stadium

เรื่องลับ (ที่ไม่ลับ) ของ “คีริน ตันติเวทย์”

9 กรกฎาคม 2564

อัพเดทวงการกรีฑาไทยในโอลิมปิก ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยแล้วว่า “คีริน ตันติเวทย์” นักกรีฑาระยะไกลทีมชาติไทย ขวัญใจชาวไทย สามารถทำสถิติผ่านเกณฑ์คัดเลือกของคณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) มีสิทธิ์ไปร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Tokyo 2020 ในประเภทกรีฑา รายการวิ่ง 10,000 เมตร ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

ปอดเหล็กลูกครึ่งไทย-อเมริกัน สมาชิกทีม Bowerman Track Club ภายใต้การฝึกซ้อมของโค้ช Jerry Schumancher สามารถทำเวลาผ่านเกณฑ์โอลิมปิกไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในการแข่งขัน “The Ten” จัดขึ้นที่เมืองซานฮวน คาปิสทราโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ โดยทำลายสถิติ 10,000 เมตร ของตัวเองด้วยเวลา 27:17.14 นาที ที่เพซเฉลี่ย 2:44 ดีกว่าสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2019 ที่เวลา 28:45.61 ถึง 1 นาทีครึ่ง ขึ้นแท่น Top 5 สถิติที่ดีที่สุดของเอเชีย โดยคีริน ได้อันดับ 4 เบียดแซง อากิระ ไอซาวะ จากญี่ปุ่น ที่ทำเวลา 27:18.75 นาที

 

ก่อนจะไปลุ้นผลงานของอดีตหนุ่มฮาวาร์ดในเวทีโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิตของเขา Stadium TH มีข้อมูลสัมภาษณ์เบื้องลึก (แต่ไม่ลับ) ของนักวิ่งวัย 24 ปีคนนี้ให้แฟนๆ ได้รู้จักเขามากขึ้นกัน ต้องบอกก่อนว่าคีรินนั้นเรียนพูดภาษาไทย เขาสามารถพูดและพิมพ์ได้ประมาณนึงด้วยนะ และพยายามตอบกลับเป็นภาษาไทยด้วย (น่าประทับใจมาก)

 

 

StadiumTH : ลองเล่าเรื่องราวในวัยเด็กกับการวิ่งให้ฟังหน่อย

คีริน : ผมเริ่มวิ่งตามพี่ชานันต์ (พี่ชาย) ของผม ผมชอบวิ่งตามตอนที่เขาไปวิ่งออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม นั่นคือจุดเริ่มต้นในการวิ่งเลยก็ว่าได้

 

StadiumTH : ระหว่างวิ่งในลู่กับวิ่งบนถนนชอบอะไรมากกว่ากัน

คีริน : จริงๆ วิ่งบนลู่ง่ายกว่าวิ่งบนถนนสำหรับผมนะ เพราะการวิ่งใช้ความเร็วบนถนนทำได้ยาก ผมเลยชอบวิ่งลู่มากกว่า แต่ไม่แน่ในอนาคต 3-4 ปี ผมอาจจะลองไปวิ่งถนนดู

 

StadiumTH : ได้ข่าวว่าเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเลย เราแบ่งการเรียนกับการซ้อมยังไง?

คีริน : ผมพยายามจัดสรรเวลาให้กับทั้งการเรียนและกีฬา ผมไม่เคยวิ่งมากกว่าที่ผมควรต้องวิ่งในแต่ละวัน ถ้าวันไหนรู้สึกเหนื่อย ล้า หรือคิดว่าวิ่งมากเกินไปแล้ว และถ้าเมื่อวิ่งแล้วมันไม่รู้สึกสนุก ผมก็จะพักการวิ่งไปก่อนครับ

 

StadiumTH : ในช่วงเวลาว่างที่ไม่ได้วิ่งชอบทำอะไรบ้าง แล้วได้เล่นกีฬาอื่นด้วยหรือเปล่า?

คีริน : ตอนที่เว้นจากการฝึกซ้อมหรือการวิ่ง ผมชอบอ่านหนังสือครับ ส่วนมากเป็นหนังสือวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ หรือไม่ก็หนังสือวิชาการที่ส่งเสริมความรู้ ล่าสุดผมพึ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโรคมะเร็งจบไป (น่าทึ่งมาก ขนาดพักก็ยังตั้งใจหาความรู้!!)

 

 

วิ่งรองเท้าข้างเดียวคว้าแขมป์ 3000 เมตร ก่อนคว้าอีกทองใน 5000 เมตรวันรุ่งขึ้น (Ivy League)

 

StadiumTH : ลองเล่าประสบการณ์การแข่งบนลู่วิ่งครั้งแรกให้ฟังหน่อย

คีริน : ที่จริงผมจำไม่ได้ครับ (ฮา) แต่จำได้ว่าตอนปีแรกที่เรียนฮาวาร์ดได้วิ่งแข่งบนลู่ มันเหนื่อยมากๆ ผมไม่ชนะเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าจับจังหวะวิ่งและเพซของตัวเองไม่ได้

 

StadiumTH : เหตุการณ์ที่น่าจดจำสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
คีริน : เป็นตอนที่ผมสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาหลังจากเรียนที่นั่นครบ 4 ปี เป็น 4ปีที่มีความสุขและสนุกมากครับ

StadiumTH : มีนักวิ่งคนไหนเป็นไอดอล?

คีริน : ผมชอบนักกีฬาหลายคน แต่ถ้าให้เลือกอาจไม่ใช่นักวิ่งแต่เป็นนักบาสเกตบอล NBA “เลบรอน เจมส์” ผมคิดว่านอกจากเขาจะเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมแล้ว เขายังชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นแบบอย่างที่ดีมากครับ

 

StadiumTH : ทำไมถึงตัดสินใจไปร่วมทีม Bowerman Track Club?

คีริน : เมื่อเรียนจบจากฮาวาร์ด ผมก็ไม่ได้สังกัดชมรมกรีฑาของที่นั่นแล้ว จึงมองหาทีมวิ่งอื่นที่สามารถต่อยอดการวิ่งของผมได้ ซึ่งทีม Bowerman Track Club (BTC) มีทั้งนักวิ่ง และ โค้ช ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ผมโชคดีมากๆ ที่โค้ชตอบรับการเข้าร่วมทีมของผม

 

 

Altitude Training กับทีมที่เมือง Park City รัฐยูทาห์ (Photo : Bowerman TC)

 

StadiumTH : การฝึกซ้อมกับทีม BTC ต้องหนักและเข้มข้นมากๆ คีรินมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรระหว่างการฝึกซ้อมกับทีมมั้ยเราปรับตัวเข้ากับทีมอย่างไร?

คีริน : แน่นอนว่าความเข้มข้นของโปรแกรมวิ่งต่างจากสมัยอยู่กับชมรมกรีฑาของฮาวาร์ดมากๆ ยากเอาเรื่องเลยครับ ทุกคนเป็นนักวิ่งดีกรีทีมชาติ แต่ละคนวิ่งกันดีมากๆ แต่โชคดีที่ผมได้เพื่อนร่วมทีมคอยช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องการปรับตัวกับทีม และตั้งเป้าหมายและทิศทางในการวิ่ง ผมต้องใช้เวลาให้กล้ามเนื้อฟื้นตัว แต่ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีครับ

 

StadiumTH : ในการฝึกซ้อมปกติวิ่งประมาณกี่กิโลเมตรในสัปดาห์

คีริน : ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 130 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ซึ่งผมใช้เวลาฝึกซ้อมมายาวนาน 5 ปี กว่าจะมาถึงระดับนี้

 

StadiumTH : การที่เราเป็นลูกครึ่งเอเชีย-อเมริกัน ซึ่งหาได้น้อยมากในระดับนี้คิดว่ามันเสียเปรียบนักวิ่งที่เป็นอเมริกัน 100% มั้ย?

คีริน : ในความคิดผมมันไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลยนะ คนไทยก็สามารถเป็นนักวิ่งชั้นนำได้

 

 

 

StadiumTH : หลังจบการศึกษาปริญญาตรีเราได้วางเป้าหมายให้กับการวิ่งอย่างไรบ้าง มีแผนจะผันตัวเป็นนักวิ่งอาชีพ(pro-runner) หรือเปล่า?

คีริน: เป้าหมายตอนนี้ของผมคืออยากวิ่งให้ดีขึ้นกว่านี้ ผมอยากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการกรีฑาชิงแชมป์โลกและโอลิมปิก ซึ่งตอนนี้ผมได้ไปโอลิมปิกครั้งแรกแล้ว หวังว่าผมจะได้เป็นนักวิ่งระดับแนวหน้าชั้นนำในอนาคตครับ

 

StadiumTH : ตั้งเป้าหมายและความฝันกับการวิ่งไว้แบบไหน?

คีริน : ณ ตอนนี้ผมยังไม่มีแผนอะไรที่แน่ชัดหรือยาวไปถึงขนาดนั้น (ฮา) จุดมุ่งหมายตอนนี้คือพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

 

StadiumTH : คติประจำใจ?

คีริน : เตือนตัวเองเสมอว่าให้ทำดีขึ้นในทุกๆ วันครับ

 

StadiumTH : ลองเล่าถึงรายการ The Ten ที่ทำเวลาผ่านเกณฑ์โอลิมปิกหน่อย

คีริน : วันนั้นผมดีใจมากที่ทำเวลาผ่านเกณฑ์โอลิมปิกที่กำหนดไว้ที่ 27:28 นาที ซึ่งผมทำได้ที่ 27:17.14 นาที เป็นเวลาที่ดีกว่าที่เคยทำไว้มากๆ เป็นผลตอบแทนจากการฝึกซ้อมอันหนักหน่วงจริงๆ

 

 

จังหวะเกาะกลุ่มกับคู่แข่ง ก่อนเข้าเส้นชัยแบบสบาย ๆ เป็นคนแรกในซีเกมส์ 2019  (ช่างภาพมีกล้าม)

 

StadiumTH : ตั้งเป้าทำลายสถิติในระยะไหนไว้อีกบ้าง?

คีริน : ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งอะไรเลยครับ พยายามทำเวลาให้ดีขึ้น ผมคิดว่ามีหนทางที่สามารถพัฒนาไปได้อีก

 

StadiumTH : รู้สึกยังไงบ้างที่ตอนนี้สถิติ 10,000 เมตรของคีรินถือว่าเป็นอันดับที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์กรีฑาของเอเชีย

คีริน: ผมภูมิใจมากๆ ครับ และหวังว่าอยากเห็นธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเคียงข้าง บาห์เรน, กาตาร์ และ ญี่ปุ่น

 

StadiumTH : หลายคนลุ้นให้คีรินทำลาย 5,000 เมตร Sub 13:50 อยู่

คีริน : ผมก็หวังว่าจะทำได้เช่นกันครับ (ยิ้ม) ซึ่งผมต้องซ้อมมากกว่านี้ ค่อนข้างยาก

 

StadiumTH : ถ้าไม่ได้เป็นนักวิ่งอาชีพคีรินอยากทำอะไร?

คีริน : คำถามนี้ตอบยากเหมือนกัน อาจจะทำงานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แบบคุณพ่อครับ

 

รอยยิ้มของ คีรินย์ กับความสำเร็จในนามทีมชาติไทย (Photo: ช่างภาพมีกล้าม)

 

StadiumTH : เห็นว่าเรียนภาษาไทยอยู่เป็นยังไงบ้าง?
คีริน : ผมรักเมืองไทยและชอบเรียนรู้ภาษาไทยครับ ผมพอพูดเบื้องต้นได้ ตอนนี้ผมพยายามฝึกฝนบ่อยๆ เช่น พิมพ์ในอินสตาแกรม หรือแม้แต่พิมพ์ตอบคำถามนี้ด้วย (ฮา)

 

StadiumTH : ชอบกินอาหารไทยมั้ย?

คีริน : ชอบครับ ผมฝึกทำกินเองอยู่บ่อยๆ มีความสุขมาก

 

StadiumTH : มีอะไรอยากฝากถึงแฟนกีฬาชาวไทยที่ติดตามผลงานคีรินอยู่?

คีริน : ขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจผมเสมอมา ผมชอบอ่านข้อความที่แฟนๆ คนไทยเขียนให้กำลังใจผม มันช่วยกระตุ้นให้ผมพยายามวิ่งให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และหวังว่าตัวผมจะสามารถทำให้คนไทยภูมิใจและสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยมาวิ่งกันเยอะๆ ครับ

 

สนามกีฬาแห่งชาติ Olympic Stadium ความจุ 68,000 คน ที่เคยจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน Tokyo 1964 ได้ถูกปรับปรุงใหม่เพื่อต้อนรับมหกรรมกฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 
(ภาพ olympics.com)

 

การแข่งขันกรีฑา 10,000เมตร มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือ 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ที่สนามกีฬาแห่งชาติ The Olympic Stadium กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  เป็นการแข่งรอบตัดสินทีเดียวพร้อมกัน โดยในครั้งนี้แชมป์เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย “โม ฟาร่าห์” พลาดท่าเวลาไม่ผ่านเกณฑ์ (ทำเวลา 27:47.04) อดมาทวงบังลังก์สมัยที่ 3 ในขณะที่เจ้าของสถิติโลก Joshua Cheptegei จากอูกันดา สถิติ 26:11 นาที ขึ้นแท่นตัวเต็งอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ลองดูสถิติของนักวิ่งที่คัดผ่านเกณฑ์โอลิมปิกคลิก

 

 

สำหรับ คีริน คัดเวลาเข้ามาเป็นอันดับที่ 16 จากนักกรีฑา 28 คนจากทั่วทุกมุมโลกที่จะลงไปฟาดฝีเท้าในสนาม ต้องบอกว่าตื่นเต้นมาก เพราะนี่คือวินาทีแห่งประวัติศาสตร์วงการกรีฑาไทยอย่างแท้จริง โดยใน 28 คนนี้มีแค่ตัวแทนจากเอเชียแค่ 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น (2 คน), บาห์เรน (1 คน) และ ไทย (1 คน) ซึ่งหากนับกันที่เชื้อชาติจริงๆ จะมีคนเอเชียในวันนั้นเพียงแค่ 3 คน (Birhanu Balew ของบาห์เรนโอนสัญชาติจากเอธิโอเปีย) ท่ามกลางสนามใหญ่โตที่ว่างเปล่าเพราะการระบาดของไวรัส โควิด-19

 

อย่าลืมส่งแรงใจเชียร์ “คีริน ตันติเวทย์” นักกีฬาตัวแทนจากไทย

ไม่แน่ในวันนั้นอาจมีสถิติประเทศไทยอุบัติขึ้นก็เป็นได้


stadium

author

Chalinee Thirasupa

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจช่างภาพมีกล้าม

stadium olympic