11 กันยายน 2564
หนึ่งในภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติก็คือให้การสนับสนุน ส่งเสริมนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ในการเก็บตัวฝึกซ้อม พัฒนาและส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งรวมไปถึงมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เพิ่งจบลงไป ซึ่งพาราลิมปิกหนนี้นักกีฬาไทยคว้ามาได้ 5 เหรียญทอง จากทั้งหมด 6 คน
วันนี้กองทุนฯ ในฐานะผู้สนับสนุนนักกีฬา ขอพาไปทำความรู้จักกับฮีโร่เหรียญทองพาราลิมปิกทั้ง 6 คน ติดตามไปพร้อมกันได้ที่นี่
พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง
พงศกร แปยอ หรือ "กร" ปัจจุบันอายุ 24 ปี เป็นชาว จ.ขอนแก่น กร นั้นโชคร้ายเป็นโปลิโอตั้งแต่กำเนิด เติบโตมากับคนพิการด้วยกัน ทำให้เขาไม่เคยคิดน้อยใจ แม้จะใช้ชีวิตอย่างยากลำบากแต่ กร ก็ไม่เคยท้อ จนกระทั่งอายุ 13 ปี เขามีโอกาสได้เริ่มเล่นกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งเป็นครั้งแรก
โดยช่วงเวลานั้นได้มีอาจารย์ สากล ทัพสมบัติ ที่สนิทกันชักชวนให้ไปแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 30 "นครสุโขทัยเกมส์" เมื่อปี 2009 ก่อนจะคว้าเหรียญทองแดง นี่คือจุดเริ่มต้นสู่ทีมชาติ
ส่วนจุดเริ่มต้นบนเส้นทางทีมชาติของพงศกร แปยอ ได้ ประวัติ วะโฮรัมย์ และเรวัฒน์ ต๋านะ 2 นักวีลแชร์ระดับตำนาน ได้มอบรถวีลแชร์ที่เคยใช้และยังมีสภาพดีอยู่ให้ พงศกร นำไปใช้แข่งขัน นี่คือแรงบันดาลใจชั้นยอดที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ ที่ทำให้ พงศกร แปยอ ประสบความสำเร็จ คว้า 3 เหรียญทองในพาราลิมปิกเกมส์ 2020
อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง
“ฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ นักวีลแชร์เรซซิ่งดาวรุ่งวัย 18 ปี แจ้งเกิดในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกจากศึกเวิลด์ พารา แอธเลติกส์ กรังปรีซ์ 2021 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเขาคว้าแชมป์โลกได้ในประเภท 100 เมตร คลาส T54 ก่อนจะต่อยอดผลงานสุดเจ๋งด่วยการคว้าเหรียญทองพาราลิมปิก วีลแชร์ 100 ม. คลาส ที 54 ทั้งๆ ที่เข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรก
อธิวัฒน์ แพงเหนือ ยอมรับว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้ เพราะไม่เคยคิดไม่ฝันว่าจะคว้าเหรียญทองรายการนี้มาครองได้ เพราะนี่เป็นพาราลิมปิกครั้งแรกของเขา แต่ต้องบอกว่ามันเป็นโมเมนต์ที่ดีมาก และอยากขอบคุณแฟนกีฬาชาวไทยที่เป็นกำลังใจมาโดยตลอด
ขณะเดียวกันเขายังตั้งเป้าหมายอยากจะแก้มือในระยะ 400 เมตร ที่เขาได้เหรียญเงินหลังพลาดท่าโดนแซงหน้าเส้นชัยแบบน่าเจ็บใจในอีก 3 ข้างหน้าที่ปารีส
สุบิน ทิพย์มะณี
สุบิน ทิพย์มะณี ชื่อเล่นว่า นก แต่เพื่อน ๆ มักเรียก “บิน” เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เธอเริ่มเล่นกีฬาบอคเซียมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ฝีมือของเธอโดดเด่นจนถูกเรียกติดทีมชาติมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนจะมาท็อปฟอร์มที่สุดในพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมบอคเซียไทยคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกครั้งนั้นมาครองได้สำเร็จ รวมไปถึงการคว้าแชมป์ในรายการระดับโลกอีกหลายสมัย
ตลอดระยะเวลา 19 ปี สุบิน คือหนึ่งในนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ไม่แปลกใจว่าทำไมเธอจึงได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ถือธงชาติไทยนำขบวนพาเหรดนักกีฬาไทยเข้าสู่สนาม และช่วยให้ทีมบอคเซียป้องกันแชมป์ประเภททีมเอาไว้ได้อีกสมัย
วัชรพล วงษา
วัชรพล วงษา หรือ ต่อ บอคเซียหนุ่มวัย 30 ปี เป็นฮีโร่ของชาวจังหวัดเลย เขาพิการขาลีบตั้งแต่เด็ก เป็นบุตรคนโตของครอบครัว เข้ารับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนศรีสังวาลคนพิการ จังหวัดขอนแก่น
วัชรพล สร้างชื่อกับทีมชาติไทยครั้งแรกในปี 2007 หลังประเดิมคว้าเหรียญทอง อาเซียน พาราเกมส์ 2007 ที่นครราชสีมา ในประเภททีม 3 คน ตามด้วยเหรียญทอง เอเชียน พาราเกมส์ 2010 ที่กว่างโจว ประเทศจีน ในประเภทบุคคล คลาส BC2
2 ปีต่อมา พาราลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน วัชรพล พาทีมบอคเซียไทย ก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทอง ในประเภททีมผสม คลาส BC1-2 ร่วมกับ มงคล จิตเสงี่ยม, วิษณุ ฮวดประดิษฐ์ และ พัทยา เทศทอง ก่อนที่พาราลิมปิก 2016 เขาจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ด้วยตัวคนเดียว จัดการคว้า 2 เหรียญทอง ในประเภทบุคคล คลาส BC 2 และป้องกันแชมป์ประเภททีมผสม คลาส BC1-2 รวมพาราลิมปิกเกมส์ 2 สมัย คว้าไป 3 เหรียญทอง
ขณะที่พาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 เขาเป็นกัปตันพาทีมป้องกันแชมป์เอาไว้อีกครั้ง และเป็นการคว้าแชมป์ในประเภททีม 3 ครั้งติดต่อกัน ส่วนประเภทบุคคลน่าเสียดายที่ไปแพ้ให้นักกีฬาจากเจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ
วรวุฒิ แสงอำภา
วรวุฒิ แสงอำภา หรือ เจมส์ เริ่มต้นเล่นกีฬาบอคเซียหลังจากที่เข้าศึกษาที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เขามักใช้เวลาว่างในแต่ละวันฝึกซ้อมกีฬา เขาตัดสินใจเล่นบอคเซียมาตลอดและเลือกเดินเส้นทางนักกีฬาอย่างหนักแน่น เพราะมองเห็นแล้วว่าสำหรับผู้พิการ การเล่นกีฬาเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ
เมื่อเป้าหมายเริ่มชัดเจน วรวุฒิ ทุ่มเททุกอย่างไปกับการฝึกซ้อม อดทน ทำในแต่ละวันให้ดีที่สุดไม่นานเขาก็ได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยแข่งขันรายการต่าง ๆ มีโอกาสได้ไปแข่งขันในหลายๆประเทศ ประสบความสำเร็จ แชมป์โลก 2 สมัย รวมทั้งเหรียญทองพาราลิมปิก 2016 ประเภททีม และเหรียญทองเอเชียน พาราเกมส์ 2018 ทั้งประเภทบุคคลและทีม
พาราลิมปิก 2020 วรวุฒิ มาแข่งในฐานะมือ 1 ของโลกในคลาส BC2 น่าเสียดายที่เขาพลาดเหรียญในประเภทบุคคลไปแบบน่าเสียดาย แต่ก็ยังแก้มือในประเภททีมและเป็นกำลังสำคัญพาทีมคว้าแชมป์สมัยที่ 3 มาครองได้
วิษณุ ฮวดประดิษฐ์
อุบัติเหตุจากการตกบันได 8 ขั้นระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่ ทำให้ วิษณุ ฮวดประดิษฐ์ ได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในท้อง ซ้ำร้ายยังต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด คุณหมอต้องปั้มหัวใจเพื่อยื้อชีวิต ถึงแม้ วิษณุ จะรอดมาได้แต่ก็พิการแขนและขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
วิษณุ เติบโตมาโดยมีครอบครัวรักและคอยดูแลอย่างดีมาตลอด จนกระทั่งอายุได้ 27 เขามีโอกาสได้เล่นกีฬาบอคเซียเป็นครั้งแรก ถึงแม้จะบ้างที่น้อยใจโชคชะตาและกีฬาเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพัฒนาและสร้างชื่อเสียงและความภูมิใจให้กับครอบครัวและคนไทยได้
เขาใช้เวลาไม่นานนับจากเริ่มเล่นบอคเซียครั้งแรก ก็ก้าวเข้าสู่ทีมชาติไทย กวาดความสำเร็จมาแล้วมากมาย มีโอกาสเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในปี 2012 ที่ลอนดอน เป็นหนึ่งในขุมกำลังที่ช่วยกันคว้าเหรียญทองประเภททีมมาครองเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเขาก็คว้าแชมป์โลก 2018 ประเภททีม BC1-2 ที่ลิเวอร์พูล หรือการคว้า 2 เหรียญทองเอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย จากประเภทบุคคล BC1 และ ทีม BC1-2
ปัจจุบันในวัย 37 วิษณุ กลับมาเป็นขุนพลของประเภททีมอีก ครั้งหลังจากพักไปในปี 2016 แม้อายุจะมากขึ้นแต่ความยอดเยี่ยมของเขาไม่ได้ลดน้อยลงไป บอคเซียประเภททีมไทยเอาชนะเจ้าภาพญี่ปุ่นในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมกับป้องกันแชมป์เอาไว้ได้อีกสมัย นับเป็นเหรียญเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์เหรียญที่ 2 ในชีวิตของเขาอีกด้วย
และนี่คือเรื่องราวของ 6 นักกีฬาไทยที่ทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด จนทุกคนสามารถประสบความสำเร็จและช่วยกันคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 2020
TAG ที่เกี่ยวข้อง