30 มิถุนายน 2564
“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรือกรรเชียงคือกีฬาอะไร มันเล่นยังไงแล้วมีกีฬาแบบนี้ในโลกด้วยหรอ” นี่คือประโยคแรกที่แวบขึ้นมาในหัวของ “แซ็ค” นวมินทร์ ดีน้อย นักกีฬาเรือกรรเชียงทีมชาติไทยที่สร้างประวัติเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรก
ชีวิตประจำวันกับเรือพายของเขาเปรียบดั่งเส้นขนาด แต่เพราะโชคชะตาจึงทำให้มาบรรจบกัน แต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของความมุ่งมั่นและความพยายามที่ผลักดัน “แซ็ค” ให้เข้าก้าวเข้าสู่ทีมชาติไทย ก่อนจะพิชิตตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2020 มาครองได้ราวกับปาฏิหาริย์ ติดตามเรื่องราวของเขาไปพร้อมกันที่นี่
เริ่มจากศูนย์
เด็กหนุ่มจากเชียงราย จากอำเภอแม่สรวย มีแม่เป็นครูส่วนพ่อรับจ้างเป็นชาวไร่ ชีวิตในวัยเด็กของ “แซ็ค” ไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่มีโอกาสได้เล่นกีฬาก็แค่ในคาบเรียนวิชาเรียนพลศึกษา
“ผมชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กแล้วครับ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าโตมาจะได้เป็นนักกีฬา เมื่อก่อนผมเล่นทั้งวอลเลย์บอล ตะกร้อ แต่ก็ไม่ได้จริงจังเท่าไหร่นัก” แซ็ค เริ่มย้อนความหลังให้เราฟัง
ด้วยรูปร่างของเขาที่สูงใหญ่ดูมีพละกำลังมากกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน ดันไปสะดุดตาของครูพลศึกษาประจำโรงเรียน จึงถูกทาบทามให้ลองไปทดสอบร่างกายเป็นนักกีฬาเรือกรรเชียง แต่ด้วยวัยเพียงแค่ 13 ปีที่เติบโตมาในภูมิภาคที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องกีฬาชนิดเรือพาย ทำให้เขาไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อของกีฬาเรือกรรเชียงเลยสักนิด
“ตอนนั้นผมอยู่ ป.6 อายุแค่ 13 เองครับ ที่โรงเรียนของผมได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ ในงานเลี้ยงเพื่อนพ่อของรุ่นพี่ผมที่เป็นครูพลศึกษาเขาสอนกีฬาพุ่งแหลน ส่วนลูกชายเขาเป็นนักกีฬาเรือกรรเชียงทีมชาติไทย (ชัยชนะ ทะคำ) ดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ กำลังมองหน้านักกีฬาหน้าใหม่อยู่ด้วย บังเอิญว่าเขาเห็นผมหน่วยก้านดี ก็เลยชวนผมให้เข้าไปทดสอบร่างกายเป็นนักกีฬาด้วยกัน ซึ่งถ้าใครเทสต์ผ่านเขาก็จะเรียกไปฝึกซ้อมด้วย”
“ตอนเขาชวนผมก็งงนะว่าเรือกรรเชียงคือกีฬาอะไร หน้าตามันเป็นแบบไหน เล่นยังไง เพราะเราไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ที่โรงเรียนไม่เคยมีสอน เข้าใจว่ามันคือกีฬาชนิดหนึ่งแหละ ซึ่งช่วงนั้นว่าง ๆ ก็เลยตอบตกลงไป”
เด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างบ้านกับโรงเรียนที่จังหวัดเชียงรายตลอด 13 ปี เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการตอบตกลงไปครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
มุ่งหน้าสู่ลำตะคอง
เมื่อถึงเวลานัดหมาย แซ็ค พร้อมคนที่ถูกเลือกอีก 4 คน ได้เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าเดินทางขึ้นรถทัวร์โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง นี่คือการเดินทางของจากภูมิลำเนาไปผจญโลกกว้างเป็นครั้งแรก
“ผมหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าหนึ่งใบขึ้นรถทัวร์กับเพื่อนอีก 4-5 คน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลำตะคองอยู่ส่วนไหนของประเทศ รู้แค่ว่าต้องไปคัดตัวที่โคราชหนึ่งเดือน (หัวเราะ)”
“ในก๊วนที่ไปด้วยกันผมอายุน้อยสุดเลยแถมยังไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย พอไปถึงลำตะคลองผมได้เจอคือพี่ ๆ ทีมชาติเต็มไปหมด ได้พบกับพี่เมย์ สมพร เมืองโคตร เป็นคนแรกแต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักว่าเขาคือใคร ช่วงแรก ๆ เขาก็ให้ผมฝึกวิ่ง ดันพื้น ซิทอัพ เน้นฝึกร่างกายอยู่ 2-3 สัปดาห์”
“ที่ตกใจคือผมว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องมาทดสอบกีฬาทางน้ำ ซึ่งคนชวนก็ไม่ได้ถาม (หัวเราะ) แต่ก็ยังดีฝึกไม่นานก็ว่ายน้ำได้ แต่ที่เซอร์ไพร์สสุด ๆ เลยคือกีฬาเรือกรรเชียงมาแปลก มันไม่ได้พายเรือแบบที่เข้าใจ ยังมีรายละเอียดต่าง ๆ เยอะมาก”
การใช้ชีวิตอยู่ในแคมป์ทีมชาติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยของเด็กวัย 13 ปีที่ออกจากบ้านเกิดมาเพียงลำพัง การที่เขาต้องเจอกับโปรแกรมฝึกซ้อมสุดโหดทุกวัน ทำให้เขาต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้
“ซ้อมหนักมากครับ” แซ็คบอกเราถึงความลำบาก
“ผมไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลยสักอย่าง ว่ายน้ำก็ไม่เป็น พายเรือก็ไม่เป็น ต้องมาฝึกใหม่หมดทำร่างกายอีก”
“ผมคิดทุกวันเลยครับว่ากูมาทำอะไรที่นี่กันแน่ อยากกลับบ้านมาก ๆ โคตรทรมาน”
“ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่เคยปริปากบ่นขอกลับบ้านสักครั้งนะครับ ในความเหนื่อยความท้อผมก็ยังตั้งใจว่าอยากจะลองทำให้เต็มที่สักครั้ง เพราะเรามีเวลาแค่หนึ่งเดือน สัปดาห์แรกนี่แบบเหนื่อยมาก ไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้มาก่อน ปกติเล่นกีฬาอยู่บ้านเหนื่อยก็พัก แต่ที่นี่พักไม่ได้เหนื่อยก็ต้องฝืนจนกว่าจะซ้อมเสร็จ”
“ผมโทรหาแม่ทุกวัน แม่ก็ถามว่าผมทนไหวหรือเปล่า ผมก็บอกว่าทนไหวอยู่ได้สบายมาก ทั้งที่ในใจโคตรอยากกลับบ้าน แต่ผมไม่อยากทำให้แม่ไม่สบายใจ อย่างที่บอกแค่เดือนเดียวอดทนเอา แต่พอเริ่มปรับตัวได้ก็รู้สึกว่ามันสนุกดี”
เลือกแล้วต้องไปให้สุด
การทดสอบหนึ่งเดือนจบลงไปแบบสวยงาม แซ็ค ถูกเลือกให้ฝึกซ็อมต่อในแคมป์ทีมชาติ จดหมายจากสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทยถูกส่งไปที่โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม เพื่อขอตัวแซ็คให้กลับมาฝึกซ้อมต่อไปพร้อมกับให้เขาย้ายมาเข้าเรียนที่โรงเรียนคลองไผ่วิทยา
“ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าเราจะเล่นกีฬาต้องขยันกว่านี้ เพราะเราจะเรียนไม่เต็มที่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทั้งซ้อมทั้งเรียน แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะเอาดีทางด้านกีฬาก็อยากจะลองให้ไปให้สุดทางเลย”
“พ่อกับแม่ก็ให้คำปรึกษาตลอดครับ แต่ท่านให้เราเป็นคนตัดสินใจเอง ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าผมจะทำมันได้ดีแค่ไหน รู้แค่เราอยากจะลอง รอบนี้คือเก็บกระเป๋ายาวมาจนถึงวันนี้”
เส้นทางนักกีฬาเรือกรรเชียงของแซ็คเริ่มต้นจากตรงนี้ หลังจากนั้นเขาได้สร้างเป้าหมายขึ้นมาท้าทายตัวเอง และเพื่อที่จะไต่เต้าไปในระดับที่สูงขึ้น การยึดตำแหน่งตัวจริงทีมชาติจึงเป็นสิ่งที่เขาต้องทำให้ได้เป็นอย่างแรก
แซ็ค เล่าต่อว่า “ผมอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติแบบพวกพี่ ๆ ตอนนั้นยังไม่คิดนะว่าจะได้ไปแข่งต่างประเทศหรือคว้าเหรียญรางวัล คิดแค่ว่าอยากจะติดทีมชาติไทยให้ได้ก่อน การได้ซ้อมอยู่กับทีมชาติมันทำให้เราภูมิใจในตัวเอง เพราะเราเห็นทุกคนซ้อมจนมือพังมือแตกกันหมด”
“ผมใช้เวลาฝึกซ้อมแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ปีแรกผมไปคัดตัวภาคเหนือเพื่อไปแข่งเยาวชนแห่งชาติได้เหรียญทองแดงกลับมา แล้วพอไปแข่งเยาวชนแห่งชาติที่จังหวัดมหาสารคาม ผมแพ้ราบคาบเลยไม่ได้เหรียญ แต่ผมไม่ผิดหวังนะ เพราะเมื่อก่อนเรือกรรเชียงมันยังไม่แพร่หลาย นักกีฬาส่วนใหญ่ก็คือคนที่ซ้อมด้วยกันที่แคมป์นั่นแหละ”
“ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นทำให้ผมมีความมุ่งมั่นมากกว่าเดิม ผมหันกลับมามองดูตัวเองว่ายังมีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วก็พยายามมองคนที่เขาเก่งกว่าเป็นต้นแบบเพื่อที่จะก้าวข้ามไปอีกระดับห้ได้ ไม่หยุดแค่ตรงนั้น”
“ผมมาได้เหรียญทองเยาวชนแห่งชาติที่จังหวัดศรีสะเกษ พอได้แชมป์ก็ทำให้ผมมีชื่อเป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทย มันเป็นความภาคภูมิใจมาก ๆ กับสิ่งที่เราอดทนมาตลอด มันทำให้รู้สึกว่าตัดสินใจถูกที่เลือกทางนี้”
ลงเรือลำเดียวกัน
เรือกรรเชียงที่แซ็คเล่นนั้นเป็นประเภท 2 ฝีพาย รุ่นน้ำหนักไลท์เวท ดังนั้นคู่หูที่จะมาลงเรือลำเดียวกัน จำเป็นจะต้องรู้ใจกัน สองคนต้องรวมเป็นหนึ่งใจคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนหนึ่งคอยให้จังหวะ อีกคนจะต้องมีพละกำลังมากพอที่จะถีบเรือไปให้ไกล จึงเป็นที่มาของการจับคู่กับ “โอ๊ต” ศิวกร วงศ์พิน เด็กหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกันกับแซ็ค
“ผมกับโอ๊ตมีสรีระใกล้เคียงกัน อายุเท่ากัน เรียนด้วยกัน ถึงตอนแรกเราจะไม่ค่อยสนิทแต่ก็ใช้เวลาปรับตัวเข้าหากันไม่นาน แต่เราก็เข้ากันได้ง่ายเป็นคนสบาย ๆ เหมือนกันอยู๋แล้ว เรื่องความสัมพันธ์มันมีผลต่อจังหวะการลงไม้พายนะ เรือที่แผมแข่งมันจะมีไม้พาย 4 ใบ เรารับผิดชอบกันคนละ 2 ใบ ซึ่งการลงไม้พายต้องลงให้พร้อมกันที่สุด ไหลลื่นที่สุด”
“เราทั้งคู่ต่างก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เพราะเรามีเทคนิคและท่าทางแตกต่างกัน พอลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องปรับเข้าหากันให้ได้ ชีวิตประจำวันเราก็แทบจะตัวติดกัน ต้องคุยกันตลอด กินข้าวด้วยกัน ความสนิทสนมมันมีผลต่อทีมเวิร์กจริง ๆ เพราะเวลาลงแข่งจะช่วยให้เรารู้หน้าที่กันดีว่าใครต้องทำอะไร”
“หน้าที่ของผมจะเป็นคนให้จังหวะ คอยจับความรู้สึกของเรือตอนไหลจังหวะพาย สโตรคต้องคงที่เพื่อให้เรือไหลไปไกลที่สุด ถ้าผมให้จังหวะไม่ดี โอ๊ตก็จะสับสนจับจังหวะไม่ได้ เพราะเขาจะคอยลงไม้พายตามที่ผมบอก ถ้าผมให้จังหวะดีโอ๊ตก็จะใส่แรงได้เต็มที่ คนอยู่ข้างหลังจะเน้นแรงเยอะเพื่อให้เรือมันพุ่งไปไกลกว่าเดิม”
โอลิมปิก ปาฏิหาริย์ของคนสู้ชีวิต
“ตอนเด็กผมไม่รู้เลยว่าโอลิมปิกคืออะไร กีฬาแห่งชาติคืออะไร ผมไม่มีโอกาสได้ดูกีฬาเลยเพราะเมื่อก่อนบ้านผมสัญญาณโทรศัพท์ยังเข้าไม่ถึง”
“ช่วงติดเยาวชนทีมชาติผมก็ไม่เคยคิดถึงโอลิมปิกเหมือนกัน เพราะโอลิมปิกกับเรือกรรเชียงมันเป็นเรื่องที่ยากมากเคยมีนักกีฬาไทยทำได้ไม่กี่คนเอง ทำให้เราไม่กล้าฝัน ไม่กล้าคิดไปไกลขนาดนั้น มันยังมีบันไดอีกหลายขั้นที่เราต้องค่อย ๆ ก้าว”
“ช่วงปี 2018 โอลิมปิกกับผมมันยิ่งห่างไกลกันขึ้นไปอีก เพราะผมกับโอ๊ตตัดสินใจพักการแข่งเอาไว้ก่อนคัดตัวไปแข่งเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย เราทั้งคู่พักเรื่องกีฬาเพื่อไปเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือที่สัตหีบ”
“ต้องยอมรับว่านักกีฬาพอถึงจุดหนึ่งร่างกายก็ไปต่อไม่ไหว ไม่มีใครเล่นกีฬาไปได้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องมองหาความมั่นคงให้ชีวิตตัวเองไปด้วย การเล่นกีฬาอย่างเดียวมันไม่มั่นคงพอ ถ้าไม่มีงานรองรับอนาคตก็อาจจะลำบาก”
“หลังเรียนจบช่วงปลายปี 2020 ผมกับโอ๊ตเราคุยกันแล้วว่าจะกลับมาจับคู่กันอีกครั้งเพื่อคัดตัวไปแข่งซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม แต่บังเอิญว่าโอลิมปิกเกมส์ 2020 เลื่อนออกไปหนึ่งปี แล้วรุ่นพี่ที่เป็นตัวแทนไปคัดโอลิมปิกก่อนหน้านี้ เขาต้องถอนตัวเพราะถูกเรียกไปรับราชการทหาร”
“โอกาสจึงตกมาเป็นของผมกับโอ๊ตอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นเรากลับมาแข่งและผ่านการคัดตัวทีมชาติแล้ว มีเวลาเตรียมตัวแค่ไม่กี่เดือนก่อนไปคัดโอลิมปิก”
“ตอนแข่งรอบคัดเลือกเรามีโอกาสน้อยมาก เพราะตั๋วโอลิมปิกมีให้แค่ประเทศเดียวได้แชมป์ ซึ่งเราทำผลงานได้ไม่ค่อยดีด้วยจบอันดับ 8 แต่ด้วยกฎใหม่ระบุว่าให้แต่ละชาติส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้ประเทศละ 1 รายการ ซึ่งประเทศที่จบอันดับเหนือกว่าเราเขาเลือกส่งนักกีฬาแข่งในอีเว้นท์อื่นกันหมด ทำให้ตั๋วโอลิมปิกมาเป็นของเรา”
“เรารู้ผลกันตอนเช้า โอ๊ตโทรมาหาผมเป็นคนแรก โอ๊ตบอกว่า เฮ้ย แซ็ค เราได้ไปโอลิมปิกแล้วนะ ตอนนั้นผมงงมากว่าเราจะได้ไปได้ยังไง แล้วโอ๊ตมันโทรมาตอน 7 โมงเช้า ผมกำลังหลับสบายเลย คุยก็ไม่รู้เรื่อง พอตื่นขึ้นมาก็เลยลองเปิดไลน์กลุ่มเช็กดูแต่ก็เห็นข่าวว่าเราได้ไปจริง ๆ แต่ก็ยังไม่แน่ใจเต็มร้อยนะ"
"มันเหมือนฝันอ่ะพี่ ใครจะไปเชื่อ มันไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว มันเหมือนปาฏิหาริย์เลย พอผมตั้งสติได้ยังคิดอยู่เลยว่าสรุปแล้วกูต้องดีใจไหมวะ ผมไม่รู้เลยว่าต้องทำตัวยังไง”
“พวกผมหายไป 2 ปีกลับมาซ้อมแค่ 3 เดือนและทั้งหมดที่เราซ้อมกันมาก็เพื่อเตรียมตัวไปซีเกมส์เท่านั้น การคัดโอลิมปิกในฐานะตัวแทนมันดูเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกแล้วพี่ ครอบครัวผมก็ตกใจกันทั้งบ้าน โอลิมปิกมันคือความฝันของนักกีฬาทุกคนครับ แต่ผมแค่ไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน ภูมิใจมากกว่าตอนติดทีมชาติใหม่ ๆ ซะอีก”
“ยอมรับว่าตอนนี้ผมมาไกลมากเกินกว่าที่คิดเอาไว้มาก ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีความฝันเลย จากที่ไม่มีอะไรสักอย่าง ไม่เคยคิดวางแผนอะไรล่วงหน้าไว้เลย แต่ตอนนี้มันแตกต่างกันมาก พอมีเป้าหมายที่ชัดเจนอะไรก็เกิดขึ้นได้”
“หลังจากนี้ก็จะตั้งใจซ้อมและจะทำผลงานให้ดีที่สุด เพราะมันคือโอกาสที่น้อยคนจะทำได้ จะพยายามทำให้มันสุดความสามารถเพื่อที่จะได้ไม่มีอะไรต้องค้างคา”
TAG ที่เกี่ยวข้อง