28 กุมภาพันธ์ 2563
กีฬาฟันดาบเป็นหนึ่งใน 9 ชนิดกีฬาที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก เมื่อปี 1896 และเป็น 1 ใน 5 ชนิดกีฬาที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน ร่วมกับ กรีฑา, จักรยาน, ยิมนาสติก และว่ายน้ำ
หนึ่งในกีฬาเก่าแก่ที่สุดในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และในโตเกียว 2020 มีการแข่งขันฟันดาบกี่ชนิด ติดตามได้ที่นี่
กีฬาฟันดาบกับโอลิมปิก
ก่อนที่จะบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกสมัยครั้งแรกเมื่อปี 1896 นั้น ว่ากันว่าการฟันดาบเริ่มเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการฝึกของกองทัพมาเป็นกีฬาในช่วงศตวรรษที่ 14 หรือ 15 โดยเยอรมนีและอิตาลีต่างก็อ้างว่าตัวเองเป็นต้นกำเนิด
มาถึงศตวรรษที่ 17 และ 18 กีฬาฟันดาบได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากนวัตกรรมสำคัญ 3 อย่างคือ การคิดค้น "ฟอยล์" ดาบที่มีปลายเรียบแบน, การออกชุดกติกากำหนดพื้นที่เป้าหมาย และหน้ากากลวดตาข่าย ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ทำให้ผู้เข้าแข่งขันมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการแข่งฟันดาบในโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่ประเทศกรีซ มีทั้งหมด 3 ประเภทคือ ฟอยล์บุคคลชาย, เซเบอร์บุคคลชาย และมาสเตอร์สฟอยล์บุคคลชาย ซึ่งอย่างหลังเป็นรายการเดียวที่ให้นักกีฬาชีพเข้าร่วม
นับตั้งแต่โอลิมปิกครั้งนั้น กีฬาฟันดาบมีบรรจุอยู่ในการแข่งทุกสมัย และมีการเพิ่มประเภทเอเป้ รวมทั้งประเภททีมแต่ละชนิดในเวลาต่อมา ก่อนจะเริ่มมีการแข่งประเภทหญิงในปี 1924 ที่กรุงปารีส
สำหรับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาชนิดนี้คือ อลาดาร์ เกเรวิช ตำนานชาวฮังการี ที่คว้า 7 เหรียญทองจากการแข่ง 6 สมัย ขณะที่ เอโดอาร์โด้ มานเจียร็อตติ ของอิตาลี คือคนที่คว้าเหรียญโอลิมปิกมากที่สุด 13 เหรียญ รวมถึงการคว้า 6 เหรียญทอง
ส่วนนักกีฬาหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ วาเลนติน่า เวซซาลี่ จาก อิตาลี ที่ได้ไป 9 เหรียญ รวมถึง 6 เหรียญทอง และเป็นหนึ่งในนักกีฬาไม่กี่คนที่คว้าเหรียญโอลิมปิกจากประเภทบุคคล(ฟอยล์) รายการเดียวกัน 5 สมัยติด
แต่ในบรรดานักกีฬาทั้งหมด เนโด้ นาดี้ ของอิตาลี คือนักฟันดาบคนเดียวที่คว้าเหรียญจากดาบทุกชนิดในการแข่งขันสมัยเดียวกัน โดยในปี 1912 ขณะที่อายุ 18 ปี นาดี้ คว้าเหรียญทองจากประเภทฟอยล์ จากนั้น หลังสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในสงครามโลกครั้งแรก นาดี้ ก็มาคว้าไปถึง 5 เหรียญทองในการแข่งขันปี 1920 สร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครสามารถทำได้ใกล้เคียง จากการคว้าแชมป์บุคคลและทีมในดาบฟอยล์และเซเบอร์ ก่อนได้เหรียญทองจากเอเป้ประเภททีมอีกรายการ
รูปแบบการแข่งขันใน โตเกียว 2020
ในโอลิมปิก เกมส์ โตเกียว 2020 จะเป็นครั้งแรกที่มีโปรแกรมแข่งฟันดาบครบทั้ง 12 ประเภท โดยแบ่งเป็นชาย 6 รายการ และหญิง 6 รายการ จากประเภทบุคคลและทีมในดาบ 3 ชนิดคือ ฟอยล์, เอเป้ และเซเบอร์
ประเภทบุคคลใช้ระบบแพ้คัดออก ใครที่ทำคะแนนได้มากที่สุดจากการแข่ง 3 ยก ยกละ 3 นาที หรือทำได้ 15 แต้มก่อนเป็นผู้ชนะ
ส่วนประเภททีมจะมีสมาชิก 3 คน (บวกอีกหนึ่งตัวสำรอง) ลงแข่งแบบพบกันหมดซึ่งนักกีฬาแต่ละคนจากแต่ละทีมจะเจอกับนักกีฬาคู่แข่งแบบตัวต่อตัวในเวลาเดียวกัน แต่ละคู่ลงแข่ง 3 ยก ยกละ 3 นาที ทีมใดได้ 45 คะแนนก่อน หรือได้คะแนนรวมมากกว่าเป็นผู้ชนะ
สำหรับความแตกต่างของดาบทั้ง 3 แบบ และพื้นที่เป้าหมาย มีดังนี้
ฟอยล์ - น้ำหนักเบา โกร่งดาบกลมขนาดเล็ก ด้ามดาบมีรูปร่างคล้ายไกปืน ใช้แทง พื้นที่เป้าหมายจำกัดแค่บริเวณลำตัว
เอเป้ - น้ำหนักมาก ใช้แทง โกร่งดาบกลมขนาดใหญ่ พื้นที่เป้าหมายไม่จำกัด สามารถแทงติดกัน 2 ครั้งได้
เซเบอร์ - น้ำหนักเบา ใช้ฟัน และแทงได้บางจังหวะ โกร่งดาบมีส่วนโค้งคลุมด้านหลังมือ พื้นที่เป้าหมายเหนือสะโพกขึ้นไปยกเว้นด้านหลังศีรษะและมือ
กระบวนการคัดเลือก
มีโควตาทั้งหมด 212 ที่นั่ง แบ่งเป็นชายและหญิงประเภทละ 102 โควตา บวกกับเจ้าภาพรวม 8 โควตา แต่ละชาติส่งนักกีฬาได้มากที่สุด 18 คน แบ่งเป็นชาย 9 คน หญิง 9 คน ประเภททีมแต่ละรายการมีนักกีฬา 3 คน ส่วนประเภทบุคคลได้ประเภทละ 1 โควตาผ่านระบบการคัดเลือกแบบบุคคล หากไม่ได้สิทธิ์จากประเภททีม
ในประเภททีม มี 144 โควตา (48 ทีม : 8 ทีมต่อหนึ่งรายการ) ซึ่งวัดจากอันดับประเภททีมของสหพันธ์กีฬาฟันดาบนานาชาติ(FIE) ถึงวันที่ 5 เมษายน 2021 คิดจากการลงแข่ง เวิลด์ คัพ, ชิงแชมป์โลก และชิงแชมป์ระดับทวีป โดย 4 ทีมที่มีอันดับสูงสุดในแต่ละประเภทไม่แยกโซน ได้ผ่านเข้าไปแข่งโอลิมปิก
ทีมที่มีอันดับสูงสุดของแต่ละรายการจาก 4 โซน (แอฟริกา, อเมริกา, เอเชีย-โอเชียเนีย, ยุโรป) ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 ถึง 16 ของตารางอันดับFIE ได้ผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิก เกมส์
หากโซนไหนไม่มีตัวแทนตามข้อกำหนดข้างต้น ทีมอันดับถัดไปในตารางFIE จะได้สิทธิ์แข่งโอลิมปิก โดยไม่จำกัดโซน
ส่วนประเภทบุคคลมีอีก 60 โควตา (10 โควตาต่อหนึ่งรายการ) สำหรับนักกีฬาที่ไม่ได้สิทธิ์จากประเภททีม ส่วนนักกีฬาที่ได้สิทธิ์จากประเภททีม ได้แข่งประเภทบุคคลโดยอัตโนมัติ หมายความว่าในแต่ละประเภทจะมีนักกีฬาจากประเภททีมได้สิทธิ์แข่ง 24 คน
ส่วนโควตาที่เหลือคิดจากอันดับประเภทบุคคลอย่างเป็นทางการของ FIE นับถึงวันที่ 5 เมษายน 2021 โดยนับคะแนนจากรายการกรังด์ปรีซ์, เวิลด์ คัพ, แซทเทิลไลต์, ชิงแชมป์โลก และชิงแชมป์ทวีป ซึ่งนักกีฬาที่มีคะแนนสูงสุดของแต่ละโซน เมื่อตัดคนที่ได้สิทธิ์จากประเภททีมไปแล้ว จะได้ไปแข่งโอลิมปิกตามสัดส่วน ยุโรป 2 ที่นั่ง, เอเชีย-โอเชียเนีย 2 ที่นั่ง, อเมริกา 1 ที่นั่ง และแอฟริกา 1 ที่นั่ง ในแต่ละประเภท ซึ่งจะได้ชาติละ 1 ที่เท่านั้น
ที่เหลืออีกประเภทละ 4 โควตา มาจากการลงแข่งรอบคัดเลือกประเภทบุคคลของแต่ละโซน ซึ่งมีให้สำหรับชาติที่ไม่ได้สิทธิ์จากประเภททีมและบุคคลก่อนหน้านี้ โดยมีเพียง 1 โควตาสำหรับผู้ชนะเท่านั้น
นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020
อิตาลี, ฝรั่งเศส และฮังการี คือชาติที่ประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้มากที่สุด โดยอิตาลีครองเจ้าเหรียญ (125) ตามด้วยฝรั่งเศส (118) และทั้ง 2 ชาติมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มสถิติของตัวเองใน โตเกียว 2020
ดานิเอเล่ การอซโซ่ แชมป์เก่าฟอยล์บุคคลชาย เตรียมนำทีมอิตาลีลุ้นทองประเภททีม ซึ่งมีคู่แข่งสำคัญคือสหรัฐฯ ที่มี อเล็กซานเดอร์ มาสซิอาลาส เหรียญเงินริโอ เกมส์ รวมทั้งฝรั่งเศส ที่มี เอ็นโซ่ เลอฟอร์ต แชมป์โลกคนปัจจุบัน
ด้านฮังการีตั้งเป้าสานต่อความสำเร็จประเภทเซเบอร์โดยมี อารอน ชิลักญี่ แชมป์เก่า 2 สมัยซ้อนนำทัพ
ขณะที่รัสเซียหวังสานต่อผลงานจาก ริโอ เกมส์ และ ชิงแชมป์โลกปี 2019 ที่พวกเขาคว้าแชมป์ได้มากกว่าชาติอื่น โดยมี อินนา เดริกลาโซว่า เจ้าของเหรียญทองฟอยล์บุคคลหญิงเมื่อครั้งที่แล้ว และแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน เป็นตัวชูโรง
อีกคนที่น่าจับตามองคือ โอลก้า คาร์ลาน จาก ยูเครน ซึ่งไล่ล่าเหรียญทองแรกจากประเภทบุคคล หลังจากช่วยชาติบ้านเกิดคว้าแชมป์เซเบอร์ประเภททีมที่ปักกิ่ง และเหรียญเงินที่ริโอ รวมทั้ง 2 เหรียญทองแดงประเภทบุคคลจาก 2 สมัยล่าสุดอีกด้วย
นอกจากบรรดามือเก๋าแล้ว ยังมีดาวรุ่งฝีมือดีจากเอเชียให้ติดตามเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โอ ซางอุค จากเกาหลีใต้ แชมป์โลกเซเบอร์ประเภททีม 3 สมัย และประเภทบุคคล 1 สมัย และ วิเวียน กง จาก ฮ่องกง ที่คว้าแชมป์เวิลด์ คัพ ประเภทเอเป้บุคคลสมัยแรกให้ชาติบ้านเกิดในปี 2019
TAG ที่เกี่ยวข้อง