stadium

ทำความรู้จัก บอคเซีย, โกลบอล และฟุตบอลคนตาบอดในพาราลิมปิก

20 สิงหาคม 2564

พาราลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 มีการแข่งขันทั้งหมด 540 รายการจาก 22 ชนิดกีฬา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกีฬาที่เรารู้จักกันดีไม่ต่างอะไรกับ โอลิมปิก เกมส์ ต่างกันแค่เพียงรายละเอียด อย่างการจำแนกหมวดหมู่ของนักกีฬา และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขัน

 

แต่มีกีฬาอยู่ 3 ชนิดที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก นั่นก็คือบอคเซีย, โกลบอล และฟุตบอลคนตาบอด ซึ่ง 2 อย่างแรกมีการแข่งขันเฉพาะในกีฬาคนพิการเท่านั้น ส่วนอย่างหลังเป็นกีฬาไม่กี่ประเภทที่มีนักกีฬาปกติเป็นส่วนหนึ่งในทีม

 

กีฬาทั้ง 3 ชนิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร และมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

บอคเซีย

 

บอคเซียนั้นมีรากฐานมาจากประเทศกรีซ ซึ่งมีเกมที่ผู้เล่นขว้างหินก้อนใหญ่ไปที่หินเป้าหมาย นอกจากนี้ในการขุดค้นเพื่อสำรวจสุสานในประเทศอียิปต์ยังพบวัตถุและภาพแกะสลักบนฝาผนังที่สื่อถึงกีฬาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งคาดว่ามีขึ้นตั้งแต่ราว 5,200 ปีก่อนคริสตกาล ขณะเดียวกันกีฬาชนิดนี้ยังเล่นกันทั่วไปตามตลาดและท้องถนนในยุคกลาง โดยคำว่า บอคเซีย มาจากภาษาอิตาลีที่แปลว่า ชาม

 

แรกเริ่มนั้นกีฬาบอคเซียมีขึ้นสำหรับนักกีฬาผู้พิการทางสมอง แต่ปัจจุบันรวมไปถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหว โดยได้รับการบรรจุแข่งในพาราลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1984 ที่นิวยอร์ก

 

กีฬาชนิดนี้จะเล่นกันบนพื้นที่ราบเรียบ ซึ่งผู้เล่นจะต้องโยนหรือกลิ้งลูกบอลสีให้เข้าใกล้ลูกบอลสีขาวหรือ"แจ็ค"ให้มากที่สุด ฝั่งไหนที่มีลูกบอลใกล้ลูกแจ็คมากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ คล้ายกับเปตองของฝรั่งเศสและโบวล์ของอังกฤษ โดยประเภทเดี่ยวและคู่จะมีการโยน 4 รอบ ส่วนประเภททีม 6 รอบ นักกีฬาแต่ละคนจะได้โยน 6 ครั้งต่อรอบไม่ว่าจะเป็นประเภทเดี่ยว, คู่ หรือทีม หลังจบการแข่งแต่ละรอบจะมีการคิดคะแนนโดยฝั่งที่มีลูกบอลเข้าใกล้ลูกแจ็คมากที่สุดจะได้ 1 คะแนน และจะได้บวกแต้มเพิ่มสำหรับทุกลูกที่เข้าใกล้ลูกแจ็คมากกว่าคู่แข่ง

 

สำหรับนักกีฬาบอคเซียจำแนกออกเป็น 4 คลาส BC1-4 โดยคลาส BC3 ซึ่งเป็นผู้พิการทางระบบประสาทอย่างหนักจนส่งผลต่อแขนขาทั้งหมด สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือเช่นทางลาดหรือตัวชี้เพื่อส่งลูกบอลได้ นอกจากนั้นคลาส BC1, BC3 และ BC4 สามารถมีผู้ช่วยได้ 1 คนเป็นส่วนเสริมให้กับนักกีฬา อย่างเช่น BC3 ที่ต้องใช้ทางลาด ผู้ช่วยสามารถรับคำแนะนำจากนักกีฬาในเรื่องการปรับความสูงและตำแหน่งของทางลาด แต่ไม่สามารถหันไปดูทิศทางด้วยตัวเองได้

 

 

โกลบอล

 

โกลบอลคือหนึ่งในกีฬาคนพิการที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีจุดเริ่มจาก ฮานส์ ลอเรนเซ่น ชาวออสเตรีย และ เซปป์ ไรน์เดิล ชาวเยอรมัน ที่คิดค้นกีฬานี้ขึ้นมาในปี 1946 เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายทหารผ่านศึกที่สูญเสียการมองเห็นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่ากับว่า โกลบอลอายุครบ 75 ปีในปีนี้พอดี ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จในฐานะกีฬาสาธิตเมื่อปี 1972 ที่ไฮเดลแบร์ก โกลบอลก็ได้รับการบรรจุในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งต่อมาที่เมืองโตรอนโตปี 1976 และกลายเป็นกีฬาประเภททีมเพื่อผู้บกพร่องทางการมองเห็นชนิดแรก

 

หลักการพื้นฐานของโกลบอลคือการทำประตูด้วยการขว้างบอลหนัก 1.25 กก. และป้องกันการทำประตูจากฝ่ายตรงข้าม แต่ละทีมมีผู้เล่นสามคนในสนามที่สามารถใช้ร่างกายทุกส่วนเพื่อหยุดลูกบอล รวมถึงการไถลตัวลงไปกับพื้นที่ไม่มีกันกระแทกเพื่อไปยังตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าอื่นใดนอกจากที่ปิดตา ทำให้โกลบอลเป็นกีฬาที่ทรหดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนลูกบอลจะมีกระดิ่งหลายอันบรรจุอยู่ข้างใน เพื่อให้ผู้เล่นรู้ตำแหน่งจากการฟังเสียง ขณะที่ผู้ชมต้องเงียบที่สุดเพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิ

 

ทั้งนี้ ผู้เล่นต้องสวมที่ปิดตาทุกคนเพื่อให้มีความเท่าเทียมกัน เพราะนักกีฬาบางคนไม่ได้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างเช่นคลาส B2 และ B3 อย่างไรก็ตามสนามโกลบอลมีการตีเส้นนูนเอาไว้เพื่อให้ผู้เล่นเช็กตำแหน่งของตัวเองได้ทุกเวลา

 

 

ฟุตบอลคนตาบอด (5-a-side)

 

ฟุตบอลคนตาบอดคือ 1 ใน 3 ชนิดกีฬาพาราลิมปิกที่มีขึ้นสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ และเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถือว่ายังใหม่กับพาราลิมปิกเพราะบรรจุแข่งครั้งแรกในปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ โดยทีมชาติบราซิลคว้าเหรียญทองได้ทุกสมัย

 

กติกาการแข่งขันอยู่ภายใต้กฎของฟุตบอลไฟฟ์อะไซด์ ที่มีผู้เล่นฝั่งละ 5 คน โดยมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับนักกีฬาอย่างเช่นไม่มีการล้ำหน้า หรือพื้นที่สำหรับผู้รักษาประตูแคบลงกว่าเดิม ผู้เล่นต้องสวมที่ปิดตาระหว่างแข่งเพื่อให้มีวิสัยทัศน์เท่ากัน ยกเว้นผู้รักษาประตูที่ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งตำแหน่งนี้สามารถใช้นักกีฬาที่มีร่างกายปกติลงเล่นได้ ส่วนลูกบอลจะมีกระดิ่งบรรจุอยู่ข้างในเหมือนโกลบอลเพื่อให้ผู้เล่นจับตำแหน่งได้ และหากใครได้ครอบครองลูกต้องพูดคำว่า "วอย"เพื่อให้คนอื่น ๆ รู้ตำแหน่ง  

 

นอกจากนั้นแต่ละทีมจะมีคนทำหน้าที่ชี้เป้า ซึ่งจะยืนหลังประตูคู่แข่งเพื่อคอยให้สัญญาณทั้งการตะโกนบอกหรือใช้อุปกรณ์เคาะเสาประตูเพื่อระบุตำแหน่งให้นักเตะในการยิงจุดโทษนั่นเอง


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic