17 กันยายน 2564
ผลงาน 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง จาก 6 ชนิดกีฬา ใน พาราลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 เรียกได้ว่านักกีฬาคนพิการของไทยประสบความสำเร็จอย่างมากกับการลงแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้
การสานต่อความสำเร็จคือเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเฟ้นหานักกีฬาหน้าใหม่เข้ามาทดแทนรุ่นพี่ เหมือนที่เราได้เห็นในวีลแชร์เรซซิ่งจาก ประวัติ วะโฮรัมย์, เรวัตร์ ต๋านะ มาถึง พงศกร แปยอ และล่าสุดคือ อธิวัฒน์ แพงเหนือ
ขณะเดียวกัน จากกระแสตอบรับของชาวไทยที่ให้ความสนใจ พาราลิมปิก เกมส์ เป็นอย่างมาก ย่อมสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนพิการทั่วไปหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง และวงการกีฬาไทย ที่จะมีนักกีฬารุ่นใหม่เข้ามาทดแทน หากพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และมีโครงการรองรับนักกีฬาหน้าใหม่จนก้าวไปสู่ฮีโร่พาราลิมปิกในอนาคต เริ่มตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงกีฬาเช่นเดียวกับคนปกติ โดย ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "เมื่อพิจารณาจากผลของการส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ พาราลิมปิก เกมส์ ของกองทุนฯ พบว่าผู้คนให้ความสนใจกีฬาเป็นอย่างมาก รวมทั้งทำให้ทุกคนได้รู้ว่า คนรอบตัวเรารวมทั้งตัวเราเอง เล่นกีฬาได้ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นไปแข่งพาราลิมปิก อาจเป็นระดับกีฬามวลชน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแข่งขันกีฬามวลชนของคนปกติมาตลอด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสร้างเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด แต่จริงๆ ต้องอย่าลืมให้โอกาสคนที่ขาดโอกาส เพราะเขาเป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน จึงควรมีรับโอกาสเข้าถึงกีฬา ดังนั้นกองทุนฯได้ปรับยุทธศาสตร์ร่วมกับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มจำนวนนักกีฬาและกองเชียร์คนพิการมากขึ้น เพราะนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆ"
ขั้นตอนต่อไป เมื่อมีนักกีฬาทำผลงานได้โดดเด่นในระดับมวลชนจนก้าวมาสู่การแข่งขันระดับชาติ และกำลังอยู่ในวัยเรียน มีผลการเรียนดี กองทุนฯ ยังให้การสนับสนุนด้านทุนการศึกษา เพื่อให้นักกีฬาไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่น ได้มีสมาธิเพียงแค่การฝึกซ้อมรวมทั้งการเรียนเท่านั้น ขณะเดียวกันกองทุนฯ ยังดูแลเรื่องอุปกรณ์ฝึกซ้อมที่ต้องใช้อุปกรณ์แบบพิเศษสำหรับคนพิการ และผู้ฝึกสอนที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อให้นักกีฬาพัฒนาความสามารถจนถึงขีดสุด
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติให้การสนับสนุนนักกีฬาครอบคลุมในทุกด้าน ตั้งแต่การเก็บตัวฝึกซ้อม เราได้จัดหาอุปกรณ์ที่มีการรับรองมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้แข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์ เพื่อให้กล้ามเนื้อของนักกีฬาได้จดจำและเกิดความคุ้นเคยมากที่สุด เช่นเดียวกันการจ้างผู้ฝึกสอนไม่ว่าจะใช้โค้ชไทยหรือต่างชาติเราก็ให้การสนับสนุน นอกจากนี้หากนักกีฬาคนไหนยังเรียนอยู่ มีผลการเรียนดี เราก็มีทุนการศึกษาให้”
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของกองทุนฯ ไม่ได้เล็งไปที่การเฟ้นหานักกีฬารุ่นใหม่เข้ามาทดแทนรุ่นเก่าเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำไปถึงการให้โอกาสผู้พิการได้แสดงความสามารถ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองในสังคมอีกด้วย ซึ่งด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นนี้ ใน พาราลิมปิก เกมส์ ครั้งต่อไปคือปี 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เราจึงมีโอกาสไม่น้อยที่จะได้เห็นฮีโร่พาราลิมปิกคนใหม่มาสร้างความภาคภูมิใจและมอบความสุขให้พี่น้องชาวไทยอีกครั้ง
TAG ที่เกี่ยวข้อง