16 มิถุนายน 2567
โอลิมปิก เกมส์ 2020 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมปี 2021 แต่หนึ่งหรือสองคำถามที่หลายคนเกิดความสงสัยตั้งแต่ได้เห็นขบวนพาเหรดนักกีฬาคือ Refugee Olympic Team (EOR) หรือทีมผู้ลี้ภัย คืออะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงได้ถือธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)
และอีกคำถามคือทีม ROC มาจากไหน แม้หลาย ๆ ท่านจะทราบแล้วว่าเป็นทีมชาติรัสเซีย แต่ทำไมพวกเขาไม่ได้ใช้ชื่อและธงชาติของประเทศตัวเอง แล้วในปารีสเกมส์หนนี้ พวกเขาจะได้ลงแข่งหรือไม่
เมื่อมีข้อสงสัย เราจึงมาไขคำตอบ ทั้ง 2 ทีมมีที่มาอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
ทีมผู้ลี้ภัยมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ(UN) ในเดือนตุลาคมปี 2015 หลังจากเผชิญปัญหาผู้ลี้ภัยนับล้านคนทั่วโลกไร้ที่อยู่อาศัย โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ประกาศกลางที่ประชุมว่าจะจัดตั้งทีมนักกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ในปี 2016
10 เดือนหลังจากนั้น 10 นักกีฬาจาก เอธิโอเปีย, ซูดานใต้, ซีเรีย และ ดีอาร์ คองโก ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ริโอ เกมส์ เคียงข้างกับนักกีฬากว่า 11,000 คน ซึ่งโครงการพิเศษนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ IOC ในการยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยและสนับสนุนพวกเขาผ่านการเล่นกีฬา และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ผ่านโครงการสนับสนุนนักกีฬาผู้ลี้ภัยช่วยให้พวกเขาไม่เพียงแค่ฝึกฝนเพื่อให้ได้ไปแข่งโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขามีก้าวต่อไปในอาชีพ และสร้างอนาคตด้วยตัวเอง
จากผลตอบรับที่ดีทำให้ในเดือนตุลาคมปี 2018 IOC ลงมติให้มีทีมผู้ลี้ภัยใน โตเกียว 2020 และมอบหมายให้โครงการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกนักกีฬาโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ, สหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศ และคณะกรรมการจัดงานโตเกียว 2020
ขณะเดียวกัน IOC ยังได้เปลี่ยนโค้ดสำหรับทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยจาก ROT (Refugee Olympic Team) มาเป็น EOR ตามภาษาฝรั่งเศสคือ Équipe olympique des réfugiés ที่มีความหมายเดียวกัน ซึ่งจากกรณีนี้ทำให้ทีมผู้ลี้ภัยได้เดินขบวนพาเหรดเป็นอันดับที่ 2 ตามอักษรภาษาญี่ปุ่น ต่อจากกรีซที่เป็นอันดับแรกตามธรรมเนียม ในพิธีเปิดโตเกียว 2020
ทีมผู้ลี้ภัยในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ "ปารีส 2024" ครั้งนี้ มีทั้งหมด 36 คนจาก 11 ประเทศใน 12 ชนิดกีฬา ซึ่งอาศัยและฝึกซ้อมอยู่ใน 15 ประเทศเจ้าบ้าน โดยมี มาโซมาห์ อาลี ซาด้า หนึ่งในนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยของ "โตเกียว 2020" ทำหน้าที่หัวหน้าคณะที่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากระบบทุนนักกีฬาผู้ลี้ภัย และคณะกรรมการบริหารของไอโอซีเป็นผู้เลือกนักกีฬาเข้าแข่งในครั้งนี้
สำหรับนักกีฬาที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับเลือก ต้องลงแข่งขันกีฬานั้น ๆ ในระดับสูง และเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเจ้าบ้าน ตามบันทึกขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนั้นการคัดเลือกยังคำนึงถึงความสมดุลในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย
ส่วนสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของทีม (รวมถึงพิธีรับเหรียญรางวัล) นักกีฬาผู้ลี้ภัยจะใช้ธงโอลิมปิกและเล่นเพลงของโอลิมปิกแทนเพลงชาติ ส่วนตัวนักกีฬาจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาเช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากการที่ องค์การต่อต้านสารกระตุ้นโลก (WADA) สั่งแบนรัสเซียจากการลงแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปี 2019 เนื่องจากมีความผิดฐานปกปิดข้อมูลและฉ้อโกงการแข่งขันด้วยการใช้สารกระตุ้น ส่งผลให้นักกีฬารัสเซียไม่สามารถลงแข่งในนามประเทศของตัวเองได้
ขณะที่ทีม ROC นั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นประเทศ แต่เป็นช่องทางให้นักกีฬารัสเซียลงแข่งได้แม้ชาติบ้านเกิดจะถูกแบนก็ตาม โดย ROC เป็นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย ซึ่งนักกีฬาสามารถลงแข่งในนามตัวแทนคณะกรรมการได้ ซึ่งกฎของโอลิมปิกระบุว่าต้องใช้ ROC แทนชื่อเต็ม ดังนั้นหากนักกีฬาคว้าเหรียญทองจะไม่มีการเชิญธงชาติรัสเซีย ไม่มีการเล่นเพลงชาติรัสเซีย แต่จะเล่นเพลงของ Tchaikovsky ตำนานนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย และเชิญธง ROC แทน ส่วนชุดยูนิฟอร์มได้รับอนุญาตให้มีคำว่า "Russian" ได้ แต่ต้องตามด้วย "neutral athlete" เท่านั้น เพื่อให้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติรัสเซียนั่นเอง
ใน ปารีส เกมส์ จะไม่มีนักกีฬาทีมชาติรัสเซีย และเบลารุส รวมทั้้ง ROC ลงแข่งขัน เนื่องจากกรณีการรุกรานยูเครน แต่จะมีทีม AIN ที่ย่อมาจาก Individual Neutral Athletes ซึ่งเปิดโอกาสให้กับนักกีฬาจากทั้งสองชาติที่ได้รับการยืนยันให้เข้าร่วมการแข่งขันได้ ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอย่างเข้มงวดของไอโอซี
นักกีฬาทีมดังกล่าวจะลงแข่งในนามบุคคล โดยห้ามใช้ธงหรือเพลงของไอโอซี แต่แทนที่ด้วยธง AIN นอกจากนั้นยังไม่มีสิทธิ์ร่วมเดินขบวนพาเหรดในพิธีเปิด หรืออยู่อันดับสรุปเหรียญรางวัลของแต่ละชาติ
สำหรับจำนวนนักกีฬาทีม AIN ใน ปารีสเกมส์ มีทั้งหมด 39 คน เป็นนักกีฬาเบลารุส 22 คน และรัสเซีย 17 คนจากทั้งหมด 8 ชนิดกีฬาคือ เรือแคนู, จักรยาน, ยิมนาสติก, เรือกรรเชียง, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก และมวยปล้ำ
TAG ที่เกี่ยวข้อง