stadium

สปีดสเกต – ความเร็ว หัวใจ และใบมีด

8 มกราคม 2565

สเก็ตน้ำแข็ง คือการเดินทางไปบนน้ำแข็ง ด้วยการสวมใส่รองเท้าเฉพาะที่มีใบมีดติดอยู่ที่พื้นรองเท้า ในเมืองหนาวที่เป็นน้ำแข็ง สเกตใช้เพื่อการเดินทาง ต่อมากลายเป็นกีฬา คนที่เริ่มเล่นในตอนแรก จะเป็นเหมือนเด็กเพิ่งหัดเดิน ทั้งการทรงตัว การวิ่ง และการหยุด ต่อเมื่อเล่นเป็นและมีความชำนาญ ก็จะกลายเป็นความสุข สนุกสนาน และถลาร่อนไปด้วยความเร็วสูง

 

 

ไหลลื่นด้วยความเร็วแรง และลีลา

 

บันทึกของ สมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเกตติ้งแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปี พ.ศ.2519 ได้มีการก่อตั้ง สมาคมกีฬาสเก็ตน้ำแข็งแห่งประเทศไทย ขึ้น ภายใต้การนำของ พลโท หม่อมราชวงค์ สมชนก กฤดากร หลังจากที่มีชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่ง เข้ามาลงทุนสร้างลานสเก็ตน้ำแข็งในร่มขึ้น บริเวณ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กทม.ซึ่งสร้างความสนใจให้แก่ คนไทย และชาวต่างชาติทั้ง ญี่ปุ่น, อเมริกา, เยอรมนี,สวิตเซอร์แลนด์,ฯลฯ ที่พำนักอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น ได้มีการเล่นสเกตน้ำแข็งอย่างแพร่หลาย และสอนให้คนไทยได้เริ่มโลดแล่นบนลานน้ำแข็ง และพบว่า กีฬาสเกตน้ำแข็งนี้ไม่เพียงแต่แข่งขันกันด้วยความเร็วเท่านั้น แต่ยังมีประเภทลีลาที่สวยงามด้วย 

 

 

 

น้ำแข็งละลายและหลอมรวมขึ้นใหม่ 

 

ลานสเกตน้ำแข็งแห่งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ ในปี พ.ศ.2521 และค่อย ๆ เสื่อมถอยความนิยม ก่อนจะมีการเปิดลานสเก็ตน้ำแข็งแห่งใหม่ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ราชประสงค์ โดยดัดแปลงลานจอดรถชั้นบนของห้างเป็นลานสเก็ตน้ำแข็ง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนทำให้น้ำแข็งเกิดการละลายตัวเป็นน้ำหยดมาใส่ร้านค้าข้างล่างเสียหาย กระทั่งต้องปิดลานสเก็ตน้ำแข็งไปในที่สุด

 

การเดินหน้าของกีฬาสเกตน้ำแข็งในประเทศไทย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค พลโท หม่อมราชวงศ์ สมชนก กฤดากร ได้เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์กีฬาสเก็ตน้ำแข็งแห่งเอเชีย ( ASU) ในปี พ.ศ.2531 ทำให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ (ISU)  ในเวลาต่อมา กีฬาสเกตน้ำแข็งมีความชัดเจนมากขึ้น ได้แบ่งแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ทั้งความเร็วและความสวยงาม มีการตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ทำให้สมาคมในประเทศไทย ปรับเปลี่ยนจากสมาคมสเก็ตน้ำแข็งแห่งประเทศไทย ไปสู่การจัดตั้ง สมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2538

 

 

เยือกเย็นแต่ร้อนแรง

 

ความเย็นและความเร็วของกีฬาสเกตน้ำแข็ง คือ เสน่ห์อันร้ายกาจ ที่ทำให้ผู้คนสนใจและอยากจะทดลองสวมรองเท้าติดใบมีดดูสักครั้ง ลานสเกตน้ำแข็งในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้ง เวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ที่ใจกลางเมือง ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวครั้งสำคัญ  และขยายต่อไปยังลานสเก็ตน้ำแข็งตามต่างจังหวัด อาทิ จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง อิมพีเรียล เวิล์ด สำโรง ที่กลายเป็นสนามแข่งขันมาตรฐานระดับโลก (ISU Center of Excellence) ไปแล้ว

 

สเกตน้ำแข็ง เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นอีกหนึ่งกีฬาหลักในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว แบ่งเป็น สปีด สเกตติ้ง Speed skating กับ ช็อตแทรค สปีดสเกตติ้ง Short track speed skating  มีทั้งประเภทชาย,หญิง และทีมผลัด แข่งขันแบบใช้ความเร็วในระยะต่าง  ๆ ตั้งแต่  500 เมตร,1,000 เมตร,1,500 เมตร และ 5,000 ม.

 

Speed skating เป็นกีฬาดั้งเดิมที่เริ่มต้นมากับโอลิมปิกฤดูหนาว ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1924 ถูกพัฒนามาจากการขนส่งอาหารข้ามทะเลสาบบนน้ำแข็ง การแข่งขัน วิ่งทวนเข็มนาฬิกา บนแทร็กรูปวงรี เน้นที่ความเร็วเป็นสำคัญ

 

Short track speed skating คล้ายคลึงกับ Speed skating แต่ระยะสั้นจะวิ่งในวงที่เล็กกว่าคือ 111 เมตร การทำความเร็ว และการเข้าโค้งทวนเข็มนาฬิกาก็แตกต่างออกไป โดยเน้นที่กลยุทธ์ และความกล้าหาญในการชิงจังหวะในเสี้ยววินาที

 

 

ซีเกมส์มีแข่งกีฬาฤดูหนาว

 

กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2560 ได้บรรจุกีฬา สเกตน้ำแข็ง และฮอกกี้น้ำแข็ง ไว้ด้วย ทำให้มหกรรมกีฬาของภูมิภาคอาเซียนดูแปลกประหลาด แต่แท้จริงแล้ว ก็คือ การบรรจุกีฬาฤดูหนาวมาแข่งขัน เป็นการเริ่มต้นที่จะพัฒนากีฬาเหล่านี้ เพราะชาติในอาเซียนไม่สามารถจัดมหกรรม “วินเทอร์ ซีเกมส์” ได้

 

วงการกีฬาสปีดสเกตในเมืองไทย จึงได้แจ้งเกิด "จิมมี่" ไตรภพ ทองงาม เจ้าของ 2 เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ 2017  ที่ประเทศมาเลเซีย ตามด้วย  "มอส" ณัฏฐพัฒน์ กาญจญ์ชริน ที่ไปคว้า  2 เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปี ค.ศ.2019 และ “มอส” ยังคว้าโควตาการแข่งขันโอลิมปิก เยาวชน ฤดูหนาว “วินเทอร์ ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2020” ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.ศ.2020 อีกด้วย อีกคนหนึ่งก็คือ “น้องมีนา” ธนัชญา ฉัตรไธสง  สาวน้อยผู้ใฝ่ฝันจะไปให้ถึง เวทีโอลิมปิก ฤดูหนาว แม้มันจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม

 

ยอดนักสเกตน้ำแข็งเหล่านี้ เริ่มเล่นได้ไม่นานแต่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน แสดงให้เห็นว่าขนาด "หัวใจ" ของเขาและเธอนั้นไม่ธรรมดา 

 

 

นักกีฬาที่ชื่นชอบความเร็ว ไม่ต่างไปจากคนดูกีฬาที่รู้สึกคล้ายกัน ความตื่นเต้นของการแข่งขันเริ่มจากการมีเท่าไหร่ใส่ลงไปให้หมด และวางแผนช่วงชิงหาจังหวะในการแซงเพื่อคว้าชัยชนะ

 

เพียงแต่คนไทยยังเป็นเหมือนเด็กน้อยที่เพิ่งหัดเดินในเวทีกีฬาสเกตโลก เหมือนเมื่อครั้งที่เราเริ่มเล่นสเกตใหม่ ๆ การควอลิฟายเพื่อไปแข่งขันในโอลิมปิก ฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เรารู้ว่า นักกีฬาไทยยังต้องเพิ่มเติมสมรรถภาพในส่วนไหน จึงจะสามารถไปร่วมการแข่งขันได้

 

ในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ฤดูหนาว เมื่อนักกีฬาของทวีปเอเชียแข่งขันเสร็จสิ้น และมาล้อมวงสัมมนาแลกเปลี่ยนกัน ต่างยืนยันว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนากีฬาฤดูหนาวคือ สนามฝึกซ้อมที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้มาตรฐาน  และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก (อุปกรณ์และชุดการแข่งขันของนักกีฬาราคาเกินแสนบาทต่อคน) หากให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการสร้างลานน้ำแข็ง หรือ ศูนย์ฝึกซ้อมของนักกีฬาฤดูหนาวเพื่อความสำเร็จในภายภาคหน้า

 

ความสำเร็จที่รอคอยของ สมาคมกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตและสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย ค่อย ๆ ปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นไปตามคำขวัญที่ สมาคมฯแห่งนี้เคยว่าไว้ว่า "BEYOND THE MEDALS" It's not the goal, it's the journeys

 

...ด้วยหัวใจ ใส่รองเท้าติดใบมีด และออกเดินทาง...

 

////////////////////////////////////////////////////////

 

กีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว 2022  เป็นการแข่งขัน ครั้งที่ 24 จะจัดขึ้นที่ กรุงปักกิ่ง สาธารณัฐประชาชนจีน วันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565


stadium

author

พลชาติ เก่งระดมกิจ

StadiumTH Content Creator

stadium olympic