19 มิถุนายน 2564
"หนูอยากแสดงให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องของขนาดตัวหรืออายุ" นี่คือคำพูดของ สกาย บราวน์ หนูน้อยวัย 12 ปี ที่กำลังจะเป็นนักกีฬาโอลิมปิกอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร กับศึก โตเกียว 2020
ชื่อนี้ในวงการกีฬาเอ็กซ์ตรีมนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเธอคือดาวจรัสแสงของกีฬาสเก็ตบอร์ด รวมทั้งกระดานโต้คลื่นระดับที่แข่งขันเป็นอาชีพ มีสปอนเซอร์ส่วนตัวมากมาย และถึงขั้นคว้าอันดับ 3 ในศึกชิงแชมป์โลกสเก็ตบอร์ดประเภทพาร์ค มาแล้ว
หนึ่งในตัวเต็งเหรียญโอลิมปิกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุที่เลือกเล่นให้ทีมชาติสหราชอาณาจักรตามสายเลือดของพ่อ ไม่ใช่ญี่ปุ่นถิ่นกำเนิดของผู้เป็นแม่ ติดตามได้ที่นี่
ส่วนผสมของ 2 วัฒนธรรม
สกาย บราวน์ เติบโตมาด้วยส่วนผสมของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยคุณพ่อมีชื่อว่า สจ๊วร์ต เป็นชาวอังกฤษที่ย้ายไปสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ก่อนที่จะไปเจอกับ มิเอโกะ คุณแม่ ที่ญี่ปุ่น ซึ่งทั้งคู่พบรักกันและให้กำเนิดเธอที่มิยาซากิ โดยพวกเขายังคงมีบ้านอยู่ที่นั่น และสกายต้องเรียนหนังสือโดยใช้เวลาครึ่งปีการศึกษาในญี่ปุ่น และอีกครึ่งในสหรัฐฯ แม้จะแตกต่างกันคนละขั้ว
"โรงเรียนญี่ปุ่นเข้มงวดมาก ๆ ในอเมริกาเรามีช่วงพักทานอาหารว่างแต่ไม่มีในญี่ปุ่น เราไม่ต้องเลือกอาหารในโรงเรียนญี่ปุ่น พวกเขาจะใส่จานมาให้เราแค่ต้องทานทั้งหมด ซึ่งถ้าคุณเหลืออะไรไว้ก็จะไม่สามารถออกไปเล่นข้างนอกได้ ส่วนคุณครูก็ไม่ให้เราพูดคุยระหว่างกินข้าวอีกด้วย ทำให้หนูกินเยอะมาก"
ฉายแสงตั้งแต่ 7 ขวบ
ความชื่นชอบในกีฬาเอ็กซ์ตรีมของเธอนั้น มาจากสายเลือดและการเลี้ยงดู เพราะทั้งพ่อและแม่เป็นนักโต้คลื่นทั้งคู่ โดยสกายเริ่มไถบอร์ดทั้งบนบกและในน้ำตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และพออายุ 7 ขวบ เธอก็เริ่มลงแข่งจริงจัง ก่อนคว้าอันดับ 3 ในรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ของการแข่งขันที่แคลิฟอร์เนีย
"เธอเป็นปรากฏการณ์" คริสเตียน โฮซอย ตำนานนักสเก็ตบอร์ดชาวอเมริกันกล่าวถึงลูกศิษย์ของตัวเอง "เธอเก่งมาตั้งแต่ 7 ขวบ ดังนั้นสำหรับเธอแล้วการได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ และได้นำเอาท่ายากต่าง ๆ มาเล่นร่วมกันนั้นถือเป็นสิ่งที่พิเศษสุด"
จากเด็ก 4 ขวบที่เริ่มลองเล่นไถบอร์ดตามพ่อแม่ในวันนั้น อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเธอกำลังจะกลายเป็นนักกีฬาโอลิมปิกอย่างเต็มตัว
จริงจังได้ แต่ต้องสนุกด้วย
การเป็นนักกีฬาอาชีพ ทำให้ต้องฝึกซ้อมและมีวินัยอย่างจริงจังซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี ซึ่งในนักกีฬาบางคน แรงงกดดันอาจทำให้เขาหรือท้อถอยหรือเกลียดกีฬาชนิดนั้นไปเลยก็เป็นได้ แต่ไม่ใช่สำหรับครอบครัวของ สกาย บราวน์ เพราะเธอไม่ต้องสละความสุขส่วนตัวเพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้น หรือเพิ่มชื่อเสียงให้มากขึ้นแค่อย่างใด
"ผมอยากให้เธอชื่นชอบและรู้สึกสนุกไปกับมัน จากนั้นสิ่งที่น่ากังวลก็จะเหลือแต่เรื่องการบ้านหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าคุณทำบางอย่างมากเกินไปก็อาจทำให้เหนื่อยหน่ายได้ ผมไม่อยากให้เธอเป็นแบบนั้น และอยากให้มันเป็นเรื่องสนุก"
เพราะการมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกทำให้เธอมีความสุขที่จะต้องตื่นตีสี่ตีห้าในทุก ๆ เช้าเพื่อไปโต้คลื่นก่อนเข้าเรียน และหลังเลิกเรียนแล้วเธอยังเรียนกีตาร์, ยิวยิตสู ก่อนจะออกโต้คลื่นหรืเล่นสเก็ตบอร์ด ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่สกายเลือกด้วยตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่อยากจะทำไม่ได้มาจากการบังคับของพ่อแม่แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ตารางชีวิตของเธอยังยืดหยุ่นได้เท่าที่ต้องการ เพราะสกายไม่ได้มีโค้ชสเก็ตแบบเต็มเวลา จนบางครั้งเธอเคยไม่แตะบอร์ดเป็นอาทิตย์ หรือเลือกลงแข่งรายการเรียลลิตี้ "Dancing with the Stars: Juniors" ซึ่งเธอคว้าแชมป์ แทนที่จะลงแข่งเอ็กซ์เกมส์
เลือกสัญชาติตามความสบายใจ
ด้วยความที่สกายมีพ่อเป็นชาวอังกฤษ และมีแม่เป็นชาวญี่ปุ่น ทำให้เธอเลือกได้ว่าจะลงแข่งให้ชาติใดในโอลิมปิก ก่อนที่สุดท้ายตัวเธอเองและครอบครัวจะตัดสินใจเป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร เพราะมีความยืดหยุ่น และเข้ากับทัศนคติของทุกคนในครอบครัวมากกว่า รวมทั้งการได้พูดคุยกับ ลูซี่ อดัมส์ ประธานสเก็ตบอร์ดของสหราชอาณาจักร
"มันเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่ผมไม่คิดว่าเราจะไปลงแข่งหากไม่ใช่ที่ญี่ปุ่น เราคงจะไม่สนใจแม้ญี่ปุ่นจะขอให้ไปร่วมทีม พูดตามความจริงแล้วถ้าไม่ใช่เพราะลูซึ่ พวกเราก็คงไม่ให้สกายไปแข่งโอลิมปิก" สจ๊วร์ต พ่อของสกาย เผยถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ
การบาดเจ็บที่เกือบถึงชีวิต
ความจริงในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อปีที่แล้ว สกายเกือบไม่ได้เล่นกีฬาที่เธอรักไปตลอดชีวิตหลังประสบอุบัติเหตุร่วงจากที่สูงจนทำให้กะโหลกร้าวหลายแห่ง รวมทั้งกระดูกข้อมือหักและกระดูกมือแตก ซึ่งพ่อของเธอยอมรับว่าสกายโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่
หากเป็นเด็กทั่วไป เมื่อเจออุบัติเหตุจนเจ็บหนักอาจทำให้พวกเขาหวาดกลัวและไม่กล้าจะทำอะไรที่เสี่ยงต่อการซ้ำรอยเดิม แต่ไม่ใช่กับสกายที่หลังจากหายสนิท เธอก็กลับมาซ้อมหนักเพื่อให้ตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม ถึงขั้นไปฝึกกับ โทนี่ ฮอว์ก ตำนานนักสเก็ตบอร์ดชาวอเมริกันหลายต่อหลายครั้ง ในสถานที่เดิมที่เธอเกิดอุบัติเหตุ และแค่ 2 เดือนต่อมาสกายก็กลับไปพิชิตเนินที่สูงที่สุดแบบชิล ๆ
ด้าน โทนี่ ฮอว์ก ถึงกับพูดถึงเธอเอาไว้ว่าเป็น ยูนิคอร์น (สัตว์ในนิยายที่เปรียบเปรยว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์) ที่มีศักยภาพอันน่าทึ่ง พร้อมทั้งบอกว่าเธอมีโอกาสก้าวเป็นหนึ่งในนักสเก็ตบอร์ดหญิงที่ดีที่สุดตลอดกาลเลยทีเดียว
เตรียมปล่อยของที่โตเกียว
แม้จะแบกชื่อเสียงนักกีฬาโอลิมปิกอายุน้อยที่สุดของสหราชอาณาจักรที่มีโอกาสลุ้นถึงการคว้าเหรียญรางวัล แต่สกายไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องกดดัน เพราะเป้าหมายของเธอคือการไปเล่นสเก็ตให้สนุกที่สุดเท่าที่จะทำได้
"สเก็ตบอร์ดคือสนามเด็กเล่นของหนู หนูไม่ชอบซ้อม หนูไม่มีโค้ช หนูแค่เล่นสเก็ตเท่านั้น การได้รู้ทริกใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ดี หนูจึงอยากทำให้ได้ในการแข่งที่โตเกียว หนูอยากจะทำท่าที่ตัวเองไม่เคยทำที่ไหนมาก่อน"
"หนูไม่ได้รู้สึกกดดัน และมันคงเจ๋งดีที่ได้เป็นนักกีฬาโอลิมปิกอายุน้อยที่สุด คนอื่นอาจคิดว่าหนูเด็กเกินไป หรือคิดว่าหนูไม่น่าลงแข่งได้ แต่หนูอยากแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของขนาดตัวหรืออายุ"
"หนูอยากลงแข่งโอลิมปิกเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงคนอื่น ๆ เพื่อแสดงให้พวกเธอเห็นว่าเราทำอะไรก็ได้ หนูตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับ โตเกียว 2020 และหนูชอบทัศนคติของ ซิโมน ไบลส์ (นักยิมนาสติก) ที่เธอไปลงแข่งเพื่อความสนุกและทำผลงานให้ดีที่สุดเท่านั้น"
TAG ที่เกี่ยวข้อง