stadium

รวมยอดมนุษย์ในโตเกียว 2020

14 สิงหาคม 2564

สำหรับ โอลิมปิก เกมส์ ที่เรียกว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเรียกนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันว่าเป็นยอดมนุษย์ เพราะการที่จะคว้าโควต้าเข้าร่วมการแข่งขันนั้น คุณต้องก้าวข้ามนักกีฬาฝีมือดีมากมายจากทั่วโลก

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงช่วงของการแข่งขัน นักกีฬาคนใดที่คว้าเหรียญทองได้สำเร็จเขาหรือเธอผู้นั้นก็ถือว่าเป็นที่สุดของที่สุดในกีฬาชนิดนั้น ๆ อย่างแท้จริง

 

แล้วใน โอลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 ที่เพิ่งจบลงไปใครคือสุดยอดนักกีฬาแห่งมนุษยชาติ ติดตามได้ที่นี่

 

 

คว้าทองมากที่สุด : เคเล็บ เดรสเซล (สหรัฐฯ) และ เอ็มม่า แม็คคีออน (ออสเตรเลีย)

 

หลังได้รับการคาดหมายตั้งแต่ก่อนเริ่มการแข่งขันแล้วว่า เขาคือคนที่จะมาสานต่อความสำเร็จของ ไมเคิล เฟลป์ส ตำนานนักว่ายน้ำชาวอเมริกัน และเมื่อถึงเวลาของการแข่งขัน เคเล็บ เดรสเซล ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า สิ่งที่พูดกันนั้นไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเมื่อฉลามหนุ่มวัย 25 ปี เก็บ 5 เหรียญทองจาก 6 รายการที่ลงแข่งขันโดยเป็นประเภทบุคคล 3 รายการคือ ฟรีสไตล์ 50 ม., ฟรีสไตล์ 100 ม. และผีเสื้อ 100 ม. บวกกับผลัดอีก 2 รายการคือ ฟรีสไตล์ 4x100 ม. และผลัดผสม 4x100 ม. ส่วนรายการเดียวที่พลาดคือผลัดผสม 4x100 ม. ทีมผสม ทำให้ยอดรวมเหรียญโอลิมปิกของเดรสเซลอยู่ที่ 7 เหรียญทอง กลายเป็นนักว่ายน้ำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโอลิมปิกของสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 6 ต่อจาก ไมเคิล เฟลป์ส, มาร์ค สปิตซ์, เจนนี่ ธอมป์สัน, แมตต์ บิออนดี้ และเคธี่ เลเด็คกี้ ที่ได้ 7 เหรียญทองเท่ากันแต่เลเด็คกี้มีจำนวนเหรียญรวมมากกว่า นอกจากนั้นเดรสเซลยังทำลายสถิติโลกไป 2 รายการ และสถิติโอลิมปิก 2 รายการอีกด้วย

 

 

ส่วนนักกีฬาหญิงที่คว้าเหรียญทองมากที่สุดและเป็นนักกีฬาที่คว้าเหรียญมากที่สุดในโตเกียว 2020 คือ เอ็มม่า แม็คคีออน เงือกสาวออสเตรเลีย ที่ได้ไป 4 เหรียญทองจาก ฟรีสไตล์ 50 ม., ฟรีสไตล์ 100 ม., ผลัดฟรีสไตล์ 4x100 ม. และผลัดผสม 4x100 ม. บวกกับอีก 3 เหรียญทองแดงจาก ผีเสื้อ 100 ม., ผลัดฟรีสไตล์ 4x200 ม. และ ผลัดผสม 4x100 ม. ทีมผสม ทำให้เธอมียอดรวมเหรียญโอลิมปิกตลอดอาชีพอยู่ที่ 11 เหรียญจาก 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงินและ 4 เหรียญทองแดง กลายเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโอลิมปิกของออสเตรเลีย แทนที่ เอียน ธอร์ป ตำนานนักว่ายน้ำที่ทำไป 9 เหรียญจาก 5 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง นอกจากนั้นเธอยังทำสถิติเป็นนักกีฬาหญิงที่คว้าเหรียญมากที่สุดในการลงแข่งสมัยเดียวเทียบเท่ากับ มาริย่า โกโรคอฟสกาย่า ตำนานนักยิมนาสติกสหภาพโซเวียต ที่เคยคว้า 7 เหรียญจากโอลิมปิกปี 1952 อีกด้วย

 

 

เร็วที่สุด : เอเลน ธอมป์สัน-เฮราห์ (จาเมกา)

 

แม้จะมีดีกรีเป็นแชมป์เก่าทั้ง 100 ม. และ 200 ม. แต่ เอเลน ธอมป์สัน-เฮราห์ มาที่ โตเกียว 2020 ไม่ใช่ในฐานะเต็งหนึ่ง แต่เป็น เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ รุ่นพี่ร่วมชาติที่ครองสถิติเร็วที่สุดในปีนี้ และเร็วที่สุดอันดับ 2 ตลอดกาลที่ได้รับการคาดหมายว่าจะคว้าเหรียญทอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงปืนสัญญาณดังขึ้น ธอมป์สัน-เฮราห์ ก็แสดงให้เห็นว่าการชิงชัยระยะสั้นฝ่ายหญิงยังเป็นยุคของเธอเมื่อกวาดเหรียญทองทั้งระยะ 100 เมตร และ 200 เมตรป้องกันแชมป์ได้สำเร็จทั้งสองรายการ กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าเหรียญทอง 100 ม. และ 200 ม. ในโอลิมปิก 2 สมัยติด นอกจากนั้นในประเภท 100 ม. เธอยังเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 10.61 วิ. ทำลายสถิติที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ตำนานชาวอเมริกัน ทำเอาไว้ 10.62 วิ. เมื่อ 33 ปีที่แล้วลงได้สำเร็จ และทำให้ ธอมป์สัน-เฮราห์ กลายเป็นสตรีที่วิ่งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เป็นรองเพียง กริฟฟิธ-จอยเนอร์ เจ้าของสถิติโลก 10.49 วิ. เพียงคนเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันเธอยังร่วมกับเฟรเซอร์-ไพรซ์ คว้าเหรียญทองในผลัด 4x100 ม.อีกด้วย

 

 

ไกลที่สุด : ยูลิมาร์ โรยาส (เวเนซุเอลา)

 

หนึ่งในสถิติโลกที่อยู่มายาวนานคือเขย่งก้าวกระโดดหญิงที่ อิเนสซ่า คราเว็ตส์ ตำนานชาวยูเครนทำเอาไว้ 15.50 ม. ตั้งแต่ปี 1995 หรือ 26 ปีที่แล้ว ขณะที่สถิติโอลิมปิกเดิมเป็นของ ฟร็องซัวส์ เอ็มบังโก ของ แคเมอรูน ที่ทำเอาไว้ 15.39 ม. เมื่อปี 2008 อย่างไรก็ตาม ในโตเกียว 2020 ยูลิมาร์ โรยาส เจ้าของเหรียญเงิน ริโอ เกมส์ และ แชมป์โลก 2 สมัย จาก เวเนซุเอลา ไล่ทุบทั้ง 2 สถิติได้สำเร็จในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โดยเริ่มจากสถิติของ เอ็มบังโก ตั้งแต่การกระโดดครั้งแรกซึ่งเธอทำได้ 15.41 เมตร ก่อนจะปิดท้ายด้วยการทำลายสถิติโลกในการกระโดดครั้งสุดท้าย ที่โรยาสทำระยะถึง 15.67 เมตร

 

 

อึดที่สุด : ซิฟาน ฮัสซัน (เนเธอร์แลนด์)

 

หลังจากพกดีกรีแชมป์โลก 1,500 ม. และ 10,000 ม. ซิฟาน ฮัสซัน ขอท้าทายในสิ่งที่ยังไม่เคยมีมนุษย์คนใดเคยทำได้มาก่อน นั่นคือการคว้าเหรียญทองทั้ง 2 รายการ รวมทั้งประเภท 5,000 เมตร อย่างไรก็ตาม แม้จะน่าเสียดายที่เธอได้เหรียญทองแดงในประเภท 1,500 เมตร แต่ยังคว้า 2 เหรียญทองจากอีก 2 รายการ ซึ่งเท่ากับว่านับตั้งแต่ลงแข่งรอบแรกถึงรอบชิงทั้ง 3 ประเภท เธอวิ่งไปทั้งหมดเป็นระยะทาง 24,500 ม. ในระยะเวลา 9 วัน และกลายเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้เหรียญทั้ง 3 ประเภทในสมัยเดียว นอกจากนั้นภาพที่ทุกคนยังจำได้ติดตาคือในรอบคัดเลือกของ 1,500 ม. ที่เธอถูกชนล้มจนรั้งท้าย แต่กลับไล่แซงทุกคนจนเข้าเส้นชัยคนแรกได้อย่างเหลือเชื่อ  

 

 

แข็งแรงที่สุด : ลาช่า ทาลาคัดเซ่ (จอร์เจีย)

 

ไม่บ่อยครั้งนักที่การแข่งขันยกน้ำหนักผู้ชนะจะทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น แต่ก็เกิดขึ้นแล้วกับโตเกียว 2020 ในรุ่นน้ำหนักมากกว่า 109 กิโลกรัม เมื่อ ลาช่า ทาลาคัดเซ่ ยกท่าสแนตช์ได้ 223 กิโลกรัม ทำลายสถิติโลกของตัวเองที่ทำไว้ 222 กิโลกรัมในศึกชิงแชมป์ยุโรปปีนี้ ตามด้วยการยกท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 265 กิโลกรัม ทุบสถิติโลกที่ตัวเองทำไว้อีกรายการ ทำให้มีน้ำหนักรวม 488 กิโลกรัมเป็นสถิติโลกเช่นกัน นอกจากนั้นน้ำหนักรวมที่เขาทำได้ยังทิ้งห่าง อาลี ดาวูดี้ เจ้าของเหรียญเงินจาก อิหร่านถึง 47 กิโลกรัม ส่วนเหรียญทองแดงคือ แมน อาซาด จาก ซีเรีย น้ำหนักรวม 424 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นบนโลกใบนี้คงไม่มีมนุษย์คนใดอีกแล้วที่จะแข็งแรงไปกว่าทาลาคัดเซ่

 

 

สมบูรณ์แบบที่สุด : ฉวนหงฉาน (จีน)

 

ในการแข่งขันที่ตัดสินโดยการให้คะแนนท่วงท่าของกรรมการอย่างยิมนาสติก, กระโดดน้ำ หรือระบำใต้น้ำนั้น การจะได้คะแนนเต็มคุณต้องทำทุกอย่างออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างความประทับให้กับกรรมการทุกคน ซึ่งต่างคนต่างมีเกณฑ์ตัดสินส่วนตัวแตกต่างกันออกไป แต่ ฉวนหงฉาน นักกระโดดน้ำจีนวัยเพียง 14 ปี กลับทำ perfect 10 หรือเรียกคะแนนเต็ม 10  จากกรรมการทั้ง 7 คนได้ถึง 2 ครั้งจากการกระโดด 5 รอบ คว้าเหรียญทองไปครองด้วยคะแนนรวม 466.20 ทำลายสถิติโอลิมปิก 447.70 คะแนนที่ เฉิน รัวหลิน ตำนานรุ่นพี่ร่วมชาติทำเอาไว้ใน ปักกิ่ง เกมส์ปี 2008 ได้อย่างน่าทึ่ง

 

 

ใจสู้ที่สุด : ซิโมน ไบลส์ (สหรัฐฯ)

 

สำหรับนักกีฬาแล้ว ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ยิ่งเจอกับความคาดหวังและแรงกดดันมากขึ้นเท่านั้น และหากพวกเขาไม่สามารถแบกรับมันได้ก็มีโอกาสพังทลายลงได้ไม่ยาก เหมือนกับที่ ซิโมน ไบลส์ ประสบกับตัวเองแบบเต็ม ๆ จนจิตใจไม่พร้อมจะลงแข่งขันทั้งที่เป็นตัวเต็งยิมนาสติกศิลป์ทุกรายการ ซึ่งเธอยอมรับว่าปัญหาด้านจิตใจทำให้ความคิดกับร่างกายของเธอไม่สัมพันธ์กัน ไม่สามารถทำทุกอย่างออกมาได้เหมือนเคย จึงตัดสินใจถอนตัวเกือบทุกรายการโดยได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้หายขาด แต่ไบลส์ตัดสินใจลงแข่งคานทรงตัวซึ่งเป็นรายการสุดท้าย และคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ ซึ่งเธอยอมรับว่านี่เป็นเหรียญที่มีความหมายกับเธอมากกว่าเหรียญทองที่เธอได้มาเมื่อ 5 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ  


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic