stadium

ทำความรู้จักกีฬายิมนาสติกในโอลิมปิกเกมส์

11 พฤษภาคม 2567

หาได้ยากยิ่งสำหรับกีฬาที่จะมีทั้งความพลิ้วไหว และแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้ได้รวมเอาไว้ในกีฬาที่เรียกว่า "ยิมนาสติก" และในโอลิมปิก ปี ค.ศ. 2024 นี้ การแข่งขันที่ชวนให้หลงใหลจนยากจะละสายตา และเร้าใจในจังหวะลีลาทุกย่างก้าว กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

 

ยิมนาสติก เป็นกีฬาที่มีการแข่งขันมาอย่างยาวนาน และสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ก่อนจะถูกงดไปในปี 339 ก่อนคริสตกาล จนกระทั่งในการแข่งโอลิมปิกสมัยใหม่ ได้มีการนำกีฬานี้กลับมาบรรจุอีกครั้งในปี ค.ศ. 1896

 

ยิมนาสติกในโอลิมปิกนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

 

Artistic Gymnastics หรือยิมนาสติกสากล, ยิมนาสติกศิลป์ ซึ่งมีการเล่นกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ม้ากระโดด ม้าหู บาร์ต่างระดับ บาร์คู่ บาร์เดี่ยว ห่วง คานทรงตัว รวมทั้งฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ โดยจะตัดสินให้คะแนนจากความสมบูรณ์แบบของท่วงท่า

 

Rhythmic Gymnastics หรือ ยิมนาสติกลีลา ที่จัดแข่งเฉพาะในประเภทหญิงเท่านั้น และเพิ่งมีการจัดการแข่งในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1984 ในการแข่งขันยิมนาสติกประเภทนี้ จะเน้นการเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี เพื่อโชว์ทักษะความอ่อนตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว รวมไปถึงการแสดงท่วงท่าลีลาอันพลิ้วไหว และมีการใช้อุปกรณ์ 5 ประเภท ได้แก่ ริบบิน,คทา, ห่วง, เชือก และลูกบอล

 

แทรมโพลีน (Trampoline) เรียกว่าเป็นหนึ่งในกีฬายิมนาสติกที่น่าตื่นเต้นที่สุดรายการหนึ่งเลยก็ว่าได้ และเพิ่งจะมีการจัดแข่งขันขึ้นบนเวทีโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่นครซิดนีย์ โดยผู้เข้าแข่งขันจะทำการกระโดดบนเตียงผ้าใบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4.28 ม. x 2.14 ม. ที่ทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ และถูกยึดไว้กับโครงเหล็กสปริงเพื่อให้เกิดแรงตึงที่จะดีดให้ผู้เล่นลอยสูงขึ้นไปในอากาศ โดยการให้คะแนนจะวัดจากความยากของท่วงท่า และความสมบูรณ์แบบในการกระโดด

 

 

อาร์ทิสติก ยิมนาสติก พุ่งทะยานสู่เหรียญทอง

 

การแข่งขัน ยิมนาสติกสากล ในอดีต ญี่ปุ่นคือตัวเต็งที่กวาดเหรียญทองจากการแข่งขันในโอลิมปิกแทบทุกครั้ง จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1972 การแข่งขันโอลิมปิกที่จัดขึ้น ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ชาวแดนอาทิตย์อุทัยได้เผชิญหน้ากับคู่แข่งสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ที่พัฒนานักกีฬายิมนาสติกทั้งชายหญิงขึ้นมาจนมีฝีมือทัดเทียมกัน

 

มาถึงการแข่งโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2000 จากการแข่งยิมนาสติกสากลประเภทชาย 6 รายการ นักกีฬาชาวจีนสามารถกวาดเหรียญทองไปได้กว่า 3 รายการ ในขณะที่ญี่ปุ่นได้ไปเพียงรายการเดียวเท่านั้น และในการแข่งของฝั่งยิมนาสติกสากลประเภทหญิง ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 นักยิมนาสติกชาวสหรัฐฯ Simone Biles ได้กวาดเหรียญทองไปถึง 4 เหรียญ ส่วน โตเกียว 2020 จีนครองเจ้าเหรียญทองจากการคว้าไป 4 เหรียญ ขณะที่ญี่ปุ่นเจ้าภาพได่ไปเพียง 2 เหรียญทองเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่า ยิมนาสติกไม่ใช่กีฬาที่ผูกขาดชัยชนะโดยญี่ปุ่นอีกต่อไป และมีหลายประเทศกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อร่วมชิงชัยในศึกโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

 

 

ริธมิค ยิมนาสติก จดจ่อ สอดประสาน และควบคุมทุกอย่างให้อยู่

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คือใจความสำคัญของการแข่งขัน ยิมนาสติกลีลา เพราะภายใต้ความสวยงาม และลีลาที่พลิ้วไหว แต่ทรงพลัง และด้วยกติกามากมายทำให้รูปแบบการแข่งไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้แข่ง ต่างก็มีเงื่อนไขของตัวเองที่แตกต่างกันไป ทำให้นักกีฬาที่ลงแข่งไม่เพียงแต่จะต้องมีสมาธิกับอุปกรณ์ในมือ และฝึกฝนทักษะกับลีลาร่วมกับอุปกรณ์ชิ้นนั้นได้อย่างลงตัวเท่านั้น แต่จะต้องรู้ว่ากติกาในการแข่งประเภทนั้นเป็นอย่างไร

 

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการแข่งยิมนาสติกลีลา บนเวทีโอลิมปิก ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตัวแทนจากโซนยุโรปที่สามารถคว้าเหรียญทองในรายการนี้อยู่บ่อยครั้ง

 

 

แทรมโพลีน การผสมผสานระหว่างความเป็นกีฬาและความแม่นยำ

 

ถือเป็นของใหม่ในเวทีโอลิมปิก และหลายคนอาจมองว่า แทรมโพลีน ดูไม่เหมือนการแข่งกีฬาสักเท่าไหร่ แต่ภาพการกระโดดขึ้นไปกลางอากาศเพื่อโชว์ทักษะลีลาต่างๆ และกลับลงมาในท่าเตรียมพร้อมกระโดดครั้งใหม่อีกครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นประสบการณ์ ชั่วโมงบินในการฝึก และความไม่กลัวต่อข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับความเป็นนักกีฬาในการเล่นยิมนาสติกประเภทนี้

 

ด้วยความใหม่ และความยากนี้เอง ทำให้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถคว้าชัยในการแข่งขันประเภทนี้ได้ และในการแข่งขันครั้งที่ผ่านๆ มา มีเพียงจีนกับแคนาดาเท่านั้น ที่สลับกันได้เหรียญทองและเหรียญเงินในหลายรายการ และยังยากที่จะหาชาติใดมาเทียบได้

 

 

การกลับมาอีกครั้งของราชินียิมนาสติก

 

ปัจจุบันชื่อของ ซิโมน ไบลส์ คือนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดของกีฬาชนิดนี้ จากผลงาน 4 เหรียญทองโอลิมปิก และ 23 เหรียญทองจากศึกชิงแชมป์โลก ซึ่งความจริงแล้วเธอเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่โตเกียว 2020 แต่เจอปัญหาด้านสภาพจิตใจจนทำให้ได้มาเพียง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง อย่างไรก็ตาม ในปารีส 2024 เธอกลับมาสู่แถวหน้าของวงการอีกครั้ง จากดีกรีแชมป์โลกหนล่าสุด ซึ่งคงต้องมาติดตามดูกันว่า ไบลส์ จะทวงบัลลังก์ของตัวเองคืนกลับมาได้หรือไม่ 


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic