stadium

ทำความรู้จักกีฬากรีฑา, ยิงธนู และเทเบิลเทนนิสใน พาราลิมปิก

26 สิงหาคม 2564

ในการแข่งขัน พาราลิมปิก เกมส์ 2020 นักกีฬาไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันถึง 14 ชนิดกีฬา ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้แนะนำกีฬาบอคเซีย, ฟุตบอล 5 คน รวมถึงโกลบอลไปแล้ว

 

ยังมีอีกหลายชนิดกีฬาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเภทที่นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน และมีลุ้นเหรียญรางวัล อย่างเช่น กรีฑา, ยิงธนู และเทเบิลเทนนิส

 

เสน่ห์ของกีฬาทั้ง 3 ชนิดนี้ใน พาราลิมปิก คืออะไร และมีอะไรแตกต่างจากการแข่งขันใน โอลิมปิก เกมส์ ติดตามได้ที่นี่

 

 

กรีฑาในพาราลิมปิก

 

กรีฑาในพาราลิมปิกแทบจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรีฑาในโอลิมปิก เนื่องจากนักกีฬาจะถูกจำแนกหมวดหมู่การแข่งขันตามความพิการที่ส่งผลต่อความสามารถ โดยในประเภทลู่มีการแข่งขันระยะสั้น, ระยะกลาง และระยะไกลเช่นเดียวกับประเภทผลัด อย่างไรก็ตามแต่ละรายการไม่ได้มีกำหนดตายตัวเนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างเช่นจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันว่าจะจัดแข่งประเภทและคลาสดังกล่าวหรือไม่

 

ขณะที่นักกรีฑาคนพิการต้องเจอกับความท้าทายที่มากยิ่งกว่าคนทั่วไปเพราะนอกจากจะต้องเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อให้เร็วขึ้นเพียงแค่เสี้ยววินาที พวกเขายังต้องทำทุกอย่างเพื่อชดเชยความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งการแบ่งคลาสตามความพิการทำให้การแข่งขันมีความยุติธรรม ขณะเดียวกันถึงแม้จะมีรายการแข่งขันน้อยกว่า โอลิมปิก แต่กรีฑาประเภทลู่ใน พาราลิมปิก เกมส์ ทดแทนด้วยจำนวนรอบชิงฯ ของแต่ละระยะที่เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในการแข่งระยะ 100 เมตร ที่ ริโอ เกมส์ มีการชิงเหรียญในประเภทชายถึง 16 คลาส และประเภทหญิง 14 คลาส เพราะต้องจำแนกเป็น วีลแชร์, ผู้พิการทางสายตา และผู้พิการขา เป็นต้น ซึ่งเท่ากับว่ามีเหรียญทองจากระยะนี้ถึง 30 เหรียญเลยทีเดียว

 

สำหรับพาราลิมปิกปีนี้ ไทยส่งนักกีฬาลงแข่งขัน 13 คน แบ่งเป็น กรีฑา ลู่-ลาน 5 คน และ วีลแชร์เรสซิ่ง 8 คน โดยกรีฑาถือเป็นความหวังสูงสุดของทัพพาราไทย หลังจากกวาดมาได้ถึง 4 เหรียญทอง, 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดงที่นครริโอ เดอ จาเนโร รวมทั้งมีดาวเด่นคือ ประวัติ วะโฮรัมย์ ตำนานนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่ลงแข่งพาราลิมปิกมาแล้ว 5 สมัย เจ้าของ 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ซึ่งเขาจะลงแข่งพาราลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

 

 

ยิงธนูในพาราลิมปิก

 

ไม่มีกีฬาชนิดใดที่มีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของพาราลิมปิกมากไปกว่ายิงธนูอีกแล้ว เพราะนี่คือกีฬาที่ถูกเลือกนำมาฟื้นฟูและบำบัดผู้พิการในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนต่อยอดพัฒนาจนมาเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างในปัจจุบัน

 

นับตั้งแต่ สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ ครั้งแรก เมื่อปี 1948 ต่อยอดมาถึง พาราลิมปิก เกมส์ สมัยใหม่ กีฬายิงธนูมีบรรจุแข่งขันไม่เคยขาด ขณะที่เป้าหมายของกีฬาชนิดนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ขอแค่ยิงธนูให้ใกล้ศูนย์กลางของเป้าให้มากที่สุดและเล็งไปที่ห่วงสีทอง โดยนักกีฬาจะยิงธนูในระยะห่างจากเป้า 50 หรือ 70 เมตร ส่วนรูปแบบและกติกาการแข่งขันแทบไม่ต่างจากของคนปกติ

 

ส่วนชนิดของธนูมี 2 ประเภทคือคันธนูโค้งกลับ กับคันธนูทดกำลัง ซึ่งอย่างหลังที่เป็นคันธนูแบบมีรอกกลไก รวมทั้งกล้องส่องและอุปกรณ์ช่วยปล่อยลูกธนูเพื่อความแม่นยำนั้น ไม่มีการแข่งขันในโอลิมปิก  

 

สำหรับพาราลิมปิกปีนี้ ไทยส่งนักกีฬาลงแข่ง 4 คนคือ หาญฤชัย เนตศิริ ความหวังสูงสุดของทัพโรบินฮูดไทย หลังจากลงแข่งครั้งแรกที่ริโอคว้าเหรียญเงินประเภทบุคคลชายโอเพ่น ประเภทคันธนูโค้งกลับ ระยะยิง 70 เมตร และเป็นนักกีฬายิงธนูคนแรกของไทยที่สามารถครองตำแหน่งแชมป์โลก, อานนท์ อึ้งอภินันท์ ลงแข่งครั้งแรกในประเภทคันธนูทดกำลังบุคคลชาย, คมสัน สิงห์ภิรมย์ ในประเภทคันธนูทดกำลังบุคคลชาย และ ภัทรภร ปัตตะแวว ในประเภทคันธนูโค้งกลับบุคคลหญิง

 

 

เทเบิลเทนนิสในพาราลิมปิก

 

เทเบิลเทนนิสมีประวัติศาสตร์กับพาราลิมปิกยาวนานกว่าโอลิมปิก เกมส์ เพราะได้บรรจุแข่งครั้งแรกตั้งแต่ปี 1960 ที่กรุงโรม เริ่มจากประเภทวีลแชร์ ก่อนจะเพิ่มประเภทยืนในปี 1976 ที่โตรอนโต ส่วน โอลิมปิก บรรจุแข่งเทเบิลเทนนิสครั้งแรกในปี 1988 ที่กรุงโซล

 

กีฬาชนิดนี้จัดว่าครอบคลุมต่อความพิการของนักกีฬา ทั้งทางร่างกาย และทางสมอง โดยคลาสของผู้พิการทางร่างกายแยกออกเป็นวีลแชร์และยืนตี การแข่งประเภทบุคคลและทีมจำแนกออกเป็น 11 คลาส ซึ่งสะท้อนระดับของความพิการ ส่วนกติกาพื้นฐานเรื่องอุปกรณ์, ขั้นตอนการแข่ง, การนับคะแนน เกือบทั้งหมดคล้ายกับที่ใช้ในโอลิมปิก เกมส์ โดยมีกฎพิเศษในการโยนลูกเพื่อเสิร์ฟสำหรับบางคลาสเท่านั้น ส่วนการหาผู้ชนะวัดจาก 3 ใน 5 เกม แต่ละเกมใครได้ 11 แต้มก่อนเป็นผู้ชนะ ซึ่งแม้จะเป็นการแข่งขันในพาราลิมปิกแต่เสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ทั้งความเร็ว และการตีโต้ที่แม่นยำยังคงมีไม่เปลี่ยนแปลง

 

สำหรับ โตเกียว 2020 ไทยส่งนักตบลูกเด้งเข้าร่วมการแข่งขันถึง 12 คน ใน 17 รายการ โดยตั้งความหวังไว้ที่ ประเภทบุคคลชายจาก รุ่งโรจน์ ไทยนิยม  ดีกรีเหรียญทอง ลอนดอนเกมส์ 2012 และเหรียญทองแดง ริโอเกมส์ 2016 ในคลาส 6 และประเภททีมคู่ใดคู่หนึ่งจาก 2 คลาส คือ คลาส 3 ที่มี อนุรักษ์ ลาววงษ์ กับ ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น เจ้าของเหรียญทองแดงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และคลาส 6-7 ที่มี เฉลิมพงษ์ พันภู่ กับ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ซึ่งจับคู่กันคว้าเหรียญทอง เอเชียน พาราเกมส์ ปี 2018

 


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic