stadium

ที่สุดของ โตเกียว 2020

11 สิงหาคม 2564

โอลิมปิก เกมส์ ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 หรือ โตเกียว 2020 ที่เพิ่งปิดฉากลงไปอย่างเป็นทางการ จัดว่าเป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้คน นับตั้งแต่ที่ต้องเลื่อนการแข่งขันบนความไม่แน่นอน และเสียงคัดค้านจนถึงวันที่มีพิธีเปิดการแข่งขัน

 

อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ สิ่งที่ผู้คนพูดถึงในโอลิมปิกหนนี้ไม่ใช่คำถามที่ว่าควรจัดหรือไม่ แต่กลายเป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน

 

โตเกียว 2020 มีอะไรน่าทึ่งให้พูดถึงมากมาย ทั้งความสุดยอดของนักกีฬา, น้ำใจนักกีฬา และอารมณ์ร่วมที่เข้ากับคำขวัญของโอลิมปิกยุคใหม่คือ "เร็วกว่า, สูงกว่า, แข็งแรงกว่า - ไปด้วยกัน"

 

ส่วนจะมีเรื่องใดเป็นที่สุดบ้างนั้น ติดตามได้ที่นี่

 

 

ตื่นเต้นที่สุด : นาโอมิ โอซากะ จุดกระถางคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขัน

 

การจุดไฟในกระถางคบเพลิงคือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของโอลิมปิกแต่ละสมัย และในโตเกียว 2020 ก็เช่นกัน แต่ความตื่นเต้นในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงวิธีการจุดไฟที่หวือหวา หรือใช้เทคนิคตระการตา แต่มาจากบริบทรอบด้านไล่ตั้งแต่การถูกเลื่อนแข่งออกมาหนึ่งปี พร้อมกับความไม่แน่นอนว่าจะได้จัดแข่งหรือไม่ รวมทั้งการที่ต้องจัดแข่งแบบไม่มีคนดูในสนาม

 

แต่เมื่อ นาโอมิ โอซากะ ยอดนักเทนนิสหญิงชาวญี่ปุ่นนำไฟโอลิมปิกไปจุดในกระถางคบเพลิง นาทีแห่งประวัติศาสตร์นั้นก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนจิตวิญญาณมนุษย์ที่สามารถปรับตัวเมื่อยามต้องเผชิญกับความทุกข์ยากต่าง ๆ นานา พร้อมกับทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า โอลิมปิก เกมส์ 2020 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

 

 

ประทับใจที่สุด : การแชร์เหรียญทองในกีฬากระโดดสูงชาย

 

นี่คือเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโตเกียว 2020 เมื่อ มูตาซ บาร์ชิม ของ กาตาร์ และ จานมาร์โก ตัมเบรี่ ของ อิตาลี เลือกที่ครองเหรียญทองร่วมกันมากกว่าที่จะจัมพ์ออฟเพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียว โดยทั้งสองราย รวมถึง มักซิม เนดาเซเคา จาก เบลารุส ต่างกระโดดผ่านความสูง 2.37 ม. แต่เมื่อขยับคานไปที่ความสูง 2.39 ม. ซึ่งเป็นสถิติโอลิมปิกนั้น ไม่มีใครสามารถกระโดดผ่านได้สำเร็จ

 

ดังนั้นแทนที่จะขอจัมพ์ออฟเพื่อหาผู้ชนะตามปกติ บาร์ชิมกลับถามเจ้าหน้าที่ว่า "เรามี 2 เหรียญทองได้หรือไม่" และเมื่อเจ้าหน้าที่ตอบว่าเป็นไปได้ ทั้งบาร์ชิมและตัมเบรี่หันไปมองหน้ากันโดยไม่ได้เอ่ยคำพูดใด ๆ ก่อนที่ตัมเบรี่จะกระโดดสวมกอดบาร์ชิมอย่างมีความสุขเมื่อได้รู้ว่าตัวเขากับเพื่อนสนิทได้ครองแชมป์ร่วมกัน ส่วน เนดาเซเคา ได้เหรียญทองแดง เมื่อนับการกระโดดพลาดย้อนหลัง

 

 

เซอร์ไพรส์ที่สุด : อิตาลีกับการกวาดเหรียญทองในกีฬากรีฑา

 

การคว้าไปทั้งหมดถึง 40 เหรียญในโอลิมปิกหนนี้ ถือเป็นครั้งที่อิตาลีประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยได้เหรียญรวมมากกว่าสถิติสูงสุดเดิมที่ทำเอาไว้ใน แอลเอ 1932 และ โรม 1960 ถึง 4 เหรียญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว้า 3 เหรียญทองแบบช็อกโลกในการแข่งขันกรีฑา

 

เหรียญแรกที่พูดถึงไปแล้วข้างต้นคือ จานคาร์โล ตัมเบรี่ ที่ได้จากกระโดดสูง แต่ให้หลังจากที่เขาเฉลิมฉลองได้ไม่นาน เรียกว่ายังไม่ทันออกไปจากสนามด้วยซ้ำ ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาค็อบส์ เพื่อนร่วมชาติ ก็มาสร้างประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ใช่แค่การเป็นลมกรดอิตาลีคนแรกที่ผ่านเข้ารอบชิงฯ วิ่ง 100 ม. เท่านั้น แต่ยังเป็นคนแรกที่คว้าเหรียญทองประเภทนี้ได้สำเร็จ และคนที่รอรับเขาอยู่ที่เส้นชัยก็คือตัมเบรี่ที่มีธงชาติอิตาลีคลุมตัวอยู่นั่นเอง

 

ประวัติศาสตร์ยังไม่จบเท่านั้น เพราะเมื่อถึงการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 ม. ทีมไต้ฝุ่นอิตาลีก็ทำให้โลกตกตะลึงอีกหน เมื่อคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรก ซึ่งต้องชม ฟิลิปโป้ ตอร์ตู ไม้สุดท้ายของทีมที่สับแบบสุดชีวิตจนแซงสหราชอาณาจักรเข้าเส้นชัยก่อนด้วยเวลาเชือดเฉือนกันเพียงเสี้ยววินาที ขณะเดียวกันพวกเขายังมาได้อีก 2 เหรียญทองจากเดินทน 20 กม. ทั้งชายและหญิงจาก มัสซิโม่ สตาโน่ และ อันโตเนลล่า พัลมิซาโน่ ทำให้ อิตาลี คว้าไปถึง 5 เหรียญทองจากกรีฑา เป็นรองเพียงสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจของกีฬาชนิดนี้เพียง 2 เหรียญเท่านั้น

 

 

การทำลายสถิติที่ฮือฮาที่สุด : เอเลน ธอมป์สัน-เฮราห์ กับการทุบสถิติ 100 เมตรที่อยู่มานานกว่า 33 ปี

 

ในโอลิมปิกครั้งนี้ มีการทำลายสถิติโอลิมปิก และสถิติโลกเกิดขึ้นมากมาย แต่หนึ่งในนั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 ม.หญิง ของ เอเลน ธอมป์สัน-เฮราห์ ยอดลมกรดจาเมกา ที่นอกจากจะป้องกันแชมป์จาก ริโอ เกมส์ ได้สำเร็จแล้ว เธอยังเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 10.61 วิ. ทำลายสถิติที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ตำนานชาวอเมริกัน ทำเอาไว้ 10.62 วิ. เมื่อ 33 ปีที่แล้วลงได้สำเร็จ และทำให้ ธอมป์สัน-เฮราห์ กลายเป็นสตรีที่วิ่งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เป็นรองเพียง กริฟฟิธ-จอยเนอร์ เจ้าของสถิติโลกเพียงคนเดียวเท่านั้น

 

และที่ยิ่งไปกว่านั้น ธอมป์สัน-เฮราห์ ยังป้องกันแชมป์ประเภทวิ่ง 200 เมตรได้สำเร็จในอีก 3 วันต่อมาด้วยเวลา 21.53 วิ. ห่างจากสถิติโลกและสถิติโอลิมปิกของ กริฟฟิธ-จอยเนอร์ เพียง 0.19 วินาที แต่ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าเหรียญทอง 100 ม. และ 200 ม. ในโอลิมปิก 2 สมัยติดได้เป็นคนแรก ก่อนที่เธอจะช่วยให้จาเมกาคว้าเหรียญทองจากผลัด 4x100 ม. ได้อีกหนึ่งรายการ

 

 

กินใจที่สุด : น้ำใจนักกีฬาในโตเกียว 2020

 

กับคำขวัญใหม่ของโอลิมปิกที่ว่า stronger together ในโตเกียว 2020 มีสิ่งนี้ให้เห็นเต็มไปหมด และภาพที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นความประทับใจให้คนนับล้านทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันกระดานโต้คลื่นชายรอบชิงฯ ที่ คาโนอะ อิงาราชิ นักกีฬาลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน อาสาเป็นล่ามแปลคำถามภาษาอังกฤษจากนักข่าวให้กับ อิตาโล่ เฟเรร่า เจ้าของเหรียญทองชาวบราซิล ทั้งที่เพิ่งฟาดฟันแย่งชิงชัยชนะกันมา หรือในการแข่งขันวิ่ง 800 ม.ชายรอบรองฯ ที่ ไนเจล อามอส นักวิ่งชาวบอตสวานาชนกับ ไอเซห์ จิวเวตต์ จากสหรัฐฯ จนล้มลงไปทั้งคู่ หลุดออกจากกลุ่มนำ แต่แทนที่ทั้งคู่จะถือโทษโกรธเคืองอีกฝ่ายที่ทำให้หมดโอกาสเข้ารอบชิงฯ กลับให้ความช่วยเหลือประคับประคองกันและกันจนถึงเส้นชัย

 

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในการแข่งขันว่ายน้ำท่ากบ 200 ม.หญิง เมื่อ ทัตยาน่า โชนเมเกอร์ เงือกสาวชาวแอฟริกาใต้ คว้าเหรียญทองพร้อมทำลายสถิติโลก ซึ่งแม้แต่ตัวเธอยังไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่นานหลังจากนั้น นักว่ายน้ำเพื่อนร่วมชาติอย่าง คายลีน คอร์เบตต์ รวมทั้งคู่แข่งของเธออย่าง ลิลลี่ คิง และ แอนนี่ ลาเซอร์ จากสหรัฐ ที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ต่างว่ายเข้ามาหาโชนเมเกอร์พร้อมกับแสดงความยินดี และสวมกอดซึ่งกันและกันอย่างน่าประทับใจ


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic