7 กรกฎาคม 2564
“คุณพ่อผมอาจเป็นผิวสีคนเดียวในจังหวัด โทยามะ ก็ได้นะครับ” เด็กหนุ่มผิวเข้มเจ้าของความสูง 6 ฟุต 8 นิ้วพูดกับสื่อในญีปุ่นด้วยรอยยิ้มที่แฝงเบื้องหลังชีวิตวัยเด็กก่อนที่ รุย ฮาชิมูระ จะมาเป็นดราฟต์อันดับ 9 ของปี 2019 เขานั้นต้องก้าวข้ามกำแพงหลายอย่างทั้งในบ้านเกิดและสหรัฐอเมริกา และนี่คือเรื่องราวของว่าที่นักบาสเกตบอลที่จะมีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแดนอาทิตย์อุทัย
เด็กผิวสีจากเมือง โทยามะ
รุย ฮาชิมูระ เกิดที่เมืองโทยามะ ทางตะวันตกของภูมิภาคชูบุบนเกาะฮอนชู เชื่อได้ว่านี่เป็นจังหวัดที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก เมื่อเทียบกับเมืองที่มีชื่อเสียงกว่าในภูมิภาคนี้อย่าง นาโงย่า, นีงาตะ หรือ ชิซุโอกะ ที่มีภูเขาไฟฟูจิเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติและมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนต่อปีมากกว่าประชากรของเมืองโทยามะซะอีก
ฮาชิมูระ ที่มีคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่นและคุณพ่อเป็นชาวเบนิน จะถูกเรียกกันทั่วไปในสังคมญี่ปุ่นว่า ฮาฟุ (ハーフ) หรือ Half ในภาษาอังกฤษซึ่งหมายถึงเด็กญี่ปุ่นลูกครึ่ง มันอาจไม่แปลกไปเท่าไรในประเทศอื่นๆ แต่ในญี่ปุ่นที่ประชากรเกือบ 99% เป็นญี่ปุ่นแท้ ทำให้เด็กชาย ฮาชิมูระ ต้องเจอกับอุปสรรคในการปรับตัวเข้ากับสังคมพอสมควร ตั้งแต่ยังเด็ก เขาต้องเจอกับการเหยียดผิวด้วยคำพูด และการแบ่งแยกด้วยสีผิว ซึ่งปัญหาการรังแกและการบุลลี่ในห้องเรียนเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาช้านาน แต่ ฮาชิมูระ เลือกที่จะใช้ร่างกายที่เสมือนพระเจ้าประทานมาให้นั้นทำลายกำแพงแห่งการแบ่งแยกด้วยความสามารถด้านกีฬาที่หลากหลาย ซึ่งก็มาจากธรรมชาติร่างกายแบบแอฟริกันจากคุณพ่อของเขานั้นเอง
ฮาชิมูระ เคยเลือกเล่นกีฬาทั้ง คาราเต้, ฟุตบอล, กรีฑา แต่เหมือนว่ากีฬาที่เขาทำได้ดีจะเป็นเบสบอลซึ่งเขาเล่นได้ทั้งตำแหน่งพิชเชอร์และแคทเชอร์ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด ฮาชิมูระ ตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางบาสเกตบอลเมื่อเขาได้มีโอกาสไปทริปที่สหรัฐอเมริกากับครอบครัวตอนอายุ 12 ปี ทิวทัศน์ของ นิวยอร์ก ซิตี้ และย่านดาวน์ทาวน์ที่เต็มไปด้วยสนามบาสซึ่งมีเด็กอเมริกันต่างสีผิวดวลความสามารถอย่างสนุกสนานทำให้ ฮาชิมูระ รู้ในทันทีว่าที่อเมริกาคือหมุดหมายของเขา
ความสำเร็จใน อินเตอร์ไฮ และสปอตไลท์ในญี่ปุ่น
ในช่วงม.ต้นปีสุดท้าย ความสามารถทางบาสเกตบอลของ ฮาชิมูระ โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ เขาพาโรงเรียนม.ต้นของเขาจบรองแชมป์ในการแข่งขันระดับจูเนียร์ ไฮ ( Junior-Hi ) ปูทางไปสู่การติดทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 16 ปีไปแข่งในรายการบาสเกตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี และช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นได้เหรียญทองแดงเป็นสมัยที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อจบการแข่งขัน ฮาชิมูระ ก็เลือกเรียนต่อในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมปลายเฮเซ ในเมืองเซนไดจังหวัดมิยางิ ซึ่งห่างไกลจากเมือง โทยามะ บ้านเกิดถึงกว่า 400 กิโลเมตร
ฮาชิมูระ ไม่ต้องปรับตัวกับโรงเรียนใหม่นาน เมื่อเขาช่วยให้โรงเรียนเฮเซคว้าแชมป์ อินเตอร์ไฮ หรือการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติระดับมัธยมปลายได้สำเร็จ ฮาชิมูระ มีภารกิจทั้งงานราษฎร์งานหลวง เพราะนอกจากจะเป็นตัวแทนชมรมบาสเกตบอลของโรงเรียนเฮเซแล้ว ยังติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดไม่เกิน 17 ปีไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกด้วย ซึ่งผลงานที่ทำให้เด็กหนุ่มจากเมืองแห่งทุ่งนาเป็นที่จับตามองก็คือเกมที่ทีมชาติญี่ปุ่นแพ้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่มี เจสัน เททัม และ โจชัว แจ็คสัน ไปแบบกระจุยถึง 122 – 38 แต่ ฮาชิมูระ ทำแต้มไปถึง 25 คะแนนและจบทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกด้วยการเป็นผู้เล่นที่ทำคะแนนเฉลี่ยสูงสุดของทัวร์นาเมนต์ที่ 22.5 คะแนนต่อเกมทั้งที่ทีมชาติญี่ปุ่นจบอันดับ 14 เท่านั้น ซึ่งหลังจบแมตช์รอบ 16 ทีมสุดท้ายสื่อมะกันก็เดินมาถาม ฮาชิมูระ ว่ารู้สึกอย่างไรที่สามารถทำแต้มสูงสุดในเกมนี้ เจ้าตัวจึงตอบเป็นภาษาญี่ปุ่นพร้อมรอยยิ้มว่า “ผมต้องการไปเล่นบาสมหาวิทยาลัยที่อเมริกา”
4,800 ไมล์จากไร่ข้าวสู่ดินแดนแห่งบาสเกตบอล
เป้าหมายของ ฮาชิมูระ ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อกลับมาเรียนมัธยมปลายปี 2 ภารกิจในการแข่งขันบาสเกตบอลยังเป็นภารกิจหลัก แต่ความฝันในการไปเล่นบาสที่อเมริกาทำให้ ฮาชิมูระ มีความแน่วแน่มากขึ้น ซึ่งตัวเขาเองมีความสนใจในวัฒนธรรมอเมริกันอยู่แล้ว ฮาชิมูระ เรียนภาษาอังกฤษผ่านการดูภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งมีเรื่องโปรดเป็นภาพยนตร์ชุด The Fast and Furious ทุกภาค อาหารที่เขาชอบคือพิซซ่าและแฮมเบอร์เกอร์ถึงขนาดที่ต้องอ้อนคุณแม่ซื้อให้ทานบ่อยๆ ในระหว่างเรียนอยู่ม.ปลายปี 2 ฮาชิมูระ ก็ได้ส่งหนังสือแจ้งความจำนง (National Letter of Intent) เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันผลงานในระดับม.ปลายของเขาก็ยังดีต่อเนื่องและพาโรงเรียนเฮเซได้แชมป์อินเตอร์-ไฮ สองสมัยติดต่อกัน
ชื่อเสียงของ รุย ฮาชิมูระ เป็นที่จับตามองของสื่อญี่ปุ่น และได้รับการยกย่องว่าจะเป็นนักบาสญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าเขาจะเก่งแค่ไหน ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ทำให้ ฮาชิมูระ ยังคงถูกมองเป็นคนแปลกยามที่เขาต้องเดินทางไปแข่งรายการระดับชาติ “ผมรู้สึกเหมือนตัวเองแปลกประหลาด คนส่วนหนึ่งมองว่าผมแตกต่างจากพวกเขา” นี่คือความอัดอั้นตันใจที่เขาเคยพูดกับสื่อ สิ่งนี้ทำให้ ฮาชิมูระ ยิ่งอยากไปเล่นที่สหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเดิม
ปีสุดท้ายของม.ปลาย ฮาชิมูระ พาโรงเรียนเฮเซเป็นแชมป์อินเตอร์-ไฮ สามสมัยติด ในขณะเดียวกันหนังสือแสดงความจำนงของเขาได้รับการรับรองเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าการสอบเมื่อทำเกรดให้ผ่านเกณฑ์จะเป็นสิ่งที่ ฮาชิมูระ ไม่ชอบเท่าไรนัก แต่เป้าหมายที่แน่วแน่ทำให้เขาทำได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยที่เป็นปลายทางของเขาคือมหาวิทยาลัยกอนซาก้าที่เมืองสโพเเคน รัฐวอชิงตัน ห่างจากบ้านเกิดของเขากว่า 4,800 ไมล์
ดราฟต์ประวัติศาสตร์ของชาวญี่ปุ่น
ปัญหาที่เฟรชแมนจากแดนปลาดิบต้องเจอในช่วงแรกคือภาษา และการสื่อสาร ในปีแรกของ ฮาชิมูระ ที่กอนซาก้า เขาแทบไม่ได้ลงคอร์ทเลยด้วยซ้ำ มาร์ค ฟิว หัวหน้าโค้ชของ กอนซาก้า บูลด็อก มองว่าเด็กหนุ่มที่แปลกถิ่นคนนี้ต้องปรับตัวเรื่องการสื่อสารโดยการเข้าคอร์สปรับภาษาก่อน ตื่นตั้งแต่ 7 โมงครึ่งเข้าเรียนตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยง แล้วกลับมาต่อช่วงบ่ายตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสาม กว่าจะได้ซ้อมก็เลทไปถึงเกือบเย็น ฟิว ให้ ฮาชิมูระ ซ้อมในช่วงแรกของปี 1 ประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เพราะ ฮาชิมูระ ต้องทุ่มเทกับคอร์สเรียนภาษาและการปรับตัวเรื่องการเรียนในปีแรก
แต่นอกจากการเรียนในคลาสแล้ว ฮาชิมูระ เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านการฟังเพลง rap และดูภาพยนตร์และซีรีส์ผ่าน Netflix เพิ่มเติม “ภาษาและการสื่อสารคือเรื่องยากที่สุดสำหรับผมครับ มันมีบางช่วงที่ท้อจนอยากจะกลับบ้าน แต่เป้าหมายผมใหญ่เกินกว่าจะยอมแพ้ ผมต้องการเป็นตัวอย่างของคนผิวสีญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก” ต้องขอบคุณ จอช เพอร์คินส์ รูมเมทของ ฮาชิมูระ ที่ช่วยเพื่อนต่างแดนจากเอเชียในการปรับตัวเข้ากับชีวิตที่อเมริกาในเวลาอันสั้น
ฮาชิมูระ ใช้เวลา 2 ปีในการพิสูจน์ตัวเอง แต่ในการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์แห่งชาติหรือ NCAA 2 ฤดูกาลหลัง เขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยในปี 3 ฮาชิมูระ รับบทบาทเป็น Sixth Man ของทีม (ตัวเปลี่ยนเกม) และมีสถิติเกมรุกดีเป็นอันดับ 2 ของ กอนซาก้า และในปี 2019 ฮาชิมูระ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นตัวจริงของทีมและมีสถิติทำแต้มเฉลี่ยสูงถึง 22.5 คะแนนต่อเกม แน่นอนว่าผลงานของเขากลายเป็นที่จับตาของบรรดาแมวมองของทีมจาก NBA หลายทีม จนสื่อในสหรัฐฯ เชื่อว่า ฮาชิมูระ น่าจะติด Draft Pick รอบแรกในอันดับที่ 14 แต่ในวันที่ 15 เมษายนปี 2019 เจ้าหนุ่มจากโทยามะคนนี้ถูกเลือกโดย วอชิงตัน วิซาร์ดส์ ใน อันดับที่ 9 และทำให้เขากลายเป็นนักบาสเกตบอลแดนปลาดิบคนที่ 2 ที่ถูกดราฟต์ใน NBA และเป็นนักบาสญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกดราฟท์ในรอบแรก
ความหวังของ JBA ใน โอลิมปิก 2020
หลังจากพิสูจน์ตัวเองในการลงเล่นเอ็นบีเอ 2 ฤดูกาล โดยติดทีม ออล รุกกี้ เซคันด์ ทีม ในฤดูกาลแรก และช่วยให้ทีมเข้าถึงรอบเพลย์ออฟในฤดูกาลล่าสุด ฮาชิมูระ ที่มีค่าเฉลี่ย 13.7 คะแนน, 5.8 รีบาวด์, 1.6 แอสซิสต์ต่อเกม ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ของวงการบาสเกตบอลญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย และทำให้เป็นหนึ่งในความหวังของสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Basketball Association) เคียงคู่กับ ยูตะ วาตานาเบะ ของ โตรอนโต แร็พเตอร์ส ในการแข่งขัน Olympic 2020 ที่ทีมชาติญี่ปุ่นไม่ได้ลงแข่งกีฬายัดห่วงในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาตั้งแต่ปี 1976
ที่ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งญี่ปุ่น ให้เป็นผู้ถือธงนำขบวนนักกีฬาญี่ปุ่นในพิธีเปิดโอลิมปิกวันที่ 23 กรกฎาคมนี้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติสูงสุดอย่างหนึ่งของนักกีฬาเลยทีเดียว ดังนั้นจึงพอจะพูดได้ว่าเป้าหมายส่วนตัวของเขาที่ตั้งใจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ฮาฟุ ในแผ่นดินเกิด ฮาชิมูระ ได้ทำสำเร็จไปแล้ว แต่ในคราวนี้ไม่ใช่เด็กลูกครึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กญี่ปุ่นอีกหลายล้านคนที่มอง รุย ฮาชิมูระ เป็นตัวอย่างของความอดทนและความพยายามเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ
TAG ที่เกี่ยวข้อง