4 สิงหาคม 2564
18.30 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 วันศุกร์ที่คนไทยหลายคนต้องอยู่บ้านเพราะ Work From Home จากสภาวะล๊อคดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมใจกันเปิดโทรทัศน์ และ มือถือ เพื่อชมการแข่งขันกรีฑา 10,000ม. ของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในวันประวัติศาสตร์ของวงการกรีฑาไทย และ วงการกีฬาระดับประเทศ
นั่นเพราะ 1 ในนักวิ่งที่ไลน์อัพตรงจุดสตาร์ทที่ The Olympic Stadium ใจกลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือ นักกรีฑาตัวแทนจากประเทศไทยนามว่า "คีริน ตันติเวทย์" เด็กหนุ่มวัย 24 ปี ลูกครึ่งไทย-สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับโควต้ามาประชันฝีเท้า ณ สมรภูมิ 10,000 เมตร แห่งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต และครั้งแรกของไทยที่มีนักกรีฑาร่วมแข่งขันในระยะนี้
กรีฑาไทยในโอลิมปิก
ตั้งแต่โอลิมปิกอุบัติขึ้นในปี ค.ศ. 1952 ที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขัน
11 คน ทั้งหมดเป็นนักกรีฑา และได้ส่งนักกรีฑาไปประชันกับนานาชาติเรื่อยมา ยกเว้นในปี 1968, 1980 และ 2008 หากนับแค่กรีฑาระยะไกล หนุ่มลูกครึ่งคนนี้ถือเป็นนักกรีฑาคนที่ 7 ที่ได้เข้าแข่งขันโอลิมปิก และอายุน้อยที่สุดด้วย ต่อจาก
- สมนึก ศรีสมบัติ (โรม 1960, 5000 ม.) - 15:32.6 (อันดับสุดท้ายของฮีท)
- สมศักดิ์ แก้วกันฑา (โตเกียว 1964, 5000 ม.) - 16:08.8 (อันดับ 11 จาก 13 ของฮีท)
- นาวาเอก ฉนม ศิริรังษี (โตเกียว 1964, มาราธอน) - 2:59:25 (อันดับสุดท้าย)
- บุญถึง ศรีสังข์ (ริโอ 2016, มาราธอน) - 2:37:46 (อันดับที่ 132)
- เจน วงศ์วรโชติ (ริโอ 2016, มาราธอน) - 2:47:27 (อันดับที่ 91)
- ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ (ริโอ 2016, มาราธอน) - 3:11:31 (อันดับที่ 130)
แต่ในสมัยก่อนบางรายการของกรีฑาไม่ต้องคัดตัวแค่ส่งชื่อเข้าร่วม แต่ในปัจจุบันต่างกันสิ้นเชิง นักกีฬาต้องทำเวลาหรือสถิติให้ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของโอลิมปิก ที่ทางสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) ร่วมกับ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee: NOC) กำหนดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าโหดหินและเร็วขึ้นทุกปี ถึงขนาดที่แม้แต่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกบางคนยังคัดตัวไม่ผ่านด้วยซ้ำ ต่อให้คุณเป็นตัวแทนประเทศ แชมป์เก่า เจ้าของสถิติโลก หรือกวาดเหรียญระดับนานาชาติมาก็ไม่ได้การันตีเส้นทางให้คุณไปสู่โอลิมปิกได้
เกณฑ์คัดตัว 10,000 ม. ในโอลิมปิก 5 ครั้งที่ผ่านมา มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มเวลา คือ ทีม A ได้มากสุดประเทศละ 3 คน หากไม่มีคนไหนผ่าน แต่สถิติเข้าเกณฑ์ B สามารถส่งได้ 1 คน แต่ตั้งแต่ ริโอ 2016 ได้กำหนดให้ใช้เกณฑ์เดียวกันหมด
Sydney 2000 - 28:10 (A), 28:28 (B)
Athens 2004 - 27:49 (A), 28:06 (B)
Beijing 2008 - 27:50 (A), 28:10 (B)
London 2012 - 27:45 (A), 28:05 (B)
Rio 2016 - 28:00
Tokyo 2020 - 27:28
กำแพง 27:28 ที่ต้องทำลาย
นักวิ่งจากทั่วโลกมุ่งมั่นกับการซ้อมเพื่อพิชิต 10,000 เมตรให้ได้ภายใน 27:28 นาที ซึ่งเป็นเกณฑ์โอลิมปิกของ โตเกียว 2020 โดยหนึ่งในนั้นคือ เด็กหนุ่มที่พึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาไปคว้า 2 เหรียญทองให้ไทยในซีเกมส์ 2019 ในระยะ 5,000 ม. และ 10,000 ม. และส้มหล่นได้ทองแดง เอเชี่ยนเกมส์ 2018 เมื่อ Hassan Chani จากบาห์เรน เจ้าของเหรียญทองโดนแบนเพราะตรวจพบการใช้สารกระตุ้น
คีรินให้สัมภาษณ์กับ Stadium TH หลังคว้า 2 ทองซีเกมส์ ถึงเป้าหมายในการวิ่งว่าอยากเป็นนักวิ่งอาชีพ เป็นแนวหน้า และที่สำคัญคืออยากเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันที่โอลิมปิกและกรีฑาชิงแชมป์โลก
และภายใน 2 ปี เขาทำมันสำเร็จ!
โอลิมปิกแรกของคีรินมาเร็วกว่าที่คิด
คีริน ร่วมแข่งขันรายการ The Ten ที่เมือง San Juan Capistrano รัฐแคลิฟอร์เนีย ในนามสังกัด Bowerman Track Club (BTC) แห่งเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอรีกอน ที่มี Jerry Schumacher เป็นผู้ฝึกสอน จุดรวมขาแรงจากทั่วโลก และตอนนี้ในฐานะ Pro-runner เต็มตัว เขาร่วมฝึกซ้อมกับทีมแบบจริงจังหลังเรียนจบฮาร์วาร์ด จนพัฒนาฝีเท้าและทำลายสถิติ 10,000 ม. ของตัวเองด้วยเวลา 27:17.14 นาที เพซเฉลี่ย 2:44 เข้ามาเป็นอันดับ 5 เร็วกว่าสถิติ 10000 เมตรครั้งแรกที่เขาเคยทำไว้ในปี 2019 (28:45.61) ถึง 1 นาทีครึ่ง จูงมือกับเพื่อนร่วมทีมอีก 4 คน คือ Grant Fisher (สหรัฐ), William Kincaid (สหรัฐ), Marc Scott (สหราชอาณาจักร) และ Mohammed Ahmed (แคนาดา) ไปตะลุยต่อที่ โตเกียว 2020
โดยโค้ช Jerry ได้เตรียมทีมแบบใส่ใจทุกรายละเอียด วางแผนฝึกซ้อม อาหารการกิน การเดินทาง การพักผ่อน แทบว่าทุกอย่างที่เขาทำได้เพื่อส่งลูกเรือของเขาไปสู่ฝั่งฝัน
สถิติประเทศไทยของ คีริน
1 ไมล์ (indoor) - 3:57.36
3,000 เมตร - 7:48.24
5,000 เมตร - 13:42.75
10,000 เมตร - 27:17.14
10 กิโลเมตร - 28:52
ผลการแข่งขันในนามทีมชาติไทย
โอลิมปิกแรกของคีริน
แม้สนามโอลิมปิกสเตเดี้ยมจะไร้ซึ่งกองเชียร์ แต่มนต์ขลังยังคงอยู่ คีริน เตรียมตัวฝึกซ้อมเพื่อให้โอลิมปิกแรกของเขานั้นสมบูรณ์แบบ เขาเลือกเสื้อกล้ามสีแดงแรงฤทธิ์ ติดบิบหมายเลข 3595 ใส่กางเกงรัดกล้ามเนื้อสีดำ พร้อมทรงผมไถข้าง กับรองเท้าตะปูรุ่น Nike ZoomX Dragon Fly 2021 เดินไปยังจุดสตาร์ทปล่อยตัว รายล้อมด้วยนักกรีฑา 10,000 ม. ชั้นนำ 24 คนจากทั่วโลกที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 27:28 นาที ถือว่าเร็วที่สุดในยุคปัจจุบัน และหนึ่งในนั้นยังมี Joshua Cheptegei เจ้าของสถิติโลก 26.11 จากอูกันดาอีกด้วย
18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เสียงปืนดังส่งสัญญาณปล่อยตัว ทั้ง 25 คนเร่งเครื่องเพื่อเกาะกลุ่มตามโค้งในของลู่วิ่ง โดยมี Stephen Kissa ของอูกันดาฉีกขึ้นนำ ส่วนนักวิ่งคนอื่นเกาะกลุ่มห่างมาประมาณ 50เมตร คีรินพยายามเกาะกลุ่มกลางๆ ไว้
1,000 เมตร ผ่านไป เพซเฉลี่ยของ คีริน อยู่ที่ 2.53 เป็นอันดับที่ 12 เขาพยายามประคองเพซ 2.54 เมื่อจบ 2,000 เมตร แต่จู่ๆ เกมก็เร็วขึ้น ทำให้กระชากเพิ่มความเร็วแต่ก็ยังทำได้แค่ประคองอยู่ท้ายของแพ๊คร่วมกับ Joshua Cheptegei ที่ยังไม่ได้ขึ้นทำเกม ผ่านครึ่งทางด้วยเวลา 14:12.8 นาที เพซเฉลี่ย 2.50 โดย Kissa จากอูกันดาที่ออกตัวนำโด่งถอนตัวออกจากลู่เมื่อจบภารกิจ 5,000 เมตรของเขา
2.53 - 2.54 - 2.45 - 2.48 - 2.52
ความเร็วขึ้นๆ ลงๆ เป็นไปตามเกมการแข่งขัน
เกมชิงไหวชิงพริบกันทุกเสี้ยววินาที เมื่อเข้าสู่ 4,000 เมตรสุดท้าย โจชัวร์ เจ้าของสถิติโลก เริ่มเปิดเกมเร่งแซงไปอยู่หน้าแพคพร้อมกับนักวิ่งคนอื่น แต่ Sam Atkin จากสหราชอาณาจักรทนสภาพไม่ไหวต้องออกจากการแข่งขันไปก่อนครบ 6,000 เมตร ทิ้งคีรินให้ยังประคองอยู่ที่เดิมกับ ทัตซึฮิโกะ อิโตะ จากญี่ปุ่น ใน ด้วยอุณหภูมิกว่า 30 องศา และความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงถึง 80 อากาศฤดูร้อนอันอบอ้าว ทำให้ความเร็วของคีรินเริ่มตกลงในช่วง 2,000 เมตรสุดท้าย เมื่อเขาไม่สามารถเกาะตามกลุ่มนักวิ่งคนอื่นได้อีกต่อไป จึงหันมาวิ่งในความเร็วที่ทำให้เขาสามารถเข้าเส้นชัยได้ เพื่อสานต่อเจตนารมย์ที่ตั้งใจไว้
2.59 - 2.51 - 3.26 - 3.64
ความเร็วก่อนเข้าสู่ 1,000 เมตรสุดท้าย
ในขณะที่คีริน และ อิโตะ เหลืออีก 800 เมตร กลุ่มผู้นำระหว่างทีมอูกันดา ที่มี Joshua Cheptegei และ Jacob Kiplimo กำลังฟาดฟันกับทีมเอธิโอเปียที่มี Selemon Barega และ Berihu Aregawi เพื่อแย่งชิงเจ้าเหรียญทอง น๊อครอบทั้งคู่ไปในแลปสุดท้าย และเป็นทาง Selemon Barega ที่อาศัยช่วงจังหวะสปรินท์ที่ดีและแทคติกที่วางแผนกันมาอย่างรอบคอบกับเพื่อนร่วมชาติ ผงาดเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 27:43.22 นาที ตามมาด้วย Joshua Cheptegei 27:43.63 ที่พยายามไล่แต่ไม่ทัน เข้าที่ 2 และ Jacob Kiplimo จากอูกันดา เข้าที่ 3 ด้วยเวลา 27:43.88
ทุกคนนอนกองหมดสภาพที่ตรงเส้นชัย ในขณะที่ คีริน และ อิโตะ พลัดกันลากพลัดกันนำ กัดฟันวิ่งเข้าเส้นชัย โดย คีริน เข้ามาเป็นอันดับสุดท้าย ด้วยเวลา 29:01.9 นาที เพซเฉลี่ย 2:54
เกมกลบนลู่วิ่ง
หลายคนที่ไม่ได้ติดตามวงการกรีฑาหรือไม่ได้วิ่งอาจยังไม่เข้าใจเกมการแข่งขันมากนัก และมีคำถามว่าทำไม คีริน ถึงวิ่งได้แย่กว่าสถิติที่เคยทำได้เมื่อตอนคัดโอลิมปิกที่ 27:17.14 นาที ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าการแข่งขันเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุดให้สามารถคัดตัวมาแข่งขันที่โอลิมปิก กับการแข่งขันในวันจริงที่โอลิมปิกนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
นักกีฬาทุกคนมุ่งหวังทำเวลาให้ดีที่สุดเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ 27:28 นาทีสุดโหด ดังนั้นจะไม่มีใครชิงไหวชิงพริบ ซ้ำตอนที่คีรินแข่งรายการ The Ten เป็นการแข่งขันที่มีเพื่อนร่วมทีม Bowerman Track Club ช่วยกันลากเพื่อให้เวลาตามที่ต้องการ ผิดกับโอลิมปิกที่คู่ต่อสู้แต่ละคนเขี้ยวลากดิน ความแกร่ง ประสบการณ์ และชั้นเชิงในระดับโลกนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และสำคัญที่สุดคือในโอลิมปิกสำหรับการแข่งขันวิ่งระยะไกล ไม่จำเป็นต้องทำเวลาให้ดีที่สุดหรือเร็วที่สุดเหมือนระยะสั้น เช่น 100 เมตร ที่ใครเร็วที่สุดคนนั้นชนะ แต่คือการทำอย่างไรก็ได้ให้คุมเกมให้ได้ และเป็นคนแรกที่เข้าเส้นชัย แม้ว่าสถิติจะไม่ได้ดีเท่าที่เคยทำมา
กล่าวคือ...ไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว แต่เข้าคนแรกเป็นพอ
การวิ่งบนลู่ต่างจากการวิ่งบนถนนที่ต่างคนต่างวิ่งไปข้างหน้าด้วยสเตปของตัวเอง เป็นการเล่มเกมที่ใช้จิตวิทยา การวางจังหวะผ่อน จังหวะแซง เพื่อสร้างเกมและสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองและทีม ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนคุมเกมได้ ถ้าคุมให้ช้าก็ได้ คุมให้เร็วก็ได้ และนั่นคือประสบการณ์ที่นักวิ่งต้องสั่งสม และในสมรภูมิที่ทุกคนมีฝีมือสูสีกัน พละกำลังความแข็งแกร่งไม่ต่างกัน จึงมักวัดกันที่การวางแผน แทคติก และครั้งนี้ทีมเอธิโอเปียทำได้ดีจึงรับรางวัลนี้ไป
“ในวันแข่งขัน 10,000 เมตร เป็นเกมที่วิ่งยากพอสมควร มันกั๊กๆ หน่วงๆ ถ้าเป็นผมก็วิ่งยาก เพราะจังหวะมันไม่นิ่ง เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า” บุญถึง ศรีสังข์ อดีตนักมาราธอนทีมชาติไทยที่เคยไปโอลิมปิกเกมส์ และอดีตเจ้าของสถิติประเทศไทยในลู่และถนนกล่าวหลังเกมการแข่งขันกับ Stadium TH
แม้ คีริน จะเคยคว้า 2 เหรียญทองซีเกมส์ และ 1เหรียญทองแดงเอเชี่ยนเกมส์ในระยะนี้ แต่ประสบการณ์ระดับอาเซียนและเอเชียยังไม่โหดเท่าระดับโลก ที่โหดและแข็งกว่า
“ผมเคยวิ่ง 10,000 เมตร กับน้องตอนเอเชี่ยนเกมส์ 2018 เห็นได้ชัดเลยว่า คีริน มีความมุ่งมั่นมาก และแข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถ้าเทียบกับตอนนั้น” บุญถึงกล่าวถึงคีริน
1 เดียวจากไทยใน 25 คนจากทั่วโลก
การได้เห็นนักกีฬาไทยตรงจุดสตาร์ทโอลิมปิก เคียงบ่าเคียงไหล่กับสุดยอดนักวิ่งทั่วโลก มันคือความภาคภูมิใจที่สูงสุดแล้ว แม้ในมันไม่มีหวังลุ้นโพเดียมแน่นอน เพราะ เอธิโอเปีย เคนย่า อูกันดา เขาขึ้นแท่น สิ่งที่ต้องทำคือทำให้เต็มที่ สมศักดิ์ศรี และเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาให้มากที่สุด โดยใน 25 คนมีนักวิ่งจากเอเชียเพียงแค่ 3 คน 2 ประเทศ นั่นคือปอดเหล็กจากญี่ปุ่น อากิระ ไอซาวะ และ ทัตซึฮิโกะ อิโตะ ที่หากมองความเป็นไปได้ของโพเดียมในเวทีเอเชีย หมายความว่า คีริน ยังมีลุ้นขึ้นโพเดียม ซึ่งต้องรอลุ้นว่านักวิ่งจากบาห์เรน กาตาร์ และ ญี่ปุ่น ที่ติด Top 5 นักวิ่ง 10,000 เมตร ที่สามารถทำ Sub 27:20 ได้นั้นจะทำผลงานได้ดีมั้ยในวันแข่ง
การวิ่งระยะไกลคือการแข่งขันกับตัวเอง ไม่มีคำว่า “แพ้ หรือ ชนะ” มีแต่ “ทำได้ หรือ ไม่ได้ทำ” วัดกันที่สถิติเวลามากกว่าอันดับ ไม่ว่านักกีฬาคนนั้นจะเข้าที่เท่าไร คนแรกหรือคนสุดท้าย แต่การที่ผ่านด่านทดสอบแสนทรหด เส้นทางอันยาวไกล ความเหนื่อยยาก การที่คุณได้ยืนในจุดปล่อยตัวของโอลิมปิกนั้นคือคุณคือผู้ชนะแล้ว และเป็นนิมิตรหมายอันดีของวงการกรีฑาไทย เป็นการจุดประกายให้บังเกิดนักวิ่งหน้าใหม่ สร้างความฝันและแบบอย่างให้กับเยาวชนที่จะขึ้นมาเป็นตัวแทนของประเทศในอนาคต
จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ... 30 กรกฎาคม 2564
ขอบคุณ “คีริน ตันติเวทย์” จากใจ
ที่ทำให้วันศุกร์ที่แสนธรรมดา "สุข" แบบไม่ธรรมดา
TAG ที่เกี่ยวข้อง