stadium

จงกลพรรณ กิติธรากุล : ชีวิตนี้เพื่อแบดมินตันกับความท้าทายที่ต้องพิสูจน์

20 กรกฎาคม 2564

'กิ๊ฟ' จงกลพรรณ กิติธรากุล นักแบดมินตันประเภทหญิงคู่เป็นอีกหนึ่งนักกีฬาไทยที่น่าจับตามองในการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่จะถึงนี้ เธอคือนักกีฬาที่นำพาแบดมินตันประเภทหญิงคู่ขึ้นเทียบชั้นระดับโลก ผลงานมากมายที่การันตีความสามารถของเธอไม่ว่าจะเป็นแชมป์มาเลเซีย มาสเตอร์ 2017 แชมป์อินเดีย โอเพ่น 2018 ถัดมาในปี 2019 กิ๊ฟขึ้นแท่นคว้าแชมป์ไชนิส ไทเป โอเพ่น

 

นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลในระดับกีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปี 2015, 2017 และ 2019 ที่แข่งขันในประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ด้วยการจบอันดับสูงสุดของทีมหญิงและคว้ารางวัลเหรียญทองกลับมาได้สำเร็จ

 

จงกลพรรณหรือกิ๊ฟ เด็กหญิงจากเชียงใหม่สู่นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติ สิ่งที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุดในชีวิตคือความมุ่งมั่นและความฝันที่จะยกระดับแบดมินตันประเภทคู่ในเทียบชั้นสู้กับนานาประเทศ อะไรคือแรงเหนี่ยวนำที่ทำให้เธอกล้าฝัน เราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับเส้นทางชีวิตของเธอ

 

 

สองแรงบวก

 

จงกลพรรณหรือกิ๊ฟ เป็นที่รู้จักกันในวงการแบดมินตันมาตั้งแต่ที่เธอยังเป็นเด็กด้วยความที่เธอมีเชื้อสายจากนักกีฬาแบดมินตันและมีคุณลุงเป็นถึงประธานแบดมินตันที่จังหวัดเชียงใหม่ทำให้กิ๊ฟตบเท้าเข้าสู่วงการลูกขนไก่ตั้งแต่วัยเยาว์

 

"หนูเป็นคนเชียงใหม่เกิดที่นั่นแต่ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพตอนอายุได้หนึ่งขวบ แต่มีพี่สาวที่เป็นนักกีฬาแบดมินตันอยู่แล้วและมีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น พวกเขาตีแบดมินตันกันทุกคนพอดีพ่อสนิทกับลุงก็เลยฝากหนูให้ไปร่วมซ้อมกับพวกเขาด้วย ตอนนั้นหนูยังไม่รู้ว่าชอบอะไรรู้แค่ว่าชอบความรู้สึกเวลาได้ลงแข่ง เวลาที่ได้รางวัลมารู้สึกว่ามันสะใจดีจะบอกว่าหนูเสพติดชัยชนะก็ได้เพราะเวลาแข่งแล้วแพ้จะเฟลมาก"

 

ครั้งหนึ่งกิ๊ฟ เคยปะมือกับ 'เมย์’ รัชนก อินทนนท์ ในช่วงที่ยังเป็นเยาวชนการแข่งขันที่เธอยอมรับในฝีมือของเมย์ว่าเหนือชั้น แม้จะเริ่มต้นด้วยการแข่งขันแบดมินตันประเภทเดี่ยวแต่เมื่อเธอรู้ด้วยสัญชาตญาณแล้วว่า "ไม่น่ารอด" กิ๊ฟจึงตั้งเป้าหมายไปที่การแข่งขันประเภทคู่เป็นหลัก

 

"ตอนอายุ 9 ขวบหนูแข่งขันในประเภทเดี่ยวมาก่อนจะบอกว่าแข่งเป็นประเภทหลักก็ได้และเคยได้แข่งกับเมย์ในประเภทเดี่ยวตอนนั้นขึ้นแท่นชิงกับเมย์บ่อยมากแต่ก็เป็นเขาที่ชนะมากกว่า ส่วนในประเภทคู่ที่ทำการแข่งขันก็มีได้แชมป์บ้างซึ่งมันมากกว่าประเภทเดี่ยวเสียอีก"

 

 

 

พัฒนาการที่ดีขึ้นตามช่วงวัยส่งผลให้กิ๊ฟไปได้สวยบนเส้นทางนักแบดมินตัน กระทั่งเอสซีจี อะเคเดมีเห็นแววรุ่งจึงเปิดโอกาสให้กิ๊ฟได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมป์ฝึกซ้อมและเริ่มจริงจังกับการแข่งขันประเภทคู่มากขึ้น ด้วยฟอร์มโดดเด่นในท้ายที่สุดสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยจึงหาคู่ใหม่ให้เธอได้ลงแข่งร่วมกับ 'วิว' รวินดา ประจงใจ นั่นจึงทำให้เส้นทางนักแบดมินตันใสสดกว่าที่เคย

 

"หนูได้โควต้าเข้าร่วมฝึกแบดมินตันในโครงการของเอสซีจี อะเคเดมี ในปีที่ 2 ตอนนั้นมีเด็กประมาณ 6-7 คนที่ได้เข้าแคมป์ฝึกซ้อม หนูใช้เวลาอยู่ที่เอสซีจีประมาณ 5-6 ปีก็ย้ายมาซ้อมที่สมาคมฯ ตอนนั้นเริ่มจริงจังกับประเภทคู่มากขึ้น ตอนอยู่ที่เอสซีจีเขาจับคู่ให้หนูไปเล่นกับเมล (พัชรกมล อากรสกุล) พอมาอยู่กับสมาคมก็เปลี่ยนคู่ให้อีกจนสุดท้ายก็ได้มาจับคู่กับวิว (รวินดา ประจงใจ) จนถึงตอนนี้

 

กิ๊ฟยังบอกด้วยว่า เหตุผลเดียวที่ทำให้เธอหันมาเอาดีในประเภทหญิงคู่คือ การแข่งขันที่ไม่ยืดเยื้อและยอมรับว่าเรี่ยวแรงเธอยังไม่ถึงที่จะยืนระยะในการแข่งขันที่ยาวนาน

 

"หนูรู้สึกเองว่าชอบตีคู่มากกว่า ประเภทเดี่ยวจะยื้อนานและใช้แรงเยอะ สไตล์หนูเหนื่อยง่ายและไม่ได้เป็นพวกสายขยันตี จำได้ว่าตอนอายุ 11-12 ปี ฟอร์มการเล่นตกลงลงไปเยอะ จากเมื่อก่อนขึ้นโพเดี้ยมประเภทเดี่ยวมาตลอด แม่ก็ส่งหนูไปฝึกในประเภทเดี่ยวเยอะขึ้น อัดพื้นฐานให้แน่นแต่ก็รู้สึกว่าทำไมทำผลงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม แต่สำหรับประเภทคู่ยังคงได้แชมป์ตลอด เดี่ยวติดบ้างไม่บ้าง มันเป็นช่วงที่หนูรู้แล้วว่าตัวเองไม่เหมาะกับประเภทเดี่ยว"

 

ด้วยจังหวะเวลาที่ลงตัวพร้อมกับผลงานที่ดีต่อเนื่องเมื่อกิ๊ฟลงแข่งขันพร้อมกับวิว นั่นจึงทำให้สาวน้อยอย่างกิ๊ฟยกให้วิวคือคู่ขาที่เข้าอกเข้าใจกันดีที่สุดสำหรับเธอ

 

 

ไม่อยากเป็นมดให้ใครเหยียบย่ำ

 

ความสามารถและพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับของกิ๊ฟ ส่งผลให้เธอก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยได้สำเร็จ ซึ่งการได้สวมชุดที่ประดับธงไตรรงณ์ไว้ที่อกซ้ายเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนใฝ่ฝัน แต่การยกระดับตัวเองให้ขึ้นสู่จุดสูงสุดไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสถานะตัวตนเปลี่ยนไปความยากง่ายก็แตกต่างเช่นกัน นั่นจึงเป็นช่วงที่กิ๊ฟพยายามค้นหาคำตอบให้กับตัวเองว่า "แท้จริงแล้วเธอหลงใหลในกีฬาแบดมินตันจริงหรือ?"

 

"โดยส่วนตัวหนูไม่ชอบเจอคนเยอะ จะชอบอยู่กับครอบครัวมากกว่า กับแบดมินตันค่อนข้างเซนซิทีฟ ค่อนข้างตั้งใจในการซ้อม เป็นคนที่ถ้าชอบอะไร จะชอบอย่างเดียวจริงจังไม่ไขว้เขว เคยถามตัวเองมาแล้วว่าชอบอย่างอื่นไหมพยายามค้นหาตัวตนตลอดเวลา บางช่วงจังหวะของช่วงชีวิตไม่ได้ดีตลอด เรื่องแบดมินตันก็เหมือนกัน บางทีก็มีแย่บ้าง ก็มีตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่าชอบแบดมินตันจริงไหม ที่เลือกเล่นเพราะเงินหรือเพราะเรามีเป้าหมายในชีวิต จริงๆ มันให้คำตอบหนูชัดเจนแล้วว่าอย่างอื่นไม่มีไม่ชอบ”

 

 

“แล้วคำตอบก็ชัดเจนขึ้นตอนที่หนูติดทีมชาติครั้งแรก ช่วงนั้นเป็นช่วงเก็บคะแนนโอลิมปิก เหมือนเราดูรุ่นพี่คนอื่นๆ ลงแข่งในแมตช์ใหญ่ รู้สึกว่าหนูติดทีมชาติแรกเป็นจังหวะที่หนูได้ใกล้แข่งซูเปอร์ซีรีส์ อารมณ์มันต่างจากการแข่งชาลเลนจ์ แต่พอครั้งแรกได้ไปอยู่ตรงจุดนั้น หนูรู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นมดให้เขาเหยียบมาก ๆ เจอนักกีฬาเก่งๆ เรารู้สึกตัวเล็กไปเลย ใจไม่สู้ รู้สึกเหมือนเป็นบันไดให้เขาก้าวข้ามต่อไปได้ตลอด พอแพ้บ่อยๆ ก็เริ่มไม่มั่นใจในตัวเอง ได้แต่เก็บเอามาคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าหนูได้เข้าชิงแมตช์ใหญ่ๆ มันเท่ หนูเลยตั้งเป้าหมายในชีวิตให้มันชัดขึ้นว่าจะต้องไม่มีอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก อารมณ์ที่แบบว่าจะมานั่งดูถูกตัวเอง"

 

แม้จะเป็นโจทย์ที่โหดและหิน แต่กิ๊ฟสามารถค้นใจตัวเองจนพาเธอไปพบกับตัวตนที่แท้จริงของเธอได้สำเร็จ เป้าหมายที่เคยปักธงไว้ยังปลิวไสวและย้ำกับตัวเองอีกครั้งว่าจะต้องทำให้สำเร็จในเส้นทางที่เธอเลือกเอาไว้แล้ว

 

"แบดมินตันถ้าคนที่รักจริงจะไม่เข้าใจ มันไม่ใช่แค่เราซ้อมหนักแล้วจะเอาชนะเขาได้ มันไม่เคยมีบทไหนที่บอกว่าถ้าเราซ้อมหนักแล้วจะได้แชมป์ แต่มันคือการใส่ใจในทุกๆ การซ้อม ซ้อมยังไงถึงไม่เปลืองแรง ต้องใส่ใจในรายละเอียด มันจะได้ผลลัพธ์กลับมาในแต่ละวัน แต่เรื่องยากที่สุดคือจะทำไงให้ได้ประโยชน์จากการซ้อมให้ได้มากที่สุด มันจึงยากเพราะการแข่งขันประเภทคู่ทุกอย่างมันต้องไปพร้อมกัน ถ้าหากคนหนึ่งเล่นไม่ดีมันมีโอกาสพังทั้งคู่ ทีมเวิร์คต้องดี ถ้าเราซ้อมให้ดีที่สุดแล้ว มันก็จะออกมาดีในสนามแข่ง"

 

 

เล่นคู่ต้องใส่ใจอย่ามองแค่เป้าหมาย

 

ถึงแม้ว่ากิ๊ฟจะยอมรับในฝีมือของคู่หูอย่าง 'วิว' รวินดา ว่าเป็นคู่ขาที่เข้าใจกันที่สุด แต่ด้วยความกดดันไม่ว่าทั้งภายในหรือภายนอกคอร์ดการแข่งขันส่งผลให้กิ๊ฟแอบคิดนอกใจเพราะนั่นทำให้เธอพลาดโอกาสได้สัมผัสกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่บราซิล

 

"หนูกับวิวมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจกันบ้าง บางช่วงเพื่อนฟอร์มตกไปบ้าง อาจจะเกิดจากความไม่มั่นใจในการลงแข่งขัน อาจจะมาจากปัญหาอย่างอื่นที่ส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นจึงทำให้ฝีมือตกลงไป ซึ่งหนูเป็นคนที่คาดหวังไว้เยอะเลยโทษเพื่อนไปหมดในวันที่แพ้ แต่ถ้าหนูไม่หันมามองตัวเองจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นการเห็นแก่ตัวขนาดไหน มันไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้น เพื่อนมือแข็งตีไม่ได้ ไม่มั่นใจ กลายเป็นว่าเราส่งผลกระทบกับเพื่อนมากๆ ทำให้เพื่อนยิ่งไม่มั่นใจ เมื่อเราไม่ซัพพอร์ทกัน เขาก็จะยิ่งแย่ลงไป ความสัมพันธ์ในทีมก็จะแย่ลงไปด้วย"

 

กิ๊ฟย้อนถึงช่วงเวลาที่เธอขาดความเชื่อมั่นในตัวของเพื่อนร่วมทีมและเพิ่มเติมว่า

 

"เป้าหมายของเราคืออยากไปเล่นโอลิมปิก แต่ความชัดเจนในรายละเอียดยังไม่ชัดว่าต้องทำยังไง จะทำได้ไหม มันเหมือนเป็นแค่ความฝัน แต่พอสเตปเราขยับสูงขึ้นแล้วเราคิดว่ามันมีทางที่เราก้าวไปได้ คือมันเริ่มมองเห็นหนทางค่ะว่าแบดมินตันมันเป็นทางของเราจริง ๆ ตอนปี 2016 เราต่อสู้เก็บคะแนนกันจนถึงแมตช์สุดท้าย แต่ครั้งนั้นเราพลาดไปโอลิมปิก รู้สึกผิดหวังมาก กลับมาจากแข่งเจอหน้าพ่อที่สนามบินจะวูบไม่รู้จะอธิบายยังไง เหมือนใจไม่กล้าที่จะทิ้งความเศร้าไว้กับคนอื่น"

 

"หนูบอกกับตัวเองว่า จะมาคิดว่าเราพลาดเพราะแมตช์สุดท้ายแมตช์เดียวก็ไม่ได้เพราะเก็บคะแนนตลอดทั้งปีถ้าทำได้ดีตอนนั้นก็อาจจะทำได้ แต่หนูก็ไม่คิดจะเลิกเล่นเพราะอายุยังน้อยยังมีโอกาส ตรงนั้นเราโอเคกับผลงานถ้าเทียบกับที่เคยตีมา แต่ที่มันเฟลเพราะว่าเราต้องรออีกตั้ง 4 ปี ไม่รุ้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะได้ไปโอลิมปิกอีกครั้ง แต่ถ้าเกิดมันไม่ได้จริงๆ หนูก็จะถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อขอพักก่อนแล้วค่อยเดินต่อ"

 

 

กิ๊ฟอธิบายเพิ่มเติมว่า การแข่งขันในประเภทหญิงคู่สิ่งที่ต้องคำนึงและให้ความสำคัญมากที่สุดคือสภาพจิตใจรวมไปถึงต้องพยายามเก็บทุกรายละเอียดทั้งจากการฝึกซ้อมและการแข่งขันเพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

"สำหรับหนูค่อนข้างทำงานหนักทั้งเรื่องความคิดและสภาพจิตใจ เพราะอย่างที่บอกการแข่งในประเภทคู่จะทำยังไงให้ผลงานออกมาดีทั้งสองคนในเวลาแข่ง ทุกแมตช์เราชนะมันมีอะไรให้ต้องศึกษาตลอดเวลา ฟอร์มดีเพราะอะไร ย้อนกลับไปดูอีกว่าซ้อมแบบไหนเตรียมตัวแบบไหน บางครั้งยังต้องดูด้วยว่าเรากินอะไรก่อนซ้อม กินอะไรช่วงนั้นและสิ่งที่ต้องทำประจำในการวอร์มอัพก่อนแข่งคืออะไรเพื่อที่จะกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมตลอดเวลา"

 

ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี่เองที่ทำให้กิ๊ฟมองว่าเป็นสิ่งที่อาจจะส่งผลกระทบกับเพื่อนร่วมทีม

 

"บางที่หนูใส่ใจและจริงจังกับพวกนี้มากเกินไป มันเป็นเหมือนหนูไปตั้งข้อปฏิบัติให้เพื่อนเกินไปในบางครั้ง ที่ผ่านมามีบทเรียนกันมาหมดแล้ว หนูเลยคิดได้ว่าบางทีการที่เรากำมือแน่นเกินจนไปจะทำให้เกร็งไปหมด มันต้องอยู่ในความพอดีจริงๆ ช่วงนี้เราทำอันดับขยับขึ้นมาแล้ว แต่เรายังรักษามาตรฐานในระดับสูงไม่ได้ อันดับยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงเส้นคงวา” 

 

“รู้ตลอดว่าเราผิดแต่เราทำไม่ได้ เราใช้อารมณ์ในการตัดสิน ลึกๆ ก็รู้มานั่งทบทวนตัวเองแต่เราแก้ไม่ได้ ต่างคนต่างแก้ปัญหาแบบเดิมจนช่วงที่ได้พักเบรกจากโรคโควิด พอเราไม่มีทัวร์นาเม้นท์เราจึงได้ลดระดับคาวามตึงเครียด เรามีเวลาให้ตัวเองเริ่มรู้แล้วว่าจะต้องคิดยังไง พูดออกไปยังไง เพื่อการสื่อสารให้กำลังใจเพื่อนให้ดีขึ้น"

 

 

เดินหน้าต่อกำแพงทะลุทอปโลก

 

ความผิดหวังจากการพลาดโอกาสไปแข่งขันโอลิมปิกที่บราซิลเมื่อ 5 ปีก่อน ณ เวลานี้กิ๊ฟสามารถลบเลือนความผิดหวังนั้นได้เป็นปลิดทิ้ง เมื่อเธอสามารถคว้าตั๋วโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ นับว่าเป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกที่กิ๊ฟจะได้ไปสัมผัสสมกับความตั้งใจ

 

"หนูรู้สึกผิดหวังมาก" กิ๊ฟย้ำถึงความผิดหวังนั้นอีกครั้งและบอกต่อว่า เป้าหมายต่อไปของเธอไม่ใช่แค่การเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกต่อไป แต่ฝันไกลถึงการยกระดับการเล่นของตัวเองขึ้นไปติด 1 ใน 5 ของโลกให้ได้ แม้ความพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานแบดมินตันประเภทหญิงคู่ให้สามารถเทียบชั้นนานาชาติได้เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะทั้งเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ความสามารถและฝีมือของนักกีฬาในระดับท็อปแรงค์กิ้งคือความแตกต่างที่กิ๊ฟยอมรับว่ายังห่างชั้น

 

"ในประเทศไทยแบดมินตันประเภทหญิงคู่ค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบคู่ซ้อมอย่างเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น เขามีสำรองเป็นสิคู่ การแข่งขันในประเทศเขาสูง ทุกคนตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งเราต้องพยายามให้มากกว่านี้ การมีคู่ที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เขามีนักกีฬาที่ก้าวขึ้นมาเยอะมันแพ้ชนะกันได้หมด แต่ของเราอัตราส่วนมันยังน้อย ไม่มีทางเลือกเราก็ต้องหาทางอื่นว่าจะซ้อมยังไงเพื่อให้ต่อกรกับเขาได้ แม้จะดูสูสีแต่ไม่ชนะตลอด อธิบายไม่ได้ว่าเราจะทำยังไงสู้เขายังไง"

 

 

กิ๊ฟอธิบายถึงความแตกต่างของนักกีฬาแบดมินตันระดับนานาชาติแต่อย่างไรก็ดี เธอยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าสิ่งที่เป็นตัวแปรสนการเอาชนะคู่แข่งระดับท็อปของโลกนั้นคืออะไร แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกิ๊ฟยังคงพยายามฝึกปรือฝีมือให้ดีที่สุดและสร้างความความมั่นใจให้เพื่อนร่วมทีม ความเชื่อมั่นของกันและกันเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบของชัยชนะ

 

"หนูดูหญิงคู่ตั้งแต่คิดว่าตัวเองเป็นมด ช่วงนี้การแข่งขันในประเภทนี้สนุกที่สุด ในระดับท็อป 15 ของโลกทุกคนสู้กันแบบพลิกแพ้ชนะกันได้ตลอด มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราได้ได้ว่าใครจะชิงกับใคร ตอนนี้ประเภทหญิงคู่ไม่น่าเบื่อแล้ว ซึ่งมันมีหลายรูปแบบ มีความชำนาญมากขึ้น เทคนิคมากขึ้น” 

 

“ถ้าเราสามารถค้นหาความเสถียรแล้วรักษามาตรฐานได้ ท็อป 5 เราสู้ได้หมด จุดเด่นของเราคือเรื่องการเดินเกมเสิร์ฟรับเสิร์ฟ การรักษาฟอร์มของตัวเอง ความทนทาน การยืนระยะในการตี เป้าหมายสูงสุดตอนนี้คือโอลิมปิกซึ่งเราก็ทำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือพยายามดันอันดับขึ้นท็อป 5 ให้ได้แม้ว่าตอนนี้จะแย่ที่สุด 2 ปีก็ตาม"

 

หนึ่งในเป้าหมายของกิ๊ฟสำเร็จไปแล้วหนึ่งสเต็ปนั่นคือการคว้าตั๋วโอลิมปิก เหลือเพียงขยับอันดับเวิร์ลแรงค์กิ้งให้พุ่งสูงขึ้นให้ติด 1 ใน 5 ของโลกให้ได้ตามที่เธอตั้งใจไว้ คำว่า "มิชชั่นคอมพลีท" ก็จะสำเร็จอย่างสมบูรณ์


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

นักเขียนที่หลงใหลการฟังเรื่องราวของคนอื่น

100 day to go olympic 2024
stadium olympic