stadium

ชวนวิเคราะห์ 5 ทีมเต็งแชมป์วอลเลย์บอลชายโอลิมปิกเกมส์ 2020

22 กรกฎาคม 2564

“โอลิมปิกเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กำลังจะเปิดฉากขึ้นเต็มทีแล้ว ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายถือว่าเป็นอีกไฮไลท์สำคัญที่หลายๆคนตั้งตารอคอย แม้ว่ากระแสความนิยมในบ้านเราจะเอนเอียงไปฝั่งทีมหญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าในระดับโลก “ตบลูกยางชาย” ได้รับความนิยมมากกว่าหลายเท่า 

 

ในการแข่งขัน “โตเกียวเกมส์” ทีมชั้นนำระดับโลก สามารถทะลุผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาได้เกือบทุกทีม ที่ขาดหายไปส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนจากยุโรป เพราะว่าเป็นโซนที่เต็มไปด้วยทีมระดับแนวหน้าของวงการ และในวันนี้เราจะมาลองวิเคราะห์กันว่า 5 ตัวเต็งที่จะเป็น “แชมป์โอลิมปิกฯ” ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชาย น่าจะมีทีมไหนกันบ้าง !!!

 

 

“แชมป์เก่า” บราซิล

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “หนุ่มแซมบ้า” คือการประกาศวางมือของ แบร์นาโด้ เรเซนเด้ กุนซือใหญ่ยอดฝีมือ ที่คุมทัพมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2001 หลังสิ้นสุดการแข่งขัน “โอลิมปิกฯ 2016” ที่กรุงริโอฯ ประเทศบราซิล แต่การมาของ “โค้ชคนใหม่” เรนาน ดัล ซอตโต้ ก็แทบไม่ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นหรือผลงานของ บราซิล เลยแม้แต่น้อย โดยตั้งแต่ที่ ดัล ซ็อตโต้ ก้าวขึ้นมาคุมทีม พวกเขากวาดแชมป์รายการใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วย “เวิลด์ แกรนด์ฯ 2017”, “เวิลด์ คัพ 2019” และ “เนชั่นส์ลีก 2021” รวมทั้งยังจบเป็น “รองแชมป์โลก” ในปี 2018 และ แชมป์โซนอเมริกาใต้ ครั้งที่ 32 ในประวัติศาสตร์(2019)

 

ขุมกำลังของ “บราซิล” อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างจาก “โอลิมปิกฯ 2016” แต่หลายคนที่เป็นตัวหลักจากครั้งก่อนก็ยังพร้อมลงสนามช่วยทีม ไม่ว่าจะเป็น บรูโน่ เรเซนเด้, วัลเลซี่(วัลเลซ) เด ซูซ่า, ริคาร์โด้ ลูคาเรลลี่ หรือแม้แต่ ลูคัส ซัตแคมป์ และที่น่าสนใจคือในครั้งนี้ บราซิล ได้สตาร์ดังอย่าง โยอันดี้ เรอัล ที่โอนสัญชาติจาก คิวบา มาติดธงเพิ่มอีก 1 คน ส่งผลให้ บราซิล แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมอีกพอสมควร โดยจุดเด่นของ เรอัล คือเกมรุกที่หนักหน่วงและดุดันเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ บราซิล ยังขาดหายไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือการเล่นที่สุขุมและเยือกเย็น นั่นเป็นอีกสิ่งที่ เรอัล เข้ามาเติมเต็มให้กับ บราซิล ในชุดลุย “โตเกียวเกมส์” 

 

 

 

“เต็งตลอดกาล” สหรัฐอเมริกา

 

จัดว่าเป็นทีมที่มีมาตรฐานการเล่นค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ และมักทำผลงานได้น่าประทับใจในการแข่งขัน “โอลิมปิกฯ” เพราะว่าสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 3 ครั้ง แต่ผลงานในรายการใหญ่ช่วงหลังๆมักจบลงด้วยตำแหน่ง “พระรอง” เพราะมักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในเกมนัดสำคัญ สไตล์การเล่นของ สหรัฐฯ แทบไม่แตกต่างกันเลยระหว่าง ทีมชาย และ ทีมหญิง พวกเขาเน้นในเรื่องของระบบการเล่นเป็นหลัก ส่วนความสามารถของนักกีฬาคือสิ่งที่สำคัญรองลงมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า “สตาร์ดัง” ที่ติดธงเกือบทุกคนใน “โตเกียวเกมส์” ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เล่นระดับแนวหน้าของวงการทั้งนั้น 

 

จุดเด่นของ สหรัฐฯ คือรูปแบบการเล่นที่ถูกวางเอาไว้ชัดเจน นักกีฬาชื่อดังหลายคน อาทิเช่น แมทธิว แอนเดอร์สัน, ไมกาห์ คริสเท็นเซ่น, เทเลอร์ แซนเดอร์, คาวิก้า โชจิ, แม็กเวลล์ โฮลท์ รวมทั้ง เดวิด สมิธ ค่อนข้างเข้าขารู้ใจกันเป็นอย่างดีเพราะว่าเล่นร่วมกันมานาน และส่วนใหญ่ขยับขึ้นมาติดธงในช่วงเวลาใกล้ๆกัน รวมทั้งยังเป็นตัวหลักของ สหรัฐฯ ที่จบเป็นอันดับ 3 ในโอลปิกฯ 2016 ที่ประเทศบราซิล ในเรื่องของ “ทีมเวิร์ค” และ “ฝีไม้ลายมือ” ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง สภาพร่างกายแข็งแรงและคล่องแคล่วว่องไวมากทีมหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อถึงเวลาลงสนามพวกเขาจะเรียกฟอร์มเก่งได้หรือไม่

 

 

 

“แชมป์โลก 3 สมัย” โปแลนด์

 

ในการแข่งขันรายการระดับโลก โปแลนด์ จัดว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากทีมหนึ่ง โดยล่าสุดเพิ่งคว้าตำแหน่ง “แชมป์โลก” มาครองได้ 2 สมัยติดต่อกัน(2014, 2018) ซึ่งเป็นการเอาชนะ บราซิล ได้ทั้ง 2 ครั้งในรอบชิงฯ พวกเขาเป็นทีมที่มีสไตล์การเล่นดุดันและมีความคล่องตัวสูงกว่าหลายๆทีมในยุโรป บอลรุกผสมที่หลากหลายถือว่ายังมีน้อยกว่าคู่แข่งบางทีม แต่ความแน่นอนในการเล่นคือสิ่งสำคัญที่พาพวกเขาประสบความสำเร็จทั้งที่เล่นด้วยบอลโครงสร้างเป็นหลัก

 

โปแลนด์ จะเน้นการเสิร์ฟเพื่อทำคะแนนซึ่งถือเป็นทักษะเริ่มต้นที่ทำกันไม่ได้ง่ายๆ ตัวเซ็ตเน้นจ่ายบอลที่แน่นอนมากกว่าเล่นพลิกแพลงแต่มีโอกาสพลาดได้ง่าย ความแข็งแรง และ ความสูง ถือว่าไม่เป็นรองคู่แข่งชาติอื่นๆ และอีกจุดแข็งของ โปแลนด์ ที่หลายๆทีมต่างพากันปวดหัวคือ วิลเฟรโด้ เลออน ยอดดาวตบชาวคิวบา ที่โอนสัญชาติมารับใช้ โปแลนด์ ได้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เลออน จัดว่าเป็นนักวอลเลย์บอลชายที่มีค่าเหนื่อยสูงที่สุดเป็นเบอร์ต้นๆของโลก ดังนั้นจึงไม่ใครใน โปแลนด์ ที่สงสัยในเรื่องความสามารถของเขา

 

 

“มหาอำนาจลูกยางโลก” รัสเซีย

 

“หนุ่มแดนหมีขาว” กับรางวัลการันตีมากมายในการแข่งขันระดับโลก ไม่ว่าจะจัดการแข่งขันเมื่อไหร่ รัสเซีย มักจะเป็นชาติแรกๆที่มีชื่อติดเหรียญรางวัล รัสเซีย เป็นชาติที่มีทรัพยากรให้เลือกใช้ค่อนข้างเยอะ(ตามจำนวนประชากร) รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความสามารถทางด้านกีฬา พวกเขาจึงมีผู้เล่นคุณภาพสูงก้าวขึ้นมาติดธงรับใช้ชาติอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานการเล่นไม่ค่อยตกมากนักเมื่อเทียบกับหลายๆทีม

 

รัสเซีย เป็นทีมที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนทั้งทีมชายและหญิง คือ “รูปร่างสูงใหญ่” บวกกับความสามารถที่ค่อนข้างสูงของนักกีฬาแต่ละคน ส่งผลให้ ทีมงานผู้ฝึกสอน สามารถวางระบบและรูปแบบการเล่นได้ตามที่ต้องการ สไตล์การเล่นของ รัสเซีย คล้ายๆกับทีมส่วนใหญ่ของยุโรปแต่เหนือกว่าเพราะความสูง เกมรุกหนักหน่วง ไม่เล่นบอลรุกแบบผสมที่ซับซ้อนเกินไป เน้นการจ่ายบอลที่เร็วและแม่นยำ นอกจากนั้น รัสเซีย ยังเป็นทีมที่ความมุ่งมั่นตั้งใจมากในทุกครั้งที่ลงสนาม เพราะแต่ละคนต้องการโชว์ผลงานเพื่อรักษาตำแหน่งภายในทีม เนื่องจากมีผู้เล่นอีกหลายคนที่พร้อมจะก้าวขึ้นมาแทนในรายการต่อๆไป

 

 

“ศิลปินลูกยาง” ฝรั่งเศส

 

นับตั้งแต่คว้าแชมป์ “เวิลด์ลีก 2015” มาครองได้สำเร็จ ฝรั่งเศส กลายเป็นขาประจำในรายการระดับนานาชาติมาโดยตลอด แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่มาครองได้มากนัก แต่กลับกลายเป็น “ทีมขวัญใจ” ที่แฟนลูกยางทั่วโลกตั้งตารอชมผลงานในสนาม รูปแบบการเล่นถือว่าคล้ายคลึงจากทีมในยุโรปทั่วไป เกมรุกอาศัยความหนักหน่วง เน้นบอลหัวเสาในการทำคะแนนเป็นหลักสลับกับบอลสั้นบ้างตามสมควร แต่พวกเขามีเกมรับที่เหนียวแน่นและคล่องแคล่วว่องไวพอสมควร 

 

ไฮไลท์สำคัญของ ฝรั่งเศส คือสไตล์การเล่นเรียกแขกของ เอร์แวงต์ เอ็นกาเป็ธ ดาวตบเชื้อสายแคเมอรูน ที่มักโชว์ลีลาการเล่นเหนือความคาดหมายออกมาบ่อยครั้ง และยังเป็นตัวอันตรายที่ทีมจะขาดไปเสียไม่ได้ แน่นอนว่าการเล่นแบบเสี่ยงเกินไปของ เอ็นกาเป็ธ เปรียบเหมือนดาบสองคมที่พร้อมจะทิ่มแทง ฝรั่งเศส ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เพราะในบางจังหวะที่ผิดพลาดก็จะเป็นการเสียแต้มง่ายๆแบบน่าเสียดาย และที่ผ่านมามันก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในเกมใหญ่ๆ แต่ถ้าทุกอย่างลงตัว เอ็นกาเป็ธ ก็จะเล่นงานคู่แข่งได้แบบไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน เพราะว่า เจ้าตัว มีจังหวะเข้าบอลที่รวดเร็วมาก


stadium

author

ภุมเรศ เอี่ยมเชย

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจ Wantleyball

stadium olympic