stadium

รวินดา ประจงใจ : ความพ่ายแพ้คือการเรียนรู้ บทเรียนล้ำค่าสู่โอลิมปิก

18 กรกฎาคม 2564

"ไม่ว่าจะแพ้มากี่ครั้งแต่หนูไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้" คำนิยามที่ถูกกำหนดขึ้นมาจากบทเรียนอันแสนล้ำค่าที่ 'รวินดา ประจงใจ' หรือวิว นักแบดมินตันประเภทหญิงคู่ได้บัญญัติไว้กับตัวเอง จากเด็กน้อยในวันที่ต้องพบกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าจากกีฬาที่เธอชื่นชอบ ส่งผลให้เธอในวันนี้ก้าวขึ้นมาสู่นักแบดระดับโลก

 

เส้นชีวิตที่ดูเหมือนจะทุลักทุเลนี้เป็นบ่อเกิดของประสบการณ์ที่วิวสั่งสมมาจนเต็มเปี่ยมทำให้เธอสามารถคว้าตั๋วโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคู่หูคนสำคัญอย่าง 'กิ๊ฟ’ จงกลพรรณ กิติธรากุล ทำให้แบดมินตันประเภทหญิงคู่มีลุ้นในการแข่งขันโอลิมปิกหนนี้ กว่าจะมาถึงวันนี้ วิวต้องเผชิญอะไรมาบ้าง StadiumTH จะพาท่านผู้อ่านไปหาคำถามพร้อมกัน

 

 

แพ้จนเป็นเรื่องเคยชิน

 

วิวเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาแต่หลงไหลในเกมกีฬาตั้งแต่จำความได้อะดรีนาลีนพร้อมสูบฉีดเมื่อเอ่ยถึงเกมกีฬา

 

"หนูชอบเล่นกีฬามาก เล่นหลายอย่าง ตอนแรกก็เริ่มจากการว่ายน้ำฝึกซ้อมเป็นจริงเป็นจังวันละหลายชั่วโมง เคยได้ลงแข่งว่ายน้ำด้วยแต่ตอนนั้นก็แพ้เขา จับกีฬาว่ายน้ำได้แค่ปีเดียวก็เลิกไปเพราะคิดว่ามันมีเวลาในการแข่งที่น้อยมากไม่สมกับที่เราซ้อมมาหลายชั่วโมง แต่พอลงสระจริง แข่งไม่ถึงนาทีก็จบแล้ว ถ้าเราพลาดมันไม่มีโอกาสให้เราแก้ตัวหนูคิดว่าไม่เหมาะกับตัวเองเลยหันไปหากีฬาชนิดอื่นแทน"

 

วิวในช่วงวัยเพียง 5 ขวบยังมีเวลาอีกบานเบอะกับการค้นหากีฬาที่ใช่ ท้ายที่สุดเธอก็ได้มาเจอกับแบดมินตันกีฬาที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

 

"หลังจากที่หนูเลิกว่ายน้ำมันก็เลยทำให้มีเวลาว่างเยอะก็เลยได้ตามพ่อกับแม่ไปดูพวกท่านตีแบดฯ กับเพื่อน ๆ ช่วงสุดสัปดาห์ หนูนั่งดูอยู่ข้างคอร์ทก็รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกดี พอดีกับที่พี่ชายชอบตีแบดฯ เหมือนกันเขาเรียนกับโค้ชอยู่คอร์ทข้างๆ หนูเลยขอเรียนด้วยแล้วก็เริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่ตอนนั้น" 

 

 

 

เป็นความโชคดีที่วิวมีครอบครัวที่ใจรักกีฬากันทั้งบ้านทำให้เธอเกิดการซึมซับผนวกกับเธอสนใจในเกมกีฬาเป็นทุนเดิมประตูแห่งโอกาสจึงเปิดกว้าง วิวจึงได้ก้าวเข้าสู่สโมสรสิงห์ เอช เอช ที่นั่นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ฟูมฟักทักษะให้กับเธอ

 

"ตอนหนู 9 ขวบ สิงห์ เอช เอช ติดต่อเข้ามาบอกว่าจะให้หนูเข้าไปฝึกแบดมินตัน หนูตอบรับคำเชิญชวนเพราะมองว่ามันคือโอกาส หลังเลิกเรียนหนูจะไปซ้อมที่นั่นเป็นประจำทุกวัน ตอนนั้นหนูรู้สึกว่าเริ่มจะชอบแบดมินตันแล้วเพราะตอนแข่งมันมีหลายเกมให้เราเล่น ถึงเกมแรกเราจะแพ้แต่ก็ยังมีเกมที่ 2-3 ให้แก้ตัว มีวิธีการคิดที่แตกต่างกันเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตรงนี้หนูคิดว่ามันท้าทายดี"

 

แพ้ชนะไม่สำคัญ สิ่งเดียวที่วิวพยายามบอกตัวเองเสมอคือต้องทำให้ได้

 

"ช่วงที่เริ่มลงแข่งหนูต้องไปอยู่รุ่นเดียวกับกิ๊ฟ (จงกลพรรณ) ซึ่งตอนนั้นกิ๊ฟเก่งมากหนูไม่เคยชนะเขาได้เลยสักครั้ง ต้องบอกว่าหนูเป็นนักแบดฯที่โนเนมมากๆ ไม่มีชื่อเสียงหรือดีกรีเหมือนคนอื่นๆ แต่หนูไม่เคยสนใจพยายามซ้อมอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ว่าพ่อกับแม่เคยพาไปซ้อมพิเศษเลยด้วยซ้ำ ถามว่าแพ้บ่อยๆ มีท้อบ้างมั้ยหนูไม่เคยคิดแบบนั้นเลย แต่กลับกันมันทำให้หนูต้องพยายามให้มากกว่าเดิม"

 

แม้จะแพ้จนเคยชินแต่วิวก็ไม่เคยคิดจะยอมแพ้ เธอรอวันที่จะเติบโตโดยตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ว่าจะต้องมีรางวัลติดไม้ติดมือให้ครอบครัวได้ชื่นชม

 

 

 

ความฝันที่รอคอย

 

"เวลาหนูอยู่นอกสนามกับในสนามมันแตกต่างกัน อยู่ข้างนอกหนูเป็นคนง่ายๆ อะไรก็ได้ แต่ในสนามเราต้องบังคับตัวเองต้องไม่ยอมแพ้"

 

ประโยคที่ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอและมันส่งผลให้เธอสามารถคว้าเหรียญรางวัลแรกในชีวิตมาคล้องคอได้สำเร็จ

 

"หนูได้แชมป์ครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี มันเกิดจากการฝึกซ้อมที่หนักมาก ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อจะได้มีเวลาซ้อมเยอะขึ้น ตอนได้แชมป์แรกหนูร้องไห้ออกมาเลย เป็นผลลัพธ์ที่หนูฝึกซ้อมอย่างหนักมาโดยตลอด ซึ่งมันคือผลตอบแทนที่คุ้มมากๆ"

 

"รายการนั้นหนูชนะกิ๊ฟได้เป็นครั้งแรกในรอบรองชนะเลิศ สมัยนั้นหนูเป็นนักกีฬาโนเนมอยู่เลย รู้สึกดีใจมากที่เราทำได้ การซ้อมหนักส่งผลให้หนูมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และกลายมาเป็นแชมป์ได้จากการคนไม่มีชื่อเสียงอะไรเลย หลังจากนั้นก็ได้แข่งกีฬาเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี เริ่มมีรางวัลติดมือ หลังจากนั้นก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไปเอาดีทางด้านนี้เลย โดยที่พ่อแม่คอยสนับสนุนทำให้หนูไม่อยากเลิกเล่น" 

 

 

 

เมื่อมีการเติบโตทางด้านพัฒนาการทำให้วิวได้รับเลือกจากโครงการเอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ เธอเข้าร่วมฝึกซ้อมกับนักแบดมินตันระดับเยาวชนระดับท็อปของประเทศในเวลานั้น ที่แห่งนี้ทำให้เธอได้พบกับกิ๊ฟอีกครั้งและกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ประเภทหญิงคู่ที่น่าจับตามอง

 

"หนูได้รับเลือกจากโครงการเอสซีจีรุ่น 2 ตอนนั้นเข้ามาพร้อมกับกิ๊ฟเราได้รู้จักและเริ่มสนิทกัน ซ้อมที่อะคาเดมี่ได้ประมาณ 3 ปีก็ออกมาซ้อมที่สมาคมฯ ตอนนั้นทีมงานก็ให้หนูลองลงเล่นประเภทคู่ผสมเราก็ทำได้และเริ่มมีผลงานออกมาให้เห็น เอาจริงๆ ตอนนั้นมีประเภทเดี่ยวด้วย แต่ถ้ามองถึงหนทางในการติดทีมชาติมันยากมากเพราะตอนนั้นมีนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวเก่ง ๆ เยอะ โค้ชเลยเสนอทางเลือกให้เราลองแบบเล่นหญิงคู่ เพราะมันมีอยู่คู่เดียวก็เลยคิดลองเปลี่ยนมาตีประเภทคู่แทน”

 

ช่วงแรกๆ สนุกเหมือนได้เล่นคู่กับเพื่อน เราไม่คิดว่าจะจริงจัง เหมือนได้ลองอะไรใหม่และต้องนับถือกิ๊ฟที่มุ่งมั่นมากๆ เวลาทำอะไรเขาจะทุ่มเทเต็มที่มันเลยทำให้เราพัฒนาฝีมือตามขึ้นไปด้วยหนูได้อะไรจากตรงนั้นเยอะมาก เขาสอนอะไรเราหลายอย่างทำให้หนูเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย"

 

วิวยอมรับว่าการได้จับคู่กับกิ๊ฟในช่วงเวลานั้นทำให้เธอสามารถพัฒนาฝีมือขึ้นมาได้อย่างมาก และมีส่วนช่วยเค้นศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ด้วยการมีคู่ขาที่ดีคอยช่วยประคอง

 

 

 

ด้วยความไว้ใจ

 

แม้จะมีช่วงเวลาที่สวยงามกับเส้นทางนักแบดมินตัน แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกเมื่อเธอกำลังไปได้สวยกับการแข่งขันประเภทคู่ต้องมาหยุดชะงักด้วยความไม่เข้าใจ

 

"หนูกับกิ๊ฟมีเป้าหมายที่เหมือนกันคือต้องไปโอลิมปิกให้ได้และพยายามทำอันดับโลกให้สูง เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันมันเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา เรามองว่าถ้าได้ไแข่งระดับโอลิมปิกแล้วเกิดได้เหรียญรางวัลกลับมาจะเกียรติกับเราสองคนมากๆ ทุกอย่างมันเลยเป็นการช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ช่วงไหนที่เราฟอร์มแย่ก็จะคอยให้กำลังใจกันเพื่อให้เดินต่อไปด้วยกันได้"

 

"เป็นปกติของการเล่นคู่ที่จะมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน อย่างที่บอกหนูเป็นคนอะไรก็ได้เอื่อยๆ กิ๊ฟก็มองว่าเอื่อยไปไม่กระตือรือร้น เขาจะตำหนิเราว่าถ้ายังเป็นแบบนี้มันจะติดเป็นนิสัยไปถึงตอนลงแข่ง ซึ่งกิ๊ฟจะคอยเตือนเรา เพราะทุกอย่างที่เราทำมันส่งผลไปในตอนแข่ง มันเป็นเรื่องนอกสนาม หนูทำไม่ดีกิ๊ฟจะโกรธ มีช่วงที่ลงแข่งแบบไม่คุยกันเลย ตอนซ้อมเราก็แทบจะไม่คุยกันเลย มีอยู่แมตช์หนึ่งเป็นรายการชิงแชมป์เอเชีย 2018 หนูรู้สึกอึดอัดมากเพราะเราไม่คุยกันเลย ซึ่งจริงๆ แล้วการเล่นประเภทคู่มันไม่ใช่แค่การลงไปทำหน้าที่ของตัวเองในสนามแต่มันรวมไปถึงความสัมพันธ์ของกันและกันนอกสนามด้วย"

 

วิวบอกเล่าช่วงเวลาที่ทำใจยากลำบากพร้อมด้วยว่า "เราต้องเชื่อใจกันทั้งในและนอกสนาม และหนูก็ต้องทำให้เพื่อนมั่นใจในตัวเราด้วยเหมือนกัน"

 

เมื่อรู้ว่าผิดแล้วพร้อมที่จะปรับปรุงและแก้ไข นั่นคือสิ่งวิวบอกกับตัวเองและน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ที่เคยหวานชื่นก็กลับคืนมาอีกครั้ง ส่งผลให้พวกเธอสามารถเค้นฟอร์มกลับมาคว้าตั๋วโอลิมปิก 2020ที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ร่วมกัน

 

 

เดินทางสู่เป้าหมาย

 

เป็นไปตามคาด วิวควงคู่กิ๊ฟทะลุผ่านรอบคัดเลือกโอลิมปิกได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าต่อจากนี้จะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เธอต้องเรียนรู้

 

"หนูพยายามคิดว่าการแข่งโอลิมปิกครั้งนี้ก็เหมือนแข่งแมตช์ปกติทั่วๆ ไป เพราะไม่อยากกดดันตัวเอง อยากเล่นให้สนุกทำให้เต็มที่เหมือนอย่างที่เราเคยซ้อมมา พยายามพัฒนาและแก้ไขจุดที่บกพร่องให้มันดีขึ้น ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องทำอะไรเมื่ออยู่ในสนาม"

 

วิวยืนยันเจตจำนงค์ของเธอด้วยว่า "โอลิมปิกคือเป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาทุกคนอยากจะทำมันออกมาให้ดีที่สุดเพราะโอลิมปิกคือความใฝ่ฝันสูงสุดของหนูการได้เหรียญรางวัลหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าเราได้ทำมันอย่างเต็มที่หรือยังต่างหาก"

 

 

วิวยอมรับว่า แม้ลึกๆ ในใจจะยังอยากได้เหรียญรางวัลแต่จะขอทำในแต่ละรอบการแข่งขันให้ดีที่สุด 

 

"สายที่เราต้องเจอก็หนักอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าชนะและเข้ารอบเป็นที่ 1-2 ของกลุ่มได้เราก็จะผ่านไปหนึ่งสเต็ป หนูคิดว่าโอลิมปิกมันเป็นเกมที่เขาคัดคนมาแล้วทั่วโลก คุณมีความสามารถได้เข้ามาเล่นแมตช์ที่สูงสุดของนักกีฬา ไม่มีใครด้อยไปกว่ากันทุกคนเป็นนักกีฬาที่ฝีมือฉะนั้นเราก็ต้องทำให้ดีที่สุดเหมือนกัน"

 

ต่อจากนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป้าหมายเดียววิวมองไว้คือโอลิมปิก การคว้าเหรียญรางวัลอาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ด้วยดีกรีอันดับท็อป 10 ของโลกก็พอจะทำให้แฟนๆ ชาวไทยมีลุ้นในกีฬาแบดมินตันประเภทหญิงคู่ 

 

ความพ่ายแพ้ในอดีตจะผลักดันให้วิวมีพลังในการทำตามความฝัน แม้ว่าจะต้องล้มลงอีกครั้งแต่เธอก็พร้อมจะลุกยืนขึ้นใหม่ด้วยใจที่เข้มแข็งกว่าเดิม


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

เป็นแค่คนที่ชอบฟังเรื่องราวของคนอื่น

100 day to go olympic 2024
stadium olympic