stadium

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเคียงข้างนักกีฬาฝ่าวิกฤติโควิด

28 สิงหาคม 2564

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ซึ่งวงการกีฬาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของคนหมู่มากประสบปัญหากับเรื่องนี้แบบเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไม่สามารถจัดการแข่งขัน ห้ามคนดูเข้าสนาม หรือระดับตัวบุคคลที่ถูกจำกัดการฝึกซ้อม ไม่สามารถเดินทางไปแข่งต่างประเทศ หรือกระบวนการกักตัวที่ทำให้เสียเวลาไปแบบเปล่าประโยชน์

 

นอกจากนั้น หากนักกีฬาติดเชื้อไวรัสยังทำให้ต้องเจอกับปัญหาสุขภาพทั้งกับตัวเองและผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะนักกีฬาคนพิการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่างจากคนปกติทั่วไป ยิ่งต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

 

สำหรับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติแล้ว เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม และยังส่งผลกระทบต่อศักยภาพของนักกีฬาซึ่งเกี่ยวพันกับเป้าหมายหลักของกองทุนฯ อีกด้วย

 

แล้วกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รับมือกับวิกฤติครั้งนี้อย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่ 

 

 

ควบคุมปัจจัยเสี่ยง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาปกติหรือนักกีฬาผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาระดับอีลิท หรือระดับรองลงมา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติยังคงให้ความห่วงใยและใส่ใจนักกีฬาเท่าเทียมกัน โดยได้มีการกำชับตัวนักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ก่อความเสียหายในวงกว้าง

 

ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่า "เรื่องการเก็บตัวฝึกซ้อม นักกีฬาจะดูแลตัวเองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ขณะที่กองทุนฯ ก็เข้มงวดในเรื่องนี้เช่นกัน อย่างเช่นตอนนักกีฬาเดินทางไปแข่งขัน ตัวของผู้จัดการกองทุนฯไม่ได้ไปส่งที่สนามบินไม่ใช่เพราะไม่มีเวลา แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของคนหมู่มาก รวมทั้งอาจทำให้นักกีฬาเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาวอลเลย์บอล"

 

"ประเด็นของการดูแลนักกีฬาเก็บตัวฝึกซ้อมแบ่งเป็น 2 พวก พวกที่ 1 คือกลุ่มที่เดินทางไปแข่ง พาราลิมปิก เกมส์ ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทุกคนดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นเก็บตัวเหมือนอยู่ในค่ายทหาร ไม่มีการไปสุงสิงกับคนภายนอก เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ"

 

"ส่วนกลุ่มที่ 2 คือนักกีฬาที่ไม่ใช่ระดับอีลิท ไม่ได้ไปแข่งพาราลิมปิก บอร์ดกองทุนมีนโยบายให้เริ่มเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อไปแข่งในรายการอื่นเช่น เอเชียน พาราเกมส์ ที่หางโจว ซึ่งกองทุนมีเงื่อนไขกำชับให้นักกีฬามีการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าแคมป์ รวมทั้งทีมงานที่ต้องเข้าพบนักกีฬาทั้งนักวิทยาศาสตร์การกีฬา, นักโภชนาการ, แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ ก็ตามไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารของสมาคม ซึ่งต้องทำให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อก่อนไปเจอนักกีฬา เพราะถ้าลำพังแค่ตัวนักกีฬาอยู่กันเองไม่น่ามีปัญหา แต่ส่วนใหญ่คือผู้ที่มาจากภายนอกเอาเชื้อโรคมาให้ แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะนักกีฬาคนพิการอาจจะมีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้น กองทุนฯจึงเน้นย้ำในเรื่องการเก็บตัวฝึกซ้อมและมอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้กำกับดูแลความเหมาะสมตามมาตรการของศบค ถึงจะเก็บตัวฝึกซ้อมได้"

 

จะเห็นได้ว่า กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าการพัฒนาด้านศักยภาพ เพราะหากเหล่านักกีฬาไม่ต้องมีปัจจัยอื่นให้กังวลแล้ว พวกเขาก็จะสามารถแสดงประสิทธิภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

 


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic