stadium

เหตุใด คิวบา มหาอำนาจวอลเลย์บอลยุค 90s ห่างหายจากความสำเร็จในปัจจุบัน

2 กรกฎาคม 2564

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กำลังจะเริ่มแข่งขันในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 หลังจากต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของ “โควิด-19” ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าโอลิมปิกฯยิ่งใหญ่ขนาดไหน เพราะแค่ได้เข้าร่วมสักครั้งก็ถือเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของนักกีฬาแทบทุกคนบนโลกนี้ และหากคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งมาครองได้ยิ่งถือเป็นเกียรประวัติสูงสุดในชีวิตนักกีฬา รวมทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและวงศ์ตระกูลอีกด้วย

 

“วอลเลย์บอล” คือกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทย จะเป็นรองก็คงเพียงแค่ฟุตบอลเท่านั้น หากพูดถึงการแข่งขันวอลเลย์บอลโอลิมปิกฯ หลายคนต้องนึกถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง จีน, สหรัฐอเมริกา”, ญี่ปุ่น, อิตาลี, บราซิล และอีกหลายๆประเทศที่เคยประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลก แต่ความจริงแล้วมีอยู่อีก 1 ชาติ ที่เคยครองความยิ่งใหญ่มาอย่างต่อเนื่องในยุค 90 นั่นก็คือ ทีมชาติคิวบา ที่หายหน้าหายตาไปจากเวทีระดับโลกในยุคปัจจุบัน

 

 

 

ความยิ่งใหญ่และไร้เทียมทาน

 

คิวบา ถือเป็นอีก 1 ประเทศที่คว้าแชมป์ระดับโลกรายการสำคัญ ๆ ของ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) มาแล้วทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก (ปี 1978, 1994, 1998), วอลเลย์บอลเวิลด์คัพ (ปี 1989, 1991, 1995, 1999), วอลเลย์บอลเวิลด์กรังป์ปรี (ปี 1993, 2000) และ โอลิมปิกเกมส์ที่คว้าเหรียญทอง 3 สมัยติดต่อกันคือในปี 1992, 1996 และ 2000 ซึ่งนอกจากรายการระดับโลก การแข่งขันระดับทวีปก็เคยกวาดแชมป์มาอย่างมากมายทั้ง แพน อเมริกัน เกมส์ ที่คว้าเหรียญทองไปถึง 8 สมัย (ปี 1971, 1975, 1979, 1983, 1987, 1991, 1995 และ 2007) และ วอลเลย์บอลแพน-อเมริกัน คัพคว้าแชมป์ไปอีก 4 สมัย (ปี 2002, 2004, 2005, 2007)

 

ความยิ่งใหญ่ในยุคนั้นของทัพสาวคิวบาทำให้พวกเธอกลายเป็นเบอร์ 1 โลกอย่างไม่ต้องสงสัย และยังส่งต่อให้นักกีฬามีชื่อเสียงจนกลายเป็นตำนานที่หลาย ๆ คนต่างยกขึ้นหิ้ง อย่าง มิเรย่า หลุยส์, ยูมิลก้า รุยส์ เป็นต้น โดยยังไม่นับรวมประเภททีมชาย ที่แม้ว่าผลงานอาจจะไม่โดดเด่นเท่าทีมหญิง แต่พวกเขาก็สร้างความสำเร็จเอาไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ 16 สมัยในศึกวอลเลย์บอลชิงแชมป์นอร์เซก้า หรือแชมป์ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริเบียน, แชมป์วอลเลย์บอลเวิลด์คัพ ปี 1989, แชมป์วอลเลย์บอลเวิลด์ลีก ปี 1998 และแชมป์จากศึกแพน-อเมริกัน คัพ 5 สมัย

 

 

 

เบื้องหน้าคือรอยยิ้มแต่เบื้องหลังน้ำตา

 

มันอาจเป็นช่วงเวลาที่สวยหรูของวงการลูกยางคิวบา เพราะนอกจากผลงานของ “ตบสาวคิวบา” จะเป็นที่ปรากฏเด่นชัดไปทั่วโลก ฟอร์มการเล่นก็แข็งแกร่งมากชนิดที่ว่าชาติอื่น ๆ สู้ไม่ได้เลย แต่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ที่คนทั่วไปได้เห็น นักกีฬาทีมชาติคิวบากลับไม่ได้มีความสุขเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินที่มีการจัดสรรปันส่วนแบบไม่เป็นธรรม

 

อดีตผู้ฝึกสอนทีมลูกยางหนุ่มคิวบา กิลเบอร์โต้ เฮอร์เรร่า ได้เคยออกมาเปิดเผยถึงส่วนแบ่งเงินรางวัลที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลคิวบา ย้อนกลับไปในช่วงปี 2001 ทีมชาติคิวบา(ชาย) ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ เวิลด์ แกรนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ และได้รับเงินรางวัล 400,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 12.34 ล้านบาท แต่ทางรัฐบาลกลับแบ่งเงินให้กับทีมเพียงแค่ 32,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9.87 แสนบาทเท่านั้น (คิดเป็น 8 % ของเงินรางวัลทั้งหมด) ซึ่งเมื่อนำมาหารกันภายในทีมแล้วเหลือเพียงแค่คนละไม่กี่หมื่นบาท 

 

กิลเบอร์โต้ เฮอร์เรร่า ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 2001 หลังจากที่ เจ้าตัว คุมทีมเดินทางไปแข่งขันที่เบลเยียม และต้องเจอกับเหตุการณ์ประวัติศาสาตร์ที่สั่นสะเทือนวงการวอลเลย์บอลโลก

 

 

 

นักกีฬาอาชีพที่เลือกอาชีพไม่ได้

 

นับตั้งแต่วันที่คิวบาเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม(1959) กฏหมายที่ชื่อว่า "กฤษฎีกา 83A" ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการกีฬาอาชีพ แน่นอนว่าการที่รัฐบาลสนับสนุนกีฬาอย่างเต็มที่ย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย อยากได้อะไรรัฐบาลจัดให้ ต้องการอะไรรัฐบาลก็จัดให้ สวัสดิการต่างๆ เบี้ยเลี้ยงพิเศษ หรือแม้แต่เงินโบนัสจากผลงานในทีมชาติ รัฐบาลเตรียมไว้มอบให้กับนักกีฬาทุกคน(แต่ค่อนข้างน้อย) ส่วนข้อเสียหลักที่ส่งผลกระทบต่อวงการในท้ายที่สุดคือ นักกีฬาทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทั้งหมด 

 

“เวิลด์ออฟวอลเลย์” เว็บไซต์วอลเลย์บอลชื่อดัง ระบุว่า นักกีฬาคิวบา(หลายประเภท) จะไม่สามารถตัดสินใจเองได้เกี่ยวกับการเล่นระดับอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องรายได้หรือรายละเอียดของสัญญา รวมทั้งนักกีฬาทุกคนจะไม่สามารถเดินทางไปเล่นนอกประเทศได้ หากว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการอนุญาตจาก รัฐบาล และ สมาคมวอลเลย์บอลฯ หรือ สมาคมกีฬาต่าง ๆ

 

อธิบายง่าย ๆ คือ นักกีฬาคิวบา ที่ต้องการเดินทางไปเล่นลีกอาชีพต่างแดน(รวมทั้งลีกในประเทศ) จะต้องให้สโมสรที่สนใจทำการเจรจากับรัฐบาลเกี่ยวกับรายละเอียดและค่าเหนื่อย โดยรายได้ที่นักกีฬาแต่ละคนจะได้รับขึ้นอยู่กับความพอใจของ รัฐบาล ซึ่งจะน้อยกว่าจำนวนเต็มที่สโมสรจ่ายมาหลายเท่าอย่างแน่นอน รวมทั้งคนที่ขัดขืนก็จะไม่สามารถกลับมารับใช้ชาติได้อีกเลย และยังอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวที่อาศัยในคิวบา ทำให้นักกีฬาจำนวนมากเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะสถานะทางการเงินของแต่ละคนก็ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

 

 

 

ทิ้งคิวบาหนีไปตายเอาดาบหน้า

 

นักกีฬาคิวบา เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของปากท้องมากกว่าความถูกต้อง จึงตัดสินใจเดินทางหนีออกประเทศกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องยอมรับว่าในยุคนั้นนักวอลเลย์บอลคิวบาเปรียบดัง “เพชรเม็ดงาม” ที่ทุกสโมสรทั่วโลกต่างจับจ้องอยากได้ไปครอบครอง แต่เคสประวัติศาสตร์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวงการวอลเลย์บอลคิวบา คือ เคสที่นักกีฬาชายชุดแชมป์ “เอฟไอวีบี แกรนด์ แชมเปียนส์ คัพ” ประจำปี 2001 จำนวนทั้งสิ้น 6 คน 

 

ประกอบด้วย ยอสวานี่ เฮอร์นานเดซ, ลีโอเนล มาร์แชลล์, ฮอร์เก้ หลุยส์ เฮอร์นานเดซ, อังเคล เดนนิส, ยาสเซอร์ โรเมโร่ และ รามอน กาโต้ หนีออกจากโรงแรมที่พัก หลังจบการแข่งขันรายการหนึ่งในประเทศเบลเยียม และขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่ประเทศอิตาลี และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักกีฬาคิวบา ก็พาเหรดกันหนีออกไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหลายๆคนก็โอนสัญชาติเพื่อไปรับใช้ทีมชาติอื่นๆแล้วเป็นที่เรียบร้อย

 

ช่วงแรกยังเป็นปัญหาสำหรับนักีฬาหลายคนที่หนีไปตายเอาดาบหน้า เพราะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลและสมาคมฯ แต่ว่าทาง “เอฟไอวีบี” หรือว่า สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยพวกเขาเหล่านั้น จนสามารถเดินทางไปเล่นในลีกต่างๆทั่วโลกได้

 

 

 

ความสุขที่ไม่แท้จริงของนักกีฬาคิวบา

 

สิ่งที่นักกีฬาส่วนใหญ่ได้รับจากการออกนอกประเทศคิวบา แน่นอนว่ามันคือเรื่องของ เงินทอง และ ชื่อเสียง เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “นักกีฬาฟ้าประทาน” ที่มีสรีระร่างกายต่างจากนักกีฬาชาติอื่นๆทำให้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร และไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นในยุคไหนก็ยังคงมีศักยภาพยอดเยี่ยมเหมือนเดิม ยกตัวอย่างง่ายๆในปัจจุบัน วิลเฟรโด้ เลออน, ออสมานี่ ฮวนโตเรน่า, ไซม่อน โรเบิร์ตแลนดี้ หรือแม้แต่ เมลิสซ่า วาร์กาส ต่างก็จัดว่าเป็นผู้เล่นอันดับท็อปของโลก และเป็นตัวเลือกเบอร์ต้นๆของสโมสรชั้นนำในยุโรป 

 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จและเงินทองที่พวกเขาต้องการ กลับต้องแลกมาด้วยความขาดในเรื่องของครอบครัว เพราะว่าส่วนใหญ่จะหนีออกมาโดยทิ้งครอบครัวเอาไว้ในคิวบา และคุณอาจจะไม่สามารถกลับไปหาพวกเขาได้อีกเลย แม้กระทั่งวันที่คนในครอบครัวของคุณจากโลกนี้ไป เนื่องจากรัฐบาลจะตราหน้าพวกเขาว่าเป็น “ผู้หลบหนีออกนอกประเทศ”  

 

อย่างในกรณีของ ไทมารี่ส์ อกูเอโร่ นักตบลูกยางสาวคิวบา ที่หนีออกไปโด่งดังอยู่ในเมืองกะโรนี และกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมชาติอิตาลี เจ้าตัว ทราบข่าวว่าคุณแม่ไม่สบายและต้องการเดินทางกลับไปเยี่ยมสักครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ และจากนั้นไม่นานคุณแม่ของเธอก็เสียชีวิตลง

 

 

 

ผลงานตกต่ำและหายไปจากเวทีระดับโลก

 

ไม่ต้องหาเหตุผลว่าเพราะอะไรคิวบาจึงหายไปจากการแข่งขันระดับโลก ปัจจัยสำคัญคือการขาดหายไปของบรรดาตัวเก่งนั่นเอง ความจริงแล้วนักกีฬาฝีมือดียังคงถูกผลิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ก็ยังมีนักกีฬาอายุน้อยของคิวบาหลายคนที่โลดแล่นอยู่ในวงการวอลเลย์บอล แต่ส่วนใหญ่พวกเขาเลือกที่จะออกนอกประเทศตามรอยรุ่นพี่ หรือพูดง่ายๆคือทำเพื่อปากท้องมากกว่ารับใช้บ้านเกิดเมืองนอน 

 

แม้ว่าช่วงหลังๆ คิวบา จะเริ่มอ่อนลงในเรื่องของการเดินทางไปเล่นต่างประเทศ และไฟเขียวให้หลายๆคนกลับมาติดธงรับใช้ชาติได้อีกครั้ง อย่างเช่นในศึก โอลิมปิกเกมส์ 2020 รอบคัดเลือก ประเภทชาย ที่จบลงไปเมื่อปีที่แล้ว คิวบา เรียกตัว อดีตดาวดังหลายคน กลับมาร่วมทีมเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี แต่ว่าสุดท้ายมันเร็วเกินไปที่พวกเขาจะคว้าตั๋วลุย “โตเกียวเกมส์” มาครองได้สำเร็จ 

 

โดยครั้งหนึ่ง ยูมิลก้า รุยซ์ กัปตันทีมลูกยางสาวคิวบา ยุคเฟื่องฟูสุดขีด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  "อันที่จริง เรามีนักกีฬาดาวรุ่งที่มีศักยภาพอยู่มากนะ แต่คุณจะปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือไม่ได้หรอก เพราะในขณะที่เราสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมา ทว่ากลับต้องเสียพวกเขาไปหลายคนด้วยหลากหลายเหตุผล ซึ่งเรื่องทางการเงินก็ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เสียด้วย" 

.

 

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า “คิวบา” จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ในอนาคต หากว่าทุกอย่างดีขึ้นก็เชื่อว่าพวกเขาจะกลับขึ้นมายืนอยู่ในอันดับต้นของโลกได้อีกครั้งอย่างแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้ว “นักกีฬาคิวบา” ก็ยังแข็งแกร่งมากพอที่จะสู่กับ “ชาติบิ๊กเนม” จากทั่วโลกเหมือนเดิม รวมทั้งสตาร์หลายๆคนก็ยังหวังที่จะกลับไปติดธงรับใช้บ้านเกิดอีกครั้งเหมือนกัน


stadium

author

Plug

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจ Wantleyball

stadium olympic