stadium

กองทุนฯ กับการเตรียมความพร้อมนักกีฬาสู้ศึกเอเชียน พารา เกมส์ 2022

18 กันยายน 2564

หลังประสบความสำเร็จกับ พาราลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 จากการคว้าไปทั้งหมด 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ก็เหลือเวลาเตรียมตัวเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น ก่อนที่การแข่งขัน เอเชียน พารา เกมส์ หรือ หางโจว 2022 ที่ประเทศจีนจะมาถึง

 

ผลงานของนักกีฬาไทยใน เอเชียน พารา เกมส์ ครั้งที่แล้วเป็นอย่างไร และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไปแบบไหน ติดตามได้ที่นี่

 

 

237 ชีวิต 23 เหรียญทอง ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของทัพพาราไทยใน จาการ์ตา 2018

 

ในการแข่งขันเอเชียน พารา เกมส์ ปี 2018 ทัพนักกีฬาไทยส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมมากถึง 237 คน เป็นชาติที่ส่งนักกีฬาลงแข่งมากที่สุดเป็นลำดับ 3 ต่อจาก ญี่ปุ่น (303) และ อินโดนีเซีย เจ้าภาพ (294) ก่อนจะทำผลงานคว้า 23 เหรียญทอง 33 เหรียญเงิน และ 50 เหรียญทองแดง ซึ่งเป็นจำนวนเหรียญทองที่มากที่สุดนับตั้งแต่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกในปี 2010 โดยไทยคว้าอันดับ 7 ในตารางเหรียญรางวัลเป็นรองเพียง จีน, เกาหลีใต้, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และ อุซเบกิสถาน เท่านั้น

 

สำหรับกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลได้มากที่สุดของไทยคือ กรีฑา ที่โกยไป 11 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน และ 13 เหรียญทองแดง ตามด้วย เทเบิลเทนนิส  6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง, บอคเซีย 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง, ยิงปืน 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง, ฟันดาบวีลแชร์ 1 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และว่ายน้ำที่แม้ไม่ได้เหรียญทอง แต่กวาดไปถึง 4 เหรียญเงิน 12 เหรียญทองแดงเลยทีเดียว

 

ส่วนนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่งเจ้าของ 5 เหรียญทองพาราลิมปิก ที่คว้าไป 4 เหรียญทองจากประเภท 100 เมตร, 200 เมตร, 400 เมตร และ 800 เมตร

 

 

จาการ์ตา 2018 สู่ โตเกียว 2020 และป้ายต่อไปคือ หางโจว 2022

 

นักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลจาก พาราลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 เกือบทั้งหมด ต่างต่อยอดมาจากความสำเร็จใน จาการ์ตา 2018 ซึ่งสืบเนื่องมาจากการวางยุทธศาสตร์พัฒนานักกีฬาอย่างต่อเนื่อง และใน หางโจว 2022 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อความสำเร็จของนักกีฬาไทยอย่างยั่งยืน เพื่อให้สมกับการเป็นชาติชั้นนำของเอเชีย

 

เรื่องนี้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่เริ่มการแข่งขัน พาราลิมปิก เกมส์ โดยแบ่งนักกีฬาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือนักกีฬาที่ได้สิทธิ์ไปแข่งขัน โตเกียว 2020 และอีกกลุ่มคือนักกีฬาที่ไม่ได้ไปลงแข่งขัน ซึ่ง ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บอร์ดกองทุนฯ มีนโยบายตั้งแต่ยังไม่เริ่มการแข่งขันพาราลิมปิก เกมส์ แล้วว่า นักกีฬาที่ไม่ได้ไป โตเกียว ต้องเริ่มเก็บตัวฝึกซ้อมสำหรับรายการอื่น ๆ ต่อไป อย่างเช่น เอเชียน พารา เกมส์ ที่จะมีขึ้นในปี 2022 ซึ่งกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งอุปกรณ์ และผู้ฝึกสอน เพื่อให้นักกีฬาพัฒนาความสามารถของตัวเองขึ้นไปเป็นระดับสูง" 

 

ขณะเดียวกัน สำหรับนักกีฬาชุด โตเกียว 2020 เมื่อกลับมาแล้ว จะมีการวิเคราะห์ผลงาน หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายจะมีการแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อปรับปรุงในโอกาสต่อไป ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จ จะมีการเสริมความแข็งแกร่ง และทักษะเพิ่มเติม เพื่อให้รักษาระดับเอาไว้ได้ต่อไปในอนาคต 

 

"สำหรับนักกีฬาจาก โตเกียว 2020 หากได้รับคัดเลือกต่อก็ทำการแข่งขันต่อไป แต่หากไม่ได้รับเลือกหรืออำลาทีมชาติก็เป็นอดีตนักกีฬา ส่วนนักกีฬาที่ทำผลงานไม่ได้ตามเป้าแล้วอายุเกินก็ผันตัวเป็นบุคลากรเพื่อสอนน้อง ๆ ต่อไป เพื่อนำเอาความรู้ความสามารถกลับมาช่วยพัฒนาวงการกีฬาคนพิการของไทยอีกทางหนึ่ง" ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมปิดท้าย

 

นอกจากนั้น ใน หางโจว 2022 นักกีฬาความหวังของไทยยังคงพร้อมลุยกันเต็มอัตราศึก ไม่ว่าจะเป็น 2 นักกีฬาชาย-หญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไทยคือ ประวัติ วะโฮรัมย์ และ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ที่ขอสู้ต่อเพื่อไปแข่ง ปารีส 2024 รวมถึง พงศกร แปยอ เจ้าเหรียญทองวีลแชร์เรซซิ่ง, อธิวัฒน์ แพงเหนือ ดาวรุ่งพุ่งแรงคนล่าสุด, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เจ้าของ 2 เหรียญทองที่ จาการ์ตา และทีมบอคเซียเจ้าเหรียญทองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ต่างพร้อมไปป้องกันแชมป์กันอย่างเต็มที่เช่นกัน

 

ส่วนกองเชียร์อย่างเรา อย่าลืมร่วมให้กำลังใจ พร้อมทั้งรอลุ้นกันว่า ทัพนักกีฬาไทย จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหนที่ หางโจว


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic