stadium

ทำความรู้จักกีฬามวยสากลในโอลิมปิก

30 พฤษภาคม 2567

ต้นกำเนิดที่แน่นอนของกีฬามวยนั้นยังไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด แต่มีการจัดแข่งในโอลิมปิกโบราณตั้งแต่ปี 688 ก่อนคริสตกาล โดยนักชกจะใช้สายหนังที่นุ่ม พันรอบมือและแขนของตัวเองเพื่อป้องกัน

 

กีฬามวยเกือบสูญพันธุ์ไปพร้อมกับการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน แต่กลับมาคืนชีพอีกครั้งในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีบันทึกของการแข่งมวยสมัครเล่นในปี 1880 โดยในช่วงแรกเริ่มนั่นมีการแบ่งออกเป็น 5 พิกัดน้ำหนักคือ แบนตัมเวต (ไม่เกิน 54 กก.), เฟเธอร์เวต (ไม่เกิน 57 กก.), ไลต์เวต (ไม่เกิน 63.5 กก.), มิดเดิลเวต (ไม่เกิน 73 กก.) และ เฮฟวีเวตที่ไม่จำกัดน้ำหนัก  

 

กฎกติกา

 

มวยสากลในโอลิมปิกจะมีกฎพิเศษที่ใช้ควบคุมการแข่งขัน คืออนุญาตให้เพียงนักชกสมัครเล่นลงแข่งเท่านั้น ซึ่งนักมวยอาชีพระดับโลกหลาย ๆ คน ต่างมีจุดเริ่มต้นในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ไม่เว้นแม้แต่ มูฮัมหมัด อาลี ผู้ยิ่งใหญ่ ที่คว้าเหรียญทองในรุ่น ไลต์ เฮฟวีเวต เมื่อปี 1960 ที่กรุงโรม

 

ก่อนหน้านี้ ในช่วงระหว่างปี 1984 ถึง 2012 นักชกชายทุกคนต้องสวมใส่เฮดการ์ด แต่กฎนี้ถูกยกเลิกในปี 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ขณะที่นักชกหญิงยังต้องใส่ตามเดิม ส่วนการแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสามยก ยกละสามนาทีสำหรับมวยชาย ส่วนมวยหญิงจะแบ่งเป็น 4 ยก ยกละ 2 นาที หลังจบแต่ละยก กรรมการจะมีการเลือกผู้ชนะแต่ละยก ตามกฎที่วางเอาไว้ ซึ่งผู้ชนะจะได้ 10 คะแนน ส่วนผู้แพ้อาจจะได้ 7-9 คะแนนขึ้นอยู่กับผลงานบนสังเวียน หลังครบยกกรรมการจะเก็บรวบรวมคะแนนเพื่อตัดสินผู้ชนะ

 

มวยสากลในโอลิมปิก

 

มวยสากลบรรจุแข่งในโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกเมื่อปี 1904 จนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม เนื่องจากขัดกับกฎหมายของประเทศสวีเดน ส่วนมวยหญิงบรรจุครั้งแรกในปี 2012 ที่กรุงลอนดอน

 

สหรัฐอเมริกาคือชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาชนิดนี้ จากผลงาน 117 เหรียญ ตามด้วย คิวบา 78 เหรียญ และสหราชอาณาจักร 62 เหรียญ ส่วนไทยส่งนักชกลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1956 ที่ประเทศออสเตรเลีย และพลาดเพียงครั้งเดียวคือปี 80 ที่สหภาพโซเวียต เนื่องจากการบอยคอตต์ที่นำโดยสหรัฐฯ โดยขุนพลเสื้อกล้ามไทยทำผลงานคว้ามาทั้งหมด 4 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic