stadium

ทำความรู้จักกีฬากรีฑาในโอลิมปิก

24 พฤษภาคม 2567

กรีฑาเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่มีคนตามดูมากที่สุดในโอลิมปิก ซึ่งแม้ ยูเซน โบลต์ ตำนานชาวจาเมกาจะอำลาวงการไปแล้ว แต่กรีฑาก็ยังคงได้รับความสนใจไม่เสื่อมคลาย

 

สำหรับ ปารีส 2024 การแข่งกรีฑาประเภทลู่และลาน จะแข่งที่ สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ส่วนประเภทถนนอย่าง มาราธอน จะเริ่มต้นที่ Hôtel de Ville ไปสิ้นสุดที่ Les Invalides ขณะที่เดินทน แข่งที่ Pont d'lena

 

แล้วการแข่งกรีฑาในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และปารีส 2024 มีการแข่งขันกรีฑากี่รายการ ติดตามได้ที่นี่

 

 

กีฬากรีฑากับโอลิมปิก

 

กรีฑานั้นอยู่คู่กับโอลิมปิกมาช้านาน นับตั้งแต่การแข่งโอลิมปิกโบราณในประเทศกรีซ ก่อนที่จะมีบรรจุแข่งทุกครั้งในโอลิมปิกสมัยใหม่ นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 1896 ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นกีฬาที่มีสเกลใหญ่ที่สุดของโอลิมปิก ทั้งในแง่ของจำนวนรายการแข่งขันและจำนวนนักกีฬา

 

โปรแกรมแข่งขันของกรีฑานั้นประกอบด้วยประเภทลู่และลาน รวมถึง มาราธอน และเดินทน ส่วน ครอสคันทรี ถูกถอดออกจากโอลิมปิกหลังจากปี 1924 ขณะที่กีฬาชักกะเย่อเคยถูกรวมในหมวดกรีฑาในโอลิมปิกยุคแรก ๆ เช่นกัน (เคยมีแข่งในโอลิมปิกปี 1900-1920)  

 

สหรัฐอเมริกา คือชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาชนิดนี้ โดยคว้าไปทั้งหมด 332 เหรียญทอง 259 เหรียญเงิน และ 204 เหรียญทองแดง พร้อมกับผลิตนักกรีฑาระดับตำนานมากมาย โดยเฉพาะ คาร์ล ลูอิส และ เจสซี่ โอเว่นส์

 

สำหรับ ลูอิส เคยครองวงการกรีฑาในประเภท 100 เมตร, 200 เมตร, กระโดดไกล และวิ่งผลัดระยะสั้น โดยคว้าไปทั้งหมด 9 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงินจากการลงแข่ง 4 สมัย ได้รับการยกย่องให้เป็นนักกีฬาแห่งศตวรรษ และยังเป็นหนึ่งในนักกีฬาเพียง 3 คน ร่วมกับ อัลเฟรด เออร์เตอร์ และ ไมเคิล เฟลป์ส ที่คว้าเหรียญทองจากประเภทบุคคลรายการเดียวกัน 4 สมัยติด

 

ขณะที่ เจสซี่ โอเว่นส์ คว้า 4 เหรียญทองในประเภท วิ่ง 100 เมตร, กระโดดไกล, วิ่ง 200 เมตร และ ผลัด 4×100 เมตร ในการแข่งปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน  

 

นักกรีฑาอเมริกันที่เป็นตำนานอีกคนคือ แจ็คกี้ จอยเนอร์-เคอร์ซี ซึ่งทำได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดงในการแข่งสัตตกรีฑา และกระโดดไกล ในโอลิมปิก 4 สมัย

 

แต่ถ้าพูดถึงความโด่งดัง และความยิ่งใหญ่แล้ว คงไม่มีใครเกิน ยูเซน โบลต์ เจ้าของ 8 เหรียญทอง จากการลงแข่งระยะสั้นล้วน ๆ ซึ่ง 6 เหรียญทองของเขามาจากวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร 3 สมัยซ้อน

 

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือใครจะขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ในวงการระยะสั้นต่อจากตำนานชาวจาเมกา และสถิติโอลิมปิกรวมทั้งสถิติโลกของเขาจะถูกทำลายหรือไม่

 

รูปแบบการแข่งขันใน ปารีส 2024

 

ปารีส 2024 มีการแข่งขันกรีฑาทั้งหมด 48 รายการ เริ่มแข่งวันแรกคือ 1 สิงหาคม ไปถึงวันสุดท้ายของการแข่งขันคือ 11 สิงหาคม โดยมีโปรแกรมชิงเหรียญทองทุกวัน ซึ่งความแปลกใหม่ของการแข่งขันครั้งนี้คือมีประเภทเดินทนมาราธอนผลัดทีมผสมเป็นครั้งแรก

 

เดินทน 20 กิโลเมตรชาย จะเป็นรายการแรกของกรีฑาใน ปารีส 2024 ขณะที่ มาราธอนหญิงเป็นรายการสุดท้าย

 

 

กระบวนการคัดเลือก

 

นักกรีฑาที่จะได้สิทธิ์แข่ง ปารีส 2024 มาจาก 2 วิธี หนึ่งคือมอบให้กับนักกีฬาผู้ทำสถิติผ่านเกณฑ์ที่สภากรีฑาโลกตั้งเอาไว้โดยจะเป็นครึ่งหนึ่งของโควตาทั้งหมด ส่วนที่เหลือขึ้นอยู่กับอันดับโลกในช่วงเวลาที่กำหนด โดยแต่ละชาติส่งนักกีฬาลงแข่งประเภทบุคคลอีเวนต์เดียวกันได้มากสุด 3 คน ซึ่งประเภทลู่และลาน (ยกเว้นวิ่ง 10,000 ม., สัตตกรีฑา และทศกรีฑา) เริ่มกระบวนการคัดเลือกตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2023 ถึง 30 มิถุนายน 2024

 

สำหรับประเภทผลัด แต่ละอีเวนต์จะมีทั้งหมด 16 ชาติ โดย 14 ชาติมาจากผลงานในรายการ กรีฑาผลัดชิงแชมป์โลก 2024 ที่บาฮามาส ส่วนอีก 2 โควตามอบให้ชาติที่มีผลงานดีที่สุดในช่วงเวลาตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2022 ถึง 30 มิถุนายน 2024

 

ขณะที่ เดินทนมาราธอนผลัดทีมผสม เป็นการแข่งขันเดินทนตามระยะทางมาราธอนคือ 42.195 กม. ซึ่งจะมีนักกีฬาลงแข่ง 25 คู่ จาก 25 ชาติ ที่ได้โควตาจาก 22 อันดับแรกของการแข่ง เดินทนประเภททีมชิงแชมป์โลก 2024 ส่วนอีก 3 โควตามาจากอันดับโลกทั้งของชายและหญิงในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 ถึง 30 มิถุนายน 2024

 

ประเภทวิ่งมาราธอน เก็บสถิติตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2022 ถึง 30 เมษายน 2024 โดยนักวิ่งที่ทำสถิติในแรงกิ้ง โรด ทู ปารีส สูงกว่าอันดับ 65 ในวันที่ 30 มกราคม 2024 จะได้สิทธิ์เป็นตัวเลือกของชาติตัวเองทันที ส่วนที่โควตาทีเหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีคัดแบบเดียวกับประเภทอื่น ๆ โดยไม่ไปแย่งโควตาคนที่ได้ไปก่อนหน้า ด้านประเภทวิ่ง 10,000 ม., เดินทน และประเภททศกรีฑา, สัตตกรีฑา จะมีช่วงเวลาคัดเลือกระหว่าง 31 ธันวาคม 2022 ถึง 30 มิถุนายน 2024

 

 

นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020

 

ในประเภทไฮไลต์อย่าง วิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตรชาย โนอาห์ ไลล์ส ลมกรดอเมริกัน ก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็ง หลังเหมาเหรียญทองในศึกชิงแชมป์โลก แต่ยังมีเพื่อนร่วมชาติเช่น เฟร็ด เคอร์ลี่ย์ ที่พร้อมขับเคี่ยวแย่งเหรียญเช่นกัน ส่วน ลามอนต์ มาร์เซล จาค็อบ แชมป์เก่าจากอิตาลี ผลงานดร็อปลงไปนับตั้งแต่เซอร์ไพรส์คว้าเหรียญทองที่โตเกียว

 

ส่วนประเภทหญิงการชิงชัยระยะสั้นเข้มข้นไม่แพ้กัน เพราะมีทั้ง อีไลเน่ ธอมป์สัน-เฮราห์ แชมป์เก่า และเชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ จาก จาเมกา ซึ่งต้องบู๊กับ ชาคารี่ แจ็คสัน ของสหรัฐฯ ที่พลาดลุยโตเกียวเพราะไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้าม ซึ่งครั้งนี้เธอหมายมั่นปั้นมือว่าจะกู้หน้ากลับมาให้ได้

 

ด้านการแข่ง มาราธอน จุดสนใจเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอลิอุด คิปโชเก้ แชมป์เก่า 2 สมัยซ้อน ซึ่งเจ้าตัวตั้งเป้าเป็นปอดเหล็กคนแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่คว้าทองโอลิมปิก 3 สมัยซ้อน

 

ปิดท้ายที่ประเภทลาน ไฮไลต์อยู่ที่ อาร์ม็องด์ หรือ มอนโด้ ดูพลานติส นักกระโดดค้ำชาวสวีเดน ที่เดินหน้าทุบสถิติโลกอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองในการแข่งโอลิมปิก 2 สมัยซ้อน


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic