stadium

สเกตบอร์ดกับภารกิจเปลี่ยนมุมมองสังคมญี่ปุ่น

26 กรกฎาคม 2564

“เด็กสเกต” คำพูดที่เอาไว้เรียกเด็กวัยรุ่นที่หิ้วบอร์ดไว้ที่เอว สวมเสื้อยี่ห้อ Thrasher และใส่กางเกงขาสั้น พร้อมหูฟังแอร์พอดที่อาจจะกำลังฟังเสียงคำรามของ เคิร์ท โคเบน ตำนานพังค์ร็อคจากวง Nirvana วัฒนธรรมที่เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายไปสู่หลายพื้นที่ทั่วโลก ลานสเกตเกิดขึ้นมากมายในชุมชน หลายประเทศมีเด็กจบใหม่ใช้สเกตบอร์ดในการเดินทาง แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นดินแดนที่ว่ากันว่าเป็นชาติอนุรักษ์นิยมที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก กลับมองกีฬาหรืองานอดิเรกนี้เป็นสิ่งต้องห้าม ซ้ำยังถูกมองว่าแปลกแยกและแลดูไม่เป็นมิตรต่อคนในสังคม

 

ในขณะเดียวกันที่วัฒนธรรมของตะวันตกยังไม่สามารถผสานเป็นเนื้อเดียวกับสังคมที่มีขนบธรรมเนียมเหนียวแน่น สเกตบอร์ดกลับกำลังจะกลายเป็นกีฬาที่ญี่ปุ่นได้เหรียญทองมากที่สุดใน โอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียวกลางปี 2021 ซึ่งความสำเร็จนี้อาจเปลี่ยนทัศนคติที่สังคมแดนอาทิตย์อุทัยมองกีฬานี้ในแง่ลบให้มีมุมมองดีขึ้นก็เป็นได้

 

 

การไม่ยอมรับทางสังคม และภาพจำของเด็กเกเร

ภาพของเมืองโตเกียวที่คึกคักตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงแสงสียามค่ำคืน สเกตบอร์ดเป็นสัญลักษณ์ของวัยรุ่นที่ทำได้เพียงซ่อนตัวอยู่ในหลืบของมหานครที่คึกคักที่สุดในโลก เด็กที่เล่นสเกตบอร์ดไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรืองานอดิเรกต่างถูกมองให้เป็นเด็กที่แปลกแยกจากสังคมและบางครั้งมีผลต่อกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

การพกสเกตบอร์ดไปที่สาธารณะอาจโดนมองเป็นบุคคลอันตราย เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะขอค้นตัวค้นกระเป๋าของวัยรุ่นคนนั้น ด้วยเหตุผลว่าอาจพกของที่อันตรายหรือเป็นไปได้ว่าอาจก่อเหตุร้าย ซึ่งในบางครั้งวัยรุ่นที่เล่นสเกตบอร์ดเป็นอาชีพจะนำมีดพกสั้นติดตัวสำหรับขูดหินหรือเศษดินที่ติดกับล้อของบอร์ดหลังเล่นเสร็จ นั่นทำให้เจ้าหน้าที่มองเด็กเหล่านี้เป็นอันตรายหนักขึ้นไปอีก มีบางเหตุการณ์ที่วัยรุ่นเหล่านี้ถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำหลายชั่วโมง

 

“ไม่มีทางเห็นคนใช้สเกตบอร์ดบนถนนในโตเกียวหรอกครับ” ชิมอน อิวาซาวะ นักสเกตบอร์ดมืออาชีพให้สัมภาษณ์กับสำนักพิมพ์ Asahi Shimbun

 

“หากคุณหยิบสเกตบอร์ดออกมาจากกระเป๋า คุณจะถูกมองเป็นเด็กไม่ดี เด็กเกเร หรือไม่ก็มีปัญหาทางบ้านครับ เราถูกมองว่าทำตัวน่ารำคาญ”

 

 

สถานะที่แตกต่างของจักรยานและสเกตบอร์ด

ในขณะที่สเกตบอร์ดถูกมองเป็นกีฬาของเด็กปัญหา จักรยานทุกประเภทกลับกลมกลืนกับสังคมญี่ปุ่นจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวปลาดิบไปซะแล้ว ด้วยสาเหตุหลักคือมันเงียบและมีประโยชน์ ในขณะที่สเกตบอร์ดถูกมองว่ามันดูน่ารำคาญ เสียงดังและสกปรก

 

นับตั้งแต่กีฬาเอ็กซ์ตรีมข้ามฟากจากสหรัฐฯ มายังญี่ปุ่นผ่านเสียงดนตรี ภาพยนตร์ และแฟชั่น รวมไปถึงไอคอนแห่งวงการเอ็กซ์ตรีมอย่าง โทนี่ ฮอว์ค ที่เคยมาเยือนญี่ปุ่นและเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ ผ่านมาหลายสิบปีในขณะที่กีฬาจักรยานผาดโผนได้รับความนิยมจนสามารถสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงขึ้นไปเป็นแชมป์โลกมากมาย กลายเป็นสเกตบอร์ดที่ยังต้องหลบตัวเองอยู่ในเงาของสังคมที่ไม่ต้อนรับ

 

ประเทศญี่ปุ่นมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่มาก เด็กถูกสั่งสอนให้มีความเคารพต่อผู้อื่น ทะเยอทะยานได้แต่ไม่ควรทำตัวให้โดดเด่น ป้ายทางท้องถนนและสถานีรถไฟมักจะมีสัญลักษณ์เตือนให้ระวังทางเดิน งดใช้โทรศัพท์ระหว่างเดิน ลดเสียงหูฟังบนรถไฟเพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสารคนอื่น พนักงานบริษัทสวมใส่เชิ้ตสีขาว กางเกงสแล็กสีดำเพื่อความกลมกลืนในสถานที่ทำงาน ซึ่งแนวทางของสังคมมันช่างขัดกับบรรดาเด็กสเกตที่สวมหูฟัง ใส่กางเกงขาสั้น กับรองเท้าผ้าใบพื้นยางซะเหลือเกิน

 

 

เหรียญทองโอลิมปิก ปัจจัยที่อาจทำให้สังคมยอมรับมากขึ้น

หลังการประชุมของคณะกรรมการโอลิมปิกเมื่อปี 2016 ที่ได้ลงมติให้กีฬาสเกตบอร์ดเป็น 1 ใน 5 กีฬาใหม่ที่จะมีการชิงชัยเหรียญทองใน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพ ทำให้สังคมของแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มแสดงสัญญาณที่จะเปิดรับกีฬาชนิดนี้ให้กระชับเข้ามาใกล้ชิดกับชาวญี่ปุ่นมากขึ้น

 

นักกีฬาสเกตบอร์ดทีมชาติญี่ปุ่นสามารถเดินทางมาซ้อมอย่างเปิดเผยได้มากขึ้น ลานสเกตถูกสร้างขึ้นในย่านชุมชมอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันดูเหมือนลานสเกตกลายเป็นของคู่กันกับสนามจักรยานวิบากและจักรยานเอ็กซ์ตรีมไปแล้ว

 

ผลลัพธ์ที่ได้แสดงผลออกมาตั้งแต่การแข่งขัน 2 รายการแรก เมื่อ ยูโตะ โฮริโกเมะ และ โมมิจิ นิชิยะ ต่างคว้าเหรียญทองในประเภทสตรีทชายและหญิง กลายเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของกีฬาชนิดนี้ในโอลิมปิก

 

ยังเหลืออีก 2 รายการคือประเภทพาร์ค ชาย-หญิง ซึ่งหากญี่ปุ่นเก็บเหรียญทองได้ทั้งหมด ก็อาจทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นมากขึ้นเหมือนที่กีฬาจักรยานเคยเป็นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

 

แต่แค่เพลงชาติ “คามิกาโย” ได้ดังขึ้นในสนามแข่งที่ อาริอาเกะ เออร์เบิน สปอร์ต พาร์ค ก็ทำให้กีฬาสเกตบอร์ดเริ่มเห็นแสงสว่าง และพร้อมจะก้าวออกมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและได้การต้อนรับในฐานะกีฬาที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้กับประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน

 

"เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความของ คันทาโร่ ซูซุกิ คอลัมนิสต์ของ Asahi Shimbun"


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

stadium olympic