stadium

บันทึกความทรงจำ เทนนิส โอลิมปิก เกมส์

1 กรกฎาคม 2567

กีฬาเทนนิสถูกบรรจุเข้าในโอลิมปิก สมัยเริ่มตั้งแต่ปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และมีช่วงเวลาที่กีฬาเทนนิส ได้ขาดหายไปจากโอลิมปิก เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี กับ สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เรื่องคุณสมบัติของนักเทนนิสที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งครั้งสุดท้ายที่แข่งขันคือปี 1924 แม้ว่าจะมีการกลับมาก่อน 2 ครั้งปี 1968 และ 1984 แต่เป็นแค่กีฬาสาธิต จนกระทั่งเริ่มกลับมามีการชิงเหรียญทองครบทุกประเภทนับตั้งแต่โอลิมปิก ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน

 

โอลิมปิก เกมส์ ทุกครั้งย่อมมีเหตุการณ์ที่สร้างตำนาน สร้างประวัติศาสตร์ หรือสร้างความทรงจำเราจะมาย้อนรอยการแข่งขันเทนนิส โอลิมปิก เกมส์ แห่งความทรงจำกัน

 

 

โกลเด้น สแลม ของ สเตฟฟี่ กราฟ

 

นักหวดเยอรมันตะวันตกที่อายุเพียง 19 ปี คว้าแชมป์แกรนด์สแลม ทั้ง 4 รายการในปี 1988 ก่อนเข้าร่วมทัพ โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้

 

สเตฟฟี่ กราฟ กลายเป็นนักกีฬาที่แฟนกีฬาคลั่งไคล้และติดตามผลงานมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัยในมหกรรมกีฬานี้ ซึ่งเธอทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยม เสียเซตให้คู่ต่อสู้เพียงแค่เซตเดียวในรอบก่อนรองชนะเลิศ ก่อนจะชนะ กาเบรียล่า ซาบาตินี่ ในรอบชิงเหรียญทอง ทำให้ สเตฟฟี่ กราฟ กลายเป็นนักกีฬาเทนนิสคนแรกและคนเดียวที่สามารถทำ “โกลเด้น สแลม“ คว้าแชมป์แกรนด์สแลม ครบ 4 รายการและเหรียญทอง โอลิมปิก เกมส์ ในปีเดียวกัน 

 

โลกจดจำ คาปริอาตี้ สาวน้อยวัย 16 ปี ผู้โค่น สเตฟฟี่ กราฟ

 

โอลิมปิก เกมส์ ปี1992 ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เจนนิเฟอร์ คาปริอาตี้ นักเทนนิสทีมชาติสหรัฐอเมริกาวัย 16 ปี ที่ยังไม่เคยสัมผัสแชมป์แกรนด์สแลมด้วยวัยเพียงน้อยนิด ผ่านเข้าไปชิงเหรียญทองกับคู่ต่อกรทรงพลังอย่าง สเตฟฟี่ กราฟ จากเยอรมันที่ต้องการป้องกันแชมป์

 

เกมดูเหมือนจะเข้าทางนักหวดสาวเยอรมันที่ต้องการเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ สองสมัยติดต่อกันหลังจากเธอเก็บชัยในเซตแรก แต่คาปริอาตี้ เรียกโมเมนตัมของเกมกลับมาหาเธออีกครั้ง ก่อนที่เราจะได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ใหม่เกิดขึ้นในปีนั้น ด้วยการที่คาปริอาตี้ ชนะไปในเซตสุดท้าย 6-4 ทำให้เธอกลายเป็นนักเทนนิสที่อายุน้อยที่สุดที่คว้าเหรียญทองในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

 

 

เหรียญทองที่สร้างชื่อให้กับ ดาเวนพอร์ต และอากัสซี่ 

 

เทนนิส โอลิมปิกเกมส์ ที่ แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 1996 ลินเซย์ ดาเวนพอร์ต มือ 10 ของโลกจากสหรัฐฯในขณะนั้น ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตกับการเข้าชิงเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยวกับ อรันช่า ซานเชซ วิคาริโอ จากสเปน

 

ดาเวนพอร์ต ผู้ที่ไม่เคยผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม แต่เธอสามารถคว้าเหรียญทองไปครอง และเป็นเหรียญทองสร้างชื่อให้กับเธอ

 

ขณะที่ อังเดร อากัสซี่ นักเทนนิสทีมชาติสหรัฐ ลงเล่นโอลิมปิก เกมส์ ที่แอตแลนตา ปี 1996 โดยไม่เคยผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศเทนนิสรายการแกรนด์ สแลม ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ เซร์กี้  บรูเกร่า จากสเปน และเขาไม่ทำให้แฟนเทนนิสเจ้าภาพต้องผิดหวัง เอาชนะไป สามเซตรวด  6-2, 6-3, 6-1 อากัสซี กลายเป็นนักเทนนิสชายของสหรัฐฯ คนแรก ที่คว้าเหรียญทองใน โอลิมปิก เกมส์ ต่อจาก วินเซนต์ ริชาร์ด ในปี 1924

 

แม้ว่าหลังจากโอลิมปิ เกมส์ อากัสซี จะกวาดชัยชนะได้มากมายในการแข่งขันอาชีพ แต่สำหรับเขาแล้วช่วงเวลาการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ คือสิ่งที่ดีที่สุดและน่าจดจำที่สุด

 

เหรียญแรกของชาติจากทวีปเอเชีย

 

ชื่อของ หลี่ ถิง และ ซุน เถียนเถียน สองนักหวดสาวทีมชาติจีนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากทั้งคู่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับทีมชาติจีนและชาติเอเชีย ด้วยการคว้าเหรียญทองประเภทหญิงคู่ ในโอลิมปิก เกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ หลังจากเอาชนะ คอนชิต้า มาร์ติเนซ และ บีร์คิเนีย รูอาโน่ ปาสกวาล จากสเปน 

 

เทนนิสหญิงรัสเซียยึดโพเดียม

 

การได้เห็นสองนักกีฬาจากชาติเดียวกันขึ้นรับเหรียญบนโพเดียมพร้อมกันเป็นภาพที่พิเศษ แต่ทีมเทนนิสหญิงรัสเซียทำได้ดีกว่านั้นในปักกิ่ง เกมส์ 2008 ที่จีน เมื่อ เอเลน่า เดเมนเตียว่า, ดินาร่า ซาฟิน่า และ เวร่า ซโวนาเรว่า จากรัสเซีย ขึ้นรับเหรียญบนโพเดียมพร้อมกันในประเภทหญิงเดี่ยวเป็นภาพที่สุดแสนพิเศษแห่งความทรงจำในโอลิมปิก

 

 

ปูอิก เหรียญทองสุดเซอร์ไพรส์

 

เทนนิส ริโอ เกมส์ 2016 ที่บราซิล โมนิก้า ปูอิก จากเปอร์โตริโก มือ 34 ของโลก หักปากกาเซียนทั่วโลกหลังจากเอาชนะ แองเจลิค แคร์เบอร์ จากเยอรมนี มือหนึ่งของโลกในขณะนั้น คว้าเหรียญทองสุดเซอร์ไพรส์และเป็นเหรียญทองเหรียญแรกให้กับทีมชาติเปอร์โตริโก

 

แอนดี้ มาร์รีย์ ผู้คว้าเหรียญทองชายเดี่ยวคนแรก สองสมัยซ้อน

 

"ลอนดอน เกมส์ 2012" ที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ แอนดี้ มาร์รีย์ นักหวดผู้เป็นความหวังของเจ้าภาพคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์มาครองได้สำเร็จ แต่มาร์รีย์ไม่เพียงถูกบันทึกว่าเป็นนักหวดสหราชอาณาจักรคนแรกที่คว้าเหรียญทองเทนนิสประเภทชายเดี่ยวได้ แต่เขายังถูกจารึกในฐานะ นักเทนนิสชายคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์เทนนิสประเภทชายเดี่ยว โอลิมปิก เกมส์ ได้สองสมัยติดต่อกัน ในโอลิมปิก เกมส์ 2012 และ 2016 

 

 

วีนัส-เซเรน่า วิลเลียมส์ คู่พี่น้องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

ชื่อของ วีนัส และ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ กลายเป็นนักเทนนิสคู่พี่-น้องที่ทรงอิทธิพลและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโอลิมปิก เกมส์ 

 

วีนัส พี่สาว คว้าเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยว ในซิดนีย์ 2000 รวมทั้งคว้าเหรียญทองประเภทหญิงคู่รวมกับ เซเรน่า น้องสาว จากนั้นทั้งคู่จับมือสร้างความสำเร็จคว้าเหรียญทองหญิงคู่สมัยที่สองในปักกิ่ง เกมส์ 2008 

 

เซเรน่า เดินตามรอยเท้าพี่สาว คว้าเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยว ในลอนดอน เกมส์ 2012 พร้อมควบด้วยแชมป์ประเภทหญิงคู่ ทำให้วีนัส และ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ กลายเป็นนักกีฬาคู่พี่-น้อง ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคว้าคนละ 4 เหรียญทอง ในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์


stadium

author

กมลวรรณ บุญมีสง่า

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic