stadium

ไขรหัสความสำเร็จกับ ‘แวว’ สายสุนีย์ จ๊ะนะ บนเส้นทางที่ไร้กลีบกุหลาบ

3 พฤษภาคม 2567

นับตั้งแต่กีฬาวีลแชร์ฟันดาบเป็นที่รู้จักในบ้านเรานับตั้งแต่ปี 2000 ชื่อของ ‘สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ ก็กลายเป็นที่รู้จักในนามนักกีฬาผู้พิการทีมชาติไทย ด้วยความสามารถที่โดดเด่นผสมกับความสำเร็จที่ครอบครองทำให้ตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษของเธอบนเส้นทางวีลแชร์ฟันดาบยังคงโลดแล่นจวบจนปัจจุบัน

 

ล่าสุดในมหกรรมพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ณ.กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่กำลังมาถึงในช่วงปลายปีนี้ แวว สายสุนีย์ อยู่ในขั้นของการเตรียมความพร้อมสู้ศึกใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่คว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันได้สำเร็จ กุญแจสำคัญที่นำพาให้เธอก้าวมาสู่จุดสูงสุดในฐานะนักกีฬาผู้พิการทีมชาติไทยและฝากผลงานไว้ในเวทีระดับโลกมากมาย นั้นเกิดจากแรงผลักดันทั้งจากภายในและภายนอก ปลุกเร้าให้เธอลุกขึ้นสู้จนทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคเดินมาถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจได้สำเร็จ

 

ความลับที่พร้อมจะไขความกระจ่าง แวว สายสุนีย์ พร้อมจะเผยเรื่องราวการเดินทางบนถนนที่ไร้กลีบกุหลาบ

 

 

เมื่อโชคชะตาเล่นตลกแต่ไม่ใช่จุดจบของชีวิต

 

แรกเริ่มเดิมทีแล้ว แวว สายสุนีย์ ก็มีชีวิตเฉกเช่นผู้คนปกติทั่วไป ร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 เดินเหินได้คล่องแคล่วไร้วี่แววของความพิการด้านร่างกาย แต่เหมือนชะตาเล่นตลกพลิกผันชีวิตของเธอไปตลอดกาล เมื่อต้องประสบอุบัติเหตุทางจราจรจนทำให้เป็นอัมพาตแข้งขาไร้การเคลื่อนไหวกลายเป็นผู้พิการทันที

 

“ยอมรับว่าเคยคิดสั้นฆ่าตัวตายมาแล้วเพราะเราไม่เหลืออะไรเลย 4 ปีก่อนหน้าที่เราจะรู้จักกีฬาฟันดาบเหมือนเรารอวันตาย แต่ครอบครัวก็เข้ามาให้กำลังใจทำให้เรากลับมาคิดใหม่ว่าจะต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้โดยไม่เป็นภาระคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกช่วยเหลือตัวเอง ฝึกการใช้ชีวิต”

 

แวว สายสุนีย์ เปิดประเด็นได้อย่างน่าสนใจ การที่เธอรับสภาพของตัวเองและใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เป็น นั่นทำให้เธอสามารถดำรงชีพให้อยู่ในสังคมได้อย่างไร้รอยต่อ แม้ว่าในช่วงเวลานั้นคำว่าผู้พิการจะยังเป็นคำที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับมากนักแต่เมื่อครอบครัวคือแรงผลักดันทำให้เธอกล้าที่จะลุกขึ้นสู้

 

แวว สายสุนีย์ เพิ่มเติมว่า ในช่วงประมาณปี 2000 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เธอรู้จักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล เป็นช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน สังกัดชมรมล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ชมรมที่เป็นแหล่งรวมตัวของผู้พิการที่มีจิตใจไม่ย่อท้อ ฝึกฝนอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางสังคม ที่นั่นทำให้แวว สายสุนีย์มองเห็นโลกอีกใบ โลกที่เธอสามารถมีตัวตนในสังคม

 

“ยอมรับว่าในตอนนั้นอยากเล่นกีฬาเพราะอยากติดทีมชาติ เหมือนมีรุ่นพี่มาบอกกับเราว่าถ้าเป็นนักกีฬาทีมชาติจะได้อะไรบ้าง พอดีกับที่เรามีโอกาสได้ไปฝึกบาสเกตบอลที่ชมรม ก็หวังว่าจะมีโอกาสติดทีมชาติ ช่วงนั้นประเทศไทยก็เริ่มเฟ้นหานักกีฬาคนพิการ แต่ด้วยความที่สังคมยังไม่เปิดกว้างและคนพิการเองยังไม่กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ทำให้การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องทำหนังสือไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเฟ้นหานักกีฬาคนพิการซึ่งเป็นช่วงที่เราอยู่ในสังกัดชมรมล้านนาจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับการส่งตัวไปอบรม ซึ่งเป็นจังหวะที่มีกีฬาฟันดาบเข้ามาด้วย ทางสังกัดจึงส่งตัวนักกีฬาบาสเกตบอลทั้งทีมไปอบรม”

 

แวว สายสุนีย์ ใช้เวลาอบรมทักษะกีฬาวีลแชร์ฟันดาบอยู่ประมาณ 7 วัน กระทั่งถูกเลือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติทั้งสองประเภท คือบาสเกตบอลและวีลแชร์ฟันดาบ ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะนักกีฬาคนพิการในประเทศไทยยังมีไม่มาก จึงเป็นโอกาสของเธอในนามทีมชาติ 

 

“สุดท้ายเราตัดสินใจเลือกฟันดาบ ทั้งที่ไม่ชอบกีฬาประเภทนี้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่ามีรุ่นพี่ท่านหนึ่งบอกว่าการเลือกเล่นกีฬาประเภทบุคคลจะมีโอกาสไปได้ไกลกว่ามันคือการทำด้วยตัวเอง ก้าวไปด้วยตัวเองและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า”

 

 

ฟาดฟันทุกอุปสรรคเพื่อคำว่าครอบครัว

 

การแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบรายการแรกที่ แวว สายสุนีย์ ยังจำความรู้สึกได้ขึ้นใจคือการออกนอกประเทศไปแข่งขันไกลถึงฮ่องกง นั่นคือรายการแรกของชีวิตในฐานะนักกีฬาทีมชาติ เธอบอกว่า แม้ว่าจะเป็นรายการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่ในฐานะนักกีฬาผู้พิการมันคือความภาคภูมิใจอย่างสุดซึ้ง

 

“มันคือความภูมิใจที่เรามีหลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเป็นเหมือนคนปกติ แต่พอกลายเป็นผู้พิการเราก็สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งได้และรู้แล้วว่าเรามีดีทางด้านกีฬา ทำให้ความฝันสูงสุดคือการได้ไปแข่งพาราลิมปิกเกมส์ พอเราได้เหรียญทองมันก็จะมีเรื่องของเงินรางวัลซึ่งมันก็ไม่ได้เยอะมากมายอะไร ต้องทำความเข้าใจว่าส่วนต่างของเงินรางวัลระหว่างคนปกติกับคนพิการมันต่างกันเยอะพอสมควร แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีความสามารถที่จะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้”

 

จากเหรียญรางวัลแรกในชีวิตต่อยอดมาสู่ความสำเร็จในฐานะเจ้าของเหรียญประวัติศาสตร์ของทัพนักกีฬาผู้พิการหญิงทีมชาติไทย ด้วยการคว้าเหรียญทองพาราลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ต่อด้วยเหรียญทองแดง พาราลิมปิก ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งในพาราลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอีกมากมายที่ แวว สายสุนีย์ การันตีเหรียญรางวัลคล้องคอทุกครั้งที่ลงทำการแข่งขัน 

 

“นับตั้งแต่ปี 2004 ในทุกรายการที่ลงแข่งขันจะมีเหรียญติดมือมาตลอด นั่นเป็นเพราะว่าเรานึกถึงความลำบากที่ครอบครัวต้องพบเจอ เราจึงไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากที่จะเอาชนะตัวเองฟันฝ่าอุปสรรค คิดอย่างเดียวว่าเราต้องทำให้ได้เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวสุขสบายมันคือกำลังใจที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ”

 

ปัจจุบัน แวว สายสุนีย์ มีลูกสาววัยกำลังน่ารักชื่อน้องฤทัยที่มีความหมายถึงดวงใจของแม่ เธอเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่เธอสู้มาตลอด 20 ปีเพื่อครอบครัวและลูกสาววัยกำลังเติบโต แวว สายสุนีย์ พร้อมที่จะส่งเสริมทุกย่างก้าวของลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนที่เธอห่วงแหนและรักสุดใจ

 

 

เดินหน้าล่าเหรียญทอง

 

การแข่งขันพาราลิมปิก 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศสที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นอีกครั้งที่ แวว สายสุนีย์ ตีตั๋วผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายได้สำเร็จ ความท้าทายครั้งนี้มิใช่การผ่านเข้าสู่การแข่งขันหากแต่เป็นเป้าหมายที่เธอฝันเท่านั้นที่จะต้องฝ่าฟันคว้ามาให้ได้

 

“เหรียญทองเท่านั้น ตั้งเป้าไว้ที่เหรียญทอง” แวว สายสุนีย์ หนักแน่นในความตั้งมั่นโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน 

 

เธอเพิ่มเติมว่า ความพร้อม ณ.เวลานี้อยู่ในระดับเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ เน้นหนักไปที่การฝึกซ้อมสัปดาห์ละ 6 วันว่างเว้นวันอาทิตย์ไว้เพื่อทำภารกิจอื่นตามความเหมาะสม แม้อายุจะล่วงเข้าสู่หลัก 50 ปี แต่หัวจิตหัวใจยังเปี่ยมไปด้วยความหวังเสมอ ความหวังที่จะคว้าเหรียญทองให้กลับมาครองอีกสักครั้ง

 

“เคยคิดไว้ว่าจะเลิกเล่นแล้ว มันเหนื่อย มันท้อ แต่พอกลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งที่ลอนดอนก็คิดใหม่อีกทีว่าเรายังแข็งแรงอยู่ยังคงชอบที่จะเล่นกีฬานี้อยู่ อีกอย่างหนึ่งคือแม้ว่าอายุจะ 50 ปีแล้วแต่ยังรู้สึกว่าแข็งแรงดีอยู่เลย เคยตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากจบพาราลิมปิก 2024 ก็เลิกเล่นแล้ว พอแล้ว แต่เมื่อกำลังใจยังมีและเรายังสู้ไหวก็คิดว่าจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวไปเอง”

 

แวว สายสุนีย์ เพิ่มเติมด้วยว่า แม้ความคาดหวังที่ตั้งเป้าไว้คือเหรียญทอง แต่เธอไม่คิดที่จะประมาท ยังคงมีสติในทุก ๆ แมตช์การแข่งขัน ไม่ว่าเสียงเชียร์ฝั่งตรงข้ามจะกู่ก้องร้องโห่ดังเพียงใด สมาธินั้นจึงสำคัญ พยายามคิดเสมอว่าจะต้องดำเนินไปตามขั้นตอนที่ได้ฝึกซ้อม ไม่ออกนอกลู่และอยู่ในเส้นทางที่ขีดเขียนไว้เสมอ นี่เองจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอสามารถเอาชนะคู่แข่งได้เสมอและยังคงโลดแล่นบนเส้นทางนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิงทีมชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ถือได้ว่า เรื่องราวของ แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ เป็นบทเรียนตัวอย่างที่ดีในฐานะนักกีฬาผู้พิการที่สามารถสรรค์สร้างคุณค่าให้กับสังคม เธอไม่เคยมองตัวตนว่าไร้ค่ากลับกันเธอเป็นแรงผลักดันให้กับคนทั่วไปได้หวนคิดถึงคุณค่าในชีวิต พร้อมที่จะสู้ทุกอุปสรรคที่โถมเข้ามาเพื่อคนรอบข้างและครอบครัวที่เธอรัก


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic