10 สิงหาคม 2564
การแข่งขันมาราธอนชายที่โอลิมปิก 2020 จบลงไปแล้ว สุดยอดการแข่งขันที่ปิดฉากมหกรรมกีฬาแห่งชาติได้อย่างสวยงาม เกิดเรื่องราวขึ้นมากมาย และหนึ่งในเรื่องที่น่าติดตามคือนักมาราธอนเจ้าภาพ จากประเทศญี่ปุ่น “ซึกุรุ โอซาโกะ” เพราะมาราธอนครั้งนี้เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย ความทรงจำที่เขาและแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามคงไม่มีวันลืม
โอซาโกะในวัยเด็ก
ซึกุรุ โอซาโกะ (Suguru Osako) เกิดเมื่อวันที่ 23พฤษภาคม ค.ศ. 1991 ที่เมืองมาชิดะ ประเทศญี่ปุ่น เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลาย Saku Chosei จุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กหนุ่มธรรมดากลายเป็นคนที่ทั่วโลกจับตามอง เมื่อเข้าที่ 2 ในการแข่งขันชิบะครอสคันทรี่ระดับเยาวชน ส่งผลให้ติดทีมชาติเยาวชนกรีฑาไปแข่งขันที่ IAAF World Cross Country Championships 2010 จบอันดับ 32 ในปีเดียวกันโอซาโกะหันมาเน้นทางลู่มากขึ้น ระยะทำการที่ 10,000 เมตร เขาวิ่งได้ 28:35.75 นาที และ 29:40.14 นาที ได้อันดับที่ 8 ที่ World Junior Championships 2010 ประเทศแคนาดา
เมื่อจบมัธยม ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งยังคงสานต่อความฝันกรีฑาด้วยการชนะ Ageo City Half Marathon ทำลายสถิติระยะฮาล์ฟมาราธอนในระดับเยาวชนญี่ปุ่นและของเอเชียพร้อมกันด้วยเวลา 1:01:47 ชั่วโมง ในปี 2011ติดทีมชาติไปแข่ง 10,000 เมตร ที่ Summer Universiade 2011 ที่ประเทศจีน ผงาดคว้าทองด้วยเวลา 28:42.83 นาที กลายเป็นนักกรีฑาญี่ปุ่นคนแรกที่ชนะรายการนั้นได้ต่อจาก ยาซึยุกิ วาตานาเบะ รุ่นพี่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1993 ต่อด้วยการเฉือนชนะ ยูกิ ซาโตะ คว้าแชมป์รายการ ฟูกุโอกะ ครอสคันทรี่ นานาชาติ 2012 (Fukuoka International Cross Country) ระยะ 10 กิโลเมตร ภายใน 30:27 นาที
ในช่วงที่กำลังเป็นขาขึ้น ฟอร์มสดร้อนแรง เขายังทุบสถิติลู่ทั้ง 3 ระยะของตัวเอง คือ 1,500 เมตร ที่ 3:42.68 นาที ระยะ 3,000 เมตร ที่ 7:54.68 นาที และ ระยะ 10,000 เมตร ที่ 27:56.94 นาที ความเร็วเฉลี่ยคือ 2:30 นาที/กิโลเมตร และทั้ง 3สถิติเกิดขึ้นในภายใน 5 เดือนเท่านั้น
เขากลายเป็นนักวิ่งตัวหลักให้มหาวิทยาลัยวาเซดะในการแข่งขันวิ่งผลัดประเพณี Hakone Ekiden ศึกวิ่งผลัดแห่งศักดิ์ศรีในระดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมมากๆ ในญี่ปุ่น เป็นเวทีที่นักวิ่งขาสั้นหลายคนแจ้งเกิดในวงการ และเป็นโอกาสที่จะถูกทาบทามจากทีมวิ่งชั้นนำเพื่อไปร่วมฝึกซ้อมกับทีมในฐานะนักวิ่งมืออาชีพ อาทิ ยูตะ ชิทาระ (เจ้าของสถิติมาราธอนชายของประเทศคนปัจจุบัน), ยูกิ ซาโตะ ฯลฯ
และ โอซาโกะ ไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอย เขาออกวิ่งตามเพซตัวเอง ใส่สุด ทิ้งห่างนักวิ่งคนอื่นในเลกเดียวกัน และมักเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก จนกลายเป็นที่จับตามองของสื่อและคนในวงการวิ่งทั่วประเทศ ก้าวขึ้นเป็นนักวิ่งแนวหน้า และติดทีมชาติชุดใหญ่ในที่สุด พร้อมกับฉายา OSK
พัฒนาการสู่การเป็นนักวิ่งแนวหน้าของโลก
แม้โอลิมปิก โตเกียว 2020 จะไม่ใช่โอลิมปิกแรกของ โอซาโกะ เขาเคยร่วมแข่งขันที่ ริโอ 2016ในการแข่งขันประเภทลู่ 5,000 เมตร ทำเวลา 13:31.45 นาที เข้าเป็นอันดับ 16 ของฮีท 2และ 10,000 เมตร ทำเวลา 27:51.94 นาที (อันดับที่ 17) แต่ว่าโอลิมปิกนี้กลับมีค่าและความหมายกับเขามากเกินบรรยาย
โอซาโกะ ในวัย 30 ปี มองภาพตัวเองไว้ว่าในฐานะนักวิ่งมาราธอน การได้ไปประชันในสนามโอลิมปิกนั้นคือความฝันสูงสุด เขาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายนั้น ทั้งเสียสละแรงกาย เวลา เงินทอง เวลาส่วนตัว และสิ่งอื่นที่อยากทำ ทุ่มหมดหน้าตัก
เมื่อโค้ช อัลแบร์โต ซาลาซาร์ (Alberto Salazar) แชมป์ นิวยอร์ค มาราธอน 3 สมัย ผู้คุมสอนทีมวิ่งระดับโลก Nike Oregon Project ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2001 ติดต่อโอซาโกะให้ไปร่วมฝึกซ้อมกับทีมที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอรีกอน สหรัฐอเมริกา โอซาโกะซึ่งยังเป็นนักศึกษารับคำเชิญ พร้อมจัดกระเป๋าเดินทางไปเก็บตัวซ้อมกับทีมทันที ซึ่งในทีมนั้นได้รวมดาวนักวิ่งระดับโลก ทั้ง โม ฟาร่าห์, กาเลน รัปป์, โยมิฟ คิเจลช่า, ซีฟาน ฮัสซัน, เครก เองเกิล และ แมทธิว เซนโทรวิตช์ จูเนียร์ เป็นต้น โค้ชอัลแบร์โตได้มอบหมายให้ พีท จูเลี่ยน ผู้ช่วยโค้ชช่วยดูแลโอซาโกะอย่างใกล้ชิด เพราะโอซาโกะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แถมเป็นนักวิ่งเอเชียคนแรกและคนเดียวของแคมป์นี้
แต่กลับเกิดกระแสถกเถียงในวงการว่าเหตุใด โค้ชอัลแบร์โต ถึงเลือกโอซาโกะ ทำไมถึงเป็นเขาทั้งที่มีนักวิ่งสถิติที่ดีกว่าอีกมากมายทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติ เขามีดีตรงไหนกัน? อีกประเด็นนึงคือการฝึกซ้อมกับ Nike Oregon Project ไม่เพียงแค่ฝึกซ้อมทั่วไป แต่มีการใช้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาร่วมด้วย เช่น การให้นักกีฬานอนในบ้านที่มีฟิลเตอร์ดูดเอาออกซิเจนออกเพื่อจำลองการอยู่บนพื้นที่สูงที่มีระดับออกซิเจนเจือจาง เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลให้ไตหลั่งฮอร์โมน erythropoietin (EPO) ที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เพิ่มสมรรถภาพในการจับออกซิเจน (VO2 Max) และเพิ่มความทนทาน เหนื่อยช้า เหมาะกับนักวิ่งทางไกล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขัดกับแนวทางการฝึกซ้อมกรีฑาของญี่ปุ่นที่เป็นแบบ Old School คือเน้นฝึกหนักเพื่อให้พัฒนา ทำให้หลายคนกลับแอนตี้โอซาโกะไปโดยปริยาย
โอซาโกะไม่เคยออกมาโพสต์โต้ตอบ เขานิ่งเงียบ ก้มหน้าก้มตาฝึกซ้อม และปล่อยให้ผลงานเป็นคำตอบ มาดูพัฒนาการฝีเท้าของโอซาโกะก่อน (ปี 2011-2012) และหลังเข้าร่วมทีม
1,500 เมตร | 3:42.68 —-> 3:40.49 (2016)
3,000 เมตร | 8:05.70 —-> 7:40.09 (2014)
5,000 เมตร | 13:31.27 —-> 13:08.40 (2015)
10,000 เมตร | 27:56.94 —-> 27:36.93 (2020)
ฮาล์ฟ มาราธอน | 1:01:47 —-> 1:01:16 (2020)
มาราธอน | 2:05:29 (2020)
ด้วยผลงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอซาโกะได้ติดธงรับใช้ชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งเวทีระดับเอเชีย และระดับโลก รวมไปถึงลงแข่งขันในมาราธอน เวิล์ดเมเจอร์
2013 World Championship: 10,000m. | 28:19.50 (อันดับ 21)
2014 Asian Games: 10,000m. | 28:11.94 (เหรียญเงิน)
2015 World Championship: 5,000m. | 13:45.82 (อันดับ 22)
2016 Olympic: 5,000m. | 13:31.45 *SB (อันดับ 16 ของฮีท 2)
2016 Olympic: 10,000m. | 27:51.94 (อันดับ 17)
2017 Boston Marathon: 2:10:28 (อันดับ 2)
2017 Fukuoka Marathon: 2:07:19 (อันดับ 2)
2018 Chicago Marathon: 2:05:50 (อับดับ 3)
2019 Marathon Grand Champions/MGC: 2:11:41 (สำรองอันดับ 3)
2020 Tokyo Marathon: 2:05:29 (สถิติประเทศตอนนั้น)
เห็นได้ชัดว่าโอซาโกะค่อยไต่ระดับจาก 1,500 ม. สู่ 5,000 - 10,000 เมตร ก่อนขยับสู่ทางถนนกับฮาล์ฟมาราธอน และ มาราธอน โดยเขาทำลายสถิติประเทศได้ถึง 2 ครั้ง ใน 2 ปี โดยครั้งแรกคือการเข้าที่ 3 ที่ชิคาโก มาราธอน ที่ทุบสถิติของ ยูตะ ชิทาระ ที่ทำไว้ 2:06:11 ชั่วโมง (โตเกียว มาราธอน 2018) และครั้งที่ 2 ที่ โตเกียว มาราธอน เขาทำลายสถิติของตัวเอง 21 วินาที ที่ 2:05:29 ชั่วโมง คว้าตั๋วใบสุดท้ายในการร่วมทีมมาราธอนญี่ปุ่นที่โอลิมปิก
มาราธอนโอลิมปิกมีแค่หนเดียว
มันคือเส้นบางๆ ระหว่างความเป็นไปได้ กับเป็นไปไม่ได้ โอซาโกะมีโอกาสเดียวและโอกาสสุดท้ายคือทำลายสถิติประเทศ (ของตัวเอง) ที่โตเกียว มาราธอน 2020ให้ได้ตามกฎของกรีฑาสมาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAAF) หลังจากเขาเข้าที่ 3 ของ Marathon Grand Champion การแข่งขันที่จัดเพื่อคัดตัวนักวิ่งจากทั่วประเทศ โดยให้นักวิ่ง 2 คนแรกได้ตั๋วทันที โอซาโกะเข้าที่ 3 เลยต้องลุ้นต่อ เพราะหากเขาพลาด นั่นคือ....ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว
เพราะสำหรับโอซาโกะแล้ว...มาราธอนโอลิมปิกมีแค่ครั้งเดียว
ตั้งแต่ที่เขารู้ว่าญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เมื่อปี 2013นับแต่วันนั้น ภารกิจของเขาได้เริ่มต้นขึ้น ต้องซ้อมแบบไหน กินอะไร พักผ่อนขนาดไหน ทุกอย่างถูกวางแผนและจัดวางโดยโค้ช พีท จูเลี่ยน อดีตผู้ช่วยผู้ฝึกสอนที่ตามมาเทรนให้เขาหลังจาก Nike Oregon Project ถูกยุบไป เพราะความฝันสูงสุดของโอซาโกะในฐานะคนที่ถวายชีวิตให้กับการวิ่ง คือ การได้วิ่งมาราธอนในโอลิมปิก และมันเป็นการวิ่งในประเทศบ้านเกิดของเขาด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้สำคัญต่อชีวิตของโอซาโกะมาก
เขาย้ายครอบครัวมาอยู่สหรัฐ เพื่อจะได้ฝึกซ้อมเต็มที่
เพื่อให้วันแข่งจริงเขาพร้อมและพีคที่สุด
เพราะมาราธอนโอลิมปิกนี้คือครั้งแรก และ ครั้งสุดท้ายของเขา ในฐานะนักวิ่งทีมชาติญี่ปุ่น เป็นการไปเพื่อปิดฉากการรับใช้ชาติอย่างงดงาม และส่งผ่านโอกาสให้กับนักกีฬารุ่นต่อไป
มาราธอนแรกและมาราธอนสุดท้าย
ในมาราธอนครั้งนี้มีอุปสรรคมากมาย ทั้งเลื่อนการแข่งขัน เกือบไม่ได้จัด เพราะไวรัส โควิด-19แพร่ระบาด กองเชียร์โดนแบน เลื่อนสนามไปแข่งขันที่เมืองซัปโปโรเพราะอากาศที่โตเกียวร้อนเกิน แต่กระนั้นโอซาโกะบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกวินาทีที่เกิดขึ้นบนถนนที่ซัปโปโรจะไม่สูญเปล่า แม้ต้องขุด เค้น หรือเข็นกายหยาบเข้าเส้นชัยก็ตาม
“วิ่งเหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้าย”
โอซาโกะกล่าวในวิดีโอสั้นเกี่ยวกับตัวเขา ไม่มีครั้งหน้า ไม่มีเอาใหม่ ต้องระเบิดให้หมด จบไม่เสียใจ เพราะโอกาสนี้มีแค่ครั้งนี้และครั้งเดียว
นักมาราธอนชายจากทั่วโลก 106 คน ที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 2:11:30 ชั่วโมง ยืนเรียงรายรอปล่อยตัวตอน 7 โมงเช้าของวันที่ 8 สิงหาคม 2021 ที่สวนสาธารณะโอโดริ เมืองซัปโปโร ในช่วงแรกโอซาโกะยังวิ่งได้สบายๆ เกาะกลุ่มผู้นำ ซึ่งค่อนข้างใหญ่เพราะพึ่งเริ่มแข่ง
ช่วงครึ่งทาง เขายังคงวิ่งเกาะกับกลุ่มผู้นำได้อย่างเหนียวแน่น เป็นเอเชียเพียงคนเดียวที่ยังวิ่งต่อเนื่องที่เพซเฉลี่ย 3:05 ได้ ในช่วง 29K กลุ่มผู้นำเริ่มแตกเหลือแค่ 10 คน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ประมาณ 28 องศาของหน้าร้อนที่ญี่ปุ่น โอซาโกะเริ่มถอยไปอยู่ท้ายกลุ่ม ความเร็วของเขาลดลง ในขณะที่นักวิ่งหลายคนถอดใจ ตัวแตก สังขารแยก DNF ออกไปเป็นแถว แม้แต่นักวิ่งตัวเก๋าจากเอธิโอเปียยังต้องโบกมืออำลา ทั้ง Shura Kitata (DNF ที่กม. 9), Sisay Lemma (DNF ที่กม. 23), Lelisa Desisa (DNF ที่กม. 26) หรือแม้แต่ Stephen Kiprotich แชมป์มาราธอน ลอนดอน 2012 ก็ถอนตัวไปตั้งแต่ 6 กม. แรก
เข้าสู่ กม.30 อีเลียด คิปโชเก้ แชมป์มาราธอน คนล่าสุด จากเคนย่า เจ้าของสถิติมาราธอนโลก เริ่มเปิดเกมกระชากออกจากกลุ่มผู้นำ Split 5K ช่วง กม. 30-35 ทำเวลาเพียง 14:28 นาที นั่นคือเพซเฉลี่ยของเขาลดลงไปที่ 2:54 นำโด่งทิ้งห่างกลุ่มตามไปเรื่อยๆ ที่ยังวิ่งเพซ 3:05 ในขณะที่โอซาโกะ ยังกัดฟันสู้ ไม่ยอมแพ้ แม้ตกมาอยู่ที่ 8 เขาพยายามดึงตัวเองให้เข้าใกล้กลุ่มตาม ลดช่องว่างให้มากที่สุด ในหัวไม่มีคำว่าผ่อน ไม่มีคำว่ายอมแพ้ ในช่วงท้ายเขาฮึดไล่แซง กาเลน รัปป์ อดีดเพื่อนร่วมทีม ลดข่องว่างจาก 3 นาที เหลือ 2 นาที
ยิ่งใกล้เส้นชัย ความเร็วของกลุ่มตามเริ่มต่ำลง แปรผกผันกับความล้าและความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น เขาวิ่งไปจับซี่โครงไป ประคองตัวเองให้ไม่เลิกกลางคัน มันทั้งเจ็บทั้งจุกแต่มันหยุดไม่ได้ เพราะเส้นชัยโอลิมปิกรออยู่ ตลอด 2 ข้างทางมีกองเชียร์ตะโกนให้กำลังใจแม้จะไม่มากเพราะจำกัดผู้ชม หลายคนวิ่งตามเชียร์แต่สุดท้ายก็หลุดไปเพราะกดความเร็วนั้นไม่ไหว (ฮา)
… กัมบัตเตะ ... กัมบาเระ ... โอซาโกะ ...!!!
เข้าโค้งสุดท้ายสุดทางตรงยาวที่สวนสาธารณะโอโดริ จุดจบแห่งความฝันและการเดินทาง สีหน้าสุดทรมานแปรเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม ก่อนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 6 ด้วยเวลา 2:10:41 ชั่วโมง เพซเฉลี่ย 3:06 ตามหลัง คิปโชเก้ เจ้าของเหรียญทองเพียง 2.03 นาที ถือเป็นนักวิ่งเอเชียคนเดียวใน Top 10 และเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่ทำได้ ต่อจาก เคนทาโร่ นากาโมโตะ เคยทำไว้ที่โอลิมปิกที่กรุงลอนดอน 2012 ด้วยเวลา 2:11:16 ชั่วโมง (อันดับที่ 6)
เขาโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัวหลังจบการแข่งขันว่า
“โตเกียว 2020 นี้ มีนักกีฬาหลายคนคว้าเหรียญรางวัล ผลการแข่งขันของผมอาจเป็นแค่เศษเสี้ยวของโอลิมปิกนี้ ผมภูมิใจที่ได้มาแข่งมาราธอนนี้เพื่อตัวผมและคนที่คอยสนับสนุนผมมาโดยตลอด วันนี้ถือเป็นชัยชนะสุดล้ำค่าที่ไม่มีอะไรแทนที่ได้ และยินดีช่วยผลักดันและส่งเสริมนักวิ่งและเยาวชนในวงการกรีฑาต่อไป หากครั้งหน้าไม่มีใครทำ คุณจงทำ!
https://www.instagram.com/p/CSTSYyMrFcD/?utm_medium=share_sheet
เมื่อวิ่งเข้าเส้นชัย เขาหยุดยืน หันหลังมองกลับไปยังเส้นทางที่วิ่งมา เงยหน้ามองดูป้ายเวลาที่มีชื่อกับเวลาของตัวเองขึ้น ต่อจากสุดยอดนักวิ่งจากทั่วโลก พร้อมโค้งคำนับให้กับเรซเช่นทุกที ประหนึ่งเขาอยากจะบอกกับมันว่า
“สวัสดีนะ และ ซาโยนาระ”
หากชีวิตของ โอซาโกะ เปรียบดั่งมาราธอน มันคงเป็นยิ่งความครูที่สั่งสอนเขาให้ทุกอย่าง ให้รู้ถึงความเหนื่อย ความทรมาน ความท้อแท้ ความพ่ายแพ้ ความดีใจ ความมุ่งมั่น ความอดทน และ ชัยชนะ โดยมีเส้นชัยคือความฝันและเป้าหมายอันสูงสุด ก่อนจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาวงการกรีฑาญี่ปุ่น แต่ก็ยังแข่งขันต่อไป ยึดเป้าหมายและพัฒนาตัวเอง หวังว่าสักวันจะได้เห็นธงชาติญี่ปุ่นบนโพเดียมมาราธอนโอลิมปิก
บทละครนี้ถูกวางไว้ ให้เรื่องราวเดินทางมาถึงตอนท้าย
และจบลงแบบเป็น “ตำนาน” ทิ้งไว้แก่วงการกรีฑาต่อไป
SUGURU OSAKO, THE LEGACY
"References"
https://www.youtube.com/watch?v=9sUKftRHo1M
https://twitter.com/gorin
https://en.wikipedia.org/wiki/Suguru_Osako
https://www.instagram.com/p/CSTSYyMrFcD/?utm_source=ig_web_copy_link
https://www.instagram.com/aflosport/
https://www.zimbio.com/photos/Suguru+Osako/VpzH8NJPun2/Athletics+Olympics+Day+12
https://www.insidethegames.biz/articles/1084726/marathon-grand-championship-tokyo-2020
https://alchetron.com/Suguru-Osako
TAG ที่เกี่ยวข้อง