stadium

คีริน ตันติเวทย์ : ย้อนรอย 4 ปี จากเอเชียนเกมส์สู่นักวิ่งโอลิมปิก

29 มิถุนายน 2564

หากพูดถึงกีฬากรีฑาไทยที่ได้รับความสำเร็จในเวทีระดับโลก คนไทยหลายคนมักคิดถึงทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ทั้งทีมชายที่เฉือนชนะญี่ปุ่นแค่ยอดอก ด้วยเวลา 39.21 วินาที ที่โดฮา เกมส์ 2006 หรือ ทีมหญิงที่ระเบิดพลังแซงหน้าเจ้าภาพจากจีน เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 44.09 วินาที ที่กว่างโจวเกมส์ 2010ยังไม่รวมสุดยอดดรีมทีม นำทัพโดย “อุลตร้าเหรียญ” เหรียญชัย สีหะวงษ์ ที่พาทีมไทยคว้าทองแรกของผลัด 4x100เมตร ที่ปูซานเกมส์ 2002 เฉือนชนะทีมญี่ปุ่นด้วยเวลา 38.82 วินาที

 

 

ทีมผลัด 4x100 เมตรชาย คว้าเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ 2006
ทีมผลัด 4x100 เมตรหญิง คว้าเหรียญทอง เอเชียนเกมส์ 2010

 

ประวัติกรีฑาไทยในโอลิมปิก

 

ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งแรก ในการแข่งขันประเทศฟินแลนด์ปี 1952 (พ.ศ. 2495)ซึ่งทั้ง 11 คนคือนักกรีฑาชายทั้งสิ้น และหลังจากนั้นมีนักกรีฑาจากไทยได้ไปร่วมมหกรรมกีฬาโลกเรื่อยมา ยกเว้นปี 1968, 1980 และ 2008 ที่ไม่มีนักกีฬา สำหรับนักวิ่งระยะไกล ( 5,000 ม. , 10,000 ม. และมาราธอน) ที่ได้ผ่านสมรภูมิโอลิมปิก มีดังนี้

 

  1. สมนึก ศรีสมบัติ (โรม 1960) :5,000 เมตร 15:32.6นาที (อันดับสุดท้ายของฮีท)
  2. สมศักดิ์ แก้วกันฑา (โตเกียว 1964): 5,000 ม. 16:08.8นาที(อันดับ 11 จาก 13 ของฮีท)
  3. นาวาเอก ฉนม ศิริรังษี (โตเกียว 1964) : มาราธอน เวลา 2:59:25ชั่วโมง (อันดับสุดท้าย)
  4. บุญถึง ศรีสังข์ (ริโอ 2016) : มาราธอน 2:37:46 ชั่วโมง (อันดับที่ 132)
  5. ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ (ริโอ 2016) : มาราธอน 3:11:31 (อันดับที่ 130)
  6. เจน วงษ์วรโชติ (ริโอ 2016) : มาราธอน 2:47:27 ชั่วโมง (อันดับที่ 91)

 

 

บุญถึง ศรีสังข์
ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์

 

การเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 มาเป็นปี 2021 เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฝึกซ้อมและคัดโควต้าไปโอลิมปิกเพราะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลายประเทศเดินหน้าฉีดวัคซีนและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้เริ่มมีการจัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกโควตาโอลิมปิก ซึ่งเวลาส่งผลเลื่อนออกไปจนถึงมิถุนายน 2564

 

นั่นหมายความว่าใครที่พลาดโควตาตอนตัดเวลาครั้งที่แล้ว ยังมีโอกาสแก้ตัวเพื่อคว้าโควตาอีกครั้ง และหนึ่งในคนไทยที่ทำสำเร็จก็คือ ปอดเหล็กลูกครึ่งไทย-อเมริกา ... คิริน ตันติเวทย์

 

นักวิ่ง 10,000 ม. คนแรกของไทยในโอลิมปิก

 

แม้ประเทศไทยจะเคยส่งนักกรีฑาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะไกล ลงแข่งขันโอลิมปิก แต่สำหรับระยะไกล 10,000 เมตร นั้นไม่เคยมีมาก่อน และหนุ่มน้อยวัย 24 ปี “คิริน ตันติเวทย์” สามารถคว้าโควตาโอลิมปิก ไป โตเกียว 2020 เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์วงการกรีฑาไทย และจะได้ประชันกับสุดยอดปอดเหล็กจากทั่วโลกอีก 27 คน ที่วิ่งได้ต่ำกว่า 27:28.00 นาที คิดแล้วก็ขนลุกซู่เพราะเห็นรายชื่อแล้วไม่มีใครยอมใคร

 

 

Joshua Cheptegei จากอูกันดา ทำลายสถิติโลก 10,000 เมตร ในรายการ NN Valencia World Record Day ที่ วาเลนเซีย ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 7 ตลาคม 2020
Photo : Getty Images

 

แน่นอน ตัวเก็งคงหนีไม่พ้น Joshua Cheptegei จากอูกันดา เจ้าของสถิติโลก 10,000 เมตร (26:11.00) ทำไว้ที่วาเลนเซีย ปี 2020 โดยมี 3 ประเทศที่มีตัวนักกีฬาที่วิ่งเร็วกว่าเวลาที่กำหนดเกิน 3 คน คือ เคนย่า เท่าที่รู้มี 7 คน เบียดบี้หนักมาก เช่น Rhonex Kipruto PB 26:50.16 หรือแม้แต่เจ้าของสถิติโลก ฮาล์ฟ มาราธอน Kibowot Kandie (57:32 นาที) ก็ลั่นว่าจะขอลุ้นเบียดโควตา 10,000เมตร , เอธิโอเปีย และ สหรัฐฯ ... แน่นอนว่าลู่ต้องลุกเป็นไฟ!!!มาดูสถิติที่ดีที่สุดของผู้ร่วมแข่งขันที่คอนเฟิร์มกันก่อนดีกว่า

 

  1. Joshua Cheptegei UGA 26:11.00 (2020)
  2. Mohammed Ahmed CAN 26:59.35 (2019)
  3. Aron Kifle Eritrea 27:09.92 (2017)
  4. Marc Scott GBR 27:10.41 (2021)
  5. Yemaneberhan Crippa ITA 27:10.76 (2019)
  6. Kieran Tuntivate THA 27:17.14 (2021)
  7. Julien Wanders SUI 27:17.29 (2019)
  8. Akira Aizawa JPN 27:18.75 (2020)
  9. Patrick Tiernan AUS 27:22.55 (2020)
  10. Abdallah Kibet Mande อูกันดา 27:22.89 (2019)
  11. Stewart McSweyn AUS 27:23.80 (2019)
  12. Sondre Nordstad Moen NOR 27:24.78 (2019)
  13. Tatsuhiko Ito JPN 27:25.73 (2020)
  14. Sam Atkin GBR 27:26.58 (2020)

 

 

https://en.wikipedia.org/wiki/Athletics_at_the_2020_Summer_Olympics_%E2%80%93_Qualification

 

หนุ่มน้อยความหวังของหมู่บ้าน

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คีริน ลงแข่งขันในรายการ The Ten ที่เมือง San Juan Capistrano รัฐแคลิฟอร์เนีย ในนามของ Bowerman Track Club และเป็นสนามที่พาเขาไปสู่ฝันโอลิมปิกแรกได้สำเร็จ เขาวิ่ง 10,000 เมตร ด้วยเวลา 27:17.14 นาที ต่ำกว่าเวลาที่กำหนดคือ 27:28.00 นาที หนำซ้ำยังทำลายสถิติเดิมที่เคยทำไว้ที่ 28:45.61 นาที เมื่อปี 2019

 

 

ทำสถิติ 27:17.14 นาที ในรายการ The Ten ระยะ 10,000 เมตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 (Photo : Bowerman TC)
Altitude Training กับทีมที่เมือง Park City รัฐยูทาห์ (Photo : Bowerman TC)
Altitude Training กับทีมที่เมือง Park City รัฐยูทาห์ (Photo : Bowerman TC)

 

ในส่วนของการคัดโอลิมปิกระยะ 5,000 เมตรนั้น เจ้าตัวได้ฝึกซ้อมกับทีมที่เมือง Park City รัฐ Utah ท่ามกลางหุบเขาที่สูง 7,000ฟุตจากระดับน้ำทะเล ท่ามกลางหิมะตก อากาศหนาวเย็นของสหรัฐฯ เพื่อเน้นการฝึกซ้อมบนระดับความสูง อากาศบางเบา หรือ High Altitude Training ซึ่งเป็นการซ้อมในที่สูง หายใจยาก ข้อดีคือทำให้ร่างกายปรับตัว เกิดฮอร์โมน Erythropoientin (EPO) ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ได้ค่า VO2Max สูงขึ้น สร้างความทึกทนทาน สำหรับนักวิ่งระยะไกล

 

โปรแกรม Tempo ที่ Michael Johnson Track, Nike World Headquarters ที่รัฐโอรีกอน (Photo : Bowerman TC)

 

โค้ช Jerry Schumacher ของ Bowerman Track Club เน้นโปรแกรมฝึกซ้อมที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ให้วิ่งสะสมระยะในแต่ละสัปดาห์ โดยใช้ความเร็วและเวลาที่เหมาะสม จากนั้น strides เพื่อระเบิดพลัง  เริ่มวันด้วยการวิ่งในช่วงเช้า 70 นาที เพซเฉลี่ย 4.2 (แต่มักเร็วกว่านั้น) เริ่มต้นช้า แล้วค่อยๆ กดเวลาลงในตอนท้าย เฉลี่ย 40 วินาที / กิโลเมตร ซึ่งแต่ละคนสามารถจัดโปรแกรมได้ตามสะดวก

 

“การฝึกซ้อมเป็นไปได้ด้วยดีครับ” คีรินกล่าว

 

แม้ท้ายที่สุดระยะ 5,000 เมตร คีริน ไม่สามารถทำเวลาให้ผ่านเกณฑ์โอลิมปิกได้ แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องเพราะทำให้เขาได้มุ่งโฟกัสไปที่การฝึกซ้อม 10,000 เมตรให้ดีที่สุด

 

 

คีริน สมาชิกใหม่ของทีม Bowerman Track Club (Photo : Bowerman TC )
คีริน สมาชิกใหม่ของทีม Bowerman Track Club (Photo : Bowerman TC )

 

ความหวังในโอลิมปิก

 

แน่นอนว่ามันดูเป็นเรื่องยากที่จะเบียดขึ้นโพเดี้ยมโอลิมปิก เพราะแต่ละคนหิน ๆ ทั้งนั้น แต่การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขัน ที่ไม่ใช่ใครก็มาได้ง่าย ๆ นั้นคือหนึ่งในความฝันของคีรินมาแต่ไหนแต่ไร เขาเคยให้สัมภาษณ์ที่ New Clark City Athletics Stadium ประเทศฟิลิปปินส์หลังคว้าเหรียญทองซีเกมส์ที่ 2 ในระยะ 5,000เมตร ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2019ว่า 

 

“ผมอยากวิ่งให้ดีขึ้น ไปแข่ง World Athletics Championship และ โอลิมปิกในฐานะตัวแทนประเทศไทย” นักวิ่งวัย 24 ปีกล่าวเป็นภาษาไทยพร้อมรอยยิ้ม

 

นอกจากเป็นนักกรีฑาจากเอเชีย 1 ใน 3 คนที่เวลาผ่านเกณฑ์โอลิมปิก สถิติของคีรินนั้นดูดีมีพัฒนาการมากเขาไต่ระดับสู่ระยะไกลในปี 2018ด้วยเวลาที่ดีที่สุดคือ 29:31.82 นาที , ปี 2019 28:45.61 และ 27:17.14 ในปี 2021 สำหรับ PB 5,000 เมตร อยู่ที่ 13:42.75 นาที เป็นเจ้าของสถิติประเทศไทยทั้ง 2 ระยะ แทนที่ “บุญถึง ศรีสังข์” รุ่นพี่อดีตทีมชาติที่ขยับขึ้นไปแข่งระยะมาราธอน โดยบุญถึงเคยทำสถิติไว้เมื่อปี 2005ได้แก่ 5,000 เมตร เวลา 14:10.56 นาที (2005 Summer Universiade ที่ประเทศตุรกี) และ 10,000เมตร เวลา 29:29.59 นาที (ซีเกมส์ 2005)

 

คีรินยังทำลายสถิติ 10,000 เมตร อาเซียนที่ Eduardo Buenavista จากฟิลิปปินส์ ที่เคยทำไว้ที่ 29:02.36 นาที ที่ เอเชียนเกมส์ปี 2002 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และที่พีคไปกว่าคือเวลาของเขาแซงหน้าอากิระ ไอซาวะ ดาวรุ่งพุ่งแรงจากญี่ปุ่น เจ้าของสถิติ 27:18.75 นาที ขึ้นแท่น Top 5นักกรีฑาที่ทำ Sub 27:20 ในประวัติศาสตร์วงการกรีฑาเอเชีย เป็นอันดับ 4 โดยอากิระ อยู่อันดับ 5 โดย 3 คนแรกเป็นนักวิ่งสัญชาติแอฟริกัน

 

  1. 26:38.76 Abdullah Ahmad Hassan (กาตาร์)
  2. 26:51.87 Nicholas Kemboi (กาตาร์)
  3. 27:11.08 Abraham Cheroben (บาห์เรน)
  4. 27:17.14 Kieran Tuntivate (ไทย)
  5. 27:18.75 Akira Aizawa (ญี่ปุ่น)

 

 

อากิระ ไอซาวะ ปอดเหล็กความหวังทีมชาติญี่ปุ่น ทำลายสถิติประเทศด้วยเวลา 27:18.75 นาที ในการแข่งขัน คัดเลือก 10,000 เมตร เมื่อเดือนธันวาคม 2563
Photo : Ryo Ikeda/Asahi Shimbun

 

คีรินถือเป็นนักกีฬากรีฑาคนที่ 2 ของอาเซียนที่ได้โควตาไป โตเกียว 2020 โดยคนแรกคือ Ernest Obiena นักกระโดดค้ำถ่อจากฟิลิปปินส์ ที่คว้าทองจากการแข่งขันค้ำถ่อ ที่ Piazza Chiari ประเทศอิตาลี เมื่อ กันยายน ปี 2019 ด้วยความสูง 5.81 เมตร

 

 

ส้มหล่น ได้ทองแดง เอเชียนเกมส์ 2018

 

คีริน วัย 21ปี ขณะนั้นเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ ลงแข่งขันในนามทีมชาติไทยในระยะ 10,000เมตร ที่เอเชียนเกมส์ 2018 ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นครั้งแรกของการแข่งขันให้ประเทศไทย ผลงานของเขาน่าประทับใจ เป็นม้ามืดที่ใครหลายคนไม่รู้จัก คีรินเข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 4 ด้วยเวลา 30:29.04นาที โดยที่ 1 คือ Hassan Chani (บาห์เรน) ที่เข้ามาด้วยเวลา 28:35.54 นาที, ที่ 2 Abraham Cheroben (บาห์เรน) เวลา 29:00.29 นาที ส่วน Zhao Changhong (จีน)เวลา 30:07.49 นาที ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แทน Lakshamanan Govindan (อินเดีย) ที่ทำเวลา 29:44.91 แต่โดนตัดสิทธิ์การแข่งขัน (DQ)เพราะทำผิดกฎโดยไปเผลอวิ่งนอกลู่นิดนึงตอนดราฟท์ Hassan ชวดเหรียญไปอย่างน่าเสียดาย

 

เอเชียนเกมส์ 2018 รายการ 10,000 เมตร ที่กุรงจาร์กาตา ประเทศอินโดนเซีย (Xinhua/Yue Yuewei)
เอเชียนเกมส์ 2018 รายการ 10,000 เมตร ที่กุรงจาร์กาตา ประเทศอินโดนเซีย (Xinhua/Yue Yuewei)

 

แต่เรื่องดันอิรุงตุงนัง เมื่อปี 2563 สำนักข่าว AP รายงานว่า Hassan Chani แชมป์รายการ ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นต้องห้ามในการแข่งขัน และถูกลงโทษแบน 4 ปี (จนถึงมีนาคม 2024)ถูกตัดสิทธิ์ในรายการที่เข้าร่วม คือ World Athletics Championship 2017 และ 2019 พร้อมริบเหรียญรางวัลในการแข่งขันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2017เป็นต้นไป นั่นหมายถึงเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ 2018และ เหรียญเงิน Asian Championship 2019 ถือว่าเป็นโมฆะทำให้คีรินขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3

 

“ผมประหลาดใจนะ แต่ก็ดีใจด้วย” คีรินบอก

 

Hassan Chani แชมป์ 10,000 เมตร เอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนติดโทษแบน 
Photo : Getty Images/Robertus Pudyanto

 

แม้ตอนนี้ทางคณะกรรมการโอลิมปิคสากล (Interational Olympic Committee หรือ IOC) ยังคงยืนยันที่จะไม่เลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว คีริน ตันติเวทย์ จะบรรลุความฝันโอลิมปิกแรกในชีวิตของเขาหรือไม่


stadium

author

Chalinee Thirasupa

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจช่างภาพมีกล้าม

stadium olympic