stadium

ย้อนรอยต้นกำเนิด พาราลิมปิก เกมส์

21 สิงหาคม 2564

พาราลิมปิก เกมส์ ฤดูร้อนในปีนี้ จะมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันถึง 4,517 คน จาก 163 ชาติสมาชิกของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ซึ่งนักกีฬาทั้งหมดมีจำนวนมากกว่า 11 เท่าของสมัยที่กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพหนแรกเมื่อปี 1964 ที่มีนักกีฬาเข้าร่วมเพียง 400 คนจาก 21 ชาติเท่านั้น

 

ขณะเดียวกันจำนวนชนิดกีฬายังเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวจากเมื่อ 57 ปีที่แล้ว ที่มีแข่งเพียง 9 ชนิดกีฬา แต่ปัจจุบันมีบรรจุแข่งขัน 22 ชนิดกีฬา เพื่อชิงชัย 539 เหรียญทอง พร้อมกับมีถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยมียอดผู้ชมหลายพันล้านคน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแข่งขัน พาราลิมปิก เกมส์ นั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการ กลายมาเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬารายการใหญ่ ณ ปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่ว่า จุดกำเนิดของ พาราลิมปิก เกมส์ มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตไปกว่า 73 ล้านคนทั่วโลก

 

บางครั้งความสูญเสีย ก็ก่อให้เกิดสิ่งดีงามตามมาได้เช่นกัน แต่กว่าจะมาเป็นมหกรรมกีฬาคนพิการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีที่มาอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ บิดาแห่งพาราลิมปิก นักประสาทวิทยาผู้ต้องลี้ภัยจากนาซี

 

หากเราจะพูดว่า พาราลิมปิก เกมส์ เป็นผลลัพธ์มาจากผู้ประสบภัยสงครามก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะตัวของผู้มีความคิดริเริ่มอย่าง เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ นักประสาทวิทยาอันดับต้น ๆ ของประเทศเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลของชาวยิวในเมืองเบรสเลา หรือวรอตสวัฟ ประเทศโปแลนด์ ในปัจจุบัน แต่เมื่อถึงปี 1939 กุตต์มานน์ จำเป็นต้องลี้ภัยเข้าสู่ประเทศอังกฤษ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น

 

กุตต์มานน์ได้เข้าทำงานที่สถานพยาบาลแรดคลิฟฟ์ ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด โดยวิจัยเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง และด้วยความสามารถอันยอดเยี่ยมของเขาทำให้ในปี 1943 รัฐบาลสหราชอาณาจักรขอร้องให้กุตต์มานน์ก่อตั้งศูนย์รักษากระดูกสันหลังแห่งชาติขึ้นที่โรงพยาบาล สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เพื่อรองรับทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม โดยได้เปิดทำการในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมาขณะที่กุตต์มานน์รับหน้าที่ผู้อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในศูนย์รักษาโรคกระดูกสันหลังเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ในสมัยก่อนนั้นผู้ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังรวมทั้งไขสันหลังและเส้นประสาทจนพิการครึ่งซีก จัดอยู่ในกลุ่มไร้ความหวังที่จะหายกลับมาเป็นปกติ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างมาก และส่วนใหญ่จะอยู่ได้อีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่ปีก่อนจะเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและไตวาย แต่นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันกลับนำเสนอวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยแบบใหม่ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนโลกของคนพิการในอนาคต

 

 

มอบความหวังให้ผู้สิ้นหวัง สู่ สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์

 

กุตต์มานน์ เป็นผู้ที่มีความเชื่อในพลังของกีฬาอย่างแรงกล้า เขาคิดว่าสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ และมั่นใจว่ากีฬาเป็นกระบวนการฟื้นฟูที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ทุพพลภาพเพื่อช่วยให้พวกเขาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย และความเคารพในตัวเอง ดังนั้นเขาจึงสนับสนุนให้ผู้ป่วยเล่นกีฬาควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์

 

แนวทางการรักษาของกุตต์มานน์ได้พัฒนาไปจากการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพไปสู่การแข่งขันระหว่างวอร์ดที่ซึ่งทหารชายและหญิงประชันกันเอง และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงขั้นที่มีการแข่งขันอย่างจริงจังที่รู้จักกันในชื่อ สโต๊ค แมนเดวิลล์ เกมส์ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 1948 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 16 คนแบ่งเป็นชาย 14 คน หญิง 2 คน

 

กุตต์มานน์ เลือกกีฬายิงธนูมาใช้ในการแข่งขันเนื่องจากในทางปฏิบัติแล้วนี่เป็นกีฬาที่ใช้เพียงร่างกายส่วนบน แต่ก็เป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ชนิดที่คนอัมพาตครึ่งล่างหากฝึกจนชำนาญก็สามารถลงแข่งกับคนปกติได้อย่างเท่าเทียม

 

ขณะเดียวกันเขายังมองการณ์ไกลไปยังอนาคตของกีฬาวีลแชร์ หลังจากวางแผนจัด สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ ขนานไปกับ โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงลอนดอน ในเวลาเดียวกัน และใน 4 ปีต่อมา กุตต์มานน์ ขยายขอบเขตของ สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ ให้เป็นที่รู้จักและมีความเป็นสากลมากขึ้นเมื่อมีการเชิญนักกีฬาจากเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมการแข่งขันที่มีทั้งยิงธนู, เทเบิลเทนนิส, ปาเป้า และสนุกเกอร์

 

 

พาราลิมปิก เกมส์ สมัยแรก

 

สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสร้างความประทับใจให้กับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิก(IOC) และประชาคมนานาชาติอย่างมาก ซึ่งทำให้กุตต์มานน์ได้รับรางวัล เฟิร์นลีย์ คัพ ที่มอบให้กับผู้อุทิศตนอย่างโดดเด่นตามอุดมคติของโอลิมปิก

 

นับตั้งแต่เริ่มจัดแข่งครั้งแรกในปี 1948 สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เกมส์ ได้จัดแข่งไปอีก 7 ครั้งจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และในปี 1960 ก็เป็นก้าวสำคัญทั้งสำหรับตัวกุตต์มานน์และรายการนี้ เมื่อออกมาจัดแข่งนอก สโต๊ค แมนเดอวิลล์ เป็นครั้งแรก โดยย้ายไปแข่งที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี หลังจบโอลิมปิก เกมส์ ในปีดังกล่าว ซึ่งแม้ยังคงใช้ชื่อเดิม แต่ได้รับการยกให้เป็น พาราลิมปิก เกมส์ สมัยแรกอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเพียงผู้พิการทางกระดูกสันหลังเข้าร่วมการแข่งเท่านั้น

 

สำหรับพาราลิมปิกสมัยแรกที่กรุงโรม มีนักกีฬา 400 คนจาก 23 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งอิตาลีเจ้าภาพครองเจ้าเหรียญทอง ขณะเดียวกันถึงในแง่การแข่งขันจะประสบความสำเร็จ แต่ในแง่การจัดการพบปัญหามากมาย อย่างเช่น หมู่บ้านนักกีฬาไม่ได้รองรับผู้ใช้วีลแชร์อย่างสมบูรณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพต้องเข้ามาช่วยอุ้มนักกีฬาขึ้นลงบันได แต่หลังจากนั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันเริ่มปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักกีฬาเพื่อให้พาราลิมปิกเติบโตยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย และเพิ่มกลุ่มผู้พิการเข้าสู่การแข่งขันอย่างต่อเนื่องจนมาเป็น พาราลิมปิก เกมส์ อย่างไนปัจจุบัน


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic