28 สิงหาคม 2564
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาไทย ที่คอยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ มาตลอด 22 ปี หรือนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2542 ซึ่งหลังจบมหกรรมกีฬาแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็น โอลิมปิก พาราลิมปิก เอเชียนเกมส์ หรือซีเกมส์ ยุคสมัยที่ผ่านไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การส่งเสริมในด้านต่าง ๆ เกิดการพัฒนาขึ้นแบบต่อเนื่อง
หลังจบพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ประเทศบราซิล ก้าวเข้าสู่ พาราลิมปิก โตเกียว 2020 ตลอดนะยะเวลา 5 ปีมานี้ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ยังคงเดินหน้าผลักดันทัพนักกีฬาพาราทีมชาติไทยแบบไม่หยุดพักซึ่งจะมีด้านใดบ้าง เรามีคำตอบ
ในทุกๆครั้งหลังจบการแข่งขันมหกรรมกีฬาใด ๆ การกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะผู้มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนวงการกีฬาไทยให้ไปข้างหน้า จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพื่อวิเคราะห์และตีโจทย์ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการวางแผนหาแนวทางพัฒนาสำหรับอนาคต สำหรับในส่วนของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติก็ยังทำงานควบคู่กันเช่นกัน
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “หลังจบ ริโอเกมส์ 2016 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะที่เป็นผู้รวบรวมคำของบของแต่ละสมาคมกีฬาตามยุทธศาสตร์และกลยุทธ โร้ด ทู โตเกียว จะมีกระบวนการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปได้นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของกองทุน ฯ ก็ทำตามหน้าที่อนุมัติให้ตามหมวดตามระเบียบเหมือนเดิมทุกประการ”
“อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนการกีฬาแห่งชาติ ก็ได้เล็งเห็นว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญ นับตั้งแต่ตนได้เข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งผู้จัดการกองทุนในมิถุนายน ตั้แต่ปี 2563 จนถึงวันนี้เราได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิทยศาสตร์กีฬามาตลอด”
“ซึ่งเราไม่เพียงส่งเสริมเรื่องการซื้ออุปกรณ์มาให้นักกีฬาใช้ แต่เรายังให้เพิ่มในส่วนของผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล คอยดูว่าสิ่งที่นักกีฬาทำนั้นประสบผลสำเร็จไหม ตัวนักกีฬาอาจจะคิดว่าทำดีแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เมื่อไปเทียบกับคู่แข่งขัน จากประวัติข้อมูลจะพบว่ายังไม่สามารถเอาชนะเขาได้ นั่นหมายถึง ต่อให้เราควอลิฟายเข้าไปร่วมการแข่งขันได้ ก็ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ สิ่งนี้เราเรียกว่าการวิเคราะห์เชิงสถิติ ซึ่งหนึ่งสิ่งที่กองทุนได้ให้เงินส่งเสริมผ่านไปยัง กกท. เพื่อทำให้กีฬาซึ่งใช่แค่คนพิการ แต่รวมไปถึงคนปกติก็ทำระบบแบบนี้และจะเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต”
สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 การกีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา ถูกใช้เป็นศูนย์ฝึกซ้อมที่ใช้สำหรับเก็บตัวนักกีฬาชุดพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ก็ได้มีการเพิ่มเติมในเรื่องของอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปให้เพียงพอต่อจำนวนนักกีฬาที่ใช้งาน
“ที่ผ่านมาศูนย์วิทย์กีฬาตามจังหวัดต่าง ๆ นั้นมีอุปกรณ์อยู่แล้ว แต่ที่ศูนย์จังหวัดนครราชสีมายังมีไม่เพียงพอกับจำนวนนักกีฬาที่ไปเก็บตัวซ้อม กองทุน ฯ เล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬา ตนเคยไปเยี่ยมนักกีฬาที่ศูนย์ฝึกโดยไม่ได้บอกใคร ทำให้พบว่านักกีฬานั้นยังขาดอะไรอยู่บ้างที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา เราก็จัดหามาให้เขาโดยไม่จำเป็นต้องทำเรื่องร้องขอมา เพราะเรารู้ว่าความต้องการพัฒนานักกีฬาของท่านประธานบอร์ดกองทุนนั้นเป็นอย่างไร ท่านต้องการให้ทำในสิ่งเกิดการพัฒาถึงตัวนักกีฬาไม่ใช่มุ่งเน้นซื้ออุปกรณ์ และอุปกรณ์นั้นต้องเหมาะกับคนที่ใช้งานจริง ๆ จึงเป็นที่มาของการเกิดศูนย์ใหม่ขึ้นมาเรียกว่าศูนย์ที่นครราชสีมา ซึ่งเราจะเปิดอย่างเป็นทางการในไม่ช้านี้” ดร.สุปราณี คุปตาสา กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนานักกีฬามากเท่าไหร่ โอกาสที่นักกีฬาไทยที่เก่งอยู่แล้วก้าวไปได้ไกลอีกขั้น เหมือนเสือติดปีก ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะมีโอกาสก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติได้มากขึ้น และนี่ก็คือการต่อยอดที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติพยายามเติมเต็มให้กับวงการกีฬาไทยมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผานมา
TAG ที่เกี่ยวข้อง