22 มิถุนายน 2564
“หนูเริ่มจากคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านกีฬามาก่อนเลย แถมตัวก็เล็กแค่ถือไม้พายก็หนักแล้ว กว่าจะมาถึงวันนี้หนูผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ร้องไห้ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ซ้อมวันละหลายชั่วโมงได้พักแค่วันเดียว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้” ประโยคนี้ถูกถ่ายทอดออกมาจากใจด้วยน้ำเสียงหนักแน่นของ อรสา เที่ยงกระโทก นักกีฬาเรือแคนู ประเภทสปริ้นท์ ระยะ 200 เมตร ทีมชาติไทย
ชื่อของเธอในวงการเรือพายบ้านเราไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเธอคือนักกีฬาแคนูหญิงไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้กำลังจะเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2020
แม้ไม่ใช่ตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญรางวัล ไม่ได้มีชื่อเสียงมากมาย แต่อะไรที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นวีรสตรีแห่งโอลิมปิก ไปหาคำตอบพร้อมกันได้ที่นี่
กีฬาคือเส้นขนาน
อรสา เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพรับจ้าง มีพี่น้องรวม 3 คน ซึ่งทั้งครอบครัวนั้นไม่มีใครเลยสักคนเลยที่มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับการเป็นนักกีฬา รวมถึงตัวเธอเองด้วย เดิมทีอรสาไม่ใช่เด็กที่หลงเสน่ห์การเล่นกีฬามากเท่าไหร่นัก เพราะเธอเกลียดการฝึกซ้อม กลัวร้อน กลัวเหนื่อย ชีวิตในวัยเด็กจึงเหมือนเด็กรุ่นเดียวกันทั่วไป
“ครอบครัวหนูไม่มีใครเป็นนักกีฬาเลย ไม่ใครเล่นกีฬาด้วย พ่อแม่ประกอบอาชีพรับจ้าง ครอบครัวไม่ได้ลำบากพอมีพอกิน พี่ชายจนจบ ม.3 ก็ออกมาทำงานช่วยพ่อกับแม่ ส่วนพี่สาวเป็นครู ไม่มีใครเล่นกีฬาเลย”
“ส่วนตัวหนูไม่เชิงไม่ชอบเล่นกีฬานะ เพียงแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่น จะได้เล่นกีฬาเฉพาะตอนเรียนวิชาพลศึกษาเท่านั้น เด็ก ๆ หนูจะชอบวิ่งเล่นกับเพื่อนมากกว่า เช้าตื่นไปเรียนหนังสือ หมดเวลาก็เก็บประเป๋ากลับบ้านไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ชีวิตวนอยู่แค่นั้น ไม่เคยคิดเลยสักครั้งว่าจะได้มาเล่นกีฬาจริงจัง”
แต่ชีวิตของเธอเหมือนพรหมลิขิตนำทางให้ ในวัย 11 ฝน เธอได้รู้จักกับกีฬาเรือพายเป็นครั้งแรก ก่อนจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่การเป็นนักกีฬาแบบเต็มตัว
ก้าวสู่โลกกีฬา
เสน่ห์ของกีฬาเรือยาวคือการตะโกนให้จังหวะจ้วงไม้พายไปพร้อมกัน หลังเลิกเรียนวันหนึ่ง อรสา พร้อมด้วยกลุ่มเพื่อนสนิทนึกสนุกไปจับไม้พายมาพายเรือยาวเล่นในริมคลองระแวกบ้าน การที่เธอได้แหกปากไปพร้อมกับผองเพื่อน ได้เสียงหัวเราะและความสุขให้เธอโดยไม่รู้ตัว
“ได้จับไม้พายแล้วชอบเลย” น้ำเสียงของเธอสดใส บ่งบอกว่ามีความสุขกับการพายเรือจริง ๆ
“เด็ก ๆ หนูจะไม่ชอบอยู่บ้าน เพราะถ้าอยู่บ้านพ่อกับแม่จะใช้ให้เราทำนู่นทำนี่ตลอด ซึ่งเราไม่อยากทำ (หัวเราะ) เหมือนเด็กดื้อ แต่พอถูกชวนให้เข้าไปอยู่ชมรมเรือยาวของโรงเรียน มีโอกาสได้ลองพายเรือพายยาว 10 คน แล้วได้ซ้อมกันหลังเลิกเรียนทุกวัน ซึ่งมันไม่มีแดดแล้ว ก็เลยคิดว่ามันน่าจะสนุกนะก็เลยลองเล่นดู”
“ในชมรมหนูได้ซ้อมกับอาจารย์ขวัญซึ่งโค้ชทีมชาติที่ทางชมรมจ้างมาสอน หนูเล่นเรือยาวอยู่ประมาณ 5 ปี ช่วยให้ทีมคว้าถ้วยรางวัลตลอด เหมือนทางนี้เรามาได้เรื่อย ๆ โอกาสต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามา”
จากที่เล่นเพื่อความสนุกไม่นานนักเธอก็กลายเป็นตัวหลักของทีม ความแข็งแรงของเธอโดดเด่นมากกว่าในรุ่น ไปสะดุดตาโค้ชคนเดิมก่อนจะชักชวนให้เธอลองเปลี่ยนมาเล่นเรือแคนูดูบ้าง ซึ่งเป็นอีกชนิดกีฬาแต่มีความใกล้เคียงกัน
เพชรที่ถูกเจียระไน
“เหมือนอาจารย์ขวัญเขาเห็นแววหนู ก็เลยชวนให้ลองมาเล่นเรือแคนูคายัคซึ่งเขาเป็นคนสอนอยู่ ช่วงนั้นปี 2014 แล้วในซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ เพิ่งบรรจุกีฬาเรือแคนูหญิงให้มีการชิงเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรก ตอนนั้นก็อายุ 16 แล้ว เราเองก็คิดว่าไม่อะไรเสียหาย มีโอกาสเข้ามาก็อยากจะลองดูเพื่อจะไปได้”
แม้จะมีโอกาสเข้ามาหาเธอไม่ขาดสาย แต่สำหรับคนในครอบครัวแล้วกลับเห็นว่ากีฬาเรือยาวหรือแคนูนั้นไม่มั่นคง เพราะกีฬาชนิดนี้ในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยนิยมเล่นกัน อย่างเรือพายก็เล่นเพื่ออนุรักษ์ไว้ ขณะที่เรือแคนูส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมของนักท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวมากกว่า
“ที่บ้านเคยบอกให้หนูเลิกเล่น พ่อบอกเลิกเล่นไหมเล่นไปก็ไม่ได้อะไร อยากให้โฟกัสกับการเรียนมากกว่า จะได้มีอนาคตเรียนจบสูง ๆ จะได้มีงาน มีอาชีพที่มั่นคงทำ จะได้เลี้ยงดูครอบครัวได้”
ความห่วงใยของครอบครัวที่อยากเห็นลูกสาวคนเล็กมีคุณภาพชีวิตที่กว่าตัวเอง ไม่อาจหยุดยั้งความมุ่งมั่นของเธอเอาไว้ได้ อรสา เหมือนเพชรที่รอวันเจียระไน หลังจากเปลี่ยนมาเล่นเรือแคนูได้แค่ 8 เดือนเธอก็ก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติและได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ที่สิงคโปร์ ไม่เพียงแค่นั้นเธอยังแจ้งเกิดในฐานะนักกีฬาทีมชาติด้วยการคว้าเหรียญเงินซีเกมส์
ความยอดเยี่ยมของ อรสา ยังเฉิดฉายออกมาเป็นระยะ คว้าแชมป์ Asian Open Canoe Sprint Cup ประเทศอุซเบกิสถาน และยังคว้า 2 เหรียญทองแดงในซีเกมส์ 2019 อีกครั้ง
ความสำเร็จของเธอถือว่าถูกจังหวะเอามาก ๆ เพราะโอลิมปิก 2020 ได้บรรจุกีฬาเรือแคนูสปรินท์หญิงให้มีชิงเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรก เมื่อรู้ว่ามีโอกาสเธอไม่รีรอที่จะกล้าคิดกล้าฝันอยากจะเข้าร่วมมหรรมแห่งมวลมนุษยชาติสักครั้ง
ไม้พายเขียนประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่กีฬาชนิดนี้ถูกบรรจุให้มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรก เมื่อปี 1924 ผ่านมาเกือบศตวรรษยังไม่เคยมีนักกีฬาไทยผ่านร่วมโอลิมปิกเกมส์รอบสุดท้ายมาก่อน แต่ก็เป็นเพราะประเภทสปริ้นท์หญิงไม่เคยมีการชิงชัยมาก่อน แต่เมื่อสถิติมีไว้ให้ทำลาย ประวัติศาสตร์มีไว้ในจารึก เมื่อกีฬานี้ถูกบรรจุในมีการแข่งขัน ลูกหลานชาวเมืองย่าโมคนนี้ได้ใช้ไม้เขียนชื่อของตัวเองลงในประวัติศาสตร์โอลิมปิกตามที่ฝัน
“ก่อนมาคัดโอลิมปิกสนามสุดท้ายสถิติของหนูมันค้างอยู่ที่ 49 วินาทีมา 2-3 ปี ตั้งใจจะลดเวลาให้ได้ ถ้าลดเวลาได้ 1-2 วินาที หนูคิดว่าก็มีโอกาสเหมือนกัน ปรากฎว่าตอนแข่งหนูทำได้จริง ๆ เข้าเส้นชัย 47 วินาที เป็นสถิติดีสุดในชิวิตหนูเลยแล้วก็ยังเป็นสถิติที่ใกล้เคียงกับระดับเหรียญโอลิมปิกอีกด้วย”
“ดีใจมากจนไม่รู้จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดยังไง เพราะมันเกินความคาดหวัง เดิมทีเราเคยคิดแค่ว่าอยากเข้าร่วมสักครั้งนึงในชีวิต แต่ตอนนี้มันมีโอกาสที่ไปได้ไกลกว่านั้น แต่ก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นและต้องพิสูจน์ตัวเองต่อ”
“แม่บอกว่าดีใจจนร้องไห้ หลับตาดูตอนหนูแข่ง พอรู้ว่าได้ตั๋วโอลิมปิกเขาบอกว่าร้องไห้เลยนะ ส่วนพ่อก็มีความสุขมาก เมื่อก่อนเขาเคยห้ามเราก็จริง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ห้ามแล้ว เพราะพิสูจน์ให้เขาเห็นว่ากีฬาชนิดนี้ก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
กีฬาเปลี่ยนชีวิต
“กีฬาทำให้เรา มีวินัย อดทน รู้จักดูแลตัวเอง อาหารการกินต้องเข้มงวดสุด แล้วปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีทุกวันนี้ คือแรงกระตุ้นจากหลาย ๆ คน แรงผลักดันมาจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ อยากแก้ตัวในเอเชียนเกม ซีเกมส์ เพราะเราไม่เคยทำผลงานดีจริง ๆ ตอนเอเชียนเกมส์จบที่ 8 มันไม่ดีเลย ซีเกมส์ก็พายไม่ได้เลย”
“แล้วเมื่อก่อนมีคนดูถูกเราว่าเล่นกีฬาไม่จริงจังหรอก เข้ามหาวิทยาลัยได้เดี๋ยวก็เลิกเล่น เราได้แต่คิดในใจว่าเดี๋ยวจะแสดงให้เห็นว่าเรารักกีฬาเรือแคนูจริง ๆ ไม่ได้เล่นเพื่อเอาโควตามหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาซ้อมหนักมาตลอด”
“บางช่วงผลงานไม่ดีก็มีเครียดมีท้ออยากพัก ต้องกลับไปคิดว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี เลิกเล่นเลยดีไหม มีหลายครั้งที่อยากคิดจะเลิก แต่ก็ไม่เลิก เพราะไม่รู้ว่าถ้าเลิกไปแล้วจะไปทำอะไร จะเอาเงินที่ไหนใช้และส่งให้ครอบครัว ถ้าไม่ซ้อมต่อก็ต้องออกไปเรียนด้วยทำงานแล้วเราจะไหวไหม อยู่ตรงนี้มีเงินเดือน เรื่องเรียนก็ไม่ต้องกังวล แต่เราต้องสู้นะ แม้จะต้องแลกกับชีวิตส่วนอะไรหลายอย่าง”
“เคยคิดเสียดายเวลาชีวิตเหมือนกัน แต่ไม่ได้เสียดายมากขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เราได้กลับมามันคือโอกาสที่มากกว่าคนอื่น ได้ไปต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ ได้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดของตัวเอง โอเคแหละว่ามันจะมีบางโมเม้นท์ที่เราอยากไปสนุกกับเพื่อนแต่ก็ยอมแลก”
TAG ที่เกี่ยวข้อง