stadium

แซม เคอร์ โชคชะตานำสู่การเป็นยอดนักฟุตบอลหญิงแห่งยุค

2 กรกฎาคม 2564

"ฉันเริ่มเล่นฟุตบอลตอนอายุ 12 ปี ก่อนหน้านั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของ เอเอฟแอล (ลีก ออสเตรเลียน รูลส์ ฟุตบอล ของออสเตรเลีย) ตอนเด็กๆ ฉันเกลียดฟุตบอล และไม่เคยมีลูกฟุตบอลอยู่ในบ้านด้วยซ้ำ"


เชื่อหรือไม่ว่านี่คือคำพูดของ แซม เคอร์ หนึ่งในนักฟุตบอลหญิงที่ดีที่สุดแห่งยุค กัปตันทีมชาติออสเตรเลีย ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลทั้งใน เอ็นดับเบิ้ลยูเอสแอล หรือลีกฟุตบอลหญิงอาชีพของสหรัฐฯ และ ออสเตรเลียน ดับเบิ้ลยู ลีก ของ ออสเตรเลีย ซึ่งคงบอกได้เพียงอย่างเดียวว่า เป็นเพราะโชคชะตาที่นำทางพรสวรรค์ของเธอไปยังที่ที่มันคู่ควร

 

สายเลือดนักกีฬาเข้มข้น

 

แซม เคอร์ เป็นลูกสาวของ โรเจอร์ เคอร์ อดีตนักกีฬาและโค้ชออสเตรเลียน รูลส์ ที่มีเชื้อสาย แองโกล-อินเดียน จากคุณพ่อชาวอังกฤษที่เป็นอดีตนักมวยรุ่นเฟเธอร์เวต และ คุณแม่ชาวอินเดียอดีตนักบาสเกตบอล ขณะที่ โรซานน์ แม่ของ แซม เกิดในออสเตรเลีย และมาจากครอบครัวนักกีฬาเช่นกัน วัยเด็กของเคอร์มีแต่กีฬาออสเตรเลียน รูลส์ ด้วยความที่พ่อและ แดเนียล พี่ชาย ต่างเป็นนักกีฬาทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางเพศ และเหตุผลด้านความปลอดภัยทำให้เธอต้องเปลี่ยนไปเล่นกีฬาฟุตบอลในวัย 12 ปี
 

"พ่อกับพี่นั่งดูฉันแข่งเอเอฟแอลที่ข้างสนาม และมันมาถึงจุดที่ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกอีกต่อไป พวกเด็กผู้ชายเล่นงานฉันแบบไม่มียั้ง ซึ่งมีเกมหนึ่งฉันถึงกับปากแตก ทำให้ต้องหันไปเล่นกีฬาอื่น ฉันได้เล่นเน็ตบอลด้วยเหมือนกัน แต่มันออกมาไม่ดีนัก ก่อนจะเลือกฟุตบอลเป็นอย่างต่อมา เพราะคุณไม่สามารถเล่นรุนแรงหรือใช้ลูกไม้สกปรกมากเกินไปในกีฬาชนิดนี้ ดังนั้นพวกเขา (พ่อและพี่ชาย) จึงพาฉันไปเล่นกับ เวสเทิร์น ไนท์ส (ทีมฟุตบอลระดับท้องถิ่น)"

 

                              

พรสวรรค์ฉายแสง

 

"ฉันไม่รู้เรื่องกฎกติกา, ไม่เข้าใจกฎล้ำหน้า รวมทั้งไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครส่งบอลมาให้" เคอร์บอกความรู้สึกของตัวเอง เมื่อต้องหันมาเล่นกีฬาที่เธอมีความรู้เพียงน้อยนิด ซึ่งเธอยอมรับว่าฤดูกาลแรกของตัวเองกับการเปลี่ยนมาเล่นลูกกลมๆ นั้น "กากสุดๆ" เพราะเธอยิงประตูได้เล็กน้อย รวมทั้งมีความต่อต้านในตัวเองหลังต้องถูกพรากจากกีฬาอันเป็นที่รัก

 

อย่างไรก็ตามความสามารถและพรสวรรค์ของเธอก็ยังโดดเด่น ถึงขั้นไปเตะตา บ็อบบี้ เดสโปตอฟสกี้ กองหน้าของ เพิร์ธ กลอรี่ ในขณะที่เคอร์อายุ 13 ปี ซึ่งในอีก 2 ปีต่อมา เธอก็ถูกดึงตัวไปร่วมทีม ก่อนจะกลายเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ทำประตูได้ใน ดับเบิ้ลยู-ลีก, ได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีจากการโหวตของเพื่อนร่วมอาชีพ รวมทั้งติดทีมชาติเป็นครั้งแรกด้วยวัย 15 ปี กับ 150 วันเท่านั้น

          

จากเกลียดเป็นรัก

 

ถึงแม้จะประสบความสำเร็จจากการเล่นฟุตบอล ทั้งที่หันมาเล่นได้ไม่กี่ปี แต่เคอร์ยอมรับว่ามันไม่ได้ทำให้เธอชื่นชอบกีฬาชนิดนี้มากขึ้น "ตอนนั้นฉันแค่ทำมันเพราะตัวเองมีความสามารถมากพอ แต่ไม่เคยรักกีฬาฟุตบอลและทุ่มเทอย่างจริงจัง ตอนเด็กๆ ฉันมักจะพูดอยู่เสมอว่าต้องการแขวนสตั๊ดตอนอายุ 21 ปี"  

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุได้ 18 ปี เคอร์ ก็เจอกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนมุมมองของตัวเอง เมื่อเธอได้รับบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกต้องหยุดพักนานนับปี ซึ่งในช่วงฟื้นฟูร่างกายนี่เองทำให้เธอเริ่มตกหลุมรักกีฬาฟุตบอล


"ตอนแรกฉันก็แค่ไหลตามกระแสไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้คิดถึงมัน (ฟุตบอล) อย่างจริงจัง แต่เมื่อบางอย่างถูกพรากไปจากตัวคุณ โดยที่คุณไม่มีทางรู้เลยว่ามันมีความหมายกับตัวเองมากเพียงใด คุณจะรู้สึกถึงมันได้อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อฉันต้องพลาดการลงเล่นไปกว่า 12 เดือน ทั้งหมดที่ฉันต้องการจะทำคือการกลับไปลงสนามเท่านั้น"

 

          

ขึ้นชั้นยอดนักเตะ

 

จากอาการบาดเจ็บเปลี่ยนชีวิต ความสำเร็จก็มาเป็นเงาตามตัว เคอร์ ย้ายไปร่วมทีม ซิดนี่ย์ เอฟซี และคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 2012-13 ก่อนจะได้ย้ายไปเล่นที่สหรัฐอเมริกา กับทีม เวสเทิร์น นิวยอร์ก แฟลช และคว้าแชมป์ลีกได้เช่นกัน หลังจากนั้น เธอก็กลับมาเล่นให้ เพิร์ธ กลอรี่ คว้าแชมป์ลีกอีกสมัย ตามด้วยสลับกับการไปเล่นที่สหรัฐฯ กับทีม สกาย บลู เอฟซี และ ชิคาโก้ เร้ด สตาร์ส ซึ่งเธอคว้าดาวซัลโวตลอดกาลจากทั้ง 2 ลีก ได้อย่างน่าทึ่ง โดยยิงได้ 69 ประตูในลีกบ้านเกิด และ 65 ประตูในเอ็นดับเบิ้ลยูเอสแอล ก่อนจะเลือกย้ายไปร่วมทีมเชลซี ในซูเปอร์ลีกของอังกฤษ เมื่อปลายปี 2019 ก่อนจะฉายแสงยิง 21 ประตูจาก 22 เกมในฤดูกาล 2020-21 พาทีมคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 2 ติดต่อกัน และคว้ารางวัลรองเท้าทองคำไปครอง ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นคนแรกที่คว้ารางวัลดังกล่าวในการลงเล่น 3 ลีกที่แตกต่างกัน 


ขณะที่ผลงานกับทีมชาตินั้น ถึงแม้หลังจากคว้าแชมป์ เอเชียน คัพ ปี 2010 แล้ว เวสต์ฟิลด์ มาทิลดาส์ จะไม่ได้แชมป์รายการสำคัญอีกเลยแต่ เคอร์ ก็ยังนำทีมคว้าแชมป์ทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่อง 2 รายการ คือ ทัวร์นาเมนต์ ออฟ เนชั่นส์ ปี 2017 ที่มีคู่แข่งอย่าง บราซิล, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เจ้าภาพ กับศึก คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในบ้านเกิด ที่ต้องเจอกับ เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์ และ อาร์เจนตินา เมื่อ 2 ปีที่แล้ว


ส่วนในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก หนล่าสุด แม้ ออสเตรเลีย หนึ่งในทีมที่ได้รับการคาดหมายว่ามีลุ้นแชมป์จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายจากการแพ้จุดโทษแก่ นอร์เวย์ แต่ เคอร์ ซึ่งรับบทบาทกัปตันทีม ก็ทำไปถึง 5 ประตู โดยเฉพาะในเกมรอบแบ่งกลุ่มที่ยิงจาเมกาถึง 4 ประตู คว้าตำแหน่งรองดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ เป็นรองเพียง เอลเลน ไวท์ ของ อังกฤษ และ อเล็กซ์ มอร์แกน กับ เมแกน ราปิโน ของ สหรัฐฯ ที่ยิงได้ 6 ประตูเท่ากัน

 

 

มุ่งสู่โตเกียว 2020

 

ด้วยบุคลิกของการเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ และใช้ความล้มเหลวเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม เหมือนอย่างตอนที่ได้รับบาดเจ็บหนักถึง 3 ครั้งในอาชีพ เคอร์ กระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีม ลืมความผิดหวังจากฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส เพื่อมุ่งมั่นกับการไล่ล่าเหรียญทองที่กรุงโตเกียว


"ในฐานะนักฟุตบอลแล้ว คุณไม่สามารถลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในทัวร์นาเมนต์ระดับนี้ (ฟุตบอลโลก) ไปได้ แต่ตอนนี้เราสามารถใช้มันเป็นประสบการณ์สำหรับรายการถัดไป เราจะคิดถึงมันจนกว่าจะถึงฟุตบอลโลกครั้งหน้า แต่เรายังต้องไปต่อในตอนนี้ เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการลงแข่งอีกครั้ง"


การเปลี่ยนแปลงในชีวิตคนเรา อาจจะมีทั้งดีและร้าย แต่สิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งนั้น และมุ่งมั่นกับมันจนถึงที่สุด เพราะคงไม่มีใครคาดเดาได้หรอกว่าสิ่งที่เราเลือกจะเป็นสิ่งที่ใช่ จนกว่าจะได้ทำมันอย่างจริงจัง เหมือนอย่าง แซม เคอร์ ที่ถึงแม้จะต้องหันเหจากกีฬาที่รัก แต่เธอก็ยังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อให้ตัวเองพัฒนาต่อไปอย่างไม่เกรงกลัว


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic