23 สิงหาคม 2564
ตลอดพาราลิมปิกเกมส์ 9 ครั้งที่ทัพนักกีฬามีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปี 1984 พวกเขาสร้างความสำเร็จมาได้ทั้งหมด 69 เหรียญ แบ่งเป็น 19 เหรียญทอง 24 เหรียญเงิน 26 เหรียญทองแดง แต่รู้หรือไม่ว่า 19 เหรียญทองที่ได้มานั้น มีอยู่ 1 เหรียญทองที่เป็นผลงานของนักกีฬาหญิง ซึ่งในวันนี้เราขอพาทุกคนมานับถอยหลัง 1 วันสู่พิธีเปิดพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ไปพร้อมกับเรื่องราวของ สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ วีรสตรีคนแรกและคนเดียวของนักกีฬาไทยที่ก้าวไปถึงเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์
ฝันร้ายที่ไม่เคยลืม
สายสุนีย์ หรือ แวว สาวเชียงใหม่ เธอมีความฝันอยากครู แต่ด้วยทางบ้านฐานะยากจนทำให้เมื่อเธอเรียนจนชั้น ม. 3 ต้องออกไปเป็นสาวโรงงาน ทำงานเก็บเงินไว้เป็นทุนสำหรับศึกษาต่อเพื่อตามหาความฝัน
วันที่ 9 พ.ค. 2535 ขณะที่เธออายุได้เพียง 17 ปี สิ่งที่เธอเจอคือความเลวร้ายที่ยิ่งกว่าฟ้าผ่าใส่เสียอีก เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล เพียงเพราะความประมาทของคนหลังพวงมาลัยคนหนึ่ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างที่เธอกำลังซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ญาติเพื่อไปทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ขณะที่รถเครื่องของเธอกำลังจอดติดไฟแดง ขณะนั้นเองจู่ ๆ ก็มีรถยนต์พุ่งชนเข้าใส่อย่างจัง ก่อนจะหนีหายไปทันที ส่วนเธอและญาตินอนเจ็บไม่ได้สติตรงกลางสี่แยก
เธอฟื้นได้สติอีกครั้งพบว่าตัวเองอยู่บนเตียงนอนอยู่โรงพยาบาล อาการสาหัส กระดูกแตกไปทิ่มแทงเส้นประสาท กระดูกสันหลังหัก เอนหลังนอนไม่ได้ต้องตัดกระดูกสะโพกไปต่อหลัง คนรอบข้างไม่มีใครกล้าบอกความจริงว่าเธอกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ ผ่านไป 1 เดือนเต็มหมอจึงบอกกับเธอไม่สามารถเดินได้อีกต่อไปแล้ว
อุบัติเหตุการณ์ครั้งนี้เลวร้ายเกินกว่าเด็กสาวอายุ 17 ปีคนนึงจะทำใจยอมรับ ความตั้งใจที่จะทำงานเก็บเงินเพื่อทำฝันให้เป็นจริงสลายไปในพริบตา ไม่มีคืนไหนที่เธอไม่ร้องไห้เสียใจ เป็นความเจ็บปวกที่ยากจะทำใจยอมรับได้ หลายครั้งหลายคนที่เธอทั้งคิดและพยายามจะจบชีวิตนี้ลง เพราะไม่สามารถแบกรับความเจ็บปวดทางใจนี้ได้
ซ้อมล่อเป้าวันละ 1,000 ครั้ง
มีเพียงความรักจากครอบครัวที่โอบอุ้มความรู้สึกเธอเอาไว้และทำให้เธอตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ต่อ สิ่งเดียวที่เธอทำได้ตลอดระยะเวลา 11 เดือนที่นอนอยู่โรงพยาบาลคือการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงได้มากที่สุด
เมื่อเลือกจะอยู่แล้ว เธอตั้งใจจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและได้มาพบกลับจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง แต่หนนี้เป็นข่าวดีเมื่อศูนย์ฟื้นฟูคนพิการที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดรับสมัครคนพิการมาฝึกอาชีพ เธอเขียนจดหมายร่ายยาวแบบเผยความในแบบหมดเปลือก หวังจะได้รับเลือกให้ฝึกฝนทักษะอาชีพต่าง ๆ เพื่อเปิดโลกใบใหม่ให้แก่เธออีกครั้ง
จดหมายของเธอสร้างความประทับใจและได้รับเลือก ไม่เพียงแค่นั้นเธอยังมีโอกาสได้หัดเล่นกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลและได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตไปแข่งขันที่กรุงเทพอีกต่างหาก
หลังจากเริ่มเริ่มสร้างรายได้จากการเล่นวีลแชร์บาสเกตบอลแล้ว สายสุนีย์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เธอตัดสินใจสมัครเล่นกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง โดยมีโค้ชจากฮ่องกงมาสอนให้ ตลอด 7 วันที่มีได้โอกาสฝึกฝน สายสุนีย์ แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ในกีฬาชนิดนี้ ทำเอาโค้ชถึงขั้นเอ่ยปากว่าสักวันหนึ่งเธอจะก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลก
อย่างไรก็ตามเธอไม่หลงไปกับคำหวานของโค้ชชาวฮ่องกง ยังมุ่งมั่นฝึกฝนต่อไปตามโปรแกรม แทงเป้าวันละ 1,000 ครั้ง แม้จะไม่สนุกเหมือนบาสเกตบอล แต่เธอก็อดทนฝึกซ้อมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
วีรสตรีหนึ่งเดียวของไทย
ความเพียรของ สายสุนีย์ ทำให้เธอถูกเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ปี 1999 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของเธอในโลกกีฬา
สายสุนีย์ เปิดตัวด้วยการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันรายการดังกล่าว เงินรางวัลอัดฉีด 200,000 บาท ที่ได้มาคือเงินก้อนสูงสุดที่เธอเคยหามาได้ในชีวิต ณ ตอนนั้น เธอรีบเอาเงินไปถมที่ให้ครอบครัวทำสวนลำไย
เมื่อเริ่มเห็นแล้วว่ากีฬาคือแสงสว่างให้ชีวิต เธอมุ่งมั่นฝึกซ้อมให้หนักขึ้น โดยมีพาราลิมปิกเกมส์เป็นความฝัน แม้เธอจะพลาดการเข้าร่วมในปี 2000 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย แต่ความผิดหวังในครั้งนั้นได้กลายเป็นแรงผลักดัน ก่อนที่ 4 ปีต่อมาเธอจะทำมันได้ตามที่ตั้งใจ เก็บคะแนนจนได้เข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรก
พาราลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ เธอได้เขียนเทพนิยายขึ้นบนดินแดนแห่งความเชื่อเรื่องกรีกโบราณ ด้วยการคว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงกลับบ้าน สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองในพาราลิมปิก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้ได้เช่นกัน
4 ปีต่อมาที่ปักกิ่งเกมส์ เธอสานต่อความสำเร็จได้ด้วย 1 เหรียญทองแดง จากนั้นพาราลิมปิกครั้งที่ 3 ของเธอ ปี 2012 ที่ลอนดอน เธอกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทอง จาก เอเป้ คลาสบี และครั้งล่าสุด ปี 2016 ที่ริโอ คว้าเหรียญเงิน เอเป้ คลาสบี เบ็ดเสร็จแล้วพาราลิมปิก 4 ครั้ง เธอทำได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง
ปัจจุบัน สายสุนีย์ เพิ่งจะมีอายุครบ 47 ปี ไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 5 น่าสนใจอย่างยิ่งว่าหนนี้เธอจะกลับมาทวงเหรียญทองที่เคยเป็นของตัวเองอีกครั้งได้หรือไม่
TAG ที่เกี่ยวข้อง