stadium

มรรค-คาเรน จันเหลือง พี่น้องนักสกีกับพรหมลิขิตสู่ทีมชาติไทย

3 กุมภาพันธ์ 2565

กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวกับคนไทยดูเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน ด้วยความที่บ้านเราไม่เคยมีหิมะตก อากาศไม่ได้เย็นจัดจนแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ประกอบกับฤดูหนาวก็มีระยะเวลาสั้นราวกับวงจรชีวิตของแมลงวัน ดังนั้นการจะเล่นกีฬาจำพวกนี้จึงต้องขวนขวายมากกว่ากีฬาชนิดอื่น

 

แต่อีกมุมหนึ่ง นักกีฬาไทยที่ไปเติบโตในต่างประเทศ หรือนักกีฬาลูกครึ่งเชื้อสายไทย ย่อมมีโอกาสสัมผัสกีฬาฤดูหนาวได้ง่ายกว่า บางคนเล่นเพราะใจรัก ขณะที่บางคนมีสภาพแวดล้อม และภูมิประเทศเอื้ออำนวย 

 

มรรค และ คาเรน จันเหลือง คือพี่น้องนักกีฬาสกีประเภทครอสคันทรีทีมชาติไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มหลัง แต่ด้วยความสามารถ ความมุ่งมั่น และโชคชะตาทำให้ทั้งสองคนก้าวขึ้นไปสู่เวทีสูงสุดของนักกีฬานั่นก็คือลงแข่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว ได้สำเร็จ

 

แต่กว่าที่ทั้งสองคนจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ มรรค และ คาเรน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง คงไม่มีใครบอกเล่าได้ดีกว่า บุญจันทร์ จันเหลือง ผู้เป็นพ่อและผู้จัดการทีมสกีครอสคันทรีทีมชาติไทยที่อยู่กับทั้งคู่มาตั้งแต่เกิด

 

ขอบคุณภาพจาก บุญจันทร์ จันเหลือง

 

"จันเหลือง" ครอบครัวนักผจญภัย

 

กว่าที่ครอบครัวจันเหลืองจะมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ เกรสโซเนย์-ลา-ตรินิเต้ หมู่บ้านสกีรีสอร์ททางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี คงต้องย้อนความไปถึงการเดินทางของพี่บุญจันทร์ หัวหน้าครอบครัว ที่พบรักกับ "มิเรียม" มาเรีย วิตโตเรีย โคมูเน่ หญิงชาวอิตาลี ระหว่างปลีกวิเวกอยู่ในป่าของจังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นทั้งคู่ก็ตัดสินใจออกผจญภัยครั้งใหญ่ด้วยการปั่นจักรยานจากจ.ยโสธรบ้านเกิดของพี่บุญจันทร์ไปที่เกรสโซเนย์บ้านเกิดของคุณมิเรียม โดยวางแผนปั่นลงไปขึ้นเรือที่เกาะบาหลี เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสงครามในพม่าช่วงปี 2536-37 แต่ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตนั่นก็คือการตั้งท้อง มรรค ลูกคนแรกของทั้งคู่

 

"ตอนอยู่ไทยเรียนราม เศรษฐศาสตร์ 8 ปี ไม่จบ เลยคิดว่าอ่านหนังสือมาเยอะมาก ทำงานหลายแห่ง เลยอยากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นทาร์ซาน ในป่าเมืองกาญจน์ ไปอยู่มาหนึ่งปี มีคนไปเยี่ยม แล้วได้รู้จักกับภรรยาตอนนั้น เขาไปเยี่ยมพอดี แล้วเราก็กะจะทำนาธรรมชาติอยู่บ้าน ทีนี้มีอยู่วันนึงเราตัดสินใจขี่จักรยานจากยโสธร จากบ้านผม เพื่อที่จะไปอิตาลี กะจะขี่สักปีหนึ่ง สองคน ค่ำไหนนอนนั่น ขี่จากไทยไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ไปอินโดนีเซีย เพื่อไปขึ้นเรือที่บาหลี เพราะตอนนั้นพม่ามีสงครามผ่านไม่ได้ ทีนี้พอไปถึงบาหลี มิเรียมท้อง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้มรรคร่างกายแข็งแรงเพราะเราขี่จักรยานไป 4 เดือนกว่า พอท้องก็เลยรวบรวมเงินนั่งเครื่องบินกลับไทย ไปอยู่ที่บ้านแล้วเริ่มทำการเกษตรทำนาเทียมและเตรียมเลี้ยงลูก"

 

ขอบคุณภาพจากสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย

 

หุบเขาอาโอสต้า "บ้าน" แห่งโชคชะตาสู่ชีวิตการเป็นนักสกีของสองพี่น้อง 

 

"พอท้องได้ 6 เดือน มิเรียม บอกว่าอยากจะกลับไปคลอดที่บ้าน อยากไปอยู่กับพ่อแม่ ที่เกรสโซเนย์ ในหุบเขาอาโอสต้า ทีนี้เราก็รวบรวมเงินเดินทางไป พอไปถึง พ่อตาแม่ยายยกบ้านพร้อมที่ดิน มอบรถ เอาเงินใส่ธนาคารให้ รับขวัญหลานคนแรก เราจึงไม่รู้จะกลับไทยทำไม แล้วก็เลยอยู่มาตลอด ซึ่งที่นี่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับ แมตเตอร์ฮอร์น ติดกับฝั่งสวิตเซอร์แลนด์ และอีกด้านเป็นฝรั่งเศสคือเมืองชาโมนิกซ์ สถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรก ผมจึงมาลงในจุดที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในโลกนี้"

 

"หมู่บ้านเราอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล เกือบ 1,700 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง และมีหิมะตกประมาณ 6-7 เดือนต่อปี เพราะฉะนั้นเด็กที่นี่คือเกิดมาก็ต้องอยู่กับหิมะตลอด เลยเป็นเรื่องปกติที่คนในหมู่บ้านนี้จะต้องเล่นสกีเป็น ที่นี่เป็นสกีรีสอร์ทที่คนมากันทั่วโลก อาชีพหลักคือกิจการโรงแรมร้านอาหาร และบริการสกี เราก็ตั้งใจอยากให้ลูกเป็นครูสอนสกีเพราะเป็นงานมีรายได้ แล้วก็บอกลูกว่าพ่อแม่ขอสองอย่างคืออย่างน้อยเรียนจบไฮสคูล และได้ใบประกาศครูสอนสกีจะเป็นประเภทอะไรก็ได้ สุดท้ายมาลงที่ครอสคันทรี"

 

 

กว่าจะลงเอยกับ "ครอสคันทรี" และการติดทีมชาติอิตาลีชุดเยาวชน

 

"เราไม่ได้เลือกสกีครอสคันทรีมาตั้งแต่แรก จริง ๆ ตั้งใจให้เป็นอัลไพน์ แต่อยากให้ลูกเรียนรู้กีฬาหลากหลาย ใช้กล้ามเนื้อให้มากที่สุด เริ่มจากอัลไพน์ที่ให้เขาหัดตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง หลังจากนั้นเพื่อฝึกให้ชินกับการลื่นไหลก็ให้เข้าสโมสรหมู่บ้านตอนหกขวบ พอแปดขวบลูกอยากเรียนสโนว์บอร์ดที่กำลังได้รับความนิยม พอเรียนได้หนึ่งปี ทั้งคู่อยากลองไปแข่งครอสคันทรี คาเรนเกิดชนะของจังหวัดขึ้นมาเลยอยากแข่งต่อ ทีนี้เราก็ประเมิน อย่างมรรคเขาชอบอัลไพน์มาก เก่งมาก แต่เราก็ต้องบอกลูกว่าพ่อแม่ไม่สามารถส่งลูกเรียนคนละอย่างได้ เลยขอมรรคให้หันมาเล่นครอสคันทรีเหมือนน้องสาว"

 

จากการถูกชะตากับครอสคันทรีของคาเรนในวันนั้น ทำให้ทั้งคู่ก้าวเข้าสู่สกีประเภทนี้อย่างเต็มตัว และสามารถพัฒนาฝีมือจนก้าวไปติดทีมชาติอิตาลีชุดเยาวชนได้สำเร็จ ซึ่งสำหรับทวีปยุโรปโดยมากจะใช้หลักการเดียวกันคือให้เด็กที่เกิดปีไล่เลี่ยกันบวก 1 ลบ 1 ปี มาแข่งกัน ซึ่งหมายถึงนอกจาก มรรค และ คาเรน ต้องแข่งกับเด็กที่อายุเท่ากันแล้ว ยังต้องเจอกับเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี และน้อยกว่า 1 ปีด้วย แต่ทั้งคู่ก็ทำผลงานได้ดีและติดทีมได้สำเร็จ

 

"ด้วยหลักเกณฑ์การคัดตัว ทำให้มรรคกับคาเรนจะต้องแข่งกับเด็กมากถึง 15,000 คน คัดเอา 5 อันดับแรกไปติดทีมชาติ 1-3 ติดทีมส่วน 4-5 สำรอง มรรคกับคาเรนติดที่ 4 ในรุ่นเยาวชน 16 ปี และมรรคติดทีมทหารบกของอิตาลีด้วย ซึ่งทั้งคู่ก็ได้ไปลงแข่งขันทั้งในรายการระดับเวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ, ยูโรเปี้ยน คัพ และอิตาเลียน คัพ เป็นต้น"

 

 

สู่คำว่า "นักกีฬาทีมชาติไทย"

 

"สำหรับเยาวชนทีมชาติอิตาลี พอมีอายุถึง 19 ปี จะมีการคัดตัวเพื่อหาอันดับ 1 ไปติดทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งมรรคกับคาเรนพลาดโควตา แต่ก็เป็นความโชคดีของทีมเราที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายกสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย แล้วก็เพื่อน ๆ คนรู้จักกัน มาเล่นสกีที่หมู่บ้านนี้นานแล้ว เราก็รู้จักท่านมานาน และได้เป็นไกด์พาไปที่ต่าง ๆ เลยมีการพูดคุยกัน ท่านก็เห็นความสามารถ และดึงตัวพวกเราไปเล่นให้ทีมชาติไทยในช่วงที่อิตาลีกำลังจะตัดเราออกพอดี"

 

"ในปี 2016 มรรค และคาเรน ก็ได้เปิดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ก่อนจะลงแข่งรายการใหญ่ครั้งแรกคือ เอเชียน วินเทอร์ เกมส์ ปี 2017 ที่ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามเวลานั้นเกิดปัญหาเรื่องเอกสารที่มาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของฝ่ายจัดการแข่งขัน ส่งผลให้นักกีฬาถูกกักตัวและจำกัดการแข่ง รวมทั้งไม่บันทึกผลการแข่งขัน" 

 

 

ประสบการณ์ครั้งใหญ่กับโอลิมปิกหนแรก

 

"การได้ลงแข่งโอลิมปิกเมื่อปี 2018 ถือเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่สำหรับพวกเรา โดยเฉพาะในเรื่องของการทำสมาธิและการฝึกฝนด้านสภาพจิตใจ สนามแข่งที่พยองชางจัดเป็นหนึ่งในสนามแข่งที่ยากสุดเท่าที่เราเคยแข่งมา โค้ชก็ไม่ชำนาญ นักกีฬาก็ใหม่ประสบการณ์ยังไม่ถึง พอตั้งใจมาก ๆ นักกีฬาจะตื่นเต้น แล้วจะสะกดจิตตัวเอง ปรากฏว่า พอมรรคสตาร์ตออกไป เขาตั้งใจมากแต่กลายเป็นตัวแข็งทื่อทั้งที่ความคิดคือไปเต็มที่ ซึ่งมาจากเกร็งเกินไป จนนักกีฬาที่ออกตามหลังไล่เข้ามาจนโค้ชตะโกนกระตุ้น มรรคถึงออกจากภวังค์ แล้วพุ่งจนถึงเส้นชัย ซึ่งถ้าวัดเอาแค่ช่วงเวลานั้นมรรคติดท็อป 30 ผ่านเข้ารอบต่อไปได้ด้วย แต่พอรวม 200 เมตรแรกมันไม่พอ เช่นเดียวกับคาเรนที่เจอแรงกดดันของการมารวมตัวกันของนักกีฬาระดับโลก เรื่องนี้ทำให้เราได้บทเรียนและเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญเลยทีเดียว"

 

ขอบคุณภาพจากสมาคมกีฬาสกีและสโนว์บอร์ดแห่งประเทศไทย

 

การเตรียมตัวเพื่อปักกิ่ง 2022 และเป้าหมายคือการสร้างประวัติศาสตร์

 

"กีฬาสกีเทคนิคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็ปรับเปลี่ยนตาม รวมทั้งได้โค้ชเอริก เบเนเด็ตโต้ ที่ฝึกนักกีฬาระดับเหรียญเงินโอลิมปิก และเป็นหนึ่งในตัวเต็งเหรียญในครั้งนี้อย่าง เฟเดริโก้ เปเยกริโน่ มาฝึกสอนให้มรรคและคาเรน ทั้งคู่จึงได้เทคนิคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนร่างกายไม่เคยสมบูรณ์ขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ขณะที่ด้านจิตใจก็มีประสบการณ์ที่สูงขึ้น แต่จะไปได้ถึงไหนต้องดูวันแข่งว่าจะรับมือกับความกดดันได้มากแค่ไหน

 

"สำหรับคาเรนหวังติดท็อป 60 ในประเภทสปรินต์ฟรีสไตล์ ส่วนเป้าหมายของมรรคอยู่ในประเภทสปรินต์ที่อยากจะเป็นเอเชียคนแรกที่ติดท็อป 30 ให้ได้"

 

ทั้งนี้ มรรค มีโปรแกรมลงแข่งขัน 4 รายการคือ 15km + 15km Skiathlon ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์, Sprint Free ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์, 15km Classic ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และ 50km Mass Start Free ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ส่วนคาเรนลงแข่ง 2 รายการคือ Sprint Free ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และ 10km Classic ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic