stadium

"Olympic Performance Project" : โปรเจคพลิกโฉมหน้าวงการว่ายน้ำตุรกี

15 กรกฎาคม 2564

ถ้าถามว่าประเทศไหนในโลกมีนักว่ายน้ำอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำเวลาผ่านเกณฑ์ A โอลิมปิกเกมส์ 2020 มากที่สุดโลกเชื่อว่าคงมีคนตอบคำถามนี้ถูกน้อยมาก เพราะคำตอบนั้นคือ ประเทศตุรกี ชาติที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรเลยในวงการว่ายน้ำโลก แต่ตอนนี้กลับมีดาวรุ่งระดับโลก เดินชนกันเต็มสระไปหมด พวกเขาทำได้ยังไงวันนี้เรามีคำตอบให้ทุกท่านแล้ว

 

บ็อบ โบว์แมน (ซ้าย) ยอดโค้ชผู้ปลุกปั้น ไมเคิ่ล เฟลปส์ ตำนานนักว่ายน้ำชาวสหรัฐ

 

จุดเริ่มต้นปี 2013 จะเล่นใหญ่ทั้งทีเล่นของหนักไปเลย

 

อย่างที่รู้กันประเทศ ตุรกี ไม่ใช่ชาติที่มีชื่อเสียง และมีความรู้ด้านการว่ายน้ำ แต่พวกเขารู้จุดอ่อนข้อนี้ของตัวเองดี พวกเขาไม่ใช่พวกที่ไม่รู้จริงแล้วชอบทำเป็นสู่รู้ เมื่อไม่รู้ก็อย่าอายที่จะดึงคนเก่งมาช่วย และคนที่พวกเขาดึงมาวางรากฐานโครงสร้างว่ายน้ำของประเทศก็คือของหนักอย่าง บ็อบ โบว์แมน ยอดโค้ชในตำนานผู้ปลุกปั้น ไมเคิ่ล เฟลปส์ ตำนานนักว่ายน้ำชาวสหรัฐอเมริกา แน่นอนสหพันธ์ว่ายน้ำตุรกี ไม่ได้กระเป๋าหนักขนาดนั้น แต่ที่พวกเขาพยายามคือ หาผู้สนับสนุน หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า คอนเนคชั่น มาช่วยสนับสนุนนั้นเอง

 

 

Turkcell เข้ามาสนับสนุนวงการว่ายน้ำตุรกี ร่วมมือกันภายใต้ "Olympic Performance Project "

pic : https://www.businesswire.com/news/home/20140418005156/en/Turkish-Swimming-Dusts-off-and-Gets-Ready-for-Success-with-Turkcell%E2%80%99s-Support

 

คอนเนคชั่นกับ Turkcell ผู้สนับสนุนรายใหญ่ 

 

แน่นอนประธานสหพันธ์ว่ายน้ำตุรกี ไม่ได้เป็นนักการเมืองใหญ่โตคับประเทศเหมือน หลาย ๆ สมาคมว่ายน้ำในหลาย ๆ ประเทศด้วยซ้ำ แต่ก็ยังใช้ความพยายาม และการทำงานสุดตัวดึง Turkcell ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจคมนาคมของประเทศตุรกี มาสนับสนุนโปรเจคยักษ์ที่ชื่อว่า " Olympic Performance Project" ซึ่งเป็นโปรเจคระยะยาว ที่จะเปลี่ยนวงการว่ายน้ำตุรกีไปตลอดกาล เมื่อมีทั้งความพยายาม วิสัยทัศน์ และกำลังเงิน มันจึงทำให้เกิดโปรเจคแบบนี้ขึ้นมาได้ โดย Turkcell ทุ่มเงินกับโปรเจคนี้สูงถึง 105 ล้านบาท มากกว่านั้นยังสนับสนุนเทคโนโลยี อุปกรณ์ของบริษัท ในการเก็บข้อมูล ติดตามผลนักกีฬา เพื่อพัฒนานักกีฬาอีกด้วย ไม่ง่ายนะครับเงิน 100 ล้านกับกีฬาว่ายน้ำ แต่สหพันธ์ว่ายน้ำตุรกีทำได้

 

 

ทัพว่ายน้ำตุรกีที่เกิดจาก "Olympic Performance Project "

 

รู้จัก "Olympic Performance Project " 

 

โปรเจคนี้เริ่มต้นในปี 2013 ด้วยการเชิญยอดโค้ชอย่าง บ็อบ โบว์แมน มาเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษา คิดวางแผน วางระบบให้ทุกอย่าง เนื่องจากเป็นโปรเจคระยะยาว ขั้นต้นที่ทุกคนคิดไว้คือ โปรเจคนี้มันจะต้องใช้เวลา และจะผลิดอกออกผลอย่างเร็วในปี 2020 โดยคีย์หลักของโปรเจคนี้คือ การเพิ่มจำนวนนักว่ายน้ำของทั้งประเทศ, การพัฒนาศักยภาพของนักว่ายน้ำ และเพิ่มพูนความรู้ให้ผู้ฝึกสอนทั้งประเทศ ตรงนี้สำคัญมากนักกีฬาจะเก่งไม่ได้เลย ถ้าซ้อมกับโค้ชห่วย ๆ เมื่อได้หัวข้อใหญ่ ๆ ตามที่ต้องการแล้ว พวกเขาเดินเรื่องเดินเกมต่อยังไงให้มันออกมาสำเร็จเป็นรูปธรรม ไปดูกัน 

 

Berkay Ömer Öğretir จะลงว่ายกบ 100 , 200 ม. ในโอลิมปิกเกมส์ 2020
pic : https://www.instagram.com/berkayogretir/?hl=en
Nida Eliz Üstündağ 
pic : https://www.facebook.com/nidaelzustundag/photos/a.417559548633296/655596694829579/

 

1.เพิ่มจำนวนนักว่ายน้ำให้ถึง 100,000 คนในปี 2020 

 

นี่คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ นักกีฬาเยอะ ตัวเลือกเยอะ โอกาสมันก็เยอะขึ้นตามไปด้วย เรียบง่ายมาก ๆ แต่จริงที่สุด  ในปี 2013 ประเทศตุรกี มีนักว่ายน้ำขึ้นทะเบียนอยู่ 18,000 คนทั้งประเทศ แค่ไม่ถึงปีพวกเขาเพิ่มจำนวนนักว่ายน้ำได้ถึง 32,000 คน และจบสิ้นปี 2014 ด้วย 35,000 คน สำหรับประเทศที่คิดจะทำตาม การจะเพิ่มจำนวนนักกีฬา ก่อนอื่นต้องรู้จำนวนปัจจุบัน และเป้าหมายก่อน ซึ่งตัวเลขแบบนี้คนทำงานต้องรู้ดีที่สุดแบบไม่ต้องแอบไปเปิดหา แต่กับบางประเทศไม่แน่ใจจริง ๆ ว่ารู้ตัวเลขแบบนี้แบบไม่ต้องเปิดหารึเปล่า 

 

ümitcan güreş 
Pic :  https://www.instagram.com/umitcangures/?hl=en

 

2.ส่งนักว่ายน้ำระดับ Elite ของประเทศไปซ้อมต่างประเทศ

 

อย่างที่บอกเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ต้องหาคนช่วย อย่าคิดไปเองว่าตัวเองเก่ง มีแค่แผนระยะยาวในฝันไม่พอ ต้องมีแผนระยะสั้นควบคู่ด้วย ตุรกีเล็งเห็นตรงนี้ พวกเขาไม่รอช้าส่งนักกีฬาระดับหัวกะทิไปซ้อมทีเดียว 5 คน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เมือง บัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ ทั้งหมดไปซ้อมรวมกับนักว่ายน้ำชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา การจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเต็มไปด้วยคุณภาพในประเทศนั้นเกิดขึ้นได้ยากมากในเวลาอันสั้น หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งตุรกีนั้นรู้ดีว่ารอไม่ได้เพราะ เป้าหมายผลงานระยะสั้นก็สำคัญต่อแรงบันดาลเยาวชนในประเทศจึงทุ่มเงินไปที่ตรงนี้ เพื่อให้เกิดผลเร็วที่สุด ตามรายงานไม่มีบอกว่า ให้พ่อแม่นักกีฬาช่วยออกค่าใช้จ่ายหรือไม่

 

3.ส่งโค้ชไปเรียน + หาโอกาสให้โค้ชทุกด้าน

 

บ็อบ โบว์แมน ที่เป็นคนวางรากฐานรู้ดีว่า เหล่าโค้ชเองก็ต้องพัฒนาด้วยวงการถึงจะดี เขาจึงต้องส่งโค้ชชาวตุรกีหลายคน ไปทั้งเรียน และฝึกงานที่เมือง บัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่านั้นทางตุรกี ยังรับเป็นเจ้าภาพจัดอบรมโค้ชระดับนานาชาติที่สนับสนุนโดย FINA ในปี 2014 ซึ่งการเป็นเจ้าภาพแน่นอนโค้ชในประเทศตุรกี จะได้ความรู้ และได้โอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติมแบบเต็ม ๆ มากกว่าชาติอื่น 

 

Fernando Canales หนึ่งในสตาฟฟ์โค้ชเบื้องหลังความสำเรจของตุรกี 
Pic : https://gocolgateraiders.com/news/2010/8/16/MSWIM_0816101424

 

4.จ้างโค้ชที่เก่งมาคุมทีมชาติ

 

เพื่อให้โครงการนี้มันแน่นยิ่งขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด บ็อบ โบว์แมน ยังกันเหนียวด้วยการส่งทีมงานโค้ชคนเก่งของตัวเองอย่าง เฟอร์นานโด กานาเลส มาช่วยคุมทีมชาติตุรกีอีกแรง ซึ่งมาคุมแบบประจำไม่ไปกลับ อาศัยอยู่ที่กรุง อิสตันบูล เพื่อช่วยพัฒนานักว่ายน้ำในประเทศอีกแรง 

 

5.กระจาย Passion เรื่องว่ายน้ำไปสู่ทั่วประเทศ

 

กลับไปที่ข้อ 1 ทั้งการจะเพิ่มจำนวนนักกีฬา และคงความหลงใหลในกีฬาว่ายน้ำของเยาวชนในสังคมไว้  มีทางเดียวคือต้องจัด Event ไปทั่วประเทศ ตรงนี้ Turkcell ผู้สนับสนุนหลัก ได้มีการจัดงานที่ชื่อ Swimming Day ไปถึง 17 เมืองทั่วประเทศ ในปีแรกเป้าหมายคือเพิ่มนักกีฬา 10,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีถัดมา โดยจะจัด Event เพิ่มขึ้นเป็น 40 เมือง และหานักว่ายน้ำเพิ่มอีก 20,000 คน 

 

beril böcekler 
Pic :  https://www.instagram.com/berilbocekler/?hl=en
deniz ertan 
Pic : https://www.instagram.com/denizeertan/?hl=en

 

หวังผลระยะยาว ไม่สุกเอาเผากิน

 

แน่นอนหลังโปรเจคนี้เปิดมา 3 ปี ในโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 ประเทศตุรกีก็ยังไม่สำเร็จอะไรเลยมีนักกีฬาผ่านเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้นแค่ 4 คน เป็นผู้หญิง 3 คน ชาย 1 คน ถ้าเป็นบางประเทศก็คงพับแผนล้มเลิกแล้ว เพราะล้มเหลว หรือโดนด่า ไปแล้ว แต่แน่นอนพวกเขายึดมั่นกับเป้าหมายระยะยาวในปี 2020 และผลลัพธ์ที่ได้หลังจากนั้น มันช่างคุ้มค่ากับการรอคอยของพวกเขาจริง ๆ 

 

ผลลัพธ์อันแสนสุดยอด

 

จากนักกีฬาว่ายน้ำ 4 คนในโอลิมปิกเกมส์ 2016 มาถึงในปี 2020 ที่เป็นปีเป้าหมายของ " Olympic Performance Project " ประเทศตุรกีก็ได้รับรางวัล Swammy Award ในสาขา " National Development Award " หรือประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุด จากทาง swimswam สื่อว่ายน้ำอันดับ 1 ของโลก เพราะอะไรถึงได้ ตุรกีเพิ่มจำนวนนักกีฬาจาก 4 คนในโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 จนในปี 2020 พวกเขามีนักกีฬาว่ายน้ำผ่านเกณฑ์ A และ B ของโอลิมปิกเกมส์รวมถึง 28 คน และเป็นเกณฑ์ A ถึง 9 คน มันมากจนทำให้พวกเขามีทีมผลัดว่ายน้ำเข้าแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรก มากกว่านั้น อย่างที่เราบอกในตอนต้น 9 คน ที่ผ่านเกณฑ์ A มีถึง 5 คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมากกว่าทุกชาติที่เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ มากกว่าทีมชาติสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป

 

สถิติว่ายน้ำของประเทศตุรกี 40 รายการ มีถึง 39 รายการที่ถูกทำขึ้นใหม่ตั้งแต่ 2013 ปีที่ " Olympic Performance Project " เริ่มต้นขึ้น เมื่อรวมกับกลุ่มนักว่ายน้ำอายุน้อย ๆ ที่ผ่านเกณฑ์ A  ไปโอลิมปิกแล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโครงการนี้ " เปลี่ยนวงการว่ายน้ำประเทศตุรกีไปตลอดกาลแล้ว " สำหรับวงการว่ายน้ำบางประเทศถ้าคิดใหม่ไม่ได้ นำสิ่งที่ดีที่เหมาะกับตัวเองมาปรับใช้ และลงมือทำอย่างจริงจัง น่าจะทำให้วงการว่ายน้ำประเทศเหล่านั้นดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย


stadium

author

พงษ์ศักดิ์ ตันติวุฒิกุล

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจฉลามหนุ่มไทยแลนด์

Hatari
stadium olympic