stadium

ทำความรู้จักกีฬายิงธนูในโอลิมปิก

21 กุมภาพันธ์ 2563

ยิงธนูจัดเป็นชนิดกีฬาที่อยู่คู่โอลิมปิกมาช้านาน นับย้อนไปตั้งแต่ปี 1900 ก่อนที่จะเพิ่มประเภทหญิงในอีก 4 ปีต่อมา ดังนั้นยิงธนูจึงเป็นกีฬาชนิดแรก ๆ ในโอลิมปิกที่มีแข่งทั้งสองเพศ โดยใน โตเกียว 2020 ยิงธนูเพิ่มการแข่งประเภททีมผสมเข้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ใน โอลิมปิก เกมส์ มีการแข่งขันแค่ประเภทคันธนูโค้งกลับหรือ recurve เท่านั้น

 

แล้วการแข่งกีฬายิงธนูในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ใครคือนักกีฬาที่น่าสนใจ และโตเกียว 2020 กีฬายิงธนูมีระบบการแข่งแบบไหน ติดตามได้ที่นี่

 

กีฬายิงธนูกับโอลิมปิก

 

หลังจากได้รับการบรรจุแข่งในโอลิมปิกหนแรกเมื่อปี 1900 ก่อนจะมีแข่งอีก 3 สมัยในปี 1904, 1908 และ 1920 กีฬายิงธนูก็หายหน้าหายตาไปจาก โอลิมปิก เกมส์ นานถึง 52 ปี ก่อนที่จะได้บรรจุแข่งอีกครั้งในปี 1972 ที่นครมิวนิค โดยมีการแข่งประเภทบุคคลชายและหญิง

 

ณ เวลานั้น อูแบร์ ฟาน อินนิส ตำนานชาวเบลเยียม คือนักกีฬายิงธนูที่ครองเหรียญโอลิมปิกมากที่สุดจาก 6 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน ตามด้วย คิม ซู-นยอง จาก เกาหลีใต้ ที่คว้า 4 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากการลงแข่งในปี 1988, 1992 และปี 2000

 

เกาหลีใต้คือชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาชนิดนี้ หลังคว้าไป 23 เหรียญ จากทั้งหมด 34 เหรียญทอง นับตั้งแต่ปี 1984 ขณะที่ ควีนี่ย์ เนวอลล์ ตำนานชาวสหราชอาณาจักร เจ้าของเหรียญทองปี 1908 ที่กรุงลอนดอน ครองสถิตินักกีฬาหญิงอายุมากที่สุดที่คว้าเหรียญทองด้วยวัย 53 ปี

 

รูปแบบการแข่งขันใน โตเกียว 2020

 

การแข่งขันยิงธนูในโอลิมปิกมีการชิงชัย 4 เหรียญทองมาตั้งแต่ปี 1988 ถึงปี 2016 แบ่งเป็น บุคคลหญิง, บุคคลชาย, ทีมหญิงและทีมชาย ก่อนจะเพิ่มประเภททีมผสมใน โตเกียว 2020 ซึ่งทั้ง 16 ทีมจะประกอบด้วยหญิง 1 คน ชาย 1 คน โดยระยะห่างจากนักกีฬาไปถึงเป้าหมายจะเท่ากันทุกประเภทคือ 70 เมตร

 

ในประเภทบุคคล นักยิงธนูทั้ง 64 คนจะเริ่มต้นจากรอบจัดอันดับ ก่อนจะประกบคู่แข่งแบบแพ้คัดออกเพื่อหาผู้มีอันดับสูงสุด ส่วนประเภททีมใช้ผลจากรอบจัดอันดับของประเภทบุคคล คะแนนจากนักกีฬาทั้ง 3 คนในทีมจะถูกนับรวมเป็นอันดับของทีม ก่อนจะประกบคู่แข่งแบบแพ้คัดออกเพื่อหาผู้ชนะ

 

กระบวนการคัดเลือก

 

จะมีนักกีฬายิงธนูทั้งหมด 128 คนใน โตเกียว 2020 แต่ละชาติส่งนักกีฬาลงแข่งได้มากสุดเพศละ 3 คน ส่วนโควตาทั้งหมดในประเภททีม (ต่อเพศ) แบ่งเป็น 24 คน (8 ทีม) จากรายการชิงแชมป์โลกปี 2019, 9 คน (3 ทีม) จากรายการ Final World Team Qualification Tournament ส่วนประเภททีมผสม 5 ทีม มาจากรายการชิงแชมป์ระดับทวีป

 

ขณะที่ประเภทบุคคล 4 โควตาต่อเพศ มาจากรายการชิงแชมป์โลก โดยมอบให้กับนักกีฬาที่ยังไม่ได้โควตาจากประเภททีมและมีอันดับสูงสุด, อีก 3 โควตามาจากรายการชิงแชมป์ระดับทวีปของ เอเชีย, ยุโรป และ อเมริกา อีก 13 โควตามาจากการแข่งรอบคัดเลือกของแต่ละทวีปแบ่งเป็น ยุโรป 4 ที่นั่ง, เอเชีย 3 ที่นั่ง, อเมริกา 3 ที่นั่ง, แอฟริกา 2 ที่นั่ง และ โอเชียเนีย 1 ที่นั่ง ขณะที่โควตาสุดท้ายมาจากศึก Final World Individual Qualification Tournament

 

ส่วนเจ้าภาพหากไม่ได้โควตาจากเกณฑ์คัดเลือก จะได้รับสิทธิ์ 3 ที่นั่งต่อเพศแบบอัตโนมัติ แต่ต้องลงแข่งในรายการชิงแชมป์โลกทั้ง 3 คนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์เชิญจากคณะกรรมาธิการไตรภาคีอีกเพศละ 2 ที่นั่ง โดยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2021 จะได้ข้อสรุปโควตาทั้งหมด  

 

นักกีฬาที่น่าจับตามองใน โตเกียว 2020

 

ใน ริโอ 2016 นักยิงธนูเกาหลีใต้กวาดเรียบทั้ง 4 เหรียญทอง โดย จาง ฮเย-จิน และ คู บอน-ชาน คว้าแชมป์ประเภทบุคคล โดยรายหลังคว้าเหรียญทองประเภททีมได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นใน โตเกียว 2020 เกาหลีใต้ยังคงเป็นชาติที่ได้รับการจับตามอง และเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองอีกสมัย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยในประเภทชาย มีทั้ง เบรดี้ เอลลิสัน เจ้าของ 3 เหรียญโอลิมปิกจากสหรัฐ , คิม วูจิน อีกหนึ่งมือแม่นจากเกาหลีใต้, เมาโร เนสโปลี จาก อิตาลี และ รูมาน ชานา จาก บังกลาเทศ

 

ส่วนประเภทหญิง ไล่ เจี้ยน อิง จาก ไชนีส ไทเป เจ้าของ 2 แชมป์โลก รวมท้ัง คัง แช-ยัง จากเกาหลีใต้, ดีปีก้า คูมารี จาก อินเดีย และ ลิซ่า อุนรูห์ จาก เยอรมนี คือกลุ่มมีลุ้นเหรียญรางวัลที่โตเกียว


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic