stadium

ประวัติกีฬายูโดในโอลิมปิก

28 กุมภาพันธ์ 2563

เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยคาโน่ จิโกโร่ ยูโดมีชื่อเต็มว่า โคโดกัง ยูโด เดิมเรียกว่า ยูยิตสู ซึ่งเป็นวิชาที่สามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธด้วยมือเปล่า

 

หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมญี่ปุ่นในช่วงยุคเมจิ ทำให้วิชายิวยิตสูเสื่อมความนิยมลงจนหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2403 ชาวญี่ปุ่นชื่อ คาโน่ จิโกโร่ ชาวเมืองชิโรโกะซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในกรุงโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2414 และได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชายิวยิตสูอย่างละเอียด และพบว่าผู้ฝึกวิชายิวยิตสูจนมีความชำนาญจะสามารถสู้กับคนที่รูปร่างใหญ่โตได้ หรือสู้กับคนที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าได้

 

ในปี พ.ศ. 2425 คาโน่ จิโกโร่ ได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับวิชายูโดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณวัดเอโชจิ โดยตั้งชื่อสถาบันนี้ว่า "คูโดคัง ยูโด" โดยได้นำเอาศิลปะของการต่อสู้ด้วยการทุ่มจากสำนักเทนจิน ชินโต-ริว และการต่อสู้จากสำนักคิตะ-ริวเข้ามาผสมผสานเป็นวิชายูโด และได้ปรับปรุงให้เหมาะสม โดยได้ตัดทอนยิวยิตสู ซึ่งไม่เหมาะสมออก แล้วพยายามรวบรวมวิชายิวยิตสูให้เป็นหมวดหมู่มีมาตรฐานเดียวกันตามความคิดของท่าน และได้ตั้งระบบใหม่เรียกว่า ยูโด (Judo)

 

ในยุคแรก คาโน่ จิโกโร่ ต้องต่อสู้กับบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดการยอมรับในวิชายูโด โดยเฉพาะจากบุคคลที่นิยมอารยธรรมตะวันตก บุคคลพวกนี้ไม่ยอมรับว่ายูโดดีกว่า ยูยิตสู จนในปี พ.ศ. 2429 กรมตำรวจญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันระหว่างยูโดกับยูยิตสูขึ้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่ายูโดชนะ 13 คน เสมอ 2 คน เมื่อผลปรากฏเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจยูโดมากขึ้น ทำให้สถานที่สอนเดิมคับแคบจึงต้องมีการขยายห้องเรียน เพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ จนถึงปี พ.ศ. 2476 จึงได้ย้ายสถานที่ฝึกไปที่ ซุยโดบาชิ (Suidobashi) และสถานที่นี้ในที่สุดก็เป็นศูนย์กลางของนักยูโดของโลกในปัจจุบัน

 

สำหรับกีฬายูโดในโอลิมปิก มีขึ้นในปี พ.ศ. 2507  เมื่อญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 18 และมีสิทธิ์บรรจุกีฬาเพิ่มได้ 1 ชนิด ยูโดประเภทชายจึงได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในคราวนั้นแบ่งเป็น 4 รุ่นน้ำหนัก ซึ่งญี่ปุ่นคว้าไป 3 เหรียญทอง แต่อีก 4 ปีต่อมาที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ไม่ได้มีการแข่งขันยูโด ก่อนจะกลับมาได้รับการบรรจุอีกครั้งในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 20 ที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี ในปี 1972 ส่วนยูโดประเภทหญิงเริ่มขึ้นในปี 1988 ในฐานะกีฬาสาธิตเมื่อเกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพ และในที่สุดก็เป็นกีฬาชิงเหรียญทองอย่างเต็มตัว ในปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน

 

ชิงความได้เปรียบด้วยการจับ

เทคนิคสำคัญของยูโดไม่ใช่แค่การจับคู่ต่อสู้ทุ่มลงกับพื้น แต่สิ่งที่นักยูโดจำเป็นต้องเข้าใจ นั่นคือการทำลายสมดุลของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก เพราะจะช่วยให้นักกีฬาสามารถเข้าตำแหน่งยืนของตัวเองได้ง่ายขึ้น และสามารถทำจังหวะทุ่มได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเทคนิคต่างๆ ในวิชายูโดที่นิยมนำมาใช้ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

 

1. นาเกวาซะ (Nagewaza )เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแยกออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆ ซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง

 

2. คาตะเมะวาซะ (Katamewaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออก การจับยึดและการล็อกข้อต่อ เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน คาตะเมะวาซะยังสามารถแยกออกได้อีก 3 ประเภท คือ โอเซโคมิวาซะ (Osaekomiwaza) ซึ่งเป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกดล็อคบนพื้น ชิเมะวาซะ (Shimewaza) ซึ่งเป็นเทคนิคการรัดคอหรือหลอดลม และคันเซ็ทสึวาซะ (Kansetsuwaza) ที่เป็นเทคนิคในการหักล็อกข้อต่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน

 

3. อาเตมิวาซะ (Atemiwaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง ส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น และไม่เคยจัดการแข่งขัน

 

ศิลปะการป้องกันตัวแบบญี่ปุ่น ที่ถูกพัฒนาขึ้นทั่วโลก

แม้จะมีต้นกำเนิดที่ญี่ปุ่น และในอดีตญี่ปุ่นก็ดูจะได้เปรียบในกีฬาชนิดนี้อย่างมาก แต่หลังจากยูโดได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก และเกิดการฝึกฝนจนฝีมือของนักกีฬาทัดเทียมกัน ทำให้ญี่ปุ่นไม่ได้เปรียบในการแข่งขันในกีฬาประเภทนี้อีกต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการแข่งในรุ่นต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องน้ำหนักของแต่ละรุ่นมากเกินไป ซึ่งในการแข่งโอลิมปิก 2020 ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ ยูโดได้แบ่งการแข่งขันออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  1. รุ่น 60 กิโลกรัมชาย
  2. รุ่น 66 กิโลกรัมชาย
  3. รุ่น 73 กิโลกรัมชาย
  4. รุ่น 81 กิโลกรัมชาย
  5. รุ่น 90 กิโลกรัมชาย
  6. รุ่น 100 กิโลกรัมชาย
  7. รุ่นเกิน100 กิโลกรัมชาย
  8. รุ่น 48 กิโลกรัมหญิง
  9. รุ่น 52 กิโลกรัมหญิง
  10. รุ่น 57 กิโลกรัมหญิง
  11. รุ่น 63 กิโลกรัมหญิง
  12. รุ่น 70 กิโลกรัมหญิง
  13. รุ่น 78 กิโลกรัมหญิง
  14. รุ่นเกิน  78 กิโลกรัมหญิง
  15. ประเภททีมผสม

TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic