4 มกราคม 2565
สกีหิมะ ถูกคิดค้นเมื่อราว 20,000 ปีก่อนพัฒนามาเป็นกีฬาฤดูหนาว ที่มีผู้ที่นิยมเล่นทั่วโลกในภูมิภาคที่มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุม ทั้งการเล่นเพื่อการพักผ่อนและการแข่งขันอย่างจริงจัง โดยในกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก ฤดูหนาว ถือเป็นกีฬาไฮไลท์ประจำการแข่งขันที่มีการชิงชัยเหรียญทองมากที่สุด และมีผู้ชมคอยติดตามด้วยความตื่นตาตื่นใจมากที่สุด
พระเอกของมหกรรมกีฬาฤดูหนาว
ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว ครั้งที่ 24 ที่ปักกิ่ง หรือ “Beijing 2022” สกีหนึ่งในกีฬาเอกของมหกรรมได้มีบรรจุการแข่งขัน หลากหลายประเภท
1.สกีลงเขา (Alpine skiing) ซึ่งเป็นการสกีลงจากภูเขาที่ลาดชันด้วยความเร็ว มี 2 ประเภท คือ ซูเปอร์ จี (Super G) ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร และ ดาวน์ฮิลล์ (Downhill) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ขึ้นไป ซึ่งนักกีฬาต้องใช้ความเร็วในระดับ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ประเภทเทคนิค ได้แก่ สลาลอม (Slalom) และ ไจแอนท์ สลาลอม (Giant Slalom) นักกีฬาจะต้องทำการสกีซิกแซกระหว่าง Poles หรือ ระหว่างเกท ซึ่งจะมีการเรียงลำดับความห่างจากน้อยไปหามาก และแตกต่างกัน ซึ่งการใช้ความเร็วของ สลาลอม จะน้อยกว่า ไจแอนท์ สลาลอม นักกีฬาต้องใช้เทคนิคการคอนโทรลในระดับสูงควบคู่ไปกับความเร็ว
2.สกีข้ามทุ่ง (Cross-country skiing) นิยาม สกีข้ามทุ่ง หรือ สกีพื้นราบ, สกีวิบาก,สกีมาราธอน ฯลฯ เป็นที่เล่นไปบนแนวราบ ลัดเลาะไปตามป่าเขา ทุ่งกว้าง หรือไปตามภูมิประเทศจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง
3.สกีลีลา (Freestyle skiing) เป็นการแข่งขันสกี ที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาแสดงออกทางศิลปะ โชว์ทักษะกลางอากาศ อาทิ การตีลังกา, การบิดตัวด้วยท่าทางต่าง ๆ
4.สกีนอร์ดิกผสม (Nordic combined) นักกีฬาจะต้องผสมผสานทักษะทั้งการกระโดด และสกีวิบาก Cross-country ไว้ด้วยกัน
5.สกีกระโดดไกล (Ski jumping) จะเรียกว่า สกีกระโดด หรือ กระโดดสกี เป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ การกระโดดให้ไกลที่สุด เมื่อนักกีฬาไถลตัวลงมาจากทางลาดโค้งขึ้นก่อนจะพุ่งทะยานออกไป เหมือนนักกีฬาได้โบยบินสู่เวหา โดยรูปแบบบนอากาศก็ส่งผลต่อคะแนนที่ตัดสินแพ้ชนะด้วย
6.สโนว์บอร์ด (Snowboarding) นักกีฬาจะวางเท้าทั้งสองข้างไว้บนกระดานแผ่นเดียวขนาดประมาณ 6-12 นิ้ว ร่อนไปบนหิมะด้วยลีลาสุดเร้าใจ มีทั้งประเภทโชว์ทักษะลีลา ใช้ความเร็ว และผ่านเส้นทางวิบาก
คนไทยปักธงไตรรงค์บนหิมะ
สกี เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความอึด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและแขน หมายรวมถึงศักยภาพทั้งหมดของร่างกาย และต้องใช้สมาธิสูงสุด ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ สำหรับนักกีฬาที่อยู่ในเขตร้อนจึงเป็นเรื่องที่ลำบากยิ่งกับการไปแข่งขันในกีฬาฤดูหนาวระดับโลก
หากแต่มีนักกีฬาไทยที่ได้ไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว เป็นครั้งแรกเมื่อเข้าสหัสวรรษใหม่ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ในปี 2002 ที่ซอลท์ เลก ซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา นั่นคือ ดร.ประวัติ นาควัชระ (Prawat Nagvajara)
นักกีฬาสกีหนึ่งเดียวจากเมืองไทย ลงแข่งขันประเภท Cross-country ทำผลงาน ในประเภท Sprint ได้อันดับที่ 68 จาก ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 71 คน ด้วยเวลา 4:14:55 นาที
นี่คือการปักธงไทยครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว
แรงบันดาลใจของ ดร.ประวัติ นาควัชระ ในการเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาว ไม่ใช่การได้เห็นนักกีฬายุโรปหรือ อเมริกัน แต่กลับกลายเป็น Philip Boit นักสกีชาวเคนยาคนแรกที่เข้าร่วมโอลิมปิก ฤดูหนาวในปี 1998 ที่นางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น
เส้นทางสู่กีฬาฤดูหนาวของคนไทย เริ่มต้นราวปี 2000 ดร.ปรวรรธณ์ นาควัชระ สมัครแข่งขันเพื่อควอลิฟาย และส่งจดหมายถึง คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เพื่อขอรับการสนับสนุน และส่งตัวเขาเข้าร่วมการแข่งขัน ซอลท์ เลก ซิตี้ 2002 จากนั้น ดร.ประวัติ ก็ยังได้ลงแข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ ฤดูหนาว 2003 ที่อาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น ตามด้วย โอลิมปิก ฤดูหนาว 2006 ที่ ตูริน ประเทศอิตาลี
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นได้เหรียญรางวัล แต่ก็ได้แสดงศักยภาพของประเทศไทย ด้วยการก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของการเป็นนักกีฬาจากประเทศในเขตร้อน ที่ทำให้ทั่วโลกได้เห็นว่า คนไทยก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฤดูหนาวได้อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนนักกีฬามากขึ้นตามลำดับ
ผู้บุกเบิกกีฬาฤดูหนาวชาวไทย ในช่วงที่ตนเองผ่านวัยมาถึงครึ่งค่อนชีวิต แต่ลงแข่งขันมหกรรมกีฬาสุดยอดของโลก ด้วยความคิดที่ว่า การได้เข้าร่วมก็ประสบความสำเร็จ ได้แข่งขันจนเสร็จสิ้นก็ประสบความสำเร็จ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มองไม่เห็นว่าเขาประสบความล้มเหลวตรงไหน
ดร.ประวัติ นาควัชระ ก็แค่เล่นสกีบนเส้นทางที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง
สองพี่น้อง “จันเหลือง” เรืองรอง
มรรค จันเหลือง และ คาเรน จันเหลือง สองพี่น้องร่วมกันสร้างชื่อให้แก่ประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ฤดูหนาว 2017 ที่ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น (ครั้งนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการส่งนักกีฬาแข่งขันกีฬาฤดูหนาวมากที่สุดถึง 51 คน จากกีฬา 3 ชนิด คือ สกี,สเกตน้ำแข็ง และฮอกกี้น้ำแข็ง) ซึ่งแน่นอนว่า นักกีฬาสองพี่น้องของไทย ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัล แต่ทำผลงานได้ดีและทั้งคู่ได้ต่อยอดจนผ่านการควอลิฟายเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิก ฤดูหนาว 2018 ที่พยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ และโอลิมปิก ฤดูหนาว 2022 ที่ ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สำเร็จ
การต่อสู้คืออะไร อะไรคือความสำเร็จ
มรรค และคาเรน ต้องเล่นกีฬาท่ามกลางอุณหภูมิหนาวเหน็บติดลบ 30 องศาเซลเซียส ทำให้นักกีฬาเลือดยโสธร-อิตาเลียนต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุดเพื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรคทุกอย่าง การซ้อมที่ต้องเสริมความอึดกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ ปีละ 400 ชั่วโมง มันคือความหนักหน่วงและหฤโหด
“แต่เมื่อฤดูหนาวมาถึง เรากลับมีความรู้สึกดี ที่จะได้ออกไปซ้อมและแข่งขัน”
“แม้แต่ตอนซ้อมที่เหนื่อยจนหน้ามืด แต่ก็มีความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางความขาวบริสุทธิ์ของหิมะ”
ความยากลำบากต่อมาของพี่น้องจันเหลืองก็คือ การเผชิญหน้ากับคู่แข่งระดับโลก ถ้าเรายังหลอกตัวเองว่าเก่ง ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเราอยู่จุดไหน จวบจนเมื่อไปเจอกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ก็ต้องกลับมาซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ไม่มีคำว่าท้อ หากอยากจะเก่งกว่านี้ เพราะคนที่เก่งในวันนี้ล้วนแล้วแต่ต้องเริ่มต้นด้วยความไม่เก่งเหมือนกันทุกคน
คำถามคือ ถ้าไม่ได้เหรียญ ไม่ชนะ แล้วความสำเร็จคืออะไร คำตอบคือ การเอาชนะใจ และชนะสถิติของตัวเอง การรู้ว่าตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน เพราะไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ ชีวิตก็ต้องเดินทาง ชีวิตคือการแข่งขัน
สกี ต้องเร็ว เร็ว และเร็วขึ้นไปอีก
สกี เป็นหนึ่งในกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เมื่อลงแข่งขันแล้วไปไม่ถึงเส้นชัยเป็นเรื่องสุดแสนธรรมดา นักกีฬาที่ Did Not Finish มีกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของการแข่งขันทุกครั้ง ทุกคนจึงต้องทุ่มเทสรรพกำลังสุดความสามารถเพื่อทำผลงานให้ดีที่สุด หากแข่งไม่จบ นั่นหมายความว่าจิตใจของพวกเขานั้นต้องการบุกตะลุยแบบใจเกินร้อย
“เร็วแล้วล้ม ดีกว่าเล่นแบบประคองตัว ถ้าเข้าถึงเส้นชัยแต่ได้อันดับสุดท้าย มันจะไปตื่นเต้นอะไร” นี่คือ คำพูดจากคนไทยที่เล่นกีฬาฤดูหนาวระดับโลก
คนไทยในเวทีกีฬาฤดูหนาว อาจจะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่กำลังเร็วขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
/////////////////////////////////////////
กีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว 2022 จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง สาธารณัฐประชาชนจีน วันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้ กรุงปักกิ่ง เป็นเมืองแรกของโลกที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2 ฤดู ทั้งฤดูร้อน 2008 และ ฤดูหนาว 2022
TAG ที่เกี่ยวข้อง