stadium

จุฑามาศ จิตรพงศ์ : กำปั้นสาวหัวใจแกร่งผู้เปลี่ยนความเจ็บช้ำเป็นพลังบวก

17 กรกฎาคม 2564

'เฟี๊ยว จุฑามาศ' ถือเป็นนักชกหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์ต่อยมวยสากลได้แค่ 4 ปี แต่ทักษะการชกที่ดีบวกกับแรงปรารถนาที่ต้องการความสำเร็จ ทำให้เธอถูกวางหนึ่งในขุมกำลังแห่งอนาคตของวงการมวยสากลไทย แม้เวลานี้ประสบการณ์ในระดับนานาชาติอาจจะยังมีไม่มาก แต่เธอก็ยังดีพอที่จะได้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์มาครอง และกลายเป็นนักชกไทยคนที่ 5 ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 และนักชกหญิงไทยคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

 

ดาวรุ่งนักชกหญิงที่อดีตฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกอย่าง 'วิจารณ์ พลฤทธิ์' กล้าพูดได้เต็มปากว่า "โอลิมปิกครั้งนี้อาจจะมีเซอร์ไพร์ส" อะไรคือสิ่งที่ทำเกิดความเชื่อมั่นในตัวเฟี๊ยวได้ถึงเพียงนี้ เราจะพบไปค้นคำตอบพร้อมกัน

 

 

เริ่มจากลู่สู่สังเวียนผ้าใบ

 

จุดเริ่มต้นของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป อย่างของเฟี๊ยวเป็นถึงอดีตนักวิ่งประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรธรรมราช ซึ่งฝีเท้าความเร็วของเธอไม่เป็นสองรองใคร!

 

"ตอนนั้นหนูชอบกรีฑา ชอบวิ่งเพราะเป็นคนวิ่งเร็วได้เป็นถึงนักกีฬาของโรงเรียนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกรีฑาเลยสักนิด รู้แค่ว่าตอนนั้นเราจะได้ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนเพราะหนูไม่ชอบ เวลาใกล้ถึงการแข่งกีฬาระดับโรงเรียนครูจะให้ใส่ชุดซ้อมกีฬาเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดนักเรียน ทางโรงเรียนก็จับหนูไปแข่งตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับจังหวัด เคยได้เหรียญทองแดงในการวิ่ง 400 , 100 และ 80 เมตร เหรียญรางวัลสูงสุดที่หนูเคยคือได้เหรียญเงิน" 

 

เฟี๊ยวย้อนถึงความรู้สึกข่วงวัยเด็กกับกีฬาชนิดแรกที่เธอเลือก แต่จนแล้วจนรอดโชคชะตาก็กำหนดให้เธอต้องถอดรองเท้าวิ่งมาสวมนวมชกมวย

 

"ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าตัวเองชอบชกมวยเลย แต่พอดีว่ามีโค้ชคนหนึ่งชื่อว่าลุงรัตน์แกสนิทกับที่บ้านเลยชวนให้ไปลองไปต่อยมวยดู เขาบอกว่าหนูดื้อมากต้องจับต่อยมวยให้หมด แล้วพอดีว่าพ่อหนูชอบดูมวยแต่ท่านก็ไม่ได้หวังว่าจะให้เราเอาจริงเอาจังกับการชกมวยขอแค่ตั้งใจเรียนก็พอแต่ถ้าท่านรู้ว่าเราชอบแล้วจะสนับสนุนเต็มที่ เหมือนตอนที่พี่สาวกับพี่ชายหนูชอบเตะบอลพ่อก็ไปหาซื้อรองเท้าสตั๊ดมาให้ใส่ จริง ๆ พ่อไม่เคยบังคับลูก ๆ เลยว่าจะต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ขอแค่ชอบในการทำสิ่งเหล่านั้นก็พอ"

 

 

 

สิ่งที่ครอบครัวจิตรพงศ์ให้อิสระในการตัดสินใจแก่ลูก ๆ และพร้อมจะเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดหายทำให้เฟี๊ยวเปิดใจกับกีฬาชกมวยนับแต่นั้น แต่อุปสรรคชิ้นโตที่ขวางทางอยู่ในขณะนั้นคือ สรีระรูปร่างที่ค่อนข้างเล็ก อย่างไรก็ตามเฟี๊ยวยังกัดฟันมุ่งมั่นในการชกมวยเรื่อยมา

 

"จำได้ว่าตอนนั้นน้ำหนักหนูแค่ 30 กิโลกรัมเอง กับเด็กอายุประมาณ 10 ขวบถือว่าตัวเล็กมากถ้าไปเทียบกับคนอื่น แต่ที่หนูยังซ้อมชกมวยต่อไปก็เพราะว่าอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง ก็เลยไปซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียนตอนนั้นซ้อมหนักหนูนี่น่วมเลยเขาจัดหนักเราตลอด นานวันเข้าเขาก็จับเราประกบคู่ลงนวม ได้ซ้อมแบบนั้นอยู่ประมาณ 1 ปีก็เริ่มได้ลงแข่งจริง"

 

ตัวเล็กไม่ใช่ปัญหาของเฟี๊ยวอีกต่อไป เมื่อผู้ฝึกสอนเห็นแววที่ฉายออกมาจากตัวเธอจึงถึงเวลาที่ต้องขึ้นสังเวียนจริง

 

"ขึ้นชกครั้งแรกตอนอายุ 11 ปี มันตื่นเต้นมากขาสั่นไปหมด มือไม้เย็นเฉียบแต่มันไม่ได้รู้สึกว่าเรากลัวคู่ชกนะแค่มันสั่นไปเอง อาจจะเพราะว่าเราต้องชกกับคู่แข่งที่ชกมาแล้วถึง 11 ครั้งแต่นี่คือครั้งแรกของหนู ตั้งใจอยู่อย่างเดียวในตอนนั้นคือว่าเราต้องไม่ยอมแพ้ผลปรากฏว่าหนูเอาชนะเขาได้มันรู้สึกดีใจมาก ตอนเดินลงจากเวทีมามีคนดูให้ทิปหนูคนละ 20-30 บาทรวมกับค่าตัวในตอนนั้นด้วยก็ได้เวินมาประมาณ 1,500 บาท หนูก็โห! ต่อยแค่นี้ทำไมได้เงินเยอะจัง เงินทั้งหมดที่ได้หนูยกให้แม่ทั้งหมดเลยเหลือติดตัวไว้แค่ร้อยเดียว มันดีใจนะที่หนูสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง"

 

 

 

แม้ว่าเฟี๊ยวจะเริ่มหาเงินได้จากการชกมวย แต่นั่นก็ยังไม่เพียงที่จะทำให้เธอพึงพอใจเพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีเธอมีแมตช์ให้แลกหมัดเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น

 

"ช่วงนั้นแทบจะไม่มีมวยหญิงเลยมันหาคู่ชกยากมาก ต่อยครั้งหนึ่งก็ต้องแบกน้ำหนักไปชกตลอด ตอนที่ขึ้นชกก็เป็นรองเขาทุกไฟต์ อย่างไฟต์ที่สองที่ขึ้นชกก็เจอยอดมวยจากจังหวัดกระบี่เขาเคยได้แชมป์มาแล้วแต่ว่าหนูน็อคเขาได้ เตะจนอ้วกพุ่งไปเลย แล้วพอดีกับที่สังคมเพื่อนแถวบ้านมีแต่พวกเสพยาเสพติดหนูรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ตรงนี้แล้ว เลยขอพ่อว่าจะไปเรียนโรงเรียนกีฬาซึ่งพ่อก็ให้เราไป"

 

จุดเริ่มต้นของนักชกหญิงเริ่มขึ้น เฟี๊ยวฉายแววจนครูผู้ฝึกสอนประจำโรงเรียนผลักดันให้เธอเปลี่ยนวิธีการจากมวยไทยมาเป็นมวยสากล ด้วยรูปแบบที่แตกต่างออกไปแต่เฟี๊ยวก็สามารถพัฒนาฝีมือจนก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็ง

 

 

 

ความฝันที่ได้ติดทีมชาติ

 

หลังจากที่เฟี๊ยวได้ย้ายเข้ามาเรียนในโรงเรียนกีฬาได้สมใจและเปลี่ยนวิธีการชกมาเป็นรูปแบบมวยสากล แม้เธอจะไม่ถนัดแต่ด้วยความตั้งใจในการฝึกซ้อมก็ทำให้เฟี๊ยวสามารถสอดแทรกขึ้นมาเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง ณ.เวลานั้น

 

"ตอนแรกที่หนูไปถึงปรับตัวเองไม่ได้เลย กฏระเบียบค่อนข้างเยอะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 แล้วหนูเป็นคนตื่นสายถูกทำโทษตลอด แต่เวลาซ้อมหนูจะตั้งใจมากนะ เพราะจำคำพูดของรุ่นพี่คนหนึ่งได้ว่า ถ้าเราไม่ใช่มือ 1 มันไม่มีใครสนใจหรอก ตอนนั้นในรุ่นนี้มีเข้ามาทั้งหมด 12 คนหนูก็อยากให้เขาเห็นว่าเราทำได้จึงตั้งใจและไม่เคยขี้เกียจซ้อมเลย”

 

“หนูเป็นคนที่ไม่มีพรสวรรค์แต่อาศัยครูพักลักจำ ถามรุ่นพี่เอาบ้าง พยายามทำให้เขาเห็นว่าเรารู้ว่ายังมีเราอยู่ในทีม พยายามเต็มที่ ๆ สุดอย่างตอนเขาวิ่งกันคนละ 5 รอบเราก็จะวิ่งให้น็อครอบพวกเขาอย่างน้อย 2 รอบ มันเป็นจังหวะดีกับที่รุ่นพี่คนหนึ่งเขาอายุเกิน ไม่สามารถลงแข่งในรุ่น 42 กิโลกรัมได้ โค้ชเลยต้องหาตัวแทนสุดท้ายก็เลือกหนูไปแทนแต่ว่าน้ำหนักหนูไม่ถึงตอนนั้นหนักแค่ 38 กิโลกรัมโค้ชก็เลยพยายามให้หนูทำน้ำหนักกินจนอ้วกเลย"

 

 

 

ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนแต่เฟี๊ยวยังคงก้มหน้าก้มตาซ้อมต่อไป แม้ในใจจะรู้ดีว่ารูปร่างสรีระจะเป็นรองแต่ด้วยความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมก็ทำให้เเธอได้สัมผัสกับเหรียญรางวัลแรกในชีวิต

 

"ช่วงตอนที่หนูอยู่ ม.2 ได้ไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่จังหวัดมหาสารคาม ไปแบบที่ไม่มีใครรู้จักเลยว่าหนูคือใคร มาจากไหน แบบว่าโนเนม แต่หนูชกชนะทุกรอบจนมาถึงรอบชิงเหรียญทองต้องมาเจอกับคู่ชกที่เข้าชิงทุกปี จำได้ว่าไม่มีใครตะโกนเชียร์ชื่อหนูเลยมันก็รู้สึกกดดันนิดหน่อยแต่พอครบยกหนูชนะเขาได้ 8 หมัด" 

 

หลังจากที่สร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ เฟี๊ยวก็ได้กลายมาเป็นนักกีฬาตัวหลักของโรงเรียน เธอผ่านประสบการณ์ทุกการแข่งขันในระดับเยาวชนทำให้กล้าที่จะฝันไกลถึงการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเพื่อไปแข่งขันในระดับนานาชาติ

 

"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ ฮวน ฟอนตาเนี่ยล เฮดโค้ชของมวยสากลเขาต้องการนักกีฬาเพิ่มและเป็นช่วงที่มวยสากลหญิงถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ๆ เขาจึงอยากได้นักมวยหญิงเพื่อส่งเข้าแข่งขัน  ฮวนก็เลยจัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวนักกีฬาหนูก็ไปคัดตัวกับเขาด้วยแล้วก็ได้เหรียญทองกลับมา แต่ก็ใช่ว่าคนที่ได้เหรียญรางวัลจะไปเก็บตัวทีมชาตินะ ฮวน จะเป็นคนเลือกเองอีกทีว่าจะเอาใครไป บังเอิญว่าหนูเป็น 1 จาก 9 คนที่ถูกรับเลือกจึงมีโอกาสเข้าแคมป์ฝึกทีมชาติ"

 

 

เมื่อเฟี๊ยวสามารถก้าวเข้ามาสู่การฝึกซ้อมในระดับทีมชาติได้สำเร็จ เธอพยายามซึมซับวิธีการซ้อมจากโค้ชชาวคิวบาอย่าง 'ฮวน ฟอนตาเนี่ยล' เก็บรายละเอียดทุกกลเม็ด เคล็ดลับที่ถูกถ่ายทอดมาจากโค้ชชาวคิวบาคนนี้จนกลายมาเป็นศิษย์รักของฮวนไปโดยปริยาย

 

"เขาไม่ชอบคนเก่งต่อให้เก่งแต่ไม่ซ้อมเขาก็ไม่เอา ซึ่งหนูชอบวิธีการของเขามาก ๆ ตอนแรกหนูแทบจะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกของเขาเลย แต่ก็ยังฝึกซ้อมต่อไปตลอดปีหนูแทบจะไม่ลาซ้อมเลยสักวัน คนอื่นเขาขอลาพักบ้างแต่หนูไม่ พยายามทำให้เขาเห็นถึงความตั้งใจ หนูคิดว่าเราไม่ใช่คนเก่งแต่หนูพยายามที่เก่งได้ เขาเห็นว่าเรามีระเบียบวินัยในการซ้อมก็เลยให้โอกาสได้ไปลงแข่งขันในนามทีมชาติครั้งแรกที่ประเทศคาซัคสถานในรุ่น 57 กิโลกรัม แม้จะตกรอบก่อนรองฯ แต่หนูก็ดีใจ"

 

เฟี๊ยวพูดถึง 'ฟอนตาเนี่ยล' ด้วยว่า เขาชอบคนใจสู้และตั้งใจ มักจะพูดเสมอว่า "มวยเก่งผมไม่กลัว ผมกลัวคนตั้งใจซ้อมมากกว่า" คนเก่งก็ได้แค่นั้นคนพยายามเก่งมันพัฒนาได้ไม่หยุด

 

"หนูรู้ดีว่าไม่ได้เก่งเท่าใครเขา แต่ถ้าเขาเลือกหนูแล้วก็จะทำให้ดีที่สุด เหมือนเขาเชื่อว่าเราทำได้ เราเชื่อใจกันและกัน เวลาได้ไปกับเขาหนูจะพยายามทำให้เต็มที่ทุกอย่าง เขาเคยทำให้นักมวยคนอื่นๆ ได้เหรียญมาแล้วทำไมจะทำให้หนูได้เหรียญบ้างไม่ได้ถ้าตั้งใจ จะบอกว่าฮวนเป็นจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตหนูก็ว่าได้"

 

 

เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลัง

 

บนเส้นทางของนักชกทีมชาติ มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่า 'ทุกอย่างไปได้สวย' แม้จะถูกจับตามองว่าเป็นดาวรุ่งที่กำลังฟอร์มแรงแต่เฟี๊ยวยอมรับว่าทุกสิ่งอย่างที่พบเจอมากลับตรงกันข้ามทั้งหมด

 

"แม้ว่าผลงานในประเทศเราจะทำได้ดีก็จริง แต่กลับกันพอออกไปแข่งที่ต่างประเทศหนูสู้เขาไม่ได้ ต้องยอมรับว่าเรายังตามหลังเขาอยู่อีกเยอะ กลับมาก็จะรู้สึกว่าตัวเองต้องทำให้ดีกว่านี้ให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอแม้ว่าจะแพ้กี่ครั้งก็ตาม โชคไม่เคยเข้าข้างหนูตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาจับฉลากประกบคู่รอบแรกเหมือนจะดีเอาชนะเขาได้ แต่พอรอบต่อไปก็ดันไปเจอของแข็งอย่างแชมป์โลก ตอนนั้นยอมรับว่ายอมแพ้อยากเลิกชกมวยเหมือนกัน"

 

“ตอนที่ไปคัดตัวโอลิมปิกมันมีความกดดันไปหมด ชกไม่เป็นตัวเอง ฟังแต่คนอื่นไม่เคยฟังตัวเองทั้งที่รู้ว่าจังหวะนี้ต้องทำยังไง มันเลยกลายเป็นว่าเราแพ้ หนูรู้สึกเสียใจมาก ๆ พอกลับมาถึงประเทศไทย หนูตัดขาดจากทางบ้านไปเลยใครโทรมาก็ไม่รับสาย ช่วงที่กักตัวหลังจากที่กลับมาจากการคัดเลือกหนูไม่คุยกับใครเลย มันรู้สึกผิดหวังมากๆ หนูบอกกับพี่สาวว่าอยากจะเลิกต่อยเพราะต่อยไปก็เจอแต่ของแข็งสู้เขาไม่ได้ไม่อยากต่อยอีกต่อไปแล้วมันไม่ไหว แต่พี่สาวก็บอกว่าเราอยู่กับมันมาทั้งชีวิตไม่รักในการชกมวยเลยหรือไง มันทำให้หนูคิดได้และกลับมาตั้งใจซ้อมเหมือนเดิม"

 

 

มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เฟี๊ยวจะมีความรู้สึกแบบนั้น ในเมื่อพยายามอย่างสุดความสามารถแล้วแต่ไปต่อไม่ไหวเธอคิดที่จะหยุดพักเพื่อให้เวลากับตัวเองมากขึ้น สุดท้ายเธอก็ค้นพบว่ายังไหวและขอสู้ต่อแม้จะเจ็บตัวแค่ไหนก็ยอม

 

"หนูคิดอย่างเดียวว่าถึงจะไม่ผ่านคัดเลือกในรอบแรกเดี๋ยวมันก็มีรอบสอง ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่เลือกเราไปก็ตามแต่หนูยังมุ่งมั่นฝึกซ้อมเต็มที่เหมือนเดิม หนูชอบนะเวลาที่ไม่มีใครมาสนใจเหมือนมันมีสมาธิอยู่กับตัวเองและการซ้อมเพียงอย่างเดียวไม่ต้องไปกดดันอะไร แค่ทำให้ตัวเองสู้กับคนอื่นๆ ได้ก็พอ ถ้าเราเอาชนะเขาได้เราก็ได้เป็นที่หนึ่งแล้ว หนูไม่สนใจแล้วว่าใครจะพูดยังไงพยายามตั้งใจฝึกซ้อมดีกว่า”

 

“มีอยู่ช่วงหนึ่งช่วงก่อนไปคัดโอลิมปิกได้ยินคำพูดของคน ๆ หนึ่งว่าถึงหนูจะวิ่งเร็วแค่ไหนก็ไม่เหรียญได้เหรียญทอง ยอมรับว่ามันรู้สึกเจ็บใจเหมือนกัน แต่หนูเป็นคนไม่ค่อยพูดส่วนใหญ่จะเก็บมันเอาไว้แล้วก็แอบไปร้องไห้คนเดียว แต่หนูก็ปล่อยให้มันผ่านไปมุ่งมั่นตั้งใจซ้อมมากกว่าเดิม ใครสอนอะไรหนูรับเข้าหัวทั้งหมด พยายามทำตัวไม่ให้เหมือนน้ำเต็มแก้ว" 

 

สิ่งที่เฟี๊ยวได้เรียนรู้จากความผิดหวัง มันเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เธอเติบโตขึ้น บทเรียนที่หาไม่ได้จากตำราเรียนเล่มไหน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง นับว่าโชคดีที่เธอสามารถกลับมาเดินบนเส้นทางของกำปั้นไทยได้อีกครั้งเพราะถ้าหากวันนั้นเธอยอมถอดใจคงไม่มีโอกาสได้ไปแข่งขันโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นอีกแล้ว

 

"มันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักกีฬาว่าสักครั้งหนึ่งต้องได้ไปโอลิมปิก หนูก็เหมือนกันแต่ตอนนั้นตอนที่หนูไม่ผ่านรอบคัดเลือกก็คิดไว้แล้วว่าต้องรอครั้งหน้า แต่พอรู้ว่าทางสมาคมฯ ส่งรายชื่อไปให้ไอโอซีคัดสรรนักกีฬา หนูเลยรู้สึกว่า ถ้าเป็นอันดับของไอบาเราอยู่อันดับที่ 24 คงไม่ได้แน่ แต่พอมาเป็นอันดับของไอโอซี เราตกรอบชิงตั๋วโอลิมปิกพอดียังพอมีหวัง แต่ถ้าให้ชัวร์เลยเกาหลีเหนือต้องไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งโอลิมปิก ซึ่งพี่แชมป์พูดวันนี้ วันรุ่งขึ้นเกาหลีเหนือมีข่าวว่าจะไม่ส่งแข่งจริง ๆ มันทำให้วันนั้นหนูนอนไม่หลับ คิดตลอดว่า จริงเหรอ ใช่เหรอ ลุ้นมาก แต่พอเขาประกาศผลออกมาก็ดีใจมาก"

 

 

เฟี๊ยวได้ทำตามความฝันได้สำเร็จ เธอบอกด้วยว่า แม้จะไม่มีเหรียญรางวัลติดไม้ติดมือกลับมาแต่ก็จะขอทำให้เต็มที่โอลิมปิกแรกในชีวิต

 

"ความฝันสูงสุดคือการได้ไปโอลิมปิก ซึ่งตอนนี้เราทำได้แล้ว แต่ว่าถ้าหนูกลับมาได้เหรียญหรือไม่ก็ตาม ก็จะขอซ้อมจนกว่าอายุ 26-27 ปีหรืออย่างน้อยขอติดไปแข่งโอลิมปิกอีกสักรอบก็จะพอแล้ว ถ้าเรื่องหวังเหรียญคงไม่คิดถึงตรงนั้น เพราะถ้าเราทำดีแล้วก็ต้องยอมรับตรงนั้นจะไม่เสียใจเลยถ้าทำมันเต็มที่แม้จะเดินลงมาจากเวทีแบบผู้แพ้ก็ตาม"

 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เด็กตัวเล็กวิ่งเร็วจี๋จะผันตัวเองมาเป็นนักชกทีมชาติ จิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความมุ่งมั่นส่งผลให้เฟี๊ยวได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ

 

ความไม่ยอมแพ้ แม้จะรู้ว่าเป็นรองเจ็บตัวไม่กลัว ๆ ไม่ได้สู้ นี่คือนิยามของนักชกหัวใจแกร่งอย่าง 'เฟี๊ยว' นักชกหญิงทีมชาติไทยที่อาจจะสร้างเซอร์ไพร์สให้แฟนชาวไทยได้เห็นก็เป็นไปได้เหมือนกัน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

นักเขียนที่หลงใหลการฟังเรื่องราวของคนอื่น

100 day to go olympic 2024
stadium olympic