17 เมษายน 2567
มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ หรือ โอลิมปิก เกมส์ ที่เราได้ตามลุ้นตามเชียร์นักกีฬาไทยอย่างในปัจจุบัน เริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1896 หรือเกือบ 130 ปีที่แล้ว และครั้งที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 33 แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้นกำเนิดของโอลิมปิก ย้อนไปไกลกว่านั้น ซึ่งที่มาของโอลิมปิกเป็นอย่างไร ผ่านวิวัฒนาการมากน้อยแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่
จากหลักฐานที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า โอลิมปิกดั้งเดิม มีขึ้นที่เมืองโอลิมเปีย บนคาบสมุทรเพโลพอนนีส ประเทศกรีซ ประมาณปี 776 ก่อนคริสตกาล หรือย้อนไปนานกว่า 2,700 ปี และจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ซึ่งชาวกรีกโบราณจัดขึ้นในงานเทศกาลเพื่อสดุดี ซูส ราชาแห่งทวยเทพ โดยประเภทกีฬาที่ใช้แข่งขันครั้งแรกคือการวิ่งระยะสั้น 200 หลา ก่อนจะเพิ่มกีฬาประเภทต่าง ๆ เข้ามาในภายหลัง เช่น วิ่งแข่งระยะกลาง, วิ่งแข่งระยะไกล, ปัญจกีฬา, มวยปล้ำ, ชกมวย, แข่งรถเทียมม้า 4 ตัว, วิ่งแข่งในชุดเกราะ, แข่งเป่าแตร ฯลฯ แต่สงวนไว้ให้เพียงบุรุษเพศลงแข่งขัน ขณะที่สตรีไม่แม้แต่จะมีสิทธิ์เข้าชมการแข่งขันด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง เพราะจัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ทำให้ทุกคนใช้เทศกาลนี้ผ่อนคลายจากการทำงานหนัก โดยโอลิมปิกโบราณเฟื่องฟูสุดขีดในยุคศตวรรษที่ 6 และศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล จากนั้นจึงเริ่มลดความนิยมจากการรุกรานของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่า โอลิมปิกโบราณสิ้นสุดลงในช่วงหลัง ค.ศ. 393 เมื่อจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ของโรมัน ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ประกาศให้กำจัดลัทธิและพิธีกรรมบูชาเทพอื่น ๆ และจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2 ผู้สืบราชบัลลังก์ ออกคำสั่งให้ทำลายเทวสถานกรีกทั้งหมดใน ค.ศ. 426
หลังจากนั้น กว่า 1,500 ปี กีฬาโอลิมปิกก็ไม่มีการจัดขึ้นอีกเลย จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1896 ปิแอร์ เดอ กูแบร์กแตง ขุนนางชาวฝรั่งเศส ได้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้ไม่ได้เริ่มมาจากกูแบร์แตงโดยลำพัง แต่มี ดร. วิลเลียม เพนนี บรุกส์ ศัลยแพทย์และนักวิชาการชาวอังกฤษ ที่สนใจและทุ่มเทกับการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นอย่างมาก เป็นผู้ริเริ่มและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา หลังจากที่บรุกส์ผลักดันจนสามารถจัดแข่ง โอลิมปิก เกมส์ แห่งชาติ ที่กรุงลอนดอนได้สำเร็จในปี 1866 ซึ่งกูแบร์กแตงเริ่มมีแนวคิดจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1889 และได้รับการติดต่อจากบรุกส์ในปีต่อมา ทั้งคู่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันขณะที่กูแบร์กแตงได้สำรวจความคิดเห็นของนักกีฬารวมทั้งองค์กรกีฬานานาชาติยาวนานถึง 5 ปี ก่อนจะจัดการประชุมคณะกรรมการขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1894 และจัดการแข่งขันครั้งแรกขึ้นที่กรุงเอเธนส์ในอีก 2 ปีต่อมา ซึ่งบรุกส์มีส่วนสำคัญในการใช้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลกรีซเพื่อขอการสนับสนุน รวมถึงการขอเงินทุนจาก เอวานเจลิส กับ คอนสแตนตินอส ซัปปาส สองนักธุรกิจชาวกรีซ
สัญลักษณ์โอลิมปิกจะเป็นธงผืนสีขาวขนาดมาตรฐานยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ภายในธงสีขาวมีสัญลักษณ์เป็นห่วงคล้องกัน 5 ห่วง แสดงถึงทวีปทั้ง 5 แถวบนมี 3 ห่วง แถวล่างมี 2 ห่วง แต่ละห่วงมีสีที่ต่างกัน คือ สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว และสีแดง หากรวมสีของธงสีขาวเท่ากับมีทั้งหมด 6 สี โดยความหมายของสัญลักษณ์โอลิมปิกหมายถึงธงชาติของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากธงชาติของทุกประเทศจะต้องมีสีใดสีหนึ่งอยู่ในทั้ง 6 สีนี้ และเป็นห่วงคล้องกันไว้เพื่อเป็นการแสดงถึงความปรองดองกันและการรวมตัวของมวลมนุษยชาติ ขณะที่คบเพลิงโอลิมปิก เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งแสงสว่างและความหวัง
ขณะที่หลักการสำคัญของโอลิมปิก มีดังนี้ ความเป็นเลิศ - นักกีฬามุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ถึงขีดสุด, มิตรภาพ - นักกีฬาจากชาติต่างๆ เคารพซึ่งกันและกัน, ความเคารพ - นักกีฬาเคารพกฎกติกา ผู้ตัดสิน และคู่แข่ง, ความสามัคคี - นักกีฬามุ่งมั่นที่จะรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว และจิตวิญญาณโอลิมปิก - นักกีฬาแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความอดทน และน้ำใจนักกีฬา
โอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี ค.ศ. 1896 ณ สนามพานาเธเนค มีนักกีฬาจาก 14 ประเทศเข้าร่วมแข่งขันใน 43 รายการ
นับตั้งแต่นั้นมา การแข่งขันโอลิมปิกก็จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี เว้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 กีฬาโอลิมปิกก็ได้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดึงดูดนักกีฬาและผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความสามัคคี และความเข้าใจระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน โอลิมปิกฤดูร้อน จัดมาแล้วทั้งหมด 32 ครั้ง และในปีนี้จะเป็นครั้งที่ 3 โดยมีกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการครบรอบ 100 ปีที่ฝรั่งเศสได้จัดการแข่งขันครั้งล่าสุดเมื่อปี 1924 อีกด้วย
TAG ที่เกี่ยวข้อง