เป็น 3 และถูกแยกนำไปจัดวางที่หน้า โอลิมปิก สเตเดี้ยม ในกรุงเฮลซิงกิ, ในตูร์คูบ้านเกิด ส่วนต้นฉบับถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการสร้างเพิ่มเติมในปี 1994 และถูกส่งไปตั้งไว้ในสวนของพิพิธภัณฑ์คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการผลิตเหรียญและสแตมป์ที่ระลึกถึงนูร์มี่ รวมทั้งถนนหรือดาวดวงเล็ก ๆ ก็ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา ขณะเดียวกันในปี 1987 ธนาคารแห่งฟินแลนด์ได้ออกธนบัตรที่ด้านหนึ่งเป็นรูปของนูร์มี่ขณะที่อีกด้านเป็นสนามโอลิมปิก สเตเดี้ยมอีกด้วย
TAG ที่เกี่ยวข้อง